top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] J. Herbin Tempête


ปากกาด้ามนี้ผมได้มาอย่างคิดไม่ถึงที่สุด และดีใจที่สุดด้วย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเซอร์ไพร์สที่สุดของการเล่นปากกาของผมก็ว่าได้ครับ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อต้นเดือนเมษายน 2017 ผมได้รับข้อความผ่านทางเฟสบุ๊คแมสเซนเจอร์ของ Write Like Dream จาก พี่คารม ลาตีฟี ซึ่งปกติผมก็จะได้รับข้อความจากเพื่อนๆพี่ๆที่ชื่นชอบปากกาหมึกซึมและเครื่องเขียนต่างๆแทบจะทุกวันอยู่แล้วนะครับ หากไม่เป็นข้อความที่ส่งเข้ามาเพื่อสอบถามเกี่ยวกับปากการุ่นต่างๆ ก็จะเป็นข้อความชื่นชม ให้กำลังใจ หรือไม่ก็เป็นคำแนะนำต่างๆ ขอเรียนตรงนี้เลยว่า ทุกข้อความที่ติดต่อมาเป็นกำลังใจให้ผมอย่างมาก ขอบพระคุณทุกท่านด้วยใจจริงครับ

แต่ข้อความจากพี่คารมแตกต่างจากทุกข้อความที่ผมเคยได้รับมา ผมไม่เคยรู้จักกับพี่คารมมาก่อน ไม่เคยแม้แต่จะพูดคุยกันเลยสักครั้ง ข้อความสั้นๆของพี่คารมเล่ามาว่า เป็นคนที่ชอบปากกาหมึกซึมมาก และชอบเขียนด้วยปากกาที่มีลายเส้นขนาดเล็ก โดยเฉพาะหัวปากกาขนาด EF ของญี่ปุ่น แต่ในปี 2016 (เกือบ 1 ปีก่อนที่จะส่งข้อความมาถึงผม) พี่คารมได้สั่งซื้อปากกา J. Herbin Tempête มาจากร้าน PP Art and Craft เพราะว่าอยากลองใช้ปากกาที่ผลิตจากฝรั่งเศสดูบ้างครับ แต่เมื่อได้รับปากกามา ปรากฏว่าขนาดลายเส้นของ Tempête ใหญ่เกินกว่าที่พี่คารมชอบ จึงเก็บปากกาไว้ในกล่องนานเกือบปี จนกระทั่งมาเจอ Write Like Dream เข้า พี่คารมจึงได้ตัดสินใจที่จะมอบปากกาด้ามนี้ให้กับผม โดยไม่คิดมูลค่าใดๆเลยครับ

ต้องขอขอบพระคุณพี่คารม ลาตีฟี ไว้ ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูงอีกครั้งนะครับ

เกี่ยวกับ J. Herbin

J. Herbin เป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำหมึกที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ครับ โดยบริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 1670 หรือเกือบๆ 350 ปีมาแล้วทีเดียว สินค้าของ J. Herbin ก็จะเน้นที่น้ำหมึกชนิดต่างๆ ซึ่งก็มีให้เลือกมากมายทั้งน้ำหมึกสีสันสวยงาม น้ำหมึกมีกลิ่นหอม น้ำหมึกล่องหน น้ำหมึกเรืองแสง เรียกว่ามีอะไรให้เล่นเพียบเลยล่ะ

ด้านปากกา J. Herbin จะไม่ได้เน้นเท่าไหร่นะครับ แต่ก็พอมีไว้บริการลูกค้าอยู่เหมือนกัน เท่าที่สังเกตรู้สึกว่า J. Herbin จะนิยมไปทางปากกาแบบอนุรักษ์นิยมครับ อย่างพวกปากกาคอแร้ง ปากกาแก้ว และปากกาที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Eyedropper นี้ อย่างไรก็ตาม J. Herbin ก็มีปากกาหมึกซึมแบบที่ใช้หมึกหลอดและที่สูบหมึก รวมถึงปากกาโรลเลอร์บอลจำหน่ายเหมือนกัน สำหรับปากกาหมึกซึมแบบที่ใช้หมึกหลอดของ J. Herbin ผมเคยทำรีวิวให้ชมกันไปแล้ว ก็ลองตามไปดูกันนะครับ

บรรจุภัณฑ์

J. Herbin Tempête ใส่มาในกล่องกระดาษสีดำด้าน บนฝากล่องพิมพ์โลโก้รูปเรือใบของ J. Herbin ด้วยสีดำเงา ดูคลาสิกสวยงามมาก ปกติแล้วผมจะไม่ค่อยเก็บพวกกล่องกระดาษที่ใส่ปากกามานะครับ แต่สำหรับกล่องนี้สวยจนผมต้องเก็บรักษาไว้อย่างดีเลย

ชุดปากกา J. Herbin Tempête มีให้เลือก 2 แบบ คือ ชุดเล็ก ภายในกล่องจะทำเป็นช่องสำหรับใส่ตัวปากกา และหลอดหยดยาหยอดตา หรือ Eyedropper อีก 1 อัน ส่วนชุดใหญ่จะมีน้ำหมึกขนาด 10 มล. สีสันต่างๆของ J. Herbin เพิ่มเติมอีก 4 ขวด ซึ่งราคาของชุดใหญ่จะแพงกว่าชุดเล็กพอสมควรทีเดียวเลยครับ

สำหรับ J. Herbin Tempête ที่พี่คารมให้ผมมานี้เป็นชุดเล็กนะครับ

Eyedropper

ปกติรีวิวปากกาอื่นๆที่ผมทำมา จะต้องพูดถึงตัวปากกาก่อน แต่สำหรับ J. Herbin Tempête นี่จำเป็นจะต้องพูดถึงระบบเติมน้ำหมึกก่อนครับ เพราะเป็นจุดเด่นที่สุดของปากการุ่นนี้

J. Herbin Tempête ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Eyedropper หรือระบบเติมน้ำหมึกแบบหลอดหยดยาหยอดตา คือ เอาหลอดหยดยาหยอดตาใส่น้ำหมึกลงไปในด้ามปากกาโดยตรงเลย หรือจะพูดอีกทีว่า ไม่มีระบบเติมน้ำหมึกอะไรเลยนั่นเองครับ

ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Eyedropper นี้เป็นระบบเติมน้ำหมึกแบบแรกนับตั้งแต่ปากกาหมึกซึมถือกำเนิดมาบนโลกศิวิไลซ์ใบนี้เลยครับ ไอเดียของระบบเติมน้ำหมึกแบบนี้ก็คือ การเอาน้ำหมึกใส่เข้าไปในด้ามของปากกาคอแร้ง เวลาจะเขียนก็จะได้ไม่ต้องคอยจุ่มหมึกให้ยุ่งยาก จะพกไปไหนก็ไม่ต้องเอาขวดหมึกไปด้วยให้ลำบาก

การที่เอาน้ำหมึกบรรจุเข้าไปในด้ามปากกาโดยตรงเช่นนี้ หากด้ามปากกาทำจากวัสดุโปร่งใสก็จะสามารถมองเห็นสีสันของน้ำหมึกได้อย่างสวยงาม และนี่เองที่เป็นเสน่ห์อย่างแรงของปากกาแบบ Eyedropper นี้ครับ แต่ปากกาชนิดนี้กลับไม่ได้หาซื้อได้ง่ายๆ แถมยังมีราคาค่อนข้างสูงอีกด้วย ทำให้นักเล่นปากกาหมึกซึมหลายต่อหลายคนนำปากกาที่เป็นพลาสติกใสๆมาดัดแปลงเป็น Eyedropper กัน

ปัจจุบันมีบริษัทที่ยังคงผลิตปากกาหมึกซึมแบบ Eyedropper อยู่ไม่มากนัก ซึ่งล้วนเป็นบริษัทผู้ผลิตปากกาในแถบคาบสมุทรอินเดียทั้งสิ้น และปากกาที่เป็น Eyedropper นี้ แม้จะไม่มีระบบเติมน้ำหมึกใดๆเลย แต่ราคาไม่ได้ถูกนะครับ โดยปากกาอินเดียที่ผลิตจากอีโบไนท์ หรืออะครีลิคจะมีราคาตั้งแต่ 40-50 USD ขึ้นไปจนถึงเกือบร้อยเหรียญก็มีครับ

เทียบขนาดกับปากกาไซส์บิ๊กอื่นๆ จากซ้าย Pelikan M805, J. Herbin Tempête, Lamy Safari และ Pilot Custom 74 Lamy Safari ที่ว่าตัวใหญ่แล้ว ยังสั้นกว่า Tempête อีกครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

J. Herbin Tempête เป็นปากกาที่มีขนาดใหญ่ โดยมีขนาดพอๆกับ Lamy Safari เลยครับ ปากกาขนาดนี้ออกจะพกพาในกระเป๋าเสื้อลำบากสักหน่อยะครับ นอกจากคนที่ใส่เสื้อตัวใหญ่จริงๆครับ ปากกามีรูปทรงแบบตอร์ปิโด คือ ส่วนกลางด้ามปากกาเกือบจะตรงๆเป็นทรงกระบอกไปจนจวนจะถึงปลายด้าม ก็หักมุมเรียวเล็กลงไปจนเป็นปลายแหลม ปลอกปากกาของ J. Herbin Tempête จะตัด และทำเป็นยอดปิรามิด ดูสวยงามคลาสิกมาก

ตัวปากกาทำจากอะครีลิค ปลอกปากกา และ Section น่าจะทำจากเรซินมากกว่าอะครีลิคนะครับ สำหรับอะครีลิคกับเรซินนี่จริงๆแล้วก็เป็นพลาสติกชนิดเดียวกัน แต่ต่างกันที่ส่วนผสมบางอย่างเท่านั้น บางรีวิวจึงบอกว่าปากการุ่นนี้ทำจากอะครีลิคทั้งด้าม

ด้ามของ J. Herbin Tempête เป็นอะครีลิคใสๆ สามารถมองเห็นสีสันของน้ำหมึกที่อยู่ภายในได้ ปลอกปากกาและ Section ทำจากเรซินเป็นสีสันต่างๆ ด้ามที่ผมได้มาจากพี่คารมเป็นสีม่วงครับ

ปลอกปากกา

ปลอกปากกาของ J. Herbin Tempête เป็นแบบเกลียวหมุน 2 รอบครึ่ง ถือว่าเกลียวค่อนข้างจะมากไปสักหน่อย ไม่เหมาะสำหรับจะหยิบปากกาใช้งานอย่างรวดเร็วนะครับ ด้านในปลอกปากกามีปลอกปากกาชั้นใน ช่วยป้องกันอากาศเข้าไปทำให้หัวปากกาแห้งได้ดีมาก ผมทดสอบทิ้งปากกาไว้โดยไม่ได้ใช้งานราวหนึ่งสัปดาห์ ไม่พบปัญหา Hard Start แต่อย่างใด

บนปลอกปากกามีแถบกลางลำตัวปากกาสีเงินขนาดใหญ่ ด้านหน้าเขียนว่า J. Herbin ส่วนด้านหลังเป็นคำว่า Paris ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าปากกาด้ามนี้ผลิตในประเทศฝรั่งเศสนะครับ แต่แค่บอกว่าบริษัท J. Herbin นี่ตั้งอยู่ในกรุงปารีสครับ ผมเข้าใจว่าปากกาด้ามนี้คงผลิตในอินเดีย แต่ตรงนี้ผมเดาเองจากรูปทรงและวัสดุที่ใช้ในการผลิตนะครับ

ส่วนบนของปลอกปากกา เป็นโลหะสีเงิน ลดหลั่นเป็นขั้นบันไดเล็กน้อย ด้านบนเป็นยอดแหลมคล้ายรูปปิรามิด ขนาดของปลอกปากกา J. Herbin Tempête อาจจะดูว่าค่อนข้างยาวสักหน่อยเมื่อเทียบกับปากการุ่นอื่นๆ แต่รับกับขนาดของตัวปากกา ดูสวยงามเข้ากันดีมากครับ

คลิปเหน็บกระเป๋า

คลิปของ J. Herbin Tempête เป็นโลหะสีเงิน ช่วงบนของคลิปจะมีความกว้างกว่าช่วงล่าง ซึ่งเป็นรูปทรงที่ปากกาวินเทจนิยมใช้กัน ผมคิดว่าคลิปรูปทรงนี้เหมาะกับตัวปากกาดีครับ เพราะปากกามีขนาดใหญ่ หากทำเป็นคลิปเล็กๆก็จะดูไม่สมส่วน แต่ถ้าคลิปใหญ่ทั้งอันก็จะเทอะทะเกินไป

คลิปของปากการุ่นนี้ติดอยู่เกือบจะบนสุดของปลอกปากกาเลยครับ คลิปลักษณะนี้จะช่วยให้เวลาเหน็บปากกากับกระเป๋าเสื้อแล้ว ปากกาจะจมหายไปในกระเป๋า ไม่โผล่ออกมาเกะกะ แต่สำหรับปากกายาวๆอย่าง Tempête นี่จึงกลายเป็นว่ายิ่งทำให้พกปากกาในกระเป๋าลำบากขึ้นไปอีก

ตัวคลิปของ J. Herbin Tempête จะสั้นกว่าคลิปของปากกาปกติสักหน่อยนะครับ แม้ว่าคลิปจะสั้นขณะที่ปลอกปากกายาว แต่เพราะมีแถบกลางลำตัวปากกาขนาดใหญ่มาช่วยเบรก ทำให้ปากกาดูสวยงามลงตัวมาก ไม่ดูเขอะๆเขินๆครับ

คลิปของปากกามีความเป็นสปริงดี ไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป สามารถเหน็บกับกระเป๋าหนาๆได้อย่างแน่นหนา สำหรับปากกาที่เป็นระบบเติมน้ำหมึกแบบ Eyedropper นี้ คลิปถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำเป็นทีเดียวนะครับโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่จะพกปากกาไปไหนมาไหน เพราะปากกาแบบนี้ควรเก็บในลักษณะหัวปากกาชี้ขึ้น เพื่อป้องกันน้ำหมึกรั่วซึมออกทางรอยต่อของด้ามปากกา หรือออกทางหัวปากกาครับ แต่เท่าที่ผมใช้งานมาเกือบปี ซึ่งก็มีทั้งเก็บปากกาแบบวางนอนและวางตั้งก็ยังไม่เคยเจอปัญหาน้ำหมึกรั่วซึมออกมานะครับ อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยพกปากกาด้ามนี้ไปไหนมาไหน จึงไม่รู้ว่าหากเก็บปากกาแบบวางนอนไว้ในกระเป๋าแล้วถือกระเป๋าเขย่าไปๆมาๆทั้งวันจะเกิดปัญหานี้รึเปล่า

ด้ามปากกา

ผมเคยนึกสงสัยนะครับว่า ปากกาแบบ Eyedropper ที่ไม่มีระบบเติมน้ำหมึกอะไรเลย แต่ทำไมราคาจึงแพงกว่าปากกาที่มีที่สูบหมึกแถมมา และยังแพงกว่าปากกาที่เป็น Piston Filler หลายๆรุ่นที่ผลิตในอินเดียด้วยกันซะอีก แต่พอมาดูที่ตัวปากกาอีกทีก็เห็นได้ชัดเลยครับว่า ปากกาหมึกซึมที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Eyedropper นี้จะต้องมีโครงสร้างของปากกาที่แข็งแรงกว่าปากกาที่ใช้ที่สูบหมึก

ด้ามปากกาของ J. Herbin Tempête ทำจากอะครีลิคใส ใครที่ติดตามบทความของผมมานานแล้วคงพอจะรู้ว่า ผมชอบปากกาที่ทำจากอะครีลิคและเรซินมากกว่าปากกาที่ผลิตจากวัสดุประเภทอื่น เพราะอะครีลิคและเรซินซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกันนี้มีคุณสมบัติที่น่าสนใจมาก เช่น ทนความร้อนสูง ทนแรงกระแทก และทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดีกว่าพลาสติกประเภทอื่นๆ เป็นวัสดุที่มีความโดดเด่นมากในเรื่องของความเหนียว และยังมีความสามารถให้แสงส่องผ่านได้ สำหรับอะครีลิคยังมีความใสราวกับกระจกอีกด้วย (ความจริงแล้วความโปร่งแสงของอะครีลิคยังด้อยกว่ากระจกอยู่เล็กน้อยนะครับ)

ด้ามของ Tempête ทำจากแท่งอะครีลิกใสตันๆนำมากลึงขึ้นรูป แล้วเจาะรูตรงกลางสำหรับไว้ให้ใส่น้ำหมึก การแต่งผิวของด้ามปากกาเนียนใสมากครับ เรียกว่าใสกิ๊กราวกับกระจกเลยครับ

เกลียวด้ามปากกาของ J. Herbin Tempête ก็แตกต่างจากปากกาหมึกซึมที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบอื่นๆนะครับ คือ เกลียวมีความละเอียดกว่าและจำนวนรอบมากถึง 9 รอบ แถมยังมีซีลยางโอริงอยู่ระหว่างด้ามปากกากับ Section อีกด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำหมึกจะไม่มีโอกาสรั่วซึมออกทางรอยต่อของด้ามปากกากับ Section

ด้ามปากกาของปากกาหมึกซึมแบบ Eyedropper นี่แหละครับที่แตกต่างจากปากกาหมึกซึมอื่นๆอย่างมาก และน่าจะเป็นจุดที่ทำให้ปากกามีราคาแพงครับ การนำปากกาหมึกซึมแบบ C/C Filler มาดัดแปลงให้เป็น Eyedropper ก็สามารถทำได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่ด้ามปากกาที่บางกว่าจะแตกได้ง่าย หรือเกลียวปากกาที่หยาบและรอบน้อยกว่าจะคลายตัวจากการกระทบกระทั่ง จนทำให้น้ำหมึกรั่วซึมได้นะครับ

แม้ว่าอะครีลิคจะมีความทนทานสูง และสามารถทนต่อรอยขีดข่วนได้ดีในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรอะครีลิคก็คือพลาสติก หากนำปากกาไปเก็บรวมไว้กับเครื่องเขียนอื่นๆก็อาจเกิดรอยขีดข่วนหรือรอยขนแมวได้นะครับ ซึ่งก็จะทำให้ความใสของด้ามปากกาหมองไปได้ครับ

การเติมน้ำหมึกในด้ามปากกาก็ทำได้โดยใช้หลอดหยดยาหยอดตาที่แถมมาในชุดของปากกา หรือจะใช้หลอดฉีดยาก็ได้ครับ เวลาเติมน้ำหมึกอย่าเติมจนน้ำหมึกสุงเกินจากเกลียวของปากกานะครับ ควรเติมให้ต่ำกว่าเกลียวของด้ามปากกาสักเล็กน้อย เวลาปิดด้ามปากกาน้ำหมึกจะได้ไม่ล้นออกมาครับ ตัวปากกาใหญ่ๆอย่าง J. Herbin Tempête นี่เติมน้ำหมึกทีใช้จดหนักๆได้ทั้งเดือนโดยไม่ต้องเติมน้ำหมึกเพิ่มเลยล่ะครับ

บริเวณที่จับปากกา (Section Grip)

ที่จับปากกาของ J. Herbin Tempête ทำจากอะครีลิคหรือเรซินเช่นกัน ลักษณะของ Section เกือบจะเป็นทรงกระบอกเลย โดยเรียวเล็กไปทางหัวปากกาเพียงนิดเดียวเท่านั้น ทำให้ตัว Section มีความอวบเกือบเท่ากับขนาดของด้ามปากกา ตรงส่วนปลายของ Section จะบานออกเล็กน้อย เพื่อป้องกันมือลื่นไถลไปโดนหัวปากกา

Section ที่อวบๆแบบนี้ช่วยให้จับปากกาได้มั่นคง ไม่ต้องเกร็งนิ้วมือเวลาเขียน ทำให้สามารถใช้เขียนหนังสือได้นานๆโดยไม่เมื่อยล้าครับ

หัวปากกา

ผมชอบดีไซน์หัวปากกาของ J. Herbin Tempête มากเลยนะครับ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมที่มีลวดลายบนหัวปากกาสวยมากๆ

หัวปากกาของ J. Herbin Tempête เป็นหัวปากกาเบอร์ 6 ซึ่งมีขนาดใหญ่เหมาะสมกับขนาดของตัวปากกาดี หัวปากกาทำจากสแตนเลส บนหัวปากกามีโลโก้ของ J. Herbin รูปเรือสำเภาสวยมากๆ ด้านบนของหัวปากกามีคำว่า Depuis 1670 เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง Since 1670 นั่นเองครับ ด้านล่างของหัวปากกาเป็นชื่อยี่ห้อ J. Herbin

ปากการุ่นนี้มีขนาดของลายเส้นเพียงขนาดเดียว ไม่มีให้เลือกนะครับ ตรงนี้เองที่เป็นปัญหาของพี่คารมที่บอกว่าลายเส้นมีขนาดใหญเกินกว่าที่พี่เค้าชอบ ก็เพราะขนาดลายเส้นของ J. Herbin Tempête นี่เท่าๆกับลายเส้นขนาด M ของ Pelikan เลย คือ ราว 0.7 มม. ขณะที่หัวปากกาขนาด M ของปากกาจากทางตะวันตกยี่ห้ออื่นๆจะมีขนาดลายเส้นราว 0.6 มม. รวมถึงหัวปากกาขนาด B จากทางเอเชียก็จะมีขนาดลายเส้นประมาณ 0.6 มม. เท่านั้น ขนาดลายเส้นของ J. Herbin Tempête จึงพอๆกับ หรือใหญ่กว่าหัวปากกาขนาด B ของปากกาจากทางเอเชียซะอีกนะครับ ขณะที่พี่คารมชอบใช้หัวปากกาขนาด EF ของญี่ปุ่น ขนาดของลายเส้นจึงใหญ่กว่ากัน 3-4 เบอร์เลย

การใช้งาน

แม้ว่า J. Herbin Tempête จะเป็นปากกาหมึกซึมที่มีขนาดใหญ่ แถมยังมีด้ามปากกาหนาๆตันๆอีก แต่น้ำหนักของปากกาก็ไม่ได้มากมายอะไรนะครับ โดยมีน้ำหนักรวมราว 24 กรัม ซึ่งก็หนักพอๆกับบรรดาปากกาที่ทำจากเรซิน หรืออัลลอยด์อื่นๆ ยังเบากว่าปากกาที่ขนาดเล็กกว่าแต่ทำจากโลหะอยู่เยอะเลยนะครับ

เรื่องน้ำหนักของปากกานี่เป็นสิ่งที่ผมกังวลมาแต่แรก จนไม่กล้าสั่งซื้อปากกาลักษณะนี้มาใช้งานครับ คือ ความที่ปากกาแบบ Eyedropper จะมีด้ามปากกาที่หนามาก จนทำให้ผมระแวงว่าด้ามปากกาจะหนักมาก จนเกิดอาการ “หนักท้าย” แต่พอได้ลองเขียนจริงๆแล้วไม่พบปัญหาดังกล่าวเลย ยิ่งปากกามีรูปทรงแบบตอร์ปิโดที่มีสมดุล และการถ่ายทอดน้ำหนักลงสู่หัวปากกาที่ดี ยิ่งทำให้จับเขียนสบายมือมากๆ แทบไม่รู้สึกถึงน้ำหนักของปากกาเลยครับ

พอไปบวกกับ Section อวบๆ ที่ทำจากเรซิน ช่วยให้จับปากกาได้ถนัดมือมาก ไม่ลื่นเลย เวลาเขียนก็ไม่ต้องเกร็งนิ้วเพื่อให้จับปากกาได้มั่นคง ทำให้สามารถใช้ปากกาเขียนได้นานๆโดยไม่เมื่อยมือครับ

ตัวปากกาของ J. Herbin Tempête ยาวมาก สามารถเขียนได้โดยไม่ต้องนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามได้อย่างสบายๆ เมื่อนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม จะเสียบได้ไม่มั่นคงนัก เขียนๆไปปลอกปากกาอาจหลุดออกมาได้ง่ายๆนะครับ อีกอย่าง ปลอกปากกาก็เสียบเข้าไปในท้ายด้ามได้ไม่ลึกด้วย ทำให้เมื่อเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามแล้วจะ “หนักท้าย” มาก สรุปเป็นว่า ปากการุ่นนี้ไม่เหมาะที่จะนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามเป็นอย่างยิ่งครับ

ส่วนตัวผมเห็นว่า J. Herbin Tempête เป็นปากกาที่เหมาะจะใช้งานประจำโต๊ะทำงานซะมากกว่านะครับ คือ ตั้งอวดความงามของปากกาไว้ที่โต๊ะ แต่ไม่เหมาะที่จะเป็นปากกาที่ใช้พกไปไหนมาไหนครับ เนื่องจากมีข้อจุกจิกในการพกพาค่อนข้างมาก จะพกรวมกับเครื่องเขียนอื่นๆ หรือโยนทิ้งไว้ก้นกระเป๋าถือก็ไม่เหมาะ เพราะกลัวว่าจะเกิดรอยขีดข่วนบนด้ามปากกา ทำให้ด้ามใสๆหมองลงได้ จะพกในแนวนอนก็ไม่ดีอีก เดี๋ยวน้ำหมึกจะรั่วซึมออกมาได้ จะเหน็บกับกระเป๋าเสื้อปากกาก็ยาวเกินไป พอบวกกับการที่หัวปากกามีขนาดลายเส้นที่ค่อนข้างจะใหญ่มาก ยิ่งทำให้ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้จดเขียนบนกระดาษทั่วๆไปด้วย ปากกาด้ามนี้จึงเหมาะที่จะหาที่ตั้งสวยๆ แล้ววางโชว์ความงามของด้ามใสกริ๊งและสีน้ำหมึกสดใสไว้บนโต๊ะทำงาน ให้หยิบออกมาเซ็นชื่อหรือเขียนบันทึกได้ง่ายๆ ทั้งยังสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนที่ทำงานได้อย่างดีอีกด้วยนะครับ

การเขียน

หัวปากกาของ J. Herbin Tempête เขียนได้ลื่นดีมากครับ เรียกว่าลื่นอย่างไม่มี Feedback เลยก็ว่าได้ การป้อนน้ำหมึกสม่ำเสมอดีมาก เขียนเร็วๆหรือลากยาวต่อเนื่องลายเส้นก็ไม่ขาดหาย ความเปียกของปากการุ่นนี้อยู่ในระดับปานกลางครับ ซึ่งก็ดีเหมือนกันเพราะว่าถึงหัวปากกามีขนาดลายเส้นใหญ่แต่ก็สามารถใช้เขียนบนกระดาษเนื้อไม่ดีได้ โดยซึมทะลุด้านหลังไม่มากนัก

หัวปากการุ่นนี้แข็งค่อนข้างมากทีเดียวครับ ไม่มีความยืดหยุ่นเอาซะเลย เขียนขึ้นเบาลงหนักไม่ได้เลย หากใครมีปากการุ่นนี้ใช้อยู่อย่าไปพยายามเขียนกดให้เกิดเส้นหนักเส้นเบานะครับ หัวปากกาจะพังซะเปล่าๆ

ผมเขียนเปรียบเทียบขนาดลายเส้นให้ดูด้วย โดยเลือกเปรียบเทียบกับปากกาที่ขนาดเส้นใหญ่ๆด้วยกัน จะเห็นได้ว่า หัวปากกาของ J. Herbin Tempête มีขนาดลายเส้นเท่าๆกับหัวขนาด M ของ Pelikan M805 แต่ลายเส้นจะใหญ่กว่าหัวขนาด M ของ Delta Dolcevita ขนาดของลายเส้นประมาณนี้ส่วนตัวผมคิดว่า ใหญ่ไปสักหน่อยสำหรับใช้เขียนหนังสือภาษาไทยนะครับ เพราะตัวอักษรภาษาไทยของเรามีรายละเอียดเยอะ หากเขียนด้วยปากกาหัวใหญ่ๆพวกรายละเอียดต่างๆตันทึบไม่สวยครับ สำหรับผมแล้วลายเส้นขนาดใหญ่ที่สุดที่ผมใช้จดงาน คือ หัวขนาด M ของ Delta, Parker หรือ Sheaffer ครับ แต่ขนาดที่ผมนิยมใช้จดงานที่สุดจะเป็นหัวปากกาขนาด M ของทางเอเชีย หรือขนาด F ของทางยุโรปครับ

สรุปล่ะค้าบ

J. Herbin Tempête เป็นปากกาที่สวยงาม คลาสิกมากครับ หากมีไว้ประดับโต๊ะทำงานจะเป็นจุดดึงดูดสายตาของผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดีทีเดียว อย่างไรก็ตามปากการุ่นนี้ไม่เหมาะที่จะใช้พกไปไหนมาไหนเป็นอย่างยิ่งครับ

สิ่งที่น่าเสียดายที่สุด คือ J. Herbin Tempête มีหัวปากกาเพียงขนาดเดียว ไม่มีขนาดอื่นๆให้เลือก แถมขนาดลายเส้นยังใหญ่ค่อนข้างมากอีกด้วย ทำให้การใช้งานของปากการุ่นนี้ค่อนข้างจำกัดสักหน่อย ครั้นจะซื้อมาเพื่อเปลี่ยนไปใช้หัวปากกาแบบอื่นก็เสียดายที่หัวปากกาเดิมสวยมาก

ปากการุ่นนี้มีราคาที่จัดว่าสูงมากสักหน่อยนะครับ ต้องขอโทษด้วยที่ผมจำราคาที่แท้จริงไม่ได้ แต่น่าจะอยู่ราวๆสองพันแก่ๆถึงสามพันกว่าๆบาทน่ะครับ แต่สำหรับผู้ที่หลงไหลในปากกาแบบ Eyedropper แล้ว ผมคิดว่าปากการุ่นนี้ it's a must. เลยล่ะครับ (คำว่า it's a must นี่ผมชอบกูเกิ้ลแปลเป็นไทยมากเลยครับ “มันต้อง” อ่านเน้นๆแล้วได้ใจมว๊ากกก 55555)

ล่าสุดนี้ผมไม่พบ J. Herbin Tempête ในเว็บไซท์ของ J. Herbin แล้วนะครับ ไม่แน่ใจว่าจะยกเลิกสายการผลิตไปรึยัง สำหรับผู้ที่สนใจลองสอบถามไปที่ J. Herbin Thailand หรือที่ร้าน PP Art and Craft ดูนะครับ เผื่อจะยังมีสินค้าเหลืออยู่บ้าง

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page