top of page
ค้นหา

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Pilot 78G

  • เรียบเรียง: ฐณิพัชร์ มายะการ
  • 28 ก.พ. 2559
  • ยาว 2 นาที

Pilot 78G นี่เป็นปากกาหมึกซึมที่ผมให้ความสนใจเป็นรุ่นแรกๆ ตั้งแต่เริ่มเล่นปากกาหมึกซึมได้ไม่นานเลยครับ ด้วยความที่ราคาไม่สูงนัก และเมื่ออ่านรีวิวจากในอินเทอร์เน็ตแล้ว พบว่านักรีวิวส่วนใหญ่จะพูดถึงปากการุ่นนี้ในแง่ดีซะด้วยครับ แต่ผมก็ยังงงกับตัวเองว่า ทำไมเวลาที่ผมเก็บตังค์จะซื้อ Pilot 78G ได้ทีไร เป็นอันว่าจะต้องไปเจอรุ่นอื่นๆตัดหน้าก่อนเสมอเลยก็ไม่รู้นะครับ

บทความนี้ผมยำใหญ่จากหลายๆรีวิวมารวมๆกันนะครับ ก็อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า เวลาที่ผมสนใจปากการุ่นไหน ผมจะอ่านรีวิวและดูวิดีโอรีวิวของปากการุ่นนั้นๆหลายต่อหลายรีวิวมากครับ เพื่อเปรียบเทียบความเห็นของนักรีวิวหลายๆคน บทความนี้ผมก็เลยเอาความเห็นของนักวิจารณ์แต่ละคนมาเรียบเรียงเป็นบทความให้อ่านกัน เพื่อว่าจะได้ฟังความจากหลายๆด้านนะครับ

Pilot 78G นี่มักจะได้รับการแนะนำจากบรรดานักเล่นปากกาหมึกซึม ในฐานะของปากกาหมึกซึมที่ดีมากรุ่นหนึ่งในระดับเริ่มต้นครับ ข้อมูลจากผู้ทำรีวิวปากกา 2-3 รายคิดว่า Pilot ได้เลิกผลิตปากการุ่นนี้ไปแล้ว หรืออาจจะยังผลิตอยู่แต่ไม่ได้นำเข้าไปจำหน่ายในตลาดอเมริกาและยุโรปก็ไม่รู้นะครับ พอผมไปดูในเว็บของ Pilot ก็ไม่เห็นมีปากการุ่นนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม เรายังคงหาซื้อ Pilot 78G ได้ไม่ยากนักใน eBay ครับ ราคาสั่งมาถึงบ้านเราแล้วราว 500 บาท รวมที่สูบหมึกแบบบีบ (Squeeze Type Converter) ด้วย จากวิดีโอรีวิวของ Leo Reviews บอกว่า ปากการุ่นนี้มีขายในฮ่องกงเยอะเลยครับ ในราคาราว 8-12 USD ครับ

ภาพจาก jetpens.com

ลักษณะภายนอก

ปากการุ่นมีให้เลือก 4 สีครับ คือ ดำ แดง เขียว และน้ำเงินน้ำทะเล ตัวปากกาทำจากพลาสติก ซึ่งก็ไม่ใช่พลาสติกไฮเทคอะไรนะครับ เท่าที่ผมอ่านรีวิวมา จำได้ว่ามีนักรีวิวปากกาอยู่เพียงสองรายที่ติว่า วัสดุที่ใช้ทำตัวปากกาดูราคาถูกไปสักหน่อย (อ้าว ก็มันเป็นปากการาคาถูกนิหน่า) ขณะที่นักรีวิวส่วนใหญ่ กลับไม่ได้พูดอะไรในเรื่องนี้ แต่กลับบอกว่า ปากกาที่ดูคลาสิก และไม่รู้สึกว่าเป็นปากการาคาถูกด้วยครับ

ผมเดาว่า คนที่มองว่า Pilot 78G ทำจากวัสดุที่ดูราคาถูก อาจจะเป็นคนที่ชอบปากการุ่นใหม่ๆน่ะครับ แต่สำหรับ Pilot 78G นี่เป็นปากการุ่นเก่าผลิตมานานแล้ว วัสดุที่ใช้ผลิตปากการาคาไม่สูงนักในสมัยนั้นก็คงเป็นแบบนี้แหละ ไม่ได้ใช้พลาสติกไฮเทคอะไรครับ ผมก็มีปากการุ่นเก่าที่ราคาไม่แพงด้ามหนึ่ง ซึ่งน่าจะผลิตในช่วงปลายๆปี 1980 วัสดุที่ใช้ผลิตดูแล้วน่าจะเหมือนๆกับ Pilot 78G นี่แหละครับ สำหรับผมแล้ว ปากกาด้ามนั้นก็ไม่ได้ดูน่าเกลียดอะไร แถมผมยังว่าสวยดี และยังเป็นหนึ่งในปากกาที่ผมชอบมากๆอีกด้วยนะครับ

Pilot 78G มีรูปทรงแบบซิการ์ผอมๆ ที่ปลอกปากกามีแถบสีทองสองแถบ รับกับคลิปเหน็บกระเป๋าสีทอง ตลอดทั้งด้ามปากกาเรียบๆ ไม่มีลวดลายอะไรเลย คลิปเหน็บกระเป๋าก็เป็นแบบเรียบๆ มีแค่ชื่อยี่ห้อ Pilot อยู่เท่านั้น ซึ่งลักษณะแบบนี้ก็เป็นพิมพ์นิยมของปากกาคลาสิกในยุคก่อนครับ ปากการุ่นนี้มีน้ำหนักเบามากๆด้วยครับ

ปลอกปากกาของ Pilot 78G เป็นแบบหมุนเกลียว ปลอกปากกาจะใหญ่กว่าตัวด้ามปากกาเล็กน้อย ลักษณะแบบนี้ทำให้ปากกาสามารถมี Section ที่อ้วนจนเกือบเท่ากับตัวด้ามปากกาได้ ซึ่งเป็นลักษณะของปากกาที่มักจะจับได้ถนัดมือครับ ผู้ทำรีวิวจาก gourmetpens.com ถึงกับบอกว่า รูปลักษณ์ของปากการุ่นนี้ทำให้นึกถึง Namiki Falcon เลยครับ

ภาพจาก hisnibs.com อันที่จริง Pilot 78G ยังมีหัวปากกาขนาด BB ด้วยนะครับ

แต่ปัจจุบันผมไม่เห็นมีขายแล้วครับ

หัวปากกา

หัวปากกาของ Pilot 78G ทำจากสแตนเลส เคลือบด้วยทองคำ 22K ที่หัวปากกามีสลักคำว่า ‘Pilot Super Quality’ หัวปากกาและ Feed ของ Pilot 78G นี่หน้าตาเหมือนกับที่ใช้ใน Pilot Prera เลยครับ ตรงนี้เว็บ pentorium.com บอกว่า เป็นหัวปากการุ่นเดียวกันเลย แต่ลักษณะการเขียนของปากกาทั้งสองรุ่นจะไม่เหมือนกันครับ

Pilot 78G มีหัวปากกาให้เลือก 3 ขนาด คือ Fine, Medium และ Broad ซึ่งจุดที่น่าสนใจที่สุดของปากการุ่นนี้ ก็อยู่ที่หัวปากกานั่นแหละครับ คือ เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า หัวปากกาขนาด Fine ของญี่ปุ่นจะมีลายเส้นขนาดเล็ก และคม เทียบเท่ากับขนาด Extra Fine ของยุโรป และขนาด Medium ก็จะมีขนาดลายเส้นพอๆกับหัวปากกาขนาด Fine ของยุโรปครับ ส่วนปากกาหัว Broad ของ Pilot 78G ยังเป็นหัวแบบ Stub หรือเป็นแบบปากตัดด้วยนะครับ ตรงนี้เองที่ผมบอกว่าเป็นจุดเด่นไงครับ เพราะปากการุ่นนี้มีหัวปากกาให้เราเลือกตั้งแต่ ลายเส้นที่เล็กมากๆ เหมาะสำหรับงานที่ละเอียด หัวปากกาขนาดกลาง สำหรับงานเขียนทั่วไป และหัวปากกาขนาดใหญ่ ที่เป็นปากตัด สำหรับการเขียนโน๊ตเตือนความทรงจำ เขียนหัวข้อใหญ่ๆ จ่าหน้าซองจดหมาย หรือจะใช้เขียนอักษรวิจิตรก็ได้ครับ ซึ่งปกติแล้วปากกาที่มีราคาไม่แพงแบบนี้ มักจะไม่มีหัวปากกาให้เราเลือกมากแบบนี้นะครับ

ภาพจาก jetpens.com

การใช้งาน

รีวิวส่วนใหญ่ชื่นชมปากการุ่นนี้ว่าเป็นปากกาที่มีน้ำหนักเบามาก มี Section ที่จับได้ถนัดมือดีมาก สามารถเขียนได้นานๆโดยไม่เมื่อยมือครับ ความยาวของปากกาก็กำลังเหมาะ แม้จะไม่ได้เสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้าม พอเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามก็ไม่ทำให้เสียสมดุล เพราะตัวปากกาเบานั่นเองครับ

Pilot 78G ให้มากับที่สูบหมึกแบบบีบ (Squeeze Type Converter) ก็คล้ายๆกับ Aerometrix Converter นั่นแหละครับ แต่เจ้า Squeeze Converter ของ Pilot นี่ตัวถุง Sag จะเป็นสีทึบ ทำให้มองไม่เห็นน้ำหมึกที่อยู่ภายในนะครับ ปากการุ่นนี้ยังใช้กับหมึกหลอดของ Pilot ได้ด้วย หรือหากจะเปลี่ยนไปใช้กับที่สูบหมึกแบบอื่นๆของ Pilot ก็ย่อมได้ แต่จะใช้กับ CON-70 ไม่ได้นะครับ ข้อด้อยอีกอย่างของที่สูบหมึกแบบ Squeeze นี่ก็คือ จุน้ำหมึกได้น้อยครับ สำหรับคนที่นำไปจดงานที่โรงเรียน หรือไปใช้ในการประชุมต้องเติมหมึกทุกวันนะครับ ยิ่งถ้าใครใช้ปากกาหัว Broad ด้วยแล้ว หมึกอาจจะหมดได้ภายในหนึ่งชั่วโมงได้เลย (หากเขียนมากๆ) ตรงนี้เลยมีนักเล่นปากกาบางคนเอาเจ้า Pilot 78G นี่ไปเติมหมึกแบบ Eyedropper Conversion (ED) ทำให้จุหมึกได้มาก และเท่าที่อ่านมาก็ยังไม่พบกว่า เกิดปัญหาน้ำหมึก Leak เมื่อไปทำเป็น ED นะครับ

ภาพจาก jetpens.com

การเขียน

จากรีวิวต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะบอกว่า หัวปากกาของ Pilot 78G ทั้ง 3 ขนาด เขียนได้ลื่น ออกไปในทางแห้งหน่อยๆ เว้นแต่หัวขนาด B ที่รีวิวบอกว่าเปียกดี ในการเขียนจะมี Feedback อยู่บ้างนะครับ ตรงที่มี Feedback นี่ ผมคิดว่าคงเป็นที่นิสัยของหัวปากกาที่ทำจากสแตนเลสของยี่ห้อนี้นะครับ ที่จะมีลักษณะแบบ Toothy นิดหน่อย ไม่ได้ขัดหัวปากกาจนเรียบแปร้ เพื่อให้ลื่นปรู๊ดปร๊าดน่ะครับ เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนนะครับ ว่าชอบเขียนปากกาแบบไหน ส่วนตัวผมจะชอบปากกาที่มี Feedback นิดๆนี่มากกว่าปากกาแบบลื่นปรี๊ดครับ

รีวิวที่ผมเขียนถึง Pilot 78G นี้ ถือเป็นรีวิวที่ค่อนข้างแปลกสำหรับผมนิดหน่อยครับ คือ ปกติแล้วหากผมไม่ทำริวิวขึ้นมาเอง ผมก็จะแปลจากรีวิวต่างประเทศเป็นหลัก แต่รีวิว Pilot 78G นี้ ผมอ่านและดูวิดีโอรีวิวเป็นสิบรีวิว แล้วจับใจความมาเขียนเองนะครับ เพราะผมเห็นว่าปากการุ่นนี้มีราคาไม่แพงมากนัก พอที่น้องๆนักเรียน พี่ๆนักศึกษาจะสามารถซื้อมาใช้ได้โดยไม่ลำบากนัก แม้ว่าในราคานี้ยังมี Pilot Kakuno, Sailor Candy, Sailor High-Ace Neo ให้เลือกใช้ แต่ทั้งหมดที่บอกมาล้วนต้องซื้อที่สูบหมึกเพิ่มทั้งนั้นครับ ปากการุ่นนี้จึงนับเป็นก้าวที่สองสำหรับผู้ที่เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาได้สักระยะหนึ่งแล้วเป็นอย่างดี

ด้วยความที่ผมมองจุดยืนของ Pilot 78G ว่าเป็นปากกาหมึกซึมที่เหมาะสำหรับ ‘ก้าวต่อไป’ ผมจึงต้องหาข้อมูลมากหน่อยครับ เพราะกลัวว่าเกิดน้องๆไปหาซื้อมาแล้วใช้งานไม่ดี จะเบื่อปากกาหมึกซึมไปเลยน่ะครับ

จากนับสิบรีวิวที่ผมอ่านมา ผมตีว่า 80-90% ของผู้ใช้ปากกาที่เขียนรีวิว รวมถึงนักรีวิวปากกาชื่อดังทั้งหลายต่างก็พึงพอใจกับคุณภาพของปากการุ่นนี้นะครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page