top of page
  • ที่มา: fountainpennetwork.com

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Parker Beta

Parker Beta นี่เป็นปากกาหมึกซึมที่ผลิตโดยบริษัท Luxor ในประเทศอินเดียครับ ผมค้นหาความสัมพันธ์ระหว่าง Parker กับ Luxor ไม่เจอนะครับ มีแค่ข้อมูลคร่าวๆว่า Luxor ได้รับอนุญาตให้ผลิตปากกาภายใต้ยี่ห้อ Parker สำหรับตลาดในประเทศอินเดียเท่านั้น แต่ไม่มีข้อมูลว่าทำไม Parker จึงอนุญาตให้ Luxor ผลิตสินค้าภายใต้ยี่ห้อของตัวเอง และก็ไม่รู้อีกว่า ที่ผ่านมามีปากกาของ Parker กี่รุ่นที่ผลิตในอินเดียด้วยครับ

ผมหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็เจอว่าปัจจุบันมี Parker หลายรุ่นเหมือนกันนะครับที่ผลิตโดยบริษัท Luxor เช่น ปากกาลูกลื่น Parker Galaxy ที่มีรูปร่างเหมือนกับ Parker Jotter แล้วก็ยังผลิต Parker Vector และ Parker Frontier ซึ่ง 2 รุ่นนี้ Parker เองเลิกผลิตไปแล้วนะครับ นอกจากนี้ก็มี Parker Beta นี่แหละครับ

ผมสังเกตว่า หากเป็นปากกาที่ยังคงผลิตอยู่ในปัจจุบัน คือ Jotter รุ่นที่ขายในตลาดอินเดียก็จะเปลี่ยนชื่อรุ่นไปเลย เป็น Galaxy แต่ถ้าเป็นรุ่นที่ Parker ไม่ผลิตแล้ว จะใช้ชื่อรุ่นตรงกัน คือ Vector กับ Frontier ครับ จะมีก็แต่ Parker Beta นี่แหละที่แปลกกว่าเพื่อน เพราะ Parker ไม่เคยผลิตปากการุ่นนี้ หรือหน้าตาแบบนี้ออกมาจำหน่ายเลยครับ

ในเว็บของ Luxor มีปากกา Parker ขายอยู่หลายรุ่นเลยครับ แต่ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะปากกาลูกลื่น ปากกา Parker ในเว็บของ Luxor บางรุ่นผมหาข้อมูลไม่เจอเลย จะมีข้อมูลก็เฉพาะในเว็บขายปากกาของอินเดียเท่านั้น อย่าง Parker Odyssey ที่มีหน้าตาเหมือนกับ Parker IM และยังมี Parker Ambient, Parker Aster, Parker V Sigma ทำให้ผมบอกไม่ได้ว่า รุ่นไหนที่ผลิตในอินเดีย หรือรุ่นไหนนำเข้าไปขายในอินเดีย

ข้อความต่อจากนี้เป็นแค่ผมสันนิษฐานเอาเองนะครับ (แปลว่า เดาอย่างมีหลักการ 5555) เนื่องจากอินเดียเคยเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษมานานถึง 200 ปี เพิ่งจะมาประกาศเอกราชในปี 1947 หรือเกือบๆ 70 ปีมานี่เอง (ข้อมูลแม่นมาก เพิ่งเรียนประวัติศาสตร์เอเชียใต้เมื่อเทอมที่แล้วครับ 5555) ทีนี้พอมาดูประวัติของ Parker ก็พบว่า ในปี 1931 บริษัท Parker ได้ขยายฐานการผลิตปากกา Parker 51 ไปในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งแคนาดา สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เม็กซิโก เยอรมัน บราซิล อาร์เจนติน่า รวมไปถึงปากีสถาน และอินเดียด้วยครับ บริษัท Luxor ก็น่าจะได้ความรู้และเทคโนโลยีมาจาก Parker ในช่วงนี้ครับ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ Luxor จะมีความสัมพันธ์อันดีกับ Parker นะครับ แต่ที่ผมสงสัยคือ ปากกา Parker ที่ผลิตในอินเดียรุ่นก่อนๆ ได้แจ้งแหล่งผลิตว่า Made in India รึเปล่านะครับ หรือว่าจะเหมารวมว่า Made in UK ไปเลย เพราะอินเดียก็เป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษน่ะครับ

กลับมาที่ Parker Beta ดีกว่า ปากการุ่นนี้ถูกวางตัวสำหรับจับตลาดเด็กนักเรียนชั้นประถมในประเทศอินเดียครับ โดยมีราคาตั้งในประเทศอินเดียที่ 175 INR หรือราว 2.6 USD คิดเป็นเงินไทยก็ไม่ถึงร้อยบาท แต่ที่ขายในอินเดียกันจริงๆจะตกอยู่ที่ราว 100 INR คือประมาณห้าสิบกว่าบาทเท่านั้นครับ ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าเราอยากลองเล่นปากการุ่นนี้ก็ต้องสั่งซื้อจาก eBay ซึ่งราคารวมค่าขนส่งแล้วจะตกอยู่ที่ด้ามละสองร้อยกว่าบาทขึ้นไป ทำให้ผมยังไม่คิดจะสั่งมาเล่นเองครับ แต่ก็ยังสงสัยว่าปากกา Parker ราคาถูก ที่ผลิตในอินเดียรุ่นนี้จะมีคุณภาพเป็นยังไงบ้าง เผื่อใครไปเที่ยวที่นั่นจะได้ฝากซื้อมาบ้างครับ

รีวิวของ Parker Beta นี่หาไม่ค่อยได้เลยครับ มีวิดีโอที่ Mr. Stephen Brown ทำไว้อยู่เหมือนกัน แต่รู้สึกพี่แกจะพูดอย่างมีอคติกับปากการุ่นนี้มากไปหน่อย โดยไม่ได้คิดว่ามันเป็นปากการาคาแค่ห้าสิบกว่าบาทน่ะครับ แต่ที่ผมอ่านรีวิวของลูกค้า ที่ลงในเว็บร้านปากกาต่างๆ ก็ให้คะแนนปากการุ่นนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4 เต็ม 5 และก็ยังชมว่าเขียนดีด้วย ผมเลยไปหารีวิวเรื่อง Parker Beta Review โดยผู้ใช้ User Name ว่า Vintage ของฟอรั่ม Fountain Pen Network มาแปลให้อ่านกันนะครับ

ผู้ทำรีวิวบอกว่า Parker Beta นี่น่าจะเป็นปากการาคาถูกที่สุดของ Parker เท่าที่เคยมีมา ปากการุ่นนี้ผลิตในประเทศอินเดีย โดยบริษัท Luxor ภายในการอนุญาตของ Parker เพื่อมุ่งจับตลาดเด็กนักเรียน ปากการุ่นนี้มีราคาขายในอินเดียที่ราว 100 รูปี หรือห้าสิบกว่าบาทไทยครับ ผู้ทำรีวิวบอกว่า Parker Beta นี่ถือเป็นปากการะดับพรีเมี่ยมของนักเรียนในอินเดียเลยนะครับ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ที่นักจะใช้ปากกา Camlin ED ที่ขายกันแค่ 11 รูปี หรือราว 6 บาทเท่านั้นครับ

ผู้ทำรีวิวบอกว่า เขาไม่ได้คาดหวังอะไรกับปากการุ่นนี้เลยทั้งสิ้น เหตุที่ซื้อมาก็เพราะชื่อยี่ห้อ Parker เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม รีวิวนี้จะบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าเขาประหลาดใจ และพอใจในการผลิต และคุณภาพหัวปากกาของ Parker Beta นี่พอสมควรที่เดียว แม้ว่าปากการุ่นนี้จะไม่ใช่ปากกาที่เขาชื่นชอบ และไม่ใช่ปากกาที่เขาใช้เขียนงานในทุกวันด้วย แต่ก็นับว่าเป็นปากกาที่คุ้มค่ามากๆครับ

Parker Beta มีความยาวเมื่อถอดปลอกปากกาแล้วไม่ถึง 5 นิ้วดี และเมื่อปิดปลอกปากกาจะยาวราว 5 3/8 นิ้ว พอเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามจะค่อนข้างยาวสักหน่อย คือราว 6.5 นิ้ว ตัวปากกาทั้งหมดของ Parker Beta ทำจากพลาสติก ยกเว้นปลอกปากกา ทำให้ปากกามีน้ำหนักเบา ความสมดุลในการเขียนดี อย่างไรก็ตามผู้ทำรีวิวบอกว่า สำหรับคนที่มือเล็กๆเหมือนเขา ไม่เสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามจะเขียนได้ถนัดกว่านะครับ

ตัวปากกาของ Parker Beta ที่นำมารีวิวนี้ทำจากพลาสติกสีดำเงา ขลิบ (Trim) ด้วยสีแดงสด ผู้ทำรีวิวบอกว่า มันไม่ได้ดูเป็นปากการาคาถูกๆอะไรนักนะครับ มันดูดีพอที่จะดึงดูดให้ผู้ทำรีวิวยอมเสียเงินซื้อมาได้เลยล่ะ

ปลอกปากกาของ Parker Beta ทำมาดูดีเกินราคาครับ คลิปเหน็บกระเป๋าทำจากโลหะ ลักษณะของคลิป คล้ายกับคลิปของ Parker Vector แต่ผู้ทำรีวิวไม่มี Vector นะครับก็เลยไม่รู้ว่าใช้คลิปแบบเดียวกันเป๊ะเลยรึเปล่า ปลอกปากกาเป็นแบบดึงเข้าถอดออก โดยมีแหวนโลหะสำหรับยึดปลอกปากกาด้วย

อย่างไรก็ตาม หากดูที่ส่วนบนของปลอกปากกา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ควรจะมีโลโก้ของ Parker (หรือ Luxor) อยู่ แต่กลับมีแค่สติ๊กเกอร์กลมๆสีขาวแปะไว้เฉยๆเท่านั้น แบบว่า สติ๊กเกอร์จริงๆนะครับ

สิ่งที่ทำให้เห็นว่าปากการุ่นนี้มีราคาถูกอย่างที่ไม่รู้จะอธิบายยังไงดี ไม่ใช่แค่สติ๊กเกอร์เท่านั้นครับ แต่เมื่อมองที่ด้านท้ายของด้ามปากกา จะมีโลโก้ของ Parker อยู่ ตรงนี้ผู้ทำรีวิวบอกให้ดูเอาเองครับว่าทำได้ชุ่ยขนาดไหน

หัวปากกาทำจากโลหะ มีลักษณะเรียบๆ แค่มีคำว่า Parker อยู่เท่านั้น Section ทำจากพลาสติก มีลายที่พื้นผิวสำหรับกันลื่น ซึ่งดูดีมากทีเดียวเมื่อเทียบกับราคานี้

ที่ Feed ของปากกา มีตัวอักษร F บอกว่า เป็นหัวปากกาขนาด Fine

ด้วยราคาแค่ห้าสิบกว่าบาท Parker ยังอุตสาห์แถมที่สูบหมึกมาให้ด้วย (ราคานี้ซื้อเฉพาะที่สูบหมึกของ Parker ยังไม่ได้เลย 5555)

สำหรับปากกาที่ราคาไม่แพงในคอลเลคชั่นของผู้ทำรีวิว จะมีก็แต่ Sailor “Ink Pen” เท่านั้นที่เป็นปากกาหมึกซึมมียี่ห้อในราคาที่พอๆกับ Parker Beta นี้ ผู้ทำรีวิวจึงนำปากกาทั้งสองด้ามมาเปรียบเทียบกันครับ (ผมหาข้อมูลของ Sailor Ink Pen ไม่เจอนะครับ) ปากกาทั้งสองรุ่นนี้มีขนาด และน้ำหนักที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ Parker Beta มีคลิปที่ทำจากโลหะ และมีปลอกปากกาที่ดีกว่า และมี Section ซึ่งมีลายบนพื้นผิวสำหรับกันลื่นที่ดีกว่าด้วย ขณะที่ Sailor ทำจากพลาสติกเงาทั้งด้าม ปลอกปากกาเป็นพลาสติกใส ซึ่งเมื่อนำไปเสียบที่ท้ายด้ามแล้วเขียนสบายมือกว่า และมีหัวปากกาที่มีขนาดใหญ่กว่าด้วย

ผู้ทำรีวิวบอกว่า Parker Beta เขียนได้ดีมากๆเลยครับ โดยได้เน้นว่าดีมากถึง 3 ครั้งแบบ ดีจริงๆ ดีเยี่ยม ดีคอดๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาเลยล่ะครับ ในแง่ของการเขียนลื่นนี่ ผู้เขียนถึงกับนำไปเปรียบเทียบกับปากกายี่ห้อดังอื่นๆ ที่มีราคาแพงกว่าหลายสิบเท่าตัวเลยนะครับ

โดยรวมแล้ว สำหรับปากการาคาราว 2 USD ด้ามนี้ เขียนดีกว่ากว่าปากกาที่ราคาอยู่ในช่วง 20 USD หลายๆยี่ห้อด้วยซ้ำ

Parker Beta มีให้เลือกหลายสีนะครับ แล้วก็มีรุ่น Beta Premium ที่ปลอกปากกาเป็นสีเงิน กับสีทองด้วย แล้วก็มีรุ่น Special Edition ที่เป็นลวดลายต่างให้เลือกมากมายเลยนะครับ

รีวิวนี้มีการยกปากกายี่ห้ออื่นขึ้นมาเปรียบเทียบด้วย ทั้งยี่ห้อดังจากญี่ปุ่น และยี่ห้อยอดนิยมจากเยอรมัน ผมตัดออกไปนะครับ แต่ถ้าใครอยากรู้ว่าผู้ทำรีวิวยกเอายี่ห้อไหนมาเปรียบเทียบบ้าง ก็คลิกไปดูที่บทความต้นฉบับเองแล้วกันครับ

ส่วนตัวผมเมื่ออ่านรีวิวนี้ก็อยากลองเขียนเจ้า Parker Beta เนี่ยดูสักทีเหมือนกัน แต่ติดที่ราคาสั่งซื้อมาแพงกว่าที่ขายในอินเดียมากเกินไปครับ เอาเป็นว่า ถ้าใครมีเพื่อนอยู่ที่อินเดีย หรือกำลังจะเดินทางไปอินเดีย ก็น่าซื้อมาลองใช้ดูนะครับ หรือหากมีผู้นำเข้าเครื่องเขียนรายใดสั่งเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา ก็น่าจะเข้าทีนะครับ เพราะมีช่องว่างของราคาให้เล่นได้สบายๆเลยครับ

อย่างไรก็ตาม ลองไปดูวิดีโอของ Stephen Brown ใน Youtube ประกอบด้วยก็ดีนะครับ เพราะความเห็นออกจะแตกต่างจากรีวิวนี้ค่อนข้างมากทีเดียวครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝันนะครับ

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page