top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Sheaffer Fashion 240


ผมได้ปากกาด้ามนี้จากคุณปู่ เป็นของขวัญที่ตั้งใจเรียนครับ จะว่าไปแล้ว เพราะปากกาด้ามนี้นี่แหละ ที่ทำให้ผมบ้าปากกาหมึกซึมมาจนถึงวันนี้

ตอนแรกที่จะทำรีวิวคุณปู่แฟชั่นนี่ พ่อก็ทักว่า จะไปรีวิวทำไม ปากกามันตกรุ่นไปแล้ว และก็ไม่ใช่พวกปากกาสะสมราคาแพงด้วย แต่ผมอยากจะรวบรวมปากกาทั้งหมดของผมไว้ด้วยกันที่นี่ ก็ถือว่าเล่าสู่กันฟังแล้วกันนะครับ

เท่าที่ค้นประวัติได้ Sheaffer Fashion ผลิตจากโรงงานของ Sheaffer ในอเมริกา ซึ่งปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ปิดไปแล้วนะครับ โดยออกมาวางจำหน่ายในราวปี 1992-1995 ครับ นับถึงวันนี้ก็ 20 กว่าปีแล้ว แต่ปากการุ่นนี้ไม่ใช่พวกปากกาสะสมราคาแพงนะครับ จะมีสะสมกันก็เฉพาะในหมู่นักเล่นปากกาชาวอเมริกันครับ เพราะเป็นปากกาเพียงไม่กี่รุ่นที่ผลิตในโรงงานที่เมือง Fort Madison จึงควรค่าแก่การสะสม ในฐานะ Shaffer ‘Made in USA’ ครับ

ลักษณะภายนอก

คุณปู่ให้ผมมาพร้อมกล่องสีแดง ฝาเป็นสปริง สวยมากครับ ยังมีคู่มือ และใบรับประกันมาพร้อมเลย

เท่าที่ผมหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ท พบว่า Sheaffer Fashion นี่มีหลายสีเลยนะครับ ทั้งสีเงินล้วน สีเงินคลิปทอง สีทองล้วน สีดำ และผิวแบบเคลือบแล็คเกอร์สีสันต่างๆอีกด้วยครับ ด้ามที่ผมได้มาจากปู่ เป็นสีเงิน คลิปทองครับ

แม้ว่าปากกาจะออกแบบมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังดูสวยทันสมัยอยู่เลย สมกับชื่อรุ่นที่ว่า ‘Fashion’ จริงๆครับ

ปลอก และด้ามปากกา ทำจากโลหะสีเงิน ปัดผิวแบบซาติน คือ ออกสีด้านนิดๆ จากส่วนบนของปลอกปากกาไปจนถึงปลายด้ามจะเรียวลงเล็กน้อย ด้านบนของปลอกและด้านล่างของด้ามปากกาตัดตรง แบบที่เรียกกันว่า Flat Top ครับ ส่วนหัวของปลอกปากกา และปลายของด้ามเป็นสีทอง รับกับคลิป และแถบแหวนสีทองเล็กๆที่กลางลำตัวของปากกา ดูสวยมีรสนิยมมากครับ

คลิปเหน็บกระเป๋า (Clip)

คลิปปากกาสีทอง ออกแบบมาเรียบๆ มีจุดสีขาว อันเป็นสัญลักษณ์ของปากกา Sheaffer คลิปไม่แข็งเกินไป แต่มีสปริงดีครับ แต่ถ้าเสียบกับกระเป๋าเสื้อ แล้วกระโดดขึ้นลงเรือคลองแสนแสบ มีหวังปากกาตกน้ำหายแน่ๆ อันนี้อาจเป็นเพราะปากกาด้ามนี้มีอายุอานามมากโขอยู่ ทำให้สปริงของคลิปล้าไปบ้างรึเปล่า ก็ไม่รู้นะครับ

ปลอกปากกา (Cap)

ปลอกของปากกา Sheaffer Fashion เป็นแบบดึงออกเสียบเข้าได้เลย ไม่ต้องหมุนเกลียว ด้านหน้ามีชื่อยี่ห้อ ‘Sheaffer’ ส่วนด้านหลังปั๊มว่า ‘USA’ ยืนยันว่า ปากกด้ามนี้ ‘Made in USA’ ที่ปลอกปากกายังมีสติ๊กเกอร์เขียนว่า 'Sheaffer 240 x Medium’ ลองหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ท 240 x คือ ชื่อรหัสทางการค้าของปากการุ่นนี้ครับ โดย 240 เป็นชื่อรุ่น x เป็นรหัสระบุสีของปากกา ส่วน Medium ก็บอกว่า ปากกาด้ามนี้มีหัวปากกาขนาดกลางนั่นเองครับ

ปลอกปากกาแน่นหนาดี ไม่มีก๊อกแก็ก ในปลอกปากกาจะมีท่อพลาสติกอยู่ข้างใน ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงแล้ว เวลาเอาปลอกไปเสียบกับด้าม ก็จะใช้พลาสติกนี่แหละทำให้ฝืดๆ ติดแน่นดีครับ

บริเวณที่จับปากกา (Grip Section)

ที่จับปากกา ทำจากพลาสติกสีดำ สวยเนียนดี ไม่ลื่นด้วยครับ บริเวณปลายทั้งสองด้านของ Section ที่ต่อกับด้ามปากกาและหัวปากกาจะมีวงแหวนสีทอง ตัดกับสีดำ งามแต้

แม้ว่า Sheaffer Fashion จะเป็นปากกาที่เรียวๆเล็กๆ แต่บริเวณที่จับจะทำให้เรียวลงไปนิดหน่อยเท่านั้น ทำให้ที่จับปากกาไม่ผอมเกินไป เขียนได้ถนัดไม่เมื่อยมือครับ

ความยาวและน้ำหนักของปากกา

ความยาวของ Sheaffer Fashion กำลังเหมาะเลยครับ สามารถเขียนโดยไม่ต้องเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ด้ามได้อย่างสบายๆ แม้จะเป็นคนที่มือใหญ่ก็ตาม พอเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ด้ามแล้วก็ไม่ได้เพิ่มน้ำหนักขึ้นสักเท่าไหร่ ปากกามีความสมดุลย์ดี สามารถเขียนนานๆได้อย่างสบาย ไม่เมื่อยมือครับ

แม้ว่า Sheaffer Fashion จะทำจากสแตนเลสทั้งด้าม (ยกเว้น Section) ไม่ใช่ปากกาที่ทำจากอลูมิเนียม แต่ก็นับเป็นปากกาที่น้ำหนักไม่มากนะครับ น้ำหนักเบากว่าปากกาที่ทำจากทองเหลืองเยอะเลยครับ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าส่วนตัวผมชอบปากกาที่ ‘มีน้ำหนัก’ ด้วย เพราะผมรู้สึกว่าทำให้ควบคุมลายมือได้ดีกว่าปากกาที่น้ำหนักเบาครับ

ที่สูบหมึก (Filling System)

ที่สูบหมึกที่ติดมากกับตัวปากกา เป็นแบบ Aerometric ครับ ที่นิยมใช้กันมากในปากกาสมัยนั้น ซึ่งจะใช้ได้กับเฉพาะที่สูบหมึกของ Sheaffer เท่านั้น ไม่สามารถใช้ International Standard Converter ได้นะครับ และเปลี่ยนไปใช้ที่สูบหมึกแบบ Piston Converter ไม่ได้ด้วยครับ ปากการุ่นนี้ยังใช้กับหมึกหลอดของ Sheaffer ได้ด้วยครับ

หัวปากกา (Nib)

ผมหาข้อมูลไม่เจอว่า หัวปากกาของ Sheaffer Fashion ทำจากวัสดุอะไรนะครับ ปากการุ่นที่ผมมีหัวปากกาเป็นสีทอง มีปั๊มชื่อยี่ห้อ Sheaffer ไว้ด้วย แต่ด้วยราคาแค่นี้แน่นอนว่า ไม่ใช่พวกหัวปากกาทองคำแท้แน่ๆครับ แต่ผมก็ทึ่งในการชุบทองของฝรั่งนะครับ อายุ 20 กว่าปีแล้ว ทองชุบยังคงเงางามไม่หลุดลอกเลยครับ หัวปากกาสีทองของ Fashion 240X รับกับแถบแหวนสีทองสวยมากครับ หัวปากกาเป็นทรงตรงๆ ดูทันสมัยดี แต่น่าจะหาหัวปากกาเปลี่ยนยาก

เส้นขนาดกลางของ Sheaffer ก็เหมือนๆกับเส้นขนาดกลางของปากกาจากฝั่งตะวันตก คือ เส้นจะค่อนข้างหนาครับ ไม่ค่อยเหมาะกับคนที่เขียนหนังสือตัวเล็กๆ หรือตัวผอมๆ เพราะจะทำให้ตัวหนังสือตันหมด เส้นขนาดนี้ยังใช้สำหรับเซ็นชื่อสวยดีนะครับ

ลองเขียน

Sheaffer Fashion นี่ไม่ใช่ปากกาประเภทลื่นปรื๊ดครับ เทียบกับ Lamy Safari หัวขนาด F แล้ว ยังลื่นสู้ Lamy ไม่ได้ อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นที่ปากกาที่ผมได้มาถูกเก็บไว้นานมาก และก่อนหน้าเคยเอาไปใช้งานยังไงบ้างรึเปล่านะครับ ตอนเขียนจะรู้สึกว่ามี Feedback นิดหน่อย แต่น้อยมากจริงๆครับ

ส่วนตัวผมชอบปากกาที่ลื่นในระดับนี้เหมือนกันครับ เพราะควบคุมลายมือง่ายดี เขียนตัวบรรจงสวยๆได้ง่ายกว่า ลองเขียนหวัดก็ไม่มีปัญหาครับ เขียนได้ต่อเนื่อง เส้นไม่ขาด

Sweet Spot

หากเทียบกับปากการุ่นใหม่ๆ ต้องถือว่า Sheaffer Fashion เป็นปากกาที่มี Sweet Spot ค่อนข้างเล็กครับ จับปากกาเอียงไป เอียงมาเล็กน้อย ก็ยังเขียนได้ แต่ถ้าผิดมุมมากไปหน่อยจะเขียนได้ไม่ต่อเนื่อง จะรู้สึกถึง Feedback มากขึ้นด้วย การเขียนแบบกลับหัว หรือ Reverse Writing เพื่อให้ได้เส้นขนาดเล็ก ทำได้ดีพอสมควร สามารถเขียนกลับตัวต่อเนื่องนานๆ หมดกระดาษเป็นแผ่นๆได้สบายๆเลยครับ แต่ก็จะรู้สึกถึง Feedback ได้มากนะครับ

การปล่อยหมึกลงบนกระดาษ (Wetness)

Sheaffer Fashion มีความไหลลื่นของหมึก (Ink flow) ดีมาก ลากเส้นต่อเนื่องยาวๆไม่ขาดหาย การปล่อยหมึกลงบนกระดาษ หรือ Wetness ออกไปทางเปียกสักหน่อยครับ ทุกครั้งที่หยิบ Sheaffer Fashion เขียนลงบนกระดาษ ปากกาด้ามนี้ไม่เคยทำให้ผิดหวังเลยครับ จะเขียนออกได้ดีตั้งแต่อักษรตัวแรก ไม่ว่าจะเก็บปากกาไว้นานโดยไม่ได้ใช้งานมาหลายวันแล้วก็ตาม

ความแตกต่างของขนาดเส้น (Line Variation)

หัวปากกาของ Sheaffer Fashion ค่อนข้างแข็งครับ จึงสร้างความต่างของขนาดเส้น ขึ้นเบา ลงหนัก ไม่ค่อยดี ขณะที่เขียนกดปากกาเพื่อให้เกิดเส้นหนัก รู้สึกได้เลยว่า หัวปากกาแข็งมากจนกดแทบไม่ลง ผมเลยไม่กล้าฝืนกดต่อครับ

สรุป

Sheaffer Fashion น่าจะเป็นปากกาที่เหมาะกับผู้บริหารรุ่นเยาว์ คือ ใช้จดบันทึกระหว่างประชุมก็ได้ ใช้เซ็นชื่อก็ดี แต่อาจไม่เหมาะกับนักเรียน เพราะขนาดเส้นปากกาใหญ่ไปสักหน่อย ที่สำคัญ ปากกาดูหรูเกิ้น เอาไปโรงเรียนเดี๋ยวหายครับ

แม้ว่าปากการุ่นนี้จะเลิกผลิตไปแล้ว แต่ก็ยังพอหาซื้อได้ใน Ebay หรือร้านขายปากกาเมืองนอก ในราคาที่ไม่แพงนัก ตกแล้วน่าจะอยู่ราว $50 กว่าๆ รวมค่าส่งมาบ้านเราครับ หากใครจะหาปากกาหรู ที่ไม่มีใครเหมือนมาไว้ใช้งาน ผมว่าก็น่าสนครับ ปากการุ่นนี้ที่เป็นของใหม่ เก่าเก็บ (NOS – New Old Stock) ยังพอมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่เวลาซื้อดูด้วยนะครับว่ามีที่สูบหมึกมาให้ด้วยรึเปล่า เพราะปากการุ่นเก่าอย่างนี้ บางทีที่สูบหมึกก็จะเสียไปแล้ว และที่สูบหมึกแบบ Aerometrix ของ Sheaffer นี่ราคาอาจปาเข้าไปเกินครึ่งของราคาปากกาได้เลยนะครับ

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page