top of page
  • ที่มา: www.bestfountainpen.com

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Parker Duofold Centennial

หากผมจะไม่พูดถึงปากการุ่นนี้เลย ดูเหมือนว่าจะผมขาดใจตายซะให้ได้เลยครับ แต่ถ้าจะรอให้ผมซื้อมาทำรีวิวเอง ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปอีกกี่ปี ก็เลยแปลรีวิวของต่างประเทศมาให้อ่านกันก่อนครับ รีวิวนี้ผมแปลมาจากเรื่อง Parker Duofold Centennial Fountain Pen Review ของ Ms. Jennifer แห่งเว็บ bestfountainpen.com ครับ

ผมชอบรีวิวและบทความของ Ms. Jennifer ครับ งานเขียนของเธออ่านเข้าใจง่าย ใช้ถ้อยคำไม่หวือหวาเกินไป แต่ก็มีคำพูดติดตลกชวนอ่านดีครับ จะว่าไปแล้วนักวิจารณ์ปากกาหมึกซึมในต่างประเทศนี่ก็เป็นผู้หญิงเยอะเหมือนกันนะครับ

Parker Duofold รุ่นแรกผลิตขึ้นในปี 1921

รูปจาก heritagecollectables.com

Parker Duofold นี่นับเป็นปากกาหมึกซึมในดวงใจของผมด้ามหนึ่งเลยนะครับ แต่ด้วยราคาค่าตัวถึงหมื่นกว่าบาท บ่องตง ผมไม่มีตังค์ซื้อครับ 5555 แต่ถ้าเจอปากกาหมึกซึมยี่ห้อไหนก็ตามที่มีรูปทรงหัวตัดท้ายตัด หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Flat Top ตามแบบฉบับของ Duofold ผมเป็นต้องซื้อมาเก็บไว้เสมอครับ เอามาเขียนไปแล้วก็ฝันไปว่ากำลังใช้ Parker Duofold อยู่ นี่แหละครับ Write Like Dream ของแท้เลย 5555

ปากการุ่นนี้นับเป็นหนึ่งในตำนานของปากกาหมึกซึมเลย โดย Duofold รุ่นแรกผลิตมาตั้งแต่ปี 1921 หรือ 90 กว่าปีมาแล้วครับ ไว้มีเวลาผมจะแปลประวัติของ Parker Duofold มาให้อ่านกันอีกทีนะครับ แต่บอกก่อนเลยว่า ‘เรื่องมันยาว’ นะครับ

เปรียบเทียบ Duofold Centennial (บน) กับ Duofold International (ล่าง)

รูปจาก Parkerpens.net

Parker Duofold จะมี 2 รุ่นนะครับ คือ Parker Duofold Centennial ที่รีวิวอยู่นี่ กับ Parker Duofold International ทั้งสองรุ่นมีรูปทรงเหมือนกัน แต่ Duofold International จะมีผอมและสั้นกว่า Duofold Centennial ซึ่งเป็นปากกาแบบ Oversize ครับ เรามาดูรีวิวของ Ms. Jennifer กันดีกว่าครับ

ปากกา Duofold Centennial ที่ Ms. Jennifer เอามารีวิว เป็นลายหินอ่อน สีขาวไข่มุกแซมดำครับ เธอบอกว่า เป็นปากกาที่งามสุดในงบต่ำกว่า $400 (ตรงคำว่า ‘งามสุด’ นี่ เจ้าของบทความใช้คำว่า ‘sexiest’ ครับ แล้วเป็นคำที่ผมชอบมากนะครับ ความหมายที่จริงจะเป็นแบบว่า เห็นแล้วละลายไปเลยน่ะครับ แต่ผมหาคำภาษาไทยที่เหมาะสมไม่ได้ครับ) เธอยังบอกอีกว่า หากได้เขียนด้วยปากการุ่นนี้จะทำให้มือของคุณมีความสุขมากครับ

รูปจาก penstoponline.com

ข้อดีข้อเสีย

ข้อดี

  • ลายหินอ่อน สวยแทบตาย

  • หัวปากกาเขียนได้ลื่นมาก

  • ขนาดกำลังเหมาะมือ

  • การออกแบบ สวยใจละลายตายไปเลย

ข้อเสีย

  • ปลอกปากกาต้องหมุนถึง 3.5 รอบ เพื่อเปิดหรือปิดปากกา

วิดีโอรีวิว Parker Duofold Centennial สั้นๆ ของ Ms. Jennifer

การออกแบบ

ตัวปากกาของ Duofold Centennial ทำจากอะครีลิก ด้ามที่ Ms. Jennifer นำมารีวิว เป็นสีขาวไข่มุก แซมด้วยเส้นๆสีดำ ซึ่งเธอบอกว่า ในความเห็นของเธอ สีสันและการออกแบบของปากกาด้ามนี้ ‘เตะตา’ เธอมาก จนถึงกับ ‘น็อคเอ้าท์’ เลยครับ

แต่สิ่งที่เป็นข้อด้อยของปากการุ่นนี้ คือ ปลอกปากกาแบบเกลียว ที่ต้องหมุนเกือบ 4 รอบ จึงจะเปิดหรือปิดปลอกปากกาได้ครับ

การออกแบบของปากกาดูคลาสิกแต่ทันสมัย ชวนให้นึกถึงปากกาหมึกซึมรุ่นแรกๆ Duofold เป็นปากกาที่ยังคงรูปลักษณ์ของปากกาในอดีต โดยมีความงามอันน่าประทับใจ ซึ่งบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของ Parker

ดีไซน์ที่ส่วนบนของปลอกปากกา และหัวปากกา

รูปจาก penboutique.com

ส่วนบนของปลอกปากกาซึ่งทำจากอะครีลิก มีแผ่นโลหะสีทอง เป็นรูปเครื่องหมายโพธิ์ดำ ที่ออกแบบอย่างสวยงาม และมีคำว่า ‘Duofold’ อยู่ข้างล่าง ซึ่งรูปเครื่องหมายโพธิ์ดำนี้จะเหมือนกับที่สลักอยู่บนหัวปากกาแบบทูโทน ที่ทำจากทองคำแท้ 18 กระรัตและโรเดียม บนปลอกจะมีแถบสีทองซึ่งทำจากทองคำ 23 กระรัต 2 แถบ

รูปจาก vintagefountainpens.co.uk

สำหรับ Duofold รุ่นล่าสุด จะมีแถบสีทองขนาดเท่ากัน 2 แถบบนปลอกปากกา สำหรับรุ่นก่อนหน้านี้ แถบที่อยู่ด้านล่างจะมีกว้างกว่าแถบด้านบน เมื่อถอดปลอกปากกาออก ก็จะเห็นแถบสีทองบริเวณหัวปากกา และบริเวณที่ Grip Section เชื่อมต่อกับด้ามปากกา และยังมีอีกแถบหนึ่งที่ส่วนท้ายของด้ามปากกาด้วย

ตัว Section ของ Duofold ก็ทำจากอะครีลิกเช่นกัน เกลียวที่ตัว Section สำหรับใส่ด้ามปากกา ทำด้วยโลหะสีทอง เชื่อมติดกับ Section ที่เป็นอะครีลิกอย่างแน่นหนา

หัวปากกาที่หล่ออย่างเหลือร้ายของ Duofold ก็เป็นขนาด Oversize ที่มีความกว้างกว่าหัวปากกาหมึกซึมทั่วไป Ms. Jennifer บรรยายว่า หัวปากกานี้มีความสามารถทุกอย่างเพรียบพร้อม อย่างที่คุณคาดหวังว่าจะเจอในปากกาหมึกซึมเลยล่ะครับ

รูปจาก bestfountainpen.com

Parker Duofold สามารถใช้ได้กับหมึกหลอด หรือที่สูบหมึกของ Parker ปากการุ่นนี้ดูหรูหราเป็นอย่างมาก แต่ราคาที่สูงถึง $400 ก็นับว่าค่อนข้างมากไปสักหน่อย เพราะมีราคาพอๆกับปากกาแบบ Limited Edition หรือพวกปากกาแบรนด์ระดับสูงเลยทีเดียว

ความเห็นของผมก็คิดว่าแพงไปหน่อยเหมือนกันครับ แต่ก็พอจะหยวนๆได้ เพราะหัวปากกาที่ทำจากทองคำแท้ 18 กระรัต ของบางยี่ห้อ เฉพาะหัวปากกาอย่างเดียวก็ขายกัน $100 ไปแล้ว ตัวปากกายังทำจากอะครีลิก ไม่ใช่โลหะหรือพลาสติก แล้วการทำสีปากกาก็สวยงาม อุปกรณ์อื่นๆบนตัวปากกาก็ใช้ทองคำ 23 กระรัต งานฝีมือการผลิตก็ประณีตมาก บวกค่าชื่อเสียงความเป็นตำนานของปากการุ่นนี้ และบวกชื่อยี่ห้อ Parker ไปอีกหน่อย ก็เลยทำให้สามารถตั้งราคาปากการุ่นนี้สูงถึง $400 ได้อย่างไม่เคอะเขินครับ

ระบบเติมหมึก

Parker Duofold Centennial จะแถมหมึกหลอดแบบยาวของ Parker Quink มาให้ 1 หลอด และมีที่สูบหมึกแบบ Piston Converter ของ Parker มาให้อีก 1 อัน Ms. Jennifer ทดสอบปากกากับหมึกหลอดสีน้ำเงินที่แถมมากับตัวปากกา ซึ่งหัวปากกาที่ทำจากทองคำแท้ 18 กระรัต ก็เขียนได้ลื่นอย่างไม่มีที่ติ

หัวปากกาขนาดใหญ่ของ Duofold Centennial เขียนได้อย่างต่อเนื่อง เส้นไม่ขาด และเริ่มเขียนครั้งแรกหมึกก็จะไหลออกมาทันที ไม่ต้องเขย่าปากกาก่อนเขียน อย่างไรก็ตาม ในการเขียนจะมี Feedback ให้พอรู้สึกได้อยู่บ้าง ไม่ใช่เขียนลื่นปรู๊ดปร๊าด อันนี้ผมสังเกตว่า ปากกาหมึกซึมดีๆหลายยี่ห้อ เวลาเขียนจะมี Feedback เล็กน้อยนะครับ ไม่ถึงกับลื่นเหมือนปากกาลูกลื่น จริงผมชอบปากกาที่มี Feedback แค่พอรู้สึกได้แบบนี้ เพราะเวลาเขียนแล้วจะควบคุมลายมือได้ดีกว่าครับ แต่ถ้าสำหรับการจดบันทึกเร็วๆ ค่อยใช้ปากกาแบบลื่นปรื๊ดครับ

มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ Ms. Jennifer รู้สึกไม่ค่อยชอบ แต่ไม่เกี่ยวกับตัวปากกานะครับ คือ Ms. Jennifer บอกว่าไม่ชอบหมึกสีน้ำเงินของ Parker ครับ เธอรู้สึกว่าหมึกใสเกินไป Ms. Jennifer ชอบหมึกสีสดๆมากกว่า แต่หมึกของ Parker ก็ไม่ซึมบนกระดาษเท่าไหร่นะครับ โดยเฉพาะสำหรับหมึกที่ใสๆแบบนี้ แต่ก็อาจจะเป็นเพราะ Duofold ไม่ใช่ปากกาที่ปล่อยหมึกมาก คือ ไม่ใช่ปากกาที่ปล่อยหมึกออกไปในทางเปียกครับ

ตัวผมก็ไม่ชอบหมึกสีน้ำเงินของ Parker ครับ แต่ชอบสีน้ำเงินดำของยี่ห้อนี้ครับ เวลาแห้งแล้วสีจะออกเขียวๆสวยดีครับ

Feed ของ Duofold เป็นแบบเรียบๆ ไม่มีครีบ สามารถป้อนน้ำหมึกได้ต่อเนื่องดีมาก ไม่เปียกหรือแห้งจนเกินไป Ms. Jennifer บอกว่า เธอทดสอบปากกาหมึกซึมมาหลายต่อหลายด้ามแล้ว เธอชอบการป้อนหมึกของ Parker Duofold นี่มากที่สุดด้ามหนึ่งครับ

ประสิทธิภาพของการเขียนลงบนกระดาษ

Parker Duofold ของ Ms. Jennifer เป็นหัวปากกาขนาดกลางนะครับ เธอบอกว่า สามารถเขียนหัวปากการุ่นนี้ลงบนกระดาษทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสมุดบันทึก หรือกระดาษ Planner ได้โดยมีการซึมทะลุไปอีกหน้าของกระดาษน้อยมาก ซึ่งปากกาที่มีหัวขนาดกลางควรจะทำได้เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเขียนลงบนสุดบันทึก หรือเขียนลงบนพวกวารสาร ด้วยหมึกน้ำเงินของ Quink จะพบว่ามีลายเส้นแตกเล็กน้อย แค่พอให้เห็นได้ แต่ต้องสังเกตสักหน่อย หรือหากคุณเขียนช้าเกินไป ก็จะเห็นเส้นแตกได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นจากหมึกสีน้ำเงินของ Parker ที่ค่อนข้างใสมากกว่า

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบทดสอบปากกาบนกระดาษทั่วไป อย่างพวกกระดาษ A4 หนา 70 แกรม หรือกระดาษถ่ายเอกสาร รวมไปถึงกระดาษทำรายงานที่มีขายทั่วไป สมุดนักเรียน และกระดาษปอนด์สีน้ำตาล มากกว่าที่จะทดสอบบนกระดาษเนื้อดี ที่เราไม่ได้ใช้เขียนงานทุกวันครับ ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีแนวโน้มที่จะชอบปากกาที่มีลักษณะไม่เปียกมากนักครับ

ปลอกปากกา

Ms. Jennifer บอกว่า เรื่องนี้ความเห็นของเธออาจจะแตกต่างจากความเห็นของคนทั่วไปนะครับ คือ แม้ว่าเธอเป็นผู้หญิงตัวเล็ก (สูงราว 155 ซม.) และมีมือที่เล็ก แต่ก็ยังรู้สึกว่าสามารถเขียนโดยเอาปลอกปากกาไปเสียบไว้ที่ท้ายด้ามได้อย่างสบายๆ ไม่มีปัญหาอะไร เธอสามารถเขียน Duofold Centennial ได้นานเป็นชั่วโมงๆ โดยเสียบปลอกปากกาไว้ที่ท้ายด้าม โดยไม่รู้สึกเมื่อยล้า แม้ว่าเมื่อเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามแล้วตัวปากกาจะยาวมาก แต่ปลอกปากกาก็มีน้ำหนักเบา

ขนาดของปากกา

  • ความยาวเมื่อปิดปลอกปากกา 136 มม.

  • ความยาวเมื่อถอดปลอกปากกา 121 มม.

  • ความยาวเมื่อเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้าม 171 มม.

  • ความกว้างของหัวปากกา 6 มม.

  • ความยาวของหัวปากกา 24 มม.

  • ความกว้างของบริเวณที่จับปากกา 9 มม.

  • ความกว้างของปลอกปากกา 12 มม.

  • ความกว้างของตัวปากกา 11 มม.

  • ตัวปากกาพร้อมปลอก หนัก 28 กรัม

  • เฉพาะปลอกปากกา หนัก 9 กรัม

ความคุ้มค่าโดยรวม

หากคุณไม่ได้แคร์ว่า ปากกาซึ่งใช้ที่สูบหมึกจะจุหมึกได้ไม่มากนัก แต่คุณกำลังมองหาปากกาที่เปี่ยมไปด้วยความสุนทรีย์ทางอารมณ์ บวกกับประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยม และมีสไตล์ นั่นแหละ Duofold

ปากการุ่นนี้นับเป็นปากกาหมึกซึมที่สวยที่สุดรุ่นหนึ่งทีเดียว หากคุณไม่คำนึงถึงราคา และต้องการมองหาปากกาหมึกซึมที่มีรากลึกลงไปถึงอดีต ที่จะทำให้ทุกคนต้องเหลียวหลังกลับมามอง นั่นแหละ Duofold

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page