top of page
  • เรียบเรียง: ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] FPR Himalaya

รีวิวก่อนหน้านี้สองรีวิว ผมเขียนถึงปากกาที่ทำจากอะครีลิคทั้งสองด้ามเลย โดยด้ามหนึ่งผลิตในจีน และอีกด้ามผลิตในอินเดีย เลยทำให้ผมนึกถึง FPR Himalaya ขึ้นมา

ครั้งแรกที่ผมรู้จักชื่อของปากการุ่นนี้ก็หลงรักในทันทีเลย “หิมาลัย” ไม่รู้สินะ ผมชอบชื่อนี้จังครับ

ภาพจาก Rakuten

ผมเจอ FPR Himalaya ครั้งแรกราวปลายปี 2016 ซึ่งตอนนั้นมีขายเฉพาะในเว็บของ Fountain Pen Revolution USA แต่ไม่มีขายในเว็บ FountainPenRevolution.com ด้วยความที่ผมชอบปากกาที่ทำจากอะครีลิคอยู่แล้ว และปากการุ่นนี้ก็ยังมีราคาไม่แพงอีกด้วย ผมก็เลยติดต่อไป กะว่าจะสั่งซื้อมาลองเล่นดู แต่ในตอนนั้นทาง FPR บอกมาว่า ปากการุ่นนี้จำหน่ายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ไม่ส่งไปประเทศอื่น ผมก็เลยไม่ได้ให้ความสนใจกับปากการุ่นนี้อีก

จนเมื่อเร็วๆนี้ ผมได้กลับมาหาข้อมูลเกี่ยวกับ FPR Himalaya อีกที พบว่า FPR ปิดเว็บ FountainPenRevolution.com ไปแล้ว คงเหลือไว้แต่ FPRevolutionUSA.com ซึ่งทางเว็บก็ยอมส่งเจ้า Himalaya ทั่วโลกแล้วด้วย ผมเลยไปหารีวิวจากต่างประเทศมาเรียบเรียงให้อ่านกัน เพื่อกระตุ้นกิเลส 5555 โดยข้อมูลจากรีวิวนี้ผมเรียบเรียงมาจากวิดีโอรีวิวของ Mr. Stephen Brown วิดีโอรีวิวของ Mr. Matt Armstrong จาก PenHabbit.com รวมกับกระทู้ในเว็บบอร์ด FountainPenNetwork.com และข้อมูลจากการค้นคว้าของผมเองนะครับ

ที่มาของข้อมูลสำหรับรีวิวนี้

เกี่ยวกับ FPR

Fountain Pen Revolution หรือ FPR เป็นปากกาที่ผลิตในประเทศอินเดีย เป็นเจ้าของโดย Mr. Kevin ชาวอเมริกันที่หลงไหลในปากกาหมึกซึม แล้วไปตั้งรกรากที่นั่น จากนั้นแกก็เสาะหาช่างฝีมือ หรือโรงงานผลิตปากกาหมึกซึมที่มีคุณภาพในราคาไม่แพง ให้ทำปากกายี่ห้อ FPR ขึ้น โดย Mr. Kevin จะตรวจสอบคุณภาพของปากกาทุกด้ามด้วยตนเองก่อนนำมาจำหน่าย

เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่า ประเทศในคาบสมุทรอินเดียมีช่างฝีมือที่ผลิตตัวปากกาหมึกซึมจากอะครีลิคและอีโบไนต์ที่สวยงามและประณีตอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากเราสั่งซื้อเองก็เสี่ยงไปหน่อย เพราะเราก็ไม่รู้ว่าช่างคนไหนที่เก่ง ด้วยเหตุนี้ผมจึงค่อนข้างจะไว้ใจ FPR นี้ครับ เพราะทางเจ้าของยี่ห้อได้คัดเลือกช่างฝีมือแล้ว และยัง QC ปากกาทุกด้ามด้วย ทำให้เราสามารถซื้อปากกาที่ทำจากอะครีลิคหรืออีโบไนต์สวยๆในราคาที่สมเหตุสมผลได้ เพราะหากบริษัทผู้ผลิตปากกาชั้นนำทั้งหลายเอาตัวปากกาเหล่านี้ไปติดยี่ห้อหรูของตัวเอง ราคาก็จะสูงเกือบหมื่นหรือเกินหมื่นแทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องการตรวจสอบคุณภาพของสินค้านี้ ก็ขอให้ทำใจในเงื่อนไขของราคาด้วยนะครับ ปากการาคาไม่กี่ร้อยบาท จะ QC ยังไงก็คงไม่ได้งานฝีมือที่เนี๊ยบระดับเดียวกับปากการาคาเรือนหมื่น ผมเคยมีปากกาของ FPR ที่รู้สึกว่า QC ไม่ดีอยู่ด้ามหนึ่งนะครับ แม้ว่าจะไม่มีผลต่อการใช้งาน แต่ก็มีผลต่อจิตใจอยู่เหมือนกัน ก็หวังว่า FPR น่าจะมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้นแล้วครับ

ภาพจาก www.FPRevolutionUSA.com

วัสดุที่ใช้ในการผลิต

FPR Himalaya มีให้เลือก 6 สี เป็นตัวปากกาทำจากอะครีลิค 4 สี และอีโบไนต์อีก 2 สี บอกเลยว่าทั้ง 6 สีที่มีให้เลือกนี้โดนๆทั้งนั้นครับ เอาเป็นว่าเลือกไม่ถูกกันเลยละกัน วัสดุที่ใช้ทำปากกาทั้งสองชนิดนี้นิยมนำมาใช้ทำปากกาหมึกซึมที่มีราคาแพงระยับทั้งคู่ครับ การผลิตปากกาทั้งจากที่ทำจากอะครีลิคหรืออีโบไนต์จะต้องใช้เครื่องกลึงทำขึ้นทีละชิ้น ไม่ใช่ประเภทงานหล่อแม่พิมพ์ทำทีเดียวเป็นพันๆชิ้นด้วยครับ ปัจจุบันปากกาหมึกซึมที่ทำจากอีโบไนต์หาได้ยากมากจริงๆครับ จะมีก็แต่ปากกาที่ผลิตในอินเดียและปากกาวินเทจบางยี่ห้อเท่านั้น

สำหรับคุณสมบัติของอะครีลิคนั้นผมเคยพูดไปในหลายรีวิวแล้ว ก็ขอสรุปแค่สั้นๆแล้วกันนะครับ อะครีลิคก็คือพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีเรซินเป็นตัวทำละลาย มีคุณสมบัติทนความร้อนสูง ทนแรงกระแทก และทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดีกว่าพลาสติกประเภทอื่นๆ ทั้งยังเป็นวัสดุที่มีความโดดเด่นมากในเรื่องของความเหนียว และยังมีความสามารถให้แสงส่องผ่านได้อีกด้วย

ส่วนอีโบไนต์นี่เป็นยางแข็ง (Hard Rubber) ครับ เรียกว่าเป็นวัสดุที่ใช้ทำปากกาหมึกซึมชนิดแรกๆของโลกเลยก็ว่าได้ มีคุณสมบัติที่แข็งมาก ทนต่อความร้อน สภาพแวดล้อม และความตัวทำละลายต่างๆได้ดี อีโบไนต์นี่ยังนิยมนำไปใช้แทนไม้ เพื่อผลิตเครื่องดนตรีประเภท Woodwind บางชนิดอีกด้วยนะครับ ผมเองเพิ่งมีปากกาที่ทำจากอีโบไนต์เพียงด้ามเดียว และขอบอกเลยว่าเป็นวัสดุที่ยอดเยี่ยมมากๆครับ มีน้ำหนักเบา ไม่ลื่นเลย เป็นรอยยาก ดูแลรักษาง่าย และดูคลาสิกมากๆด้วย

หากใครอยากจะสะสมปากกาหมึกซึมที่ผลิตจากอะครีลิคหรืออีโบไนต์แล้ว ผมฟันธงตรงนี้เลยครับว่า FPR Himalaya นับเป็นทางเลือกที่มีราคาถูกและไว้วางใจได้มากที่สุดทางเลือกหนึ่งเลยครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

FPR Himalaya มีรูปทรงแบบหัวตัดท้ายตัด หรือ Flat Top ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปทรงคลาสิกที่สุดของปากกาหมึกซึม ส่วนกลางปลอกปากกาและด้ามปากกาจะป่องออกเล็กน้อย ผมว่าดูสวยกว่าที่เป็นทรงกระบอกตรงๆอีกครับ

ดูจากรูปในวิดีโอรีวิวของ PenHabbit แล้วเห็นว่า หากปิดปลอกปากกา FPR Himalaya จะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ คือ พอๆกับ Lamy Safari และ TWSBI ECO แต่พอถอดปลอกปากกาออก หรือสวมปลอกปากกาไว้ที่ท้ายด้ามตัวปากกาจะสั้นกว่าทั้งสองรุ่นพอสมควรทีเดียว ข้อมูลตรงนี้ทำให้คิดไปเองได้ว่า เมื่อสวมปลอกปากกาแล้วยาวขนาดนั้น อาจจะพกในกระเป๋าเสื้อตัวเล็กๆได้ยากครับ

ปากการุ่นนี้จะขลิบด้วยสีเงินที่คลิปเหน็บกระเป๋า และแถบกลางลำตัวปากกา ดูๆไปแล้วก็เป็นดีไซน์ที่ค่อนข้างจะ “ธรรมดา” ไปบ้าง แต่ทุกรีวิวต่างบอกว่า FPR Himalaya เป็นปากกาที่สวยงาม ดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดีครับ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะความงดงามของอะครีลิคเป็นแรงส่งอย่างดีอยู่แล้วครับ บอกจริงๆนะ ผมยังไม่เคยปากกาที่ทำจากอะครีลิครุ่นไหนที่ไม่สวยเลยครับ

รีวิวของผู้ที่ใช้ User Name ว่า Jamerelbe ใน Fountain Pen Network ยังบอกอีกว่า ตัวปากกาที่ทำจากอะครีลิคนี่นอกจากจะดูสวยแล้ว ยังรู้สึกได้ว่าแข็งแรงทนทานอีกด้วย โดยเขาคิดว่ามันไม่น่าจะเปราะหรือเป็นรอยได้ง่าย ซึ่งคุณสมบัติของอะครีลิคคือเหนียว ไม่เปราะอยู่แล้ว และอะครีลิคก็ยังทนต่อรอยขีดข่วนได้ดีกว่าพลาสติกชนิดอื่นๆด้วยครับ ส่วนผู้ที่ใช้ User Name ว่า writerstephen บอกว่า พอเขาเห็นปากกาครั้งแรกถึงกับตะลึงงันในความงามไปเลยครับ เขายืนยันว่า Himalaya นี่ยังสวยกว่าปากกาที่ทำจากอะครีลิคยี่ห้ออื่นอีก 2 ยี่ห้อที่เขามีอยู่ด้วย

Jamerelbe ยังบอกอีกด้วยว่า การผลิตจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ประณีตทีเดียว ปากกาขัดแต่งผิวมาอย่างงดงาม ขลิบสีเงินบนตัวปากกาก็ขัดจนใสไม่มีริ้วรอยใดๆ บนตัวปากกาไม่มีรอยขรุขระ หรือเศษวัสดุจากการผลิตหลงเหลือให้เห็นเลยแม้แต่นิดเดียว

Mr. Matt Armstrong ยังได้เปรียบเทียบอะครีลิคที่ใช้ทำ FPR Himalaya ว่าเหมือนกับอะครีลิคที่ใช้ทำปากการาคาแพงยี่ห้อหนึ่งมากทีเดียว

ภาพจาก Rakuten

คลิปเหน็บกระเป๋าและแถบกลางลำตัวปากกา

FPR Himalaya มีคลิปเหน็บกระเป๋าและแถบกลางลำตัวปากกาเป็นสีเงิน แถบกลางลำตัวปากกาหรือแถบรัดปลอกปากกานี้เท่าที่ผมดูจากรีวิวใน Fountain Pen Network 2 รีวิว พบว่าที่ด้านหน้าของแถบจะสลักตัวอักษรชื่อยี่ห้อ FPR ไว้ด้วย แต่ในรีวิวของ writerstephen และวิดีโอรีวิวของ Stephen Brown กับของ PenHabbit กลับไม่มีข้อความหรือลวดลายใดๆบนแถบกลางลำตัวปากกาเลย ซึ่งผมชอบแบบที่ไม่มีข้อความใดๆเลยนี่มากกว่าครับ

ส่วนคลิปเหน็บกระเป๋ามีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่ส่วนปลายของคลิปมีตุ่มทรงหยดน้ำอยู่ ซึ่งเป็นคลิปที่ FPR ใช้กับปากการุ่น Jaipur และ Indus ด้วย ดูจากวิดีโอรีวิวของ Stephen Brown เห็นว่า คลิปมีความเป็นสปริงดี ไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป น่าจะใช้เหน็บกับกระเป๋าหนาๆได้สบายนะครับ

ระบบเติมน้ำหมึก

ปากการุ่นนี้ใช้ที่สูบหมึกแบบ Piston Converter ซึ่งเป็นแบบที่นิยมใช้เฉพาะในหมู่ปากกาที่ผลิตในประเทศอินเดียนะครับ ไม่ใช่ Piston Converter แบบที่นิยมใช้กันทั่วๆไป คือ Piston Converter ทั่วไปมักจะใช้การเติมน้ำหมึกแบบหมุนด้านท้ายของตัวที่สูบหมึก แต่ Piston Converter ที่นิยมใช้ในปากกาที่ผลิตในอินเดียจะทำงานเหมือนกับหลอดฉีดยา คือ ดึงก้านลูกสูบขึ้นเพื่อเติมน้ำหมึกครับ

ผมชอบที่สูบหมึกแบบนี้นะครับ เพราะไม่มีกลไกอะไรที่ซับซ้อน ทำให้ทนทาน และดูแลรักษาง่าย แถมตัว Converter ยังมีขนาดใหญ่ และสามารถเติมน้ำหมึกได้จนเต็มหลอด ทำให้จุน้ำหมึกได้มากกว่า Piston Converter ทั่วไป

Matt Armstrong บอกไว้ในวิดีโอรีวิวว่า ปากการุ่นนี้สามารถเปลี่ยนไปใช้ที่สูบหมึกมาตรฐาน และใช้กับหมึกหลอดได้ด้วย แต่ผมยังไม่เห็นข้อมูลยืนยันในเรื่องนี้นะครับ ปากการุ่นนี้ยังสามารถทำเป็น Eyedropper Conversion ได้ด้วย โดยเติมน้ำหมึกลงไปในด้ามปากกาโดยตรงเลย แต่ควรทาจาระบีขาวที่เกลียวด้ามด้วยนะครับ

ภาพจาก FPRevolutionUSA.com

หัวปากกา

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับปากกายี่ห้อ FPR นี่ก็คือ เป็นปากการาคาไม่สูงที่มีหัวปากกาให้เลือกหลากหลายที่สุด เรียกว่ามีหัวปากกาให้เลือกมากกว่าปากกาแพงๆหลายยี่ห้อด้วยซ้ำครับ โดย FPR Himalaya นี้มีหัวปากกาให้เลือกถึง 6 แบบ นับตั้งแต่ Extra Fine, Fine, Medium, Broad, 1 mm. Stub และ Flex nib สำหรับขนาดลายเส้นของหัวปากกา FPR จะพอๆกับหัวปากกาที่ผลิตทางเอเชียนะครับ คือ ขนาดลายเส้นจะเล็กกว่าปากกาที่ผลิตจากทางยุโรปหรืออเมริกา 1 เบอร์

หัวปากกาของ FPR Himalaya เป็นหัวปากกาเบอร์ 5.5 ซึ่งมีขนาดใหญ่รับกับตัวปากกาสวยงามมาก Feed ก็ทำจากอีโบไนต์ ทำให้สามารถปรับแต่งการเขียนด้วยความร้อนได้ หัวปากมีทั้งแบบที่ทำสีทูโทน เงิน-ทอง และสีเงินล้วนให้เลือกได้ตามรสนิยมของแต่ละคน

ผมมีปากกาที่ผลิตจากประเทศในแถบคาบสมุทรอินเดียอยู่ราวสิบด้ามได้มั้งครับ (จำไม่ได้ว่าเกือบสิบด้ามหรือสิบด้ามนิดหน่อยนะครับ) คุณภาพของหัวปากกานี่อยากบอกว่า เหมือนซื้อล็อตเตอรี่ ตาดีได้ตาร้ายเสียครับ แต่ก็มีปากกาอินเดียอยู่อย่างน้อย 3 ยี่ห้อที่ผมเคยใช้มา แล้วค่อนข้างประทับใจในการเขียน ซึ่ง FPR ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย และจากที่อ่านในรีวิวต่างๆ ทุกรีวิวล้วนมีประสบการณ์ในการเขียนที่ดีกับ FPR Himalaya นี้

การใช้งาน

ปลอกปากกาของ FPR Himalaya เป็นแบบเกลียวจากรีวิวใน Fountain Pen Network บอกว่าเป็นเกลียว 1 รอบ แต่ในวิดีโอของ PenHabbit แสดงให้เห็นว่าเป็นเกลียวสองรอบ แต่จะอย่างไรก็ยังถือว่าใช้งานได้รวดเร็วครับ เสียดายที่ไม่มีรีวิวไหนบอกไว้ว่าหากเก็บปากกาไว้นานๆโดยไม่ได้ใช้งานจะเกิดอาการ Hard Start หรือไม่ แต่ผมอนุมานเองจากที่เคยใช้ปากกาอะครีลิคมาหลายด้ามว่าไม่น่าจะเกิดปัญหานี้นะครับ

ตัวปากกาของ Himalaya ค่อนข้างยาวอยู่แล้ว สามารถเขียนโดยไม่นำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามได้อย่างสบายๆ ดูจากวิดีโอของ Stephen Brown จะเห็นว่า เมื่อนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม ก็เสียบได้แน่นหนามาก แถมยังเสียบเข้าไปได้ลึก ทำให้สมดุลของปากกาดี ไม่มีอาการหนักท้ายครับ สำหรับปากกาที่ทำจากอะครีลิคที่ผมมีอยู่ มีหลายรุ่นที่นำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามไม่ดีนัก บางรุ่นก็เสียบได้ตื้นมาก พอเสียบไปแล้วจะรู้สึกหนักท้าย หลายรุ่นเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามได้ไม่แน่นหนาเลย เขียนๆไปสักพักปลอกปากกาก็จะหลวมหลุดออกมา การที่ Himalaya เสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามได้แน่นหนานี่ ผมแอบให้คะแนนนำปากการาคาแพงหลายรุ่นเลยล่ะ

สำหรับผู้ที่มักจะใช้ปากกาอยู่กับโต๊ะทำงาน อาจไม่เห็นถึงความจำเป็นของการเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามเท่าไหร่นัก แต่ผมมักจะนำปากกาไปใช้ที่อื่นๆอยู่เสมอ หากไม่เสียบปลอกปากกาไว้ท้ายด้าม มีสิทธิ์ที่ปลอกปากกาจะหายได้ง่ายๆเลยนะครับ

Section ของ FPR Himalaya ทำจากวัสดุชนิดเดียวกับตัวปากกา ซึ่งไม่ลื่นเลย แถมยังมี Section ที่ค่อนข้างอวบด้วย บวกกับน้ำหนักของปากกาที่จัดว่าเบามาก โดยมีน้ำหนักพอๆกับ Lamy Safari เลย ทำให้ Himalaya เป็นปากกาที่สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานๆโดยไม่เมื่อยล้า

การเขียน

ผมโชคดีที่รีวิวต่างๆที่ผมดูจากต่างประเทศ ผู้ทำรีวิวใช้หัวปากกาที่แตกต่างกัน ทำให้เราได้ข้อมูลการเขียนทั้งหัวปากกาขนาด Medium, Broad และ Flex ครับ สิ่งที่น่าประทับใจ คือ ไม่มีผู้ทำรีวิวคนไหนที่ตำหนิเรื่องการเขียนของ Himalaya เลย ทุกคนต่างชื่นชมที่ปากการุ่นนี้เขียนได้ลื่นมาก การป้อนน้ำหมึกทำได้สม่ำเสมอ ไม่มีปัญหาเส้นขาดๆหายๆ ปากการุ่นนี้ป้อนน้ำหมึกได้ฉ่ำมาก แม้แต่ผู้ที่ใช้ปากกาหัวขนาด M ก็ยังบอกว่าเป็นปากกาป้อนน้ำหมึกได้เปียกมาก

เรื่องการป้อนน้ำหมึกที่ฉ่ำมากนี่มีข้อดีตรงที่เวลาเขียนแล้วจะเห็นสีสันของน้ำหมึกได้สดใส ชัดเจนดี ยิ่งใช้กับน้ำหมึกสีสดๆ จะเห็น Shade และ Sheen ได้สวยงามมาก แต่อาจจะเป็นข้อเสียสำหรับบางคน เพราะขนาดของลายเส้นจะดูใหญ่กว่าปกติอีกเล็กน้อย เพราะป้อนน้ำหมึกออกมามากนั่นเอง และน้ำหมึกที่ป้อนออกมามากก็จะทำให้หมึกแห้งช้าไปอีกนิด รวมถึงหากนำไปเขียนบนกระดาษเนื้อไม่ดีก็จะซึมทะลุได้มากกว่านะครับ อย่างไรก็ตาม ปากกาที่ป้อนหมึกฉ่ำๆจะเขียนได้สนุก และรู้สึกว่าลื่นกว่าปากกาที่ออกไปในทางแห้ง เพราะน้ำหมึกจะช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างหัวปากกากับกระดาษด้วยครับ

วิดีโอรีวิวของ Stephen Brown ได้ทดสอบการเขียน FPR Himalaya กับหัวปากกาแบบ Flex พอดูแล้วผมทึ่งมากๆเลยครับ ต้องบอกก่อนว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่บ้า Flex Nib นะครับ โดยผมมีปากกาที่เป็น Flex Nib อยู่ 4 ด้ามจาก 3 ยี่ห้อ และหัวปากกาแบบ Semi Flex หรือ Soft Nib อีก 2 ด้าม ยังไม่รวมถึงปากกาโบราณที่นักรีวิวต่างประเทศบอกว่ามันคือ Semi Flex อีกต่างหาก แต่ผมไม่นิยมนำปากกาที่ไม่ได้ระบุว่าเป็น Flex หรือ Semi Flex มาเขียนกดๆเพื่อให้เกิดเส้นใหญ่ๆนะครับ เพราะกลัวหัวปากกาพัง

ที่ต้องบอกว่าผมบ้าปากกาแบบ Flex Nib นี่ก็เพื่อยืนยันว่า ผมพอจะมีประสบการณ์กับหัวปากกาชนิดนี้พอสมควรครับ และปากกาแบบ Flex ที่ผมชอบมากที่สุด ก็เป็นยี่ห้อ FPR นี่แหละครับ และพอได้เห็น Mr. Stephen Brown ทดสอบ Himalaya Flex Nib ผมถึงกับอุทาน อุ๊แม้เจ้า เลยล่ะครับ ปากกาป้อนน้ำหมึกได้สุดยอดมากๆ เขียนเค้นให้เกิดลายเส้นขนาดใหญ่ได้มากจริงๆ แถมยังเขียนแบบ Flex ได้ต่อเนื่องนานๆโดยแทบไม่เจอปัญหา “รางรถไฟ” เลย (เว้นตอนเดียวในวิดีโอ ที่ Mr. Brown พยายาม Push to the Limit จนเกินไป คือ ทั้งกดให้เกิดลายเส้นขนาดใหญ่มาก แถมยังเขียนเร็วอีก จนปากกาป้อนน้ำหมึกไม่ทัน) เอาเป็นว่า เห็นแล้วประทับใจโก๋มากเลยล่ะครับ

Matt Armstrong ก็รีวิวหัวปากกาแบบ Flex เหมือนกันครับ แต่ Matt จะพูดถึงการเขียนแบบที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า โดยบอกว่า หัวปากกาแบบ Flex ใช้เขียนงานทั่วไปได้ดี ไม่มีปัญหาอะไรเลย แม้ว่าจะมี Feedback อยู่เล็กน้อยก็ตาม แต่สำหรับการเขียนแบบ Flex เขาพบว่าเกิด “รางรถไฟ” อยู่บ้าง แต่เสียดายที่ Matt เขียนแบบ Flex น้อยไปจนทำให้ผมตัดสินในเรื่องนี้ลำบาก อย่างไรก็ตามด้ามที่ Stephen Brown ทำรีวิวเติมหมึกแบบ Eyedropper Conversion ขณะที่ Matt ใช้กับที่สูบหมึก จึงมีความเป็นไปได้ว่า Eyedropper จะป้อนน้ำหมึกได้ดีกว่าการใช้ที่สูบหมึกครับ ส่วนเรื่องการเขียนแบบ Flex นั้น Matt บอกว่าหัวปากกาค่อนข้างแข็งไปหน่อย โดยไปเปรียบเทียบกับหัวปากกาที่ทำจากทองคำ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ยุติธรรมเอาซะเลย ขอบอกตรงหน่อยนะครับว่า หากใครชอบการเขียนแบบ Flex อย่าไปคิดว่าลงทุนซื้อปากกาที่เป็น Flex Nib หัวปากกาทองคำแล้วจะประทับใจนะครับ มีคนผิดหวังมานักต่อนักแล้วครับ

สรุป

จากทุกรีวิวที่ผมเจอ ผู้ทำรีวิวทุกคนต่างไม่มีข้อติใดๆกับ FPR Himalaya เลย ตรงกันข้ามล้วนแต่ชื่นชมทั้งในเรื่องความสวยงาม และการเขียนที่ยอดเยี่ยม อีกทั้งยังมีราคาถูก เรียกว่าอ่านแล้ว เคลิ้ม เลยล่ะครับ มาถึงบรรทัดนี้สำหรับผมแล้ว คงไม่มีอะไรจะพูดอีก นอกจากชวนพวกเราไปเสียเงินกันเหอะ 5555

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝันนะครับ

แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค้าบบบบบ

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page