top of page
  • ที่มา: www.gourmetpens.com

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Kaweco Liliput Al


ผมเป็นคนที่ชอบปากกาหมึกซึมขนาดเล็กกระทัดรัดอยู่แล้วครับ โดยผมมีปากกาหมึกซึมไซส์มินิอยู่ก็หลายด้ามเหมือนกัน ทั้งปากการาคาถูกๆอย่าง M&G, Sky Glory, Pilot Petit1, Ohto Poche ไปจนถึงปากการาคาปานกลาง หรือค่อนข้างสูง อย่าง Kaweco Sport, TWSBI Diamond Mini หรือ Pelikan M150 เป็นต้น แต่ทุกครั้งที่เห็นปากกาขนาดเล็กกระทัดรัด ผมก็ยังชอบอยู่ดีครับ

ในบรรดาปากกาขนาดกระทัดรัดที่ผมมีอยู่ ก็จะมี Kaweco Sport กับ Ohto Poche ที่ผมมักจะพกติดตัวอยู่เสมอๆครับ พอผมมาเจอ Kaweco Liliput ก็เลยสนใจเป็นพิเศษ เพราะความที่เป็น Kaweco แต่มีขนาดพอๆกับ Ohto Poche นั่นเอง แต่ว่าปากการุ่นนี้ราคาค่อนข้างจะเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน คือ ตกราวสองพันบาทแน่ะ เลยต้องทำการบ้านสักหน่อยครับ ว่าปากการุ่นนี้จะน่าใช้ขนาดไหน

บทความนี้ผมแปลจากเรื่อง Review: Kaweco Liliput Al Fountain Pen – Medium ของเว็บ Gourmet Pens นะครับ

ปากกาที่นำมาทำรีวิวนี้เป็น Kaweco Liliput Aluminium คือ ตัวปากกาทำจากอลูมิเนียม ซึ่งเป็นรุ่นที่ราคาถูกสุดของ Liliput ครับ นอกจากอลูมิเนียมแล้ว ปากการุ่นนี้ยังมีที่ตัวปากกาทำจากสแตนเลส ทองเหลือง และทองแดง ซึ่งก็จะมีราคาแพงขึ้นไปอีกนะครับ ตัวปากกาที่นำมาทำรีวิวเคลือบอะโนไดซ์สีดำ ไม่มีขลิบอะไรเลย ตรงนี้แหละที่ผมชอบมากครับ ปากกาผลิตในประเทศเยอรมนี

ขนาดของปากกา

ขนาดของตัวปากกา เมื่อปิดปลอกปากกาจะยาวเพียง 3.8 นิ้ว (96.52 มม.) และเมื่อนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามจะยาว 4.92 นิ้ว (124.97 มม.) เส้นผ่าศูนย์กลางของด้ามปากกาเพียง 5/16 นิ้ว (7.9 มม.) เท่านั้นเอง ซึ่งผู้ทำรีวิวบอกว่า ไม่น่าเชื่อเลยที่เธอสามารถเขียนหนังสือด้วยปากกาผอมเพรียวขนาดนี้ได้ด้วย น้ำหนักรวมหมึกเต็มหลอด 9 กรัม หัวปากกาทำจากสแตนเลส ที่นำมาทำรีวิวนี่เป็นหัวปากกาขนาด Medium ครับ ปากการุ่นนี้ใช้ได้เฉพาะหมึกหลอดขนาดสั้นแบบ International Standard เท่านั้นนะครับ

เทียบขนาดกับ Ohto Poche ที่ผมเคยทำรีวิวมาก่อนหน้านี้แล้ว Kaweco Liliput ยังเล็กกว่าอีกครับ โดยเมื่อปิดปลอกปากกา Ohto Poche จะยาว 105 มม. พอเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม Ohto Poche จะยาว 144.8 มม. และเส้นผ่าศูนย์กลางส่วนที่ใหญ่ของ Poche จะมีขนาด 9.8-10.8 มม. อารายกานเนี่ย ยังเล็กกว่า Ohto Poche ซะอีก น่าสนๆค้าบบบบ

ลักษณะภายนอก

ผู้ทำรีวิวบอกว่า ปากกาเล็กๆด้ามนี้ น่ารักอย่างบ้าบอคอแตกไปเลยครับ การออกแบบของ Liliput ดูเรียบง่าย เป็นท่อทรงกระบอกเรียบๆ ไม่มีลวดลายใดๆให้รกหูรกตาเลย นอกจากมีแกะสลักด้วยเลเซอร์ตรงส่วนบนของปลอกปากกาเป็นโลโก้ของ Kaweco และมีคำว่า Kaweco Liliput Germany ที่ด้านข้างของปลอกปากาเท่านั้น ผิวของตัวปากกาที่ทำจากอลูมิเนียม เป็นสีดำเงา ดูแล้วมีรสนิยมมากๆครับ แต่ผู้ทำรีวิวบอกว่า เธอพยายามเก็บรักษาปากกาด้ามนี้เป็นอย่างดี เพราะกลัวปากกาจะเป็นรอยเหมือนกันนะครับ

ปลอกปากกาของ Kaweco Liliput เป็นแบบหมุนเกลียว และเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามโดยหมุนเกลียวเหมือนกันครับ ผู้ทำรีวิวไม่ค่อยชอบการเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามแบบหมุนเกลียวเท่าไหร่ จริงๆแล้วตอนแรกผมก็ไม่คุ้นกับการเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามแบบหมุนเกลียวนะครับ แต่พอใช้ TWSBI มาได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มคุ้นเคยแล้วครับ

ผู้ทำรีวิวบอกว่า หากเขียนงานระยะยาวจะต้องเสียบปลอกปากกาไว้ที่ท้ายด้ามเท่านั้น แต่ถ้าจดบันทึกเร็วๆก็ใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามครับ ผู้ทำรีวิวบอกว่า แม้เธอจะรู้สึกว่าการหมุนปลอกปากกาออก แล้วไปหมุนเสียบที่ท้ายด้าม พอจะเก็บปากกาก็ต้องหมุนปลอกปากกาออกจากด้าม ไปหมุนปิดปากกา เป็นสิ่งที่น่าเบื่ออยู่บ้าง แต่เธอก็ชื่นชมในดีไซน์ของ Kaweco Liliput นี่มากทั้งในขณะที่ปิดปลอกปากกา และเสียบปลอกปากกาไว้ท้ายด้ามครับ

เปรียบเทียบขนาด

หลายๆคนอาจจะแปลกใจว่า ปากกาด้ามนี้เล็กเกินไปหรือไม่ ผู้ทำรีวิวจึงถ่ายรูป Kaweco Liliput เทียบกับ Pilot Plumix, Lamy Al-Star และ Lamy Studio มาให้ดูครับ

จริงๆแล้วผมก็กลัวเรื่องขนาดที่เล็กมากนี่ว่า จะเขียนได้ถนัดรึเปล่า แต่พอเห็นรูปที่ถ่ายคู่กับ Fisher Space Pen แล้วค่อยอุ่นใจครับ คือ ปากกามีความอวบพอๆกับปากกาลูกลื่นทั่วไป นึกถึงตรงนี้ได้ ผมก็เลยไปดูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของปากกาลูกลื่น Cross Classic Century ที่ผมใช้งานอยู่บ่อยๆ พบว่า Cross Classic Century ยังมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าอีกนิดหน่อยด้วยซ้ำ สบายใจได้ล่ะ ผมเลยเดาว่าปากการุ่นนี้ก็น่าจะเขียนได้ถนัดนะครับ โดยเฉพาะกับคนที่คุ้นเคยกับปากกาลูกลื่่นครับ

ความถนัดในการใช้งาน

Kaweco Liliput เป็นปากกาที่ผอม และมีน้ำหนักเบา ซึ่งผู้ทำรีวิวคาดว่าตัวปากกาน่าจะมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับมือของผู้ชายตัวโตๆครับ เพราะผู้ทำรีวิวเป็นผู้หญิงขนาดตัวปกติ ก็ยังรู้สึกว่าปากการุ่นนี้มีขนาดค่อนข้างเล็กไปสักหน่อยสำหรับมือของเธอเลยครับ แต่เธอก็บอกว่า มันยังไม่ถึงกับทำให้เขียนแล้วเมื่อยมือ หรือทำให้จับปากกาไม่ถนัดนะครับ อย่างไรก็ตาม หากเธอรู้สึกว่าปากกาค่อนข้างจะเล็กสำหรับเธอ จึงน่าจะเล็กเกินไปสำหรับคนที่มือใหญ่ๆด้วยครับ

ขนาดของลายเส้น

ผู้ทำรีวิวบอกว่า เมื่อดูจาก Twitter จะพบว่า ผู้ใช้ปากกาหมึกซึมส่วนใหญ่จะชอบหัวปากกาขนาด Extra Fine หรือ Fine ครับ เธออาจจะแปลกกว่าคนอื่นสักหน่อยที่เลือกหัวปากกาขนาด Medium เพราะส่วนตัวของเธอแล้วเธอชอบหัวปากกาขนาดใดก็ได้ แต่จะต้องไม่กัดกระดาษ และมีขนาดลายเส้นที่หนา อ่านง่าย ทั้งยังจะต้องป้อนน้ำหมึกได้ดีด้วย ซึ่งแน่นอนว่า คุณสมบัติแบบนี้ก็สามารถพบในหัวปากกาขนาด Extra Fine หรือ Fine ได้เหมือนกัน แต่ตอนที่เธอเพิ่งจะเริ่มใช้ปากกาหมึกซึมใหม่ๆ เธอก็ไม่อยากจะเสี่ยงกับหัวปากกาขนาดเล็ก ก็เลยมักจะเลือกซื้อหัวปากกาขนาด Medium มาใช้ ก็เลยทำให้ชอบลายเส้นขนาด Medium ตั้งแต่นั้นมาครับ แต่เธอก็บอกว่า สำหรับ Kaweco Liliput แล้ว เธอชอบหัวปากกาขนาด Medium นี่มาก เพราะเป็นขนาดที่เหมาะกับตัวปากกาดี ดูแล้วน่ารัก แถมยังน่าเขียนอีกด้วยครับ

ขนาดลายเส้นสำหรับหัวปากกาขนาด Medium ของ Kaweco เป็นขนาดที่ผู้ทำรีวิวบอกว่า เป็นขนาดที่กำลังสวยเลย แต่เธอสังเกตว่า หัวปากการุ่นนี้เขียนบนกระดาษที่เคลือบผิวมัน อย่างกระดาษสมุดโน๊ตของ Rhodia ได้ไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อไปใช้กระดาษที่ผิวไม่เป็นมันลื่น ปากกากลับเขียนได้ดีกว่ามากๆ เรื่องนี้ผู้ทำรีวิวบอกว่า เธอเคยเจอปากกายี่ห้ออื่นๆที่ไม่ชอบกระดาษที่เคลือบผิวเป็นมันเหมือนกัน อย่าง Namiki Vanishing Point ครับ

ผู้ทำรีวิวบอก เธอเคยอ่านพบว่ามาว่า มีผู้ใช้ปากกาหมึกซึมเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ทำความสะอาดปากกาก่อนการเติมหมึก เพื่อให้ปากกาป้อนน้ำหมึกได้ดี ซึ่งผู้ทำรีวิวบอกว่า เธอก็ไม่ได้ล้างปากกาก่อนที่จะใช้งานครับ ซึ่งก็ไม่พบปัญหาอะไร นอกจากปัญหาเกี่ยวกับกระดาษอย่างที่บอกไปแล้ว

ตรงนี้ผมมีความเห็นขัดแย้งกับผู้ทำรีวิวอยู่บ้างนะครับ จากผมทดสอบปากกาโดยเติมหมึกแล้วนำไปใช้งานเลย กับทำความสะอาดก่อน แล้วค่อยเติมน้ำหมึก พบว่าปากกาหลายๆรุ่นให้ผลที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดครับ โดยเฉพาะเรื่องการป้อนน้ำหมึกนั่นแหละครับ และ Kaweco Sport ที่ผมนำมาใช้ก่อนล้างปากกา กับหลังล้างปากกาก็เห็นผลต่างกันชัดเจนมาก ถ้าจำไม่ผิด Goulet Pens ก็แนะนำให้ทำความสะอาดปากกา Kaweco ก่อนการเติมหมึกด้วยนะครับ แต่ถ้าใครนิยมที่จะไม่ทำความสะอาดปากกาก่อนเติมหมึก ก็ไม่มีอะไรที่จะสร้างความเสียหายให้กับตัวปากกานะครับ ก็เอาที่สบายใจละกัน 5555

พกพาสะดวก

ผู้ทำรีวิวเล่าให้ฟังว่า เธอได้ออกเดินทางเป็นเวลาสามสัปดาห์ โดยนำเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นติดตัวไปเท่านั้น และปากกาที่เธอพกติดตัวไปด้วย ก็คือ Kaweco Liliput พร้อมด้วยหมึกหลอดอีก 2-3 หลอด ปากการุ่นนี้พกไว้ในกระเป๋า หรือเป้หลังได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ และเธอยังไม่ต้องคอยเป็นห่วงเรื่องขวดหมึกว่าจะหกเลอะเทอะอีกด้วย แถม Kaweco Liliput ก็ยังใช้เขียนได้ดี โดยไม่ทำให้เธอเมื่อยมือแต่อย่างใดด้วยครับ

ผู้ทำรีวิวบอก แม้ว่าเธอจะรักในการออกแบบที่น่ารักของ Kaweco Liliput นี่ แต่อันที่จริงแล้ว การที่ปากการุ่นนี้ไม่มีคลิปเหน็บกระเป๋า แถมรูปทรงปากกายังเป็นทรงกลม ทำปากกากลิ้งไปมาได้ ซึ่งอาจทำให้ปากกาหายเอาได้ง่ายๆครับ

โดยรวมแล้ว ผู้ทำรีวิวบอกว่า เธอชอบปากการุ่นนี้มาก แม้ว่าปากกาอาจจะดูว่ามีข้อด้อยอยู่บ้างก็ตาม เธอคิดว่าปากการุ่นนี้เป็นปากกาที่มีคุณภาพสูง แถมยังน่ารักมากอีกด้วย และปากการุ่นนี้ยังมีความน่าเชื่อถือได้สูง แข็งแรงทนทาน พกพาสะดวกครับ

ความเห็นส่วนตัวของผมสำหรับ Kaweco Liliput นี่ เป็นปากกาที่น่ามีไว้มากๆนะครับ แต่จะติดก็ตรงที่ราคาค่อนข้างสูงไปสักหน่อย เพราะสำหรับผมแล้ว ปากกาลักษณะนี้แม้จะพกติดตัวบ่อยๆ แต่ก็จะไม่ใช่ปากกาที่ใช้งานเป็นประจำครับ พอจะลงทุนกับราคาประมาณนี้ก็เลยต้องคิดนานสักหน่อยนะครับ แต่สำหรับคุณสาวๆ หากจะหามาใส่ไว้ในกระเป๋าถือ ผมว่าเวิร์คสุดๆเลยนะครับ หยิบมากใช้แล้วรับรองต้องมีหนุ่มมาขอเบอร์โทรแน่นอน 5555

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page