top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Parker Vector (Luxor)

Parker Vector เริ่มผลิตครั้งแรกในปี 1982 ครับ นับเป็นปากกาที่ประสบความสำเร็จสูงสุดรุ่นหนึ่งของ Parker เลยก็ว่าได้ครับ ปากการุ่นนี้ Parker เลิกผลิตไปแล้วนะครับ แต่ได้อนุญาตให้บริษัท Luxor ในประเทศอินเดียผลิตต่อไป ภายใต้ชื่อยี่ห้อ Parker ครับ สำหรับขายตลาดในภูมิภาคเท่านั้น ซึ่งทาง Luxor ก็ได้บอกว่า ปากกาที่ผลิตโดย Luxor อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุ หรือดีไซน์ไปบ้าง เพื่อให้เหมาะตลาดในภูมิภาคของตนครับ

อันที่จริงแล้ว Parker Vector ที่ผลิตโดย Luxor ก็ควรจะมีจำหน่ายเฉพาะในอินเดียและประเทศใกล้เคียงเท่านั้นนะครับ แม้แต่ในเว็บของ Luxor เองก็ไม่ส่งสินค้าขายต่างประเทศ แต่เราก็ยังสามารถหาซื้อปากกาที่ผลิตจาก Luxor ได้จากอีเบย์ในราคาพร้อมส่งมาถึงบ้านเราประมาณ 300 บาทครับ ผมจึงลองสั่งมาดูโดยไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะอยากรู้ว่า คุณภาพของปากกา Parker ที่ผลิตในอินเดียจะเป็นอย่างไรครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

อันที่จริงผมคุ้นเคยกับ Parker Vector มานานแล้ว เพราะที่บ้านมีปากการุ่นนี้อยู่ 2-3 ด้าม ทั้งที่ผลิตในอเมริกา และฝรั่งเศสครับ แต่ทั้งหมดเป็นปากกาโรลเลอร์บอลนะครับ อันนี้ต้องบอกให้รู้กันก่อนว่า กำเนิดของ Parker Vector นี่ออกแบบมาเพื่อให้เป็นปากกาโรลเลอร์บอลโดยเฉพาะเลยครับ พอ Vector โรลเลอร์บอลประสบความสำเร็จแล้ว จึงได้ออกปากกาลูกลื่น และปากกาหมึกซึมตามมาทีหลังครับ

ถ้าพูดถึงสมัยปี 1982 ที่เริ่มผลิต Parker Vector ออกมานี่ ต้องถือว่าปากการุ่นนี้มีดีไซน์ที่สวยงาม ทันสมัยมากนะครับ ตัวปากกามีทั้งแบบที่ทำจากสแตนเลส และพลาสติก โดยรุ่นที่ตัวปากกาทำจากสแตนเลสจะแพงกว่าครับ ปากกามีลักษณะเป็นทรงกระบอก มาลดระดับเป็นขั้นบันไดเล็กน้อยบริเวณท้ายด้าม ใช้สำหรับเป็นที่เสียบปลอกปากกา ดูสวยงามมาก

Parker Vector เป็นปากกาที่มีขนาดกำลังเหมาะเลยครับ ขนาดไม่ได้ใหญ่โตเหมือนพวกปากกาหมึกซึมทั่วไป แต่ก็ไม่ได้เล็กจนใช้งานไม่ถนัดนะครับ คือ เป็นขนาดที่พกพาสะดวก หยิบใช้ได้สบายมือเลยล่ะครับ

สำหรับรุ่นที่ตัวปากกาเป็นพลาสติก หากเป็นรุ่นที่ผลิตโดย Parker เองจะมีให้เลือก และเคยมีทำเป็นลวดลายสวยงามแบบต่างๆด้วย แต่สำหรับ Parker Vector ที่ผลิตโดย Luxor จะมีให้เลือก 3 สี คือ ดำ แดง และน้ำเงินครับ ส่วนรุ่นที่ตัวปากกาทำจากโลหะ ถ้าเป็นปากกาที่ผลิตในอินเดีย จะมีให้เลือกทั้งสีเงิน สีทอง สีเงินคลิปทอง เยอะไปหมดครับ แต่หากเป็นรุ่นที่ผลิตโดย Parker เองรู้สึกว่าจะมีเฉพาะตัวปากกาสีเงิน คลิปเงินเท่านั้นนะครับ

สำหรับปากกาที่ผมนำมาทำรีวิวนี้ เป็นรุ่นที่ตัวปากกาทำจากพลาสติกสีดำครับ

ความรู้สึกเมื่อแรกพบ

แม้ว่าผมจะไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายนัก สำหรับ Parker ที่ทำในอินเดีย แต่เมื่อเห็นตัวเป็นๆเข้า ก็ยังทำให้ผมผิดหวังได้อีกอยู่ดีครับ อันนี้ไม่ได้พูดด้วยอคติแต่อย่างใดนะครับ ในความรู้สึกของผม ปากกาที่ผลิตโดย Luxor ดูรวมๆแล้วเหมือนปากการาคาถูกชอบกล ต่างจาก Parker Vector ที่ผลิตในอเมริกา อายุน่าจะเกือบๆ 30 ปีแล้ว ยังดูดีกว่าเลยครับ แต่ตรงนี้ผมก็ไม่รู้จะอธิบายเป็นภาษาพูดยังไงนะครับ ว่ามันต่างกันตรงไหน น่าจะพอเปรียบๆได้กับพวกของเด็กเล่นที่ขายในห้าง ตัวละสี่ห้าร้อยบาท ไปเทียบกับของเล่นในตลาดนัดตัวละยี่สิบสามบาทอะไรทำนองนั้นน่ะครับ

ปลอกปากกา

เวลาที่ปิดปลอกปากกา ปลอกปากกาของ Parker Vector จะต่อกับด้ามปากกาเป็นชิ้นเดียวกันเลยครับ ตรงรอยต่อระหว่างปลอกปากกากับด้ามปากกานี่ หากเป็น Parker Vector รุ่นในอดีตที่ผลิตโดย Parker เองจะต่อกันได้สนิทสวยมาก คือ แม้ว่าจะมองเห็นรอยต่อระหว่างด้ามปากกากับปลอกปากกา แต่พอเอามือลูบดูมันจะเนียนเรียบ แทบไม่มีสะดุดเลยครับ แต่สำหรับ Parker Vector ที่ผลิตโดย Luxor แล้ว พอลูบดูจะรู้สึกสะดุดครับ ตรงนี้ผมสังเกตว่าเป็นการเก็บครีบที่เกิดจากการหล่อพลาสติกเป็นปลอกปากกายังไม่ดีพอครับ

ส่วนบนของปลอกปากกาจะมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน บุ๋มลงไปจากส่วนหัวของปลอกปากกาเล็กน้อย ตรงจุดนี้ผมไม่แน่ใจนะครับ เพราะดูเหมือนว่า รุ่นที่ผลิตในอเมริกาที่ผมมีอยู่ ตรงจุดนี้จะมีชิ้นโลหะแทรกอยู่ด้วย แต่รุ่นที่ผลิตในอังกฤษจะไม่มีชิ้นโลหะนี้ สำหรับ Vector ที่ผลิตในอินเดียก็ไม่มีชิ้นโลหะเหมือนกันครับ ข้อมูลตรงนี้ผมไม่มั่นใจจริงๆนะครับ เพราะรุ่นที่ผลิตในอเมริกาที่ผมมีอยู่ก็เก่ามาก และเก็บไว้โดยไม่ได้รักษา ชิ้นโลหะตรงนี้ก็เริ่มจะลอกออกไปบ้างแล้วครับ

ด้านหน้าของปลอกปากกา จะมีโลโก้ และมีคำว่า Parker อยู่ ส่วนด้านหลังจะบอกว่าปากกาด้ามนั้นผลิตที่ไหนนะครับ อย่าง Made in USA, Made in UK อะไรทำนองนี้ครับ ส่วนรุ่นที่ผลิตโดย Luxor จะไม่บอกชื่อประเทศที่ผลิต แต่จะเป็นโค้ด I-IIIT ครับ รอยที่ปั้มชื่อยี่ห้อ และโค้ดของรุ่นที่ผลิตในอินเดียจะไม่ค่อยคมชัดเท่าไหร่นะครับ

คลิปเหน็บกระเป๋า

จากข้อมูลที่ผมหามาได้ คลิปรูปลูกธนูเรียบๆ ที่มีส่วนปีกหางของลูกธนูยาวๆ แบบที่ใช้ใน Parker Vector นี่เริ่มใช้ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1980 โดยใช้กับ Parker RB1 ซึ่งเป็นปากกาต้นแบบของ Parker Vector เป็นรุ่นแรกครับ ก็ถือได้ว่าคลิปลูกธนูของ Parker Vector นี่ได้รับการออกแบบมาให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเลยนะครับ เพราะคลิปลูกธนูในลักษณะนี้เท่าที่ผมนึกออก ก็ใช้กับ Parker RB1 และ Parker Vector เท่านั้นครับ

ตัวคลิปของ Parker Vector ทำจากสแตนเลส คลิปของรุ่นที่ผลิตในอินเดียจะบางกว่า และอ่อนกว่ารุ่นเดิมนะครับ คลิปก็มีความเป็นสปริงดี แต่อย่าไปง้างมากๆนะครับ เพราะคลิปอาจจะเสียได้ง่ายครับ

ด้ามปากกา

ด้ามปากกาทำจากพลาสติกชนิดเดียวกับที่ใช้ทำปลอกปากกาครับ เรื่องวัสดุที่ใช้ผลิตนี่ ผมดูแล้วรู้สึกว่าเป็นวัสดุคนละเกรดกับที่ใช้ทำ Vector รุ่นก่อนๆ คือ ดูกิ๊กก๊อกกว่าน่ะครับ แต่ตรงนี้ผมก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของพลาสติกนะครับ เลยบอกไม่ได้ว่าเป็นวัสดุคนเกรดกันจริงๆ หรือว่าเป็นเพราะการเก็บงาน แต่งผิวขั้นสุดท้ายไม่ประณีตเท่าครับ

เวลาที่หมุนเกลียวปลอกปากกาของ Parker Vector ติดกับตัว Section เนี่ย ขอให้หมุนแค่พอตึงก็พอนะครับ อย่าพยายามหมุนต่อจนแน่น เพราะจะทำให้ปลอกปากกาแตกได้ครับ อันนี้ไม่ว่าจะเป็น Vector รุ่นที่ผลิตที่ใดในโลกก็ตาม ด้ามที่ผลิตในอเมริกาของผมแตกไปเรียบร้อย ตั้งแต่สมัยพ่อใช้เรียนหนังสือแล้วครับ

ส่วนท้ายของด้ามปากกาจะเป็นโลหะ ลดระดับลงจากตัวด้าม ใช้สำหรับเสียบปลอกปากกาครับ สีเงินของส่วนท้ายด้ามรับกับสีเงินของคลิปทำให้ปากกาที่มีดีไซน์เรียบๆรุ่นนี้ดูสวยขึ้นเยอะเลยครับ ตรงจุดสำหรับใช้เสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามนี้ Vector รุ่นที่ผลิตในอินเดียจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า Vector รุ่นเดิมเล็กน้อย ทำให้เสียบปลอกปากกาไม่แน่นครับ คือ ทำได้แค่เอาปลอกปากกาไปวางไว้เฉยๆ ไม่มีแรงเสียดทานพอจะยึดปลอกปากกาให้ติดกับท้ายด้าม

เรื่องที่ว่า เวลาเขียนเอาปลอกปากกาไปเสียบไว้ที่ท้ายด้ามนี่จะว่าไปแล้วก็ขึ้นอยู่กับความถนัด หรือความชอบของแต่ละคนนะครับ สำหรับผมแล้วก็ 50/50 ครับ บางทีก็เอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม บางทีก็ไม่ได้เสียบครับ ขึ้นอยู่สถานการณ์มากกว่า แต่ผมก็ยังให้ความสำคัญกับการที่เมื่อนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามแล้วจะต้องมั่นคงดี และเขียนได้ถนัดด้วยนะครับ เพราะว่าเวลาที่ต้องไปจดบันทึกการประชุม หรือเดินจดบันทึกในสถานที่ต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่มีที่ให้เราวางปลอกปากกาได้ ก็จำเป็นจะต้องเสียบปลอกปากกาไว้ที่ท้ายด้ามครับ ถ้าเสียบแล้วไม่มั่นคงปลอกปากกาก็อาจจะตกหายได้ อีกเหตุผลหนึ่ง ผมว่าเวลาที่เสียบปลอกปากกาไว้ท้ายด้ามแล้ว จะทำให้ปากกาดูสง่างามดีครับ คนมองแต่ไกลเห็นคลิปรูปลูกศรดูเด่น ก็รู้ทันทีเลยว่าเป็นปากกา Parker หรือเห็นคลิปลวดขนาดใหญ่ ก็บอกได้เลยว่าเป็น Lamy อะไรทำนองนี้น่ะครับ

พอปากการุ่นไหนเอาปลอกปากกาไปเสียบท้ายด้ามไม่แน่นพอ หรือเสียบแล้วเขียนไม่ถนัด หนักส่วนปลายของปากกา ส่วนตัวผมจะตีเป็นข้อด้อยของปากการุ่นนั้นไปเลยครับ แม้ว่าปากการุ่นนั้นจะเขียนได้ถนัดดีโดยไม่จำเป็นจะต้องเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามก็ตาม

แต่สำหรับ Parker Vector ที่ผลิตโดยบริษัท Parker เอง ไม่ว่าจะเมดอินยูเอส ยูเค หรือฝรั่งเศส จะสามารถเสียบปลอกปากกาไว้ที่ท้ายด้ามได้มั่นคงดีนะครับ

บริเวณที่จับปากกา (Section Grip)

Section ของ Parker Vector ทำจากสแตนเลสครับ สำหรับ Vector ที่ผลิตโดย Luxor นี่สังเกตได้ว่า สแตนเลสที่ใช้ทำ Section จะบางกว่ารุ่นเดิมนะครับ แต่ขนาดเกลียวจะเท่ากับรุ่นเดิม ทำให้สามารถนำ Section ของ Vector ที่ผลิตโดย Luxor ไปใส่กับรุ่นเดิมได้ แม้ว่ารุ่นที่ผลิตโดย Luxor จะมีเกลียวแค่ 3 รอบ ส่วนรุ่นเดิมจะมีเกลียว 4 รอบก็ตามครับ

ระบบเติมหมึก

Parker Vector ที่ผลิตโดยบริษัท Luxor จะแถมที่สูบหมึก Piston Converter แบบสไลด์เติมหมึกมาให้ด้วย ซึ่งที่สูบหมึกแบบนี้จะใช้กับปากกา Parker รุ่นราคาไม่แพงโดยทั่วไปนะครับ ที่สูบหมึกของ Parker จะเป็นแบบเฉพาะของเขาเอง ไม่สามารถใช้กับที่สูบหมึก หรือหมึกหลอดมาตรฐานได้นะครับ

ตรง Section กับที่สูบหมึกนี่ มีเรื่องหนึ่งที่ขอบอกครับ คือ เหตุผลหลักที่ผมสั่งซื้อปากกาหมึกซึม Vector จากอินเดียมา ก็เพราะว่า อย่างที่บอกไปแล้วว่าผมมี Parker Vector รุ่นเดิมที่เป็นโรลเลอร์บอลอยู่ ก็เลยอยากจะเอาชุด Section หัวปากกา และที่สูบหมึกของปากกาหมึกซึม มาใช้กับปลอกปากกา และด้ามปากกาที่ Made in USA ครับ แต่ปัญหาคือ แม้ว่าจะสามารถสลับด้ามปากกา และ Section ระหว่างกันได้ แต่เมื่อสลับกันแล้ว จะปิดปลอกปากกาไม่ลงนะครับ และยิ่งหากใส่ที่สูบหมึกใน Section ของปากกาหมึกซึมด้วย จะใส่เข้าไปในด้ามของปากกาโรลเลอร์บอลไม่ได้เลย เพราะด้านในของด้ามปากกาโรลเลอร์บอลจะเล็กกว่า เพื่อให้เหมาะกับไส้ปากกาโรลเลอร์บอลครับ

หัวปากกา และที่ป้อนหมึก (Feed)

หัวปากกาที่ใช้กับ Parker Vector ทำจากสแตนเลส มีขนาดค่อนข้างเล็ก ส่วน Feed ก็ทำจากพลาสติก ทั้งหัวปากกาและ Feed จะมีรูปทรงเฉพาะตัวเลยครับ บนหัวปากกาจะเรียบๆ มีแค่ตัวอักษร Parker อยู่บนหัวปากกาเท่านั้น

หัวปากกา และ Feed รุ่นนี้ Parker ยังนำไปใช้กับปากการุ่น Parker IM และ Parker Urban ที่มีราคาแพงกว่าด้วยนะครับ ก็ต้องถือว่าเป็นหัวปากกาที่ออกแบบมาประสบความสำเร็จใช้ได้เลยครับ นอกจากนี้บริษัท Luxor ยังนำหัวปากการุ่นนี้ไปใช้กับ Parker Beta อีกด้วยครับ ผมได้แปลรีวิว Parker ทั้ง 3 รุ่นดังกล่าวไว้แล้ว คลิกเพื่ออ่านรีวิวได้เลยครับ

สำหรับ Vector ที่ผลิตโดยบริษัท Luxor จะมีเฉพาะหัวปากกาขนาด F เพียงขนาดเดียวนะครับ โดยที่ Feed จะมีตัวอักษร F เพื่อบอกขนาดหัวปากกาอยู่ครับ

การเขียน

ต้องยอมรับเลยครับว่า Parker ไม่ว่าจะผลิตจากที่ใดในโลกก็ตาม ล้วนเขียนดีทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ Parker ที่ผลิตในอินเดียครับ หัวปากกาที่ออกแบบโดย Parker เขียนได้อย่างไม่มีที่ติเลยจริงๆครับ ลื่นมากๆในทุกมุม แทบจะไม่รู้สึกถึง Feedback เลย แม้ว่าจะมีเสียงหัวปากกาลากบนกระดาษให้ได้ยินอยู่บ้างนะครับ ความเปียกก็อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ไม่เปียกมากเกิน แต่ก็ยังไม่เหมาะที่จะใช้เขียนบนกระดาษเนื้อไม่ดีนะครับ เพราะซึมทะลุไปด้านหลังแน่ๆ

หัวปากการุ่นนี้มี Sweet Sport กว้าง เขียนได้ง่ายด้วย แต่เขียนแบบ Reverse Writing ไม่ดีนะครับ หัวปากกาค่อนข้างแข็ง แต่ก็ยังทำขึ้นเบาลงหนักได้ในระดับที่ใช้ได้เลยล่ะ อย่างไรก็ตาม ผมไม่แนะนำไปเค้นหัวปากกาเพื่อให้ได้ลายเส้นใหญ่ๆนะครับ ตั้งแต่ได้ปากกาด้ามนี้มาเกือบ 1 เดือน ใช้หมึกหมดไปหลอดกว่าๆ ผมยังไม่เคยพบกับปัญหาเขียนแล้วเส้นขาดๆหายๆ หรือหยิบปากกามาแล้วเขียนไม่ออก (Hard Start) แต่อย่างใดเลยครับ

การใช้งาน

อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่า Parker Vector นี่เป็นปากกาที่ออกแบบมาเพื่อให้เป็นโรลเลอร์บอลโดยเฉพาะ แล้วนำมาทำเป็นปากกาหมึกซึมทีหลังนะครับ ปากการุ่นนี้หากเป็นโรลเลอร์บอลแล้ว ในแง่ของการใช้งานจะเหมาะมากอย่างไม่มีที่ติเลย แต่พอมาทำเป็นปากกาหมึกซึม ผมรู้สึกว่า Section จะสั้นไปหน่อยครับ ทำให้เวลาจับปากกาบางทีจะจับเลยขึ้นไปถึงบริเวณส่วนต่อระหว่าง Section กับด้ามปากกา ซึ่งในปากการุ่นนี้บริเวณที่ต่อดังกล่าวจะมีลักษณะลดหลั่นเป็นขั้นบันได ทำให้บางคนอาจรู้สึกรำคาญ หรือจับไม่ถนัดได้เหมือนกันนะครับ หากใครที่กำลังสนใจปากการุ่นนี้อยู่ ผมอยากให้ลองจับเขียนก่อนว่า Section ของ Parker Vector จะเหมาะกับคุณรึเปล่าครับ ยิ่งหากเป็น Vector ที่ผลิตในอินเดีย จะลบคมของขอบพลาสติกที่ด้ามไม่ดีพอ ทำให้มีความรู้สึกว่าบริเวณด้ามค่อนข้างคมไปสักหน่อย คือ ไม่ใช่คมจนบาดมือนะครับ แต่ว่าสร้างความรำคาญได้ไม่น้อยทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการจับปากกาของแต่ละคนด้วยครับ

Section ของปากกาที่ทำจากสแตนเลส ค่อนข้างลื่นไปสักหน่อย ยิ่งมาเจอกับ Section สั้นๆด้วยแล้ว บางคนอาจจะเขียนไม่ถนัดได้เหมือนกันนะครับ

ความยาวของปากกากำลังเหมาะ เขียนได้ถนัดโดยไม่ต้องเสียบปลอกปากกาไว้ท้ายด้าม พอเอาปลอกปากกามาเสียบยังสมดุลดีครับ แต่ข้อเสียคือ เสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามได้ไม่มั่นคงเลยนะครับ

สรุป

ส่วนตัวผมยังเห็นว่า Parker Vector เป็นปากกาที่น่าใช้มากรุ่นหนึ่งครับ เขียนได้ดีอย่างน่าทึ่ง แต่ก็ขอให้ลองดูด้วยนะครับว่าคุณสามารถจับเขียนได้ถนัดรึเปล่าครับ สำหรับในบ้านเรา ปากกา Parker Vector นี่ยังหาซื้อได้ไม่ยาก ตามแผนกปากกาของห้างใหญ่ๆ ในราคาราวด้ามละ 600-700 บาทสำหรับรุ่นที่ทำจากสแตนเลสทั้งด้าม (ผมก็จำราคาไม่ค่อยได้นะครับ) ส่วนตัวผมอยากแนะนำให้ไปซื้อมาเก็บไว้เลยครับ เพราะ Vector ที่ขายในบ้านเรา เป็นรุ่นที่ผลิตในฝรั่งเศส งานการผลิตดีมากๆด้วยครับ

แต่สำหรับ Parker Vector ที่ผลิตโดยบริษัท Luxor ประเทศอินเดียนี่ หนังคนละม้วนเลยครับ แม้ราคาจะไม่ถึงสามร้อยบาทดี แต่ผมกลับรู้สึกว่าไม่คุ้มครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝันครัชชชชช

แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page