top of page
  • เรียบเรียง: ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Wing Sung 626


ผมได้ข่าวการออกปากกาหมึกซึม Wing Sung 626 มาตั้งแต่กลางเดือนมกราคมปีนี้ โดยตัวแทนจำหน่ายปากกา Wing Sung ได้มาโพสท์ในเว็บบอร์ด Fountain Pen Network พอราวกลางเดือนมีนาคม Wing Sung ก็นำปากการุ่นนี้ออกวางตลาด นับได้ว่าบริษัทของจีนทำงานเร็วมากนะครับ ปากกาต้นแบบทำออกมาราวกลางเดือนมกราคม อีกสองเดือนต่อมาก็ผลิตตัวจริงออกวางตลาดแล้ว

เนื่องจาก Wing Sung 626 จัดได้ว่าเป็นมีราคาค่อนข้างสูงสำหรับปากกาจีน โดยมีราคาขายอยู่ที่ราว 30 เหรียญสหรัฐ หรือราวหนึ่งพันบาท จึงทำให้ผู้ใช้ปากกาหมึกซึมหลายรายยังรีๆรอๆที่จะสั่งซื้อมาใช้ นัยว่ารอดูรีวิวจากเพื่อนๆก่อน ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน

อาจจะเป็นเพราะยังมีผู้ใช้ปากการุ่นนี้ไม่มาก จึงไม่ค่อยจะมีรีวิว Wing Sung 626 สักเท่าไหร่นัก ผมจึงพยายามรวบรวมข้อมูลจากรีวิวต่างๆ รวมถึงวิดีโอรีวิวทั้งหมดในยูทูปมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

Wing Sung 626 เป็นปากการูปทรงตอร์ปิโด ตัวปากกาผลิตจากอะครีลิกสวยงามมาก ขนาดและหน้าตาของ Wing Sung 626 จะเหมือนกับปากกาวินเทจของ Sheaffer รุ่น Balance อันเลื่องชื่อในอดีต

การที่ Wing Sung 626 มีหน้าตาเหมือนกับ Sheaffer Balance II ราวกับแกะเช่นนี้ รวมถึงมีจุดขาวอันเป็นสัญลักษณ์ของ Sheaffer บนตัวปากกาด้วย ไม่ใช่ว่า Wing Sung ไปก็อปปี้ Sheaffer มาแบบหน้าด้านๆนะครับ จากข้อมูลที่ผมได้รับมาบอกว่า Wing Sung ซื้อดีไซน์นี้มาจากเจ้าของ Sheaffer หลังจากที่ Sheaffer ได้ขายกิจการให้ Cross มาระยะหนึ่ง ซึ่ง Cross จะได้สิทธิ์ในปากการุ่นปัจจุบัน (ในขณะนั้น) และปากกาที่จะผลิตออกมาในอนาคต แต่ไม่รวมถึงปากกาวินเทจทั้งหลาย ทำให้เจ้าของ Sheaffer สามารถนำดีไซน์ของ Balance มาขายได้

ตัวปากกา

Wing Sung 626 ทำจากอะครีลิกทั้งด้าม มีให้เลือกหลายสี ซึ่งก็เหมือนกับ Sheaffer Balance ที่ทำจากอะครีลิกหลากหลายสีเช่นกัน Wing Sung 626 บางสี เช่น น้ำเงิน และเขียว จึงดูคล้ายกับ Sheaffer Balance ราวกับฝาแฝดทีเดียว

โดยส่วนตัวของผมจะชอบปากกาที่ทำจากอะครีลิกมากกว่าปากกาที่ผลิตจากวัสดุอื่นๆอยู่สักหน่อย เพราะอะครีลิกจะมีสีสันที่ดูลึก สดใสกว่าปากกาที่ผลิตจากพลาสติกหรือโลหะเคลือบสี ทั้งอะครีลิกยังมีคุณสมบัติโปร่งแสง เวลาที่หยิบปากกามาใช้งานในจุดที่แสงตก ปากกาจะดูโดดเด่น สวยงามมาก

รูปทรงตอร์ปิโด

ตัวปากกาของ Wing Sung 626 เป็นรูปทรงตอร์ปิโด คือ ส่วนกลางของปากกาจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอกแล้วเรียวเล็กลงที่ส่วนหัวและท้ายของปากกา เรื่องรูปทรงของปากกานี้ผมเคยเขียนเป็นบทความไว้ก่อนหน้านี้ ลองคลิกไปอ่านกันนะครับ

ผมเคยอ่านบทความของต่างประเทศบอกว่า เหตุที่ Sheaffer นิยมผลิตปากกาเป็นรูปทรงตอร์ปิโด หรือรูปทรงซิการ์ก็เพราะว่า ในช่วงก่อตั้งบริษัท Sheaffer (1912) บริษัทผู้ผลิตปากกาหมึกซึมยักษ์ใหญ่ในขณะนั้น ได้แก่ Waterman, Pelikan หรือ Parker ล้วนแต่มีปากกาที่สร้างชื่อเป็นรูปทรงหัวตัดท้ายตัด (Flat Top) กันทั้งสิ้น Sheaffer จึงนำเสนอดีไซน์ที่แปลกใหม่ในตลาดขณะนั้น และก็ประสบความสำเร็จอย่างล้มหลาม จนทำให้ปากการูปทรงซิการ์ และตอร์ปิโดนี้กลายเป็นหนึ่งในรูปทรงคลาสิกของปากกาหมึกซึมมาจนถึงปัจจุบัน

ผู้ที่เคยติดตามอ่านบทความของ Write Like Dream มาอยู่บ้าง น่าจะพอรู้กันอยู่ว่า ผมมีแนวโน้มที่ชอบปากการูปทรงซิการ์ และทรงตอร์ปิโดมากกว่าปากการูปทรง Flat Top ที่ผมมองว่าเหมือนเอาท่อมากลึงเกลียวทำด้ามปากกาครับ 5555 ยิ่ง Sheaffer Balance เป็นปากการูปทรงตอร์ปิโด ที่มีตัวปากกาทำจากอะครีลิก ยิ่งเข้าสเปกผมไปใหญ่เลย ทำให้ผมพยายามเสาะหา Sheaffer Balance มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เจอเนื้อคู่สักที เพราะพอเจอปากกาสวยๆ ก็มักจะมีราคาแพงเกินเอื้อม ส่วนปากกาที่พอจะเอื้อมถึง สภาพก็ไม่นางฟ้า ด้วยเหตุนี้พอ Wing Sung ออกรุ่น 626 มา ผมจึงตื่นเต้นกับข่าวนี้มาก

ปลอกปากกา

ปลอกปากกาของ Wing Sung 626 ทำจากอะครีลิกสีเดียวกับตัวปากกา ปลอกปากกาเป็นแบบเกลียวราว 1 1/4 รอบ เปิดปลอกปากกาออกใช้งานได้สะดวกรวดเร็วดีครับ

ผมดูจากวิดีโอรีวิวในยูทูปของผู้ที่ใช้ User Name ว่า chrisrap52 ผู้ทำรีวิวใช้ไฟฉายส่องเข้าไปในปลอกปากกาของ Wing Sung 626 ทำให้เห็นว่า ภายในมีปลอกปากกาชั้นในทำจากพลาสติกอยู่ด้วย ตรงนี้ผมชอบมากๆครับ เพราะปากกาหมึกซึมที่ทำจากอะครีลิกโดยเฉพาะที่ผลิตจากประเทศในคาบสมุทรอินเดียมักจะไม่มีปลอกปากกาชั้นใน อย่างไรก็ตาม chrisrap52 ทำรีวิวปากการุ่นนี้ไว้ 2 ด้าม ปากกาด้ามแรกที่ทำรีวิวมีปลอกปากกาชั้นใน แต่อีกด้ามกลับไม่มีครับ เลยไม่รู้ว่าอะไรคือมาตรฐานของปากการุ่นนี้กันแน่ ขณะที่ผู้ทำรีวิวคนอื่นๆไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้กันเลย

บนปลอกปากกาของ Wing Sung 626 มีแถบกลางลำตัวปากกาขนาดเล็ก 2 แถบ เหมือนกับ Sheaffer Balance II ที่ผลิตออกมาในราวปี 1998 ที่บริเวณเหนือคลิปเหน็บกระเป๋ามีสัญลักษณ์จุดสีขาว เช่นเดียวกับปากกาของ Sheaffer อีกด้วย แต่ Wing Sung 626 ก็มีจุดสีทองรับกับคลิปให้เลือกด้วยนะครับ

สำหรับสัญลักษณ์จุดสีขาวนี้ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของ Sheaffer นะครับ แต่เดิม Sheaffer จะใช้สัญลักษณ์นี้กับปากกาที่รับประกันตลอดชีพเท่านั้น แต่พอมาทีหลังบริษัทเริ่มรับประกันตลอดชีพไม่ไหวแล้ว Sheaffer ก็ยังคงใช้จุดสีขาวบนปากกาไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเองในปากกาทุกรุ่น ทำให้การใช้จุดสีขาวบนตัวปากกานี้ไม่ได้เป็นการลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด

คลิปเหน็บกระเป๋า

คลิปสีทองของ Wing Sung 626 จะเจาะติดกับปลอกปากกาอะครีลิกโดยตรง ยังไม่มีข้อมูลว่า สลักของคลิปที่ยึดติดกับปลอกปากกาแข็งแรงมากน้อยเพียงไรนะครับ คลิปลักษณะนี้ผมแนะนำเลยว่า ไม่ควรเอาปากกาไปเหน็บกับกระเป๋าหนาๆ เพราะหากคลิปง้างออกมากเกินไป อาจทำให้จุดที่ยึดคลิปกับปลอกปากกาคลอนแคลนง่อนแง่นขึ้นมาได้ การบำรุงรักษาซ่อมแซมก็ออกจะยุ่งยากพอควร

การที่เจาะปลอกปากกาเพื่อยึดกับคลิปเช่นนี้ ยังจะทำให้อากาศสามารถผ่านช่องสำหรับยึดคลิปเข้าไปโดนหัวปากกาได้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการ Hard Start คือ เมื่อเติมน้ำหมึกแล้วเก็บปากกาไว้โดยไม่ใช้งานนานๆ พอหยิบปากกามาใช้อาจจะเขียนไม่ติด แต่ถ้าปลอกปากกาของ Wing Sung 626 มีปลอกปากกาชั้นในก็จะช่วยป้องกันอาการนี้ได้ ซึ่งตรงนี้ผมยังไม่แน่ใจนัก เนื่องจากรีวิวของ chrisrap52 แสดงให้เห็นว่าปากการุ่นนี้มีทั้งที่มีปลอกปากกาชั้นในและไม่มีครับ

ลักษณะคลิปของ Wing Sung 626 จะเหมือนกับ Sheaffer Balance II เลยครับ ต่างกันแค่ตัวอักษรบนคลิปจะสลักชื่อยี่ห้อ Wing Sung แทน Sheaffer

บริเวณที่จับปากกา (Section)

ที่จับปากกา หรือ Section Grip ของ Wing Sung 626 ทำจากอะครีลิกสีเดียวกับตัวปากกา นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้มองเห็นแตกต่างจาก Sheaffer Balance ได้อย่างชัดเจน เนื่องจาก Section ของ Sheaffer Balance จะทำจากอะครีลิกสีดำ ไม่ว่าตัวปากกาจะเป็นสีอะไรก็ตาม

Section ของปากการุ่นนี้ค่อนข้างอวบ ส่วนกลางของ Section เว้าคอดลงเล็กน้อยเพื่อรับกับนิ้วมือ แม้ผมจะยังไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของ Wing Sung 626 หรือ Sheaffer Balance II แต่จากการที่มี Sheaffer Balance Lady อยู่ ซึ่งเป็นปากกาที่มีขนาดเล็กกว่ามาก ยังจับปากกาได้ถนัดมือดีมาก ทำให้มั่นใจได้ว่า Wing Sung 626 จะต้องจับถือได้ถนัดมืออย่างแน่นอน โดยเฉพาะรูปทรงด้ามที่อวบทำจากอะครีลิกที่มีคุณสมบัติไม่ลื่น และปากการูปทรงตอร์ปิโดที่มีสมดุลที่ดี ปากการุ่นนี้น่าจะใช้เขียนนานๆได้โดยไม่เมื่อยล้าอย่างแน่นอนครับ

ระบบเติมน้ำหมึก

Wing Sung 626 ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ C/C Converter คือ ใช้ได้ทั้งหมึกหลอดและที่สูบหมึก เช่นเดียวกับ Sheaffer Balance II ในขณะที่ Sheaffer Balance รุ่นแรกๆ รวมถึง Balance Lady ที่ผมมีอยู่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Lever Filler

ที่สูบหมึกที่ให้มากับ Wing Sung 626 เป็นแบบ Piston Converter ที่ใช้งานได้สะดวก ที่สูบหมึกนี้สามารถใช้กับปากกา Sheaffer ได้นะครับ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นที่สูบหมึกมาตรฐานหรือเปล่า เพราะที่สูบหมึกของ Wing Sung บางรุ่นจะทำให้ใช้ได้กับปากกา Pilot ครับ ตรงนี้เองทำให้ผมก็ไม่รู้ว่าหมึกหลอดที่จะใช้กับ Wing Sung 626 ได้จะเป็นหมึกหลอดของยี่ห้ออะไร

ที่สูบหมึกของ Wing Sung 626 ได้รับการออกแบบขึ้นมาใหม่สำหรับปากการุ่นนี้โดยเฉพาะเลยครับ ไม่ใช่ที่สูบหมึกรุ่นเดิมๆที่ Wing Sung มีใช้อยู่แล้ว โดยรูปร่างหน้าตาของที่สูบหมึกจะคล้ายกับที่สูบหมึกของปากกายี่ห้อ Platinum ครับ เท่าที่ดูจากรูปผมคิดว่าที่สูบหมึกของปากการุ่นนี้มีความแข็งแรงใช้ได้เลยนะครับ

หัวปากกา

Wing Sung 626 ใช้หัวปากกาที่ทำจากโลหะ สีทูโทนเงิน-ทอง ซึ่งการทำสีของหัวปากกาเป็นทูโทนนี้ ก็คล้ายๆกับหัวปากกาของ Sheaffer Balance II ด้วยครับ ลักษณะของหัวปากกาที่ใช้ในรุ่นนี้ ผมยังไม่เคยเห็น Wing Sung หรือ Hero ใช้กับหัวปากการุ่นอื่นๆมาก่อนเลย น่าจะเป็นการผลิตหัวปากการุ่นใหม่มาใช้กับปากการุ่นนี้โดยเฉพาะ

บนหัวปากกามีลวดลายหยักๆคล้ายกับกลีบดอกเหมยที่เป็นสัญลักษณ์ของ Hero ตรงกลางของหัวปากกามีลวดลายรูปวงกลม คล้ายๆกับที่เคยเห็นในสถาปัตยกรรมจีน และมีข้อความบอกชื่อยี่ห้อ WINGS และตัวอักษรบอกขนาดของหัวปากกา เท่าที่ผมเห็นมา ปากการุ่นนี้มีหัวปากกาให้เลือก 2 ขนาด คือ Fine และ Medium ซึ่งก็น่าประทับใจนะครับ ที่ปากกาจีนเริ่มทำหัวปากกาขนาดต่างๆให้เลือกใช้ ได้แต่รอดูว่าเมื่อไหร่จะผลิตหัวแบบอื่นๆออกมาจำหน่าย

นอกจากนี้ Wing Sung 626 ยังมีหัวปากกาที่ทำจากทองคำ 14K ให้เลือกซื้อด้วยนะครับ และเห็นในเว็บบอร์ด Fountain Pen Network บอกว่ามีหัวปากกา 18K อีกด้วย แต่ที่ผมออกจะงงนิดหน่อยก็ คือ หัวปากกาที่ทำจากโลหะของ Wing Sung 626 จะมีขนาดเท่าๆกับหัวปากกาเบอร์ 6 ขณะที่หัวปากกาที่ทำจากทองคำจะมีขนาดพอๆกับหัวปากกาเบอร์ 5 ซึ่งก็ต้องหมายความว่าจุดที่ยึดหัวปากกาและ Feed ที่อยู่ใน Section (Housing) จะต้องเป็นคนละชุดกันด้วย ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนหัวปากกากันได้ อย่างไรก็ตามเท่าที่ผมหาเจอ Wing Sung 626 ที่ใช้หัวปากกา 14K ราคาขายแพงกว่าหัวปากกาโลหะถึงเท่าตัวทีเดียว และยังไม่เคยเห็นรีวิวหัวปากกา 14K นี่ด้วย ทำให้ผมคิดว่ายังไม่น่าเสี่ยงครับ

การใช้งาน

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ผมยังไม่เคยจับตัวเป็นๆของ Wing Sung 626 เลย แต่จากขนาด รูปทรง และวัสดุของตัวปากกา ทำให้คาดเดาถึงลักษณะการใช้งานได้อย่างไม่ยากเย็นครับ อีกทั้งทุกรีวิวก็บอกเหมือนๆกันว่า Wing Sung 626 เป็นปากกาที่มีขนาดกำลังเหมาะมือ น้ำหนักก็กำลังดี ทั้งนี้ด้วยรูปทรงของปากกาแบบตอร์ปิโดทำให้มีการถ่ายน้ำหนักลงสู่หัวปากกาในขณะที่เขียนอยู่แล้ว ปากกาจึงมีสมดุลดีมาก Section ที่ทำจากอะครีลิกก็ไม่ลื่น จับเขียนนานๆได้โดยไม่เมื่อยล้า

จุดด้อยของปากการุ่นนี้อยู่ตรงที่ปลอกปากกาเสียบท้ายด้ามไม่มั่นคงครับ ตรงนี้แม้แต่ Sheaffer Balance เองก็มีปัญหาข้อนี้เหมือนกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากวัสดุและรูปทรงของตัวปากกานั่นเอง อย่างไรก็ตามตัวปากกาของ Wing Sung 626 มีความยาวเพียงพอที่จะเขียนได้อย่างสบายๆโดยไม่ต้องนำหัวปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามอยู่แล้ว

การเขียน

ส่วนตัวผม เวลาดูรีวิวปากกาของต่างประเทศนี่ ผมจะชอบอ่านมากกว่าดูวิดีโอ เพราะรีวิวที่เขียนมักจะเล่าถึงความเป็นมาหรือเหตุผลต่างๆมากกว่าวิดีโอ ส่วนวิดีโอถ้าบอกอะไรมากๆก็จะยาวเกินจนดูแล้วน่าเบื่อนะครับ แต่พอผมหารีวิวอ่านจนพอใจแล้ว ผมก็จะไปหาวิดีโอมาดูด้วย โดยจะดูเฉพาะตอนทดสอบเขียนเลยครับ และสำหรับ Wing Sung 626 นี้ผมดูและฟังความเห็นของนักวิจารณ์ปากกาจากทุกวิดีโอเลยครับ

นักรีวิวปากกาที่ทำวิดีโอลงยูทูปทุกคน ต่างชื่นชมการเขียนของ Wing Sung 626 จากวิดีโอแสดงให้เห็นว่าปากการุ่นนี้ป้อนน้ำหมึกดีมาก ปล่อยน้ำหมึกออกมาฉ่ำจนเปียกทีเดียว ปากกาเขียนได้ลื่น มีวิดีโอหนึ่งบอกว่า ขนาดลายเส้นของหัวปากกาขนาด F ของ Wing Sung 626 ค่อนข้างจะใหญ่กว่าหัวปากกาขนาด F ของปากกาจีนรุ่นอื่นๆ ผมไปหาข้อมูลมาพบว่า หัวปากกาขนาด Fine ของ Wing Sung 626 มีขนาดลายเส้นใหญ่ถึง 0.5 มม.กันเลยทีเดียว ในขณะที่หัวปากกาขนาด F ของปากกาจากทางเอเชียทั่วไปจะมีขนาดลายเส้นประมาณ 0.3 มม. และหัวปากกาขนาดเดียวกันจากทางยุโรปจะมีขนาดลายเส้น 0.4 มม. เท่านั้นครับ

หัวปากกาของ Wing Sung 626 ค่อนข้างอ่อน สามารถทำ Line Variation หรือเขียนแบบขึ้นเบาลงหนักได้อยู่บ้าง แต่ในวิดีโอรีวิวอันหนึ่งของ chrisrap52 ได้ทดสอบเขียนปากการุ่นนี้แบบ Reverse Writing หรือพลิกกลับหัวปากกาแล้วเขียน แต่แกอาจจะมือหนักไปหน่อย ทำให้หัวปากกางอเลยครับ ขณะที่ผมดูรีวิวอื่นๆไม่พบว่าเกิดปัญหาเดียวกันนี้จากนักรีวิวคนอื่นๆ ก็เลยเดาไปว่า หัวปากการุ่นนี้ออกแบบมาให้อ่อนค่อนข้างมาก และทางผู้ผลิตใช้ลักษณะทางกายภาพ (ไม่ใช่คุณสมบัติของวัตถุ) เพื่อก่อให้เกิดการสปริงกลับ แต่พอ chrisrap52 ไปเขียนแบบ Reverse ซึ่งทิศทางของแรงมาในทางตรงกันข้าม ก็เลยทำให้ไม่มีแรงสปริงกลับ หัวปากกาจึงงอได้ง่ายนะครับ

อย่างไรก็ตาม ผมเคยบอกหลายครั้งแล้วว่า ส่วนตัวผมไม่นิยมนำหัวปากกาใดๆที่ไม่ได้ระบุว่าเป็น Flex หรือ Semi Flex nib มาเขียนแบบกดถ่างเพื่อทำขึ้นเบาลงหนัก เพราะจะทำให้หัวปากกาเสียหาย หรืออย่างน้อยขนาดของลายเส้นก็จะใหญ่ขึ้นโดยไม่จำเป็นครับ การเขียนแบบขึ้นเบาลงหนักสำหรับหัวปากกาทั่วไปก็ขอให้เป็นการเขียนตามธรรมชาติ คือ ลากเส้นโดยใช้แรงปกติ เส้นที่ลากลงก็จะมีขนาดใหญ่กว่าเส้นที่ตวัดขึ้นเล็กน้อยอยู่แล้วโดยไม่ต้องไปฝืนออกแรงกดหัวปากกาครับ

Package ของ Wing Sung 626 หัวปากกา 14K

สรุป

ตรงสรุปนี้ ผมรวบรวมมาจากทุกรีวิว บวกกับความเห็นส่วนตัวไปเลยนะครับ เพราะทุกรีวิวและความเห็นของผมออกไปในทิศทางเดียวกัน คือ Wing Sung 626 เป็นปากกาที่เขียนดี สวยงาม คุ้มค่าต่อการลงทุนมาก ผมยังมีความเห็นว่า Wing Sung 626 มีคุณค่าในฐานะ “Replica” (แบบจำลอง) ของ Sheaffer Balance II ที่เลื่องชื่อในอดีต ซึ่งผลิตโดยได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องแล้วด้วยครับ นักวิจารณ์คนหนึ่งถึงกับบอกว่า ปากการุ่นนี้ยังเขียนดีกว่า Sheaffer Balance ที่เขามีทุกด้ามอีกด้วย (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกครับ เพราะอายุของปากกาต่างกันมาก)

ผู้ใช้ปากกาหมึกซึมบางคนติอยู่หน่อยนึงว่า ปากการุ่นนี้ราคาออกจะแพงไปสักหน่อยสำหรับปากกาจีน ผมว่าคิดแบบนี้ไม่ยุติธรรมเลยครับ เพราะปากกาจีนมีราคาไม่ถึงร้อย ไปจนถึงร้อยกว่าบาทนี่มาตั้งแต่รุ่นพ่อของผม คือราว 30-40 แล้วเห็นจะได้ ก็สมควรที่จะต้องขึ้นราคาไปบ้างตามสภาพเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของโลก ขณะที่ Wing Sung 626 ผลิตจากอะครีลิก ซึ่งปากกาที่ทำจากวัสดุเดียวกันนี้ที่ผลิตในประเทศอื่นๆก็จะมีราคาที่เริ่มต้นที่ราวพันกว่าบาท หรือสูงกว่านี้ทั้งนั้น

ผมเห็นว่า ปากกาที่ผลิตจากอะครีลิกเป็นงานฝีมือมากกว่าปากกาพวกที่ทำจากพลาสติก ตั้งแต่การผลิตอะครีลิกให้ได้สีสันต่างๆตามต้องการ การนำอะครีลิกมากลึง แล้วขัดแต่งผิว ขณะที่ปากกาพลาสติกก็เพียงแต่ผสมสีในเม็ดพลาสติก แล้วก็ฉีดพลาสติกลงในบล็อกที่ต้องการเท่านั้น จากการที่มีขั้นตอนการผลิตมากกว่า ราคาของปากกาที่ทำจากอะครีลิกก็เลยสูงกว่าเป็นธรรมดา

จุดด้อยของ Wing Sung 626 สำหรับผมก็มีหลักๆอยู่ข้อเดียวครับ คือ ตกลงปากการุ่นนี้มีปลอกปากกาชั้นในหรือไม่กันแน่ หากว่ามีปลอกปากกาชั้นใน ปากการุ่นนี้จะน่าใช้เป็นอย่างมากเลยครับ แต่ถ้าไม่ก็ต้องติดตามชมตอนต่อไปกันล่ะว่า ปากกาจะเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้งานนานแค่ไหนจึงจะเขียนไม่ติด เพราะหากเก็บไม่กี่วันหรือสักสัปดาห์หนึ่งปากกาก็เขียนไม่ติดแล้ว อย่างนี้ก็ไม่ค่อยจะน่าคบหาเท่าไหร่นักนะครับ

ผมยังคิดว่าอยากต้องหา Wing Sung 626 มาเก็บสะสมไว้สักด้ามให้ได้ครับ และถ้าเป็นไปได้ก็จะพยายามไขว่คว้าหา Sheaffer Balance II มาเก็บไว้เช่นกัน เอาเป็นว่า หากใครกำลังมองหาปากกาสวยๆ เขียนดีๆ ดูหรูหรา ในราคาที่เหมาะสมแล้ว ผมว่า Wing Sung 626 เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากเลยนะครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page