top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกา] Fight Like Dream – เปรียบเทียบ Tactical Pens


บทความรีวิวนี้ขอเปลี่ยนอารมณ์สักหน่อยนะครับ แทนที่จะมารีวิวปากกาสำหรับเขียนหนังสือ ผมจะขอรีวิวปากกาสำหรับป้องกันตัวแทนครับ

อันที่จริงแล้ว ปากกาสำหรับป้องกันตัว หรือ Tactical Pen นี่มีหลายรุ่นหลายยี่ห้อเลยนะครับ ซึ่งโดยมากแล้วจะผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตมีดพกซะมากกว่าบริษัทปากกาครับ แถมปากกาแทคติคัลจากแบรนด์ผู้ผลิตมีดสำหรับตลาดระดับล่างก็จะมีราคาเริ่มต้นที่พันกว่าบาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็นแบรนด์ชั้นนำราคาก็จะสูงขึ้นไปถึงห้าหกพันบาท นี่ยังไม่รวม Tactical Pen ที่ผลิตโดยช่างทำมีด Custom ที่จะมีราคาหลักหมื่นบาทขึ้นเลยครับ

สำหรับตัวผมแล้ว ถ้าเป็นปากการาคาเรือนหมื่นแบบนั้น ผมคงไม่กล้าเอามาป้องกันตัวล่ะครับ แต่เราคงต้องคอยป้องกันปากกาซะมากกว่า 55555 ผมก็เลยเอาปากกาแทคติคัลที่ผลิตในจีนมารีวิวให้อ่านกันเล่นๆนะครับ โดยปากกาแทคติคัลของจีนที่ผมเห็นมีขายในราคาไม่สูงนักก็จะมีด้วยกัน 4 รุ่น แต่ผมสั่งมาลองเล่นแค่ 3 รุ่น เหตุที่ไม่ได้สั่งอีกรุ่นมาก็เพราะมันเป็นแบบไม่มีปลอกปากกา ซึ่งผมไม่ค่อยชอบครับ

การใช้งาน Tactical Pen

ไอเดียหลักๆปากกาแทคติคัลนี่ก็เพื่อใช้สำหรับการป้องกันตัว (Self Defence) และการกู้ภัย (Rescue) ครับ โดยมีแนวความคิดที่ว่า ปากกาเป็นเครื่องมือที่ทุกคนมักจะมีพกติดตัวอยู่เสมอ การพกปากกาไปไหนมาไหนก็ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ขัดกับกฎการรักษาความปลอดภัยของสถานที่ต่างๆด้วย (เว้นแต่สถานที่ซึ่งมีการรักษาความเข้มงวดมากนะครับ) ทำให้การพกปากกาแทคติคัลติดตัวจึงไม่ต้องกลัวว่าจะต้องไปทะเลาะกับตำรวจ ต่างกับการพกมีดครับ

การใช้งานป้องกันตัว ก็จะใช้การกำปากกาแล้วทุบลงบนเป้าหมายครับ สถานการณ์สมมติ หากมีคนร้ายเข้ามาคุกคาม แล้วเราพกปากกาแทคติคัลไว้ในกระเป๋ากางเกง ก็เพียงแค่หยิบปากกาออกมากำไว้ แล้วทุบลงบนร่างกายในขณะที่คนร้ายไม่ทันตั้งตัว เพื่อให้คนร้ายเจ็บ แล้วเราจะหนีได้

ปากกกาแทคติคัลนี่ไม่เหมาะสำหรับใช้งานเชิงรุก หรือใช้ต่อสู้นะครับ คือ ไม่เหมาะที่จะเอาไปใช้ทำร้ายใคร หรือใช้จี้ปล้นครับ แต่หากมีเหตุจำเป็นแล้วหยิบออกมาป้องกันตัวก็เหมาะเลย แถมบาดแผลที่เกิดจากปากกาแทคติคัลโดยมากก็จะไม่สาหัสจนเกินไปอีกด้วย

อันที่จริงแล้วปากกาอะไรก็สามารถใช้ป้องกันตัวแบบนี้ได้นะครับ แต่ปากกาแทคติคัลจะมีความแข็งแรงกว่า ไม่ต้องห่วงว่าทุบไปแล้วปากกาจะแตกหักครับ

ในแง่ของการกู้ภัย (Rescue) เราสามารถใช้ปากกาแทคติคัลทุบกระจกอาคารบ้านเรือน หรือกระจกรถยนต์ได้ กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นแล้วเราติดอยู่ในอาคาร หรือรถยนต์ หรือกรณีที่ต้องการจะช่วยคนที่ติดอยู่ในอาคาร หรือรถยนต์ หากเราไม่ได้พกปากกาแทคติคัลติดตัวไว้ ก็ต้องวิ่งหาอิฐ หาไม้กันให้วุ่นล่ะครับ สำหรับการทุบกระจกหนาๆนี่ แรงของเราอาจจะไม่พอที่จะทุบกระจกให้แตกได้นะครับ แนะนำให้ใช้ปากกาแทคติคัลในลักษณะของ “สิ่ว” คือ จรดปลายปากกาไว้ที่บริเวณมุมกระจก แล้วหาอิฐหรือของแข็งทุบที่ปลายอีกด้าน จะทุบกระจกให้แตกง่ายกว่า ไม่ต้องห่วงว่ามือจะเจ็บอีกด้วยครับ เน้นว่าหากเป็นไปได้ควรทุบที่บริเวณมุมของกระจกนะครับ กระจกจะแตกง่ายกว่าทุบบริเวณกลางกระจก เพราะเป็นเรื่องการกระจายของแรงครับ

ทำจากอะลูมิเนียม

เนื่องจากปากกาแทคติคัลของจีนทั้งสามรุ่น ไม่มีชื่อยี่ห้อหรือชื่อรุ่นมาเลย ผมจึงขอเรียกเองว่า TAC1, TAC2 และ TAC3 ตามรูปก็แล้วกันนะครับ (เรียงจากหน้าไปหลัง)

ตัวปากกาทั้งสามรุ่นทำจากอลูมิเนียมเกรดที่ใช้ทำเครื่องบิน หรือ Aircraft Grade Aluminium ผมคิดว่าน่าจะเป็นอลูมินเนียมเบอร์ 6061 นะครับ เท่าที่ดูแล้วก็เชื่อได้ว่าตัวปากกาทำจากอลูมิเนียม 6061 จริงๆครับ เพราะหากเป็นอลูมิเนียมปกติจะอ่อน บุบง่ายครับ

ปากกาที่ผมได้มาทั้ง 3 รุ่นเป็นสีดำครับ แต่เท่าที่ดูก็มีสีอื่นให้เลือกเหมือนกัน จากโฆษณาในเว็บบอกว่าปากกาทั้งสามรุ่นทำสีผิวแบบฮาร์ดอะโนไดซ์ อันนี้ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ครับ เพราะที่เคยเจอมาสีของฮาร์ดอะโนไดซ์จะไม่ดำสนิทอย่างนี้ จะออกสีเทาๆมากกว่า ยิ่งรุ่น TAC2 ผิวปากกาจะเป็นสีดำเงา ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการชุบผิวแบบฮาร์ดอะโนไดซ์ครับ การชุบผิวอะลูมิเนียมแบบฮาร์ดอะโนไดซ์นี่จะช่วยเพิ่มความแข็งให้กับผิวของอะลูมิเนียม และสีจะติดทนกว่านะครับ ดังนั้นสำหรับปากกาทั้งสามรุ่นขอให้ทำใจเลยว่า ไม่น่าจะทนต่อรอยขีดข่วน คือ ตัวปากกาจะเป็นริ้วรอย ถลอกได้ง่ายครับ แต่สำหรับปากกาที่ใช้ป้องกันตัวแบบนี้ คงไม่จำเป็นต้องห่วงหล่อกันล่ะ

ลักษณะภายนอก

ปากกาแทคติคัลจะมีความยาวมากกว่าปากกาปกติทั่วๆไปนะครับ เพราะเวลาที่กำปากกาแล้วจะต้องมีความยาวเหลือพอที่จะทุบกระจก หรือสิ่งของต่างๆได้โดยที่มือไม่ได้รับบาดเจ็บ

TAC1 มีความยาวมากกว่ารุ่นอื่นๆทั้งหมด ตัวปากกาอวบเป็นรูปทรงกระบอก กำได้ถนัดมือดี ส่วนปลายด้านที่เป็นปลอกปากกาจะมีลักษณะโค้ง หากใช้ทุบแล้วจะไม่ก่อให้เกิดบาดแผล ตรงนี้ผมถือว่าเป็นจุดเด่นในการป้องกันตัวครับ คือ หากใช้ป้องกันตัวแล้วจะไม่เกิดบาดแผลฉกรรจ์ ทำให้ไม่ต้องกังวลกับข้อหาทำเกิดกว่าเหตุครับ

บริเวณท้ายด้ามของปากกาจะเป็นหัวมงกุฏ ซึ่งมีความคมพอสมควร แต่ก็ไม่ได้คมมากแบบมีดนะครับ หากใช้ส่วนปลายของด้ามป้องกันตัว จะสร้างบาดแผลได้ดีกว่า แต่ก็จะไม่เป็นแผลลึกแบบแทงด้วยเหล็กแหลมครับ

ส่วนบนของปลอกปากกาที่เป็นหัวมงกุฏนี่ต้องระวังหน่อยนะครับ หากกำปากกาเพื่อใช้ทุบ แล้วเอานิ้วหัวแม่มือไปวางไว้ตรงหัวมงกุฏนี่ นิ้วเราอาจเป็นแผลเองได้ครับ

TAC2 เป็นปากการูปทรงกระบอก มีความอวบพอๆกับ TAC1 แต่สั้นกว่าเล็กน้อย บนตัวปากกาทำเป็นลายกันลื่น ช่วยให้กำได้ถนัดมือดีครับ

ส่วนปลายด้ามปากกาของ TAC2 จะเป็นส่วนที่ใช้สำหรับการทุบครับ โดยทำจากทองเหลืองชุบโครเมี่ยม มีลักษณะเหมือนหัวกระสุน ปลายค่อนข้างแหลม แต่ก็ไม่ได้แหลมจนกดเข้าเนื้อนะครับ ส่วนปลายนี้เป็นเกลียวสามารถถอดออกได้ ส่วนบนของปลอกปากกาจะเรียบๆไปเลย เวลากำเพื่อใช้ทุบสามารถวางนิ้วหัวแม่มือบนปลอกปากกาได้สะดวกดี

TAC3 เป็นปากกาแทคติคัลที่รูปทรงสุภาพที่สุดในบรรดา 3 รุ่นที่มีอยู่ครับ โดยตั้งแต่ส่วนปลายของปลอกปากกาไปจนถึงเกินครึ่งหนึ่งของความยาวตัวปากกาจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก จากนั้นก็จะเรียวเล็กลงไปจนถึงส่วนปลายของด้ามปากกา

ส่วนปลายของด้ามปากกาจะมีโลหะแหลมอยู่ จากโฆษณาบอกว่า ส่วนปลายนี่ทำจากทังสเตนคาร์ไบน์ ซึ่งมีความแข็งแรงมาก แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจริงรึเปล่านะครับ แต่ไม่ได้ทำจากอะลูมิเนียมแน่ๆครับ ส่วนบนของปลอกปากกาเรียบๆ ใช้วางนิ้วหัวแม่มือได้ถนัดดี รุ่น TAC3 นี่ผมว่า เหมาะที่ใช้สำหรับการกู้ภัยมากกว่าอีก 2 รุ่นครับ แต่หากใช้ป้องกันตัว น่ากลัวว่าจะสร้างบาดแผลฉกรรจ์เกินไปครับ

ปากกาทั้งสามรุ่นมีลวดลายบนตัวปากกาที่แตกต่างกันไป ช่วยให้จับปากกาทุบได้โดยไม่ลื่นครับ ทั้งนี้ตัวปากกาของรุ่น TAC3 ออกจะลื่นกว่ารุ่นอื่นๆอยู่บ้าง แต่คลิปเหน็บกระเป๋าก็ช่วยให้ไม่ลื่นได้พอสมควรเลยครับ

ปลอกปากกา

ปากกาแทคติคัลจากจีนทั้งสามรุ่นที่ผมมีอยู่เป็นแบบที่มีปลอกปากกาครับ อันที่จริงยังมีอีกรุ่นที่ไม่มีปลอกปากกา เป็นแบบหมุนที่ตัวปากกาเพื่อเปิดหัวปากกาสำหรับเขียน ซึ่งใช้งานเขียนได้สะดวกกว่า แต่ผมไม่ได้สั่งซื้อมาด้วย เพราะเห็นว่าเป็นปากกาสำหรับป้องกันตัว ก็เลยเน้นการใช้ประโยชน์สำหรับป้องกันตัวมากกว่าการเขียนครับ

ปลอกปากกาของ TAC1 เป็นปลอกปากกาสั้นๆ ปิดส่วนหัวปากกาไว้เท่านั้น โดยเป็นแบบเกลียว 3 รอบครึ่ง ปลอกปิดได้แน่นสนิทดี TAC1 ออกแบบมาสำหรับใช้ปลอกปากกาทุบสิ่งของด้วยนะครับ ซึ่งหากนำไปทุบของแข็งมากๆ ก็น่าห่วงว่าปลอกปากกาจะบุบหรือแตกได้เหมือนกัน แม้ว่าปลอกปากกาจะหนากว่าปากกาทั่วไปเยอะเลย แต่ก็ยังไม่ได้เป็นโลหะตันครับ อย่างไรก็ตามผมเคยดูวิดีโอของต่างประเทศใช้ปลอกปากการุ่นนี้ทุบก้อนอิฐก่อสร้าง ก็ไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไรนะครับ

ข้อเสียของปลอกปากการุ่น TAC1 นี่ คือ เวลาที่เปิดปลอกปากกาสำหรับเขียนหนังสือแล้ว จะไม่สามารถนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามได้ น่ากลัวปลอกปากกาตกหายครับ

ปลอกปากกาของ TAC2 เป็นแบบเกลียว 3 รอบครึ่ง สามารถนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามได้โดยเป็นเกลียวหมุนปิดส่วนปลายของด้ามที่ใช้ทุบ ส่วนหัวของปลอกปากการุ่น TAC2 จะเป็นอลูมิเนียมตัน สามารถใช้ป้องกันตัว เพื่อไม่ให้เกิดบาดแผลได้เช่นกันครับ

TAC3 ก็มีปลอกปากกาแบบเกลียว แต่ต้องหมุนกันถึง 6 รอบ เพื่อเปิดปลอกปากกาครับ ถ้าคิดในแง่การนำไปใช้งานเขียน ต้องบอกว่าไม่สะดวกเอาซะจริงๆเลย แต่ถ้าคิดถึงการนำไปใช้กู้ภัยก็ดีนะครับ ไม่ต้องกลัวว่าปลอกปากกาจะหลุดออกเวลาใช้งาน การนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม ก็เพียงแค่เสียบไปเฉยๆ ไม่ต้องหมุนเกลียว สะดวกดีครับ ส่วนปลายปลอกปากกาของ TAC3 ไม่ได้เป็นโลหะตันนะครับ หากนำไปใช้ทุบของแข็งก็ต้องระวังปลอกปากกาบุบหรือแตกครับ

คลิปเหน็บกระเป๋า

ลักษณะคลิปของ TAC1 และ TAC2 จะคล้ายๆกัน แค่คลิปขอบ TAC1 จะยาวกว่า คลิปของทั้งสองรุ่นติดกับตัวปากกาด้วยส่วนหัวของปลอกปากกาที่เป็นเกลียว ขณะที่ TAC3 มีคลิปเป็นแบบสามเหลี่ยม ติดกับตัวปากกาด้วยน็อตสองตัวที่ด้านหน้า ลักษณะเหมือนกับคลิปมีดพกครับ

คลิปของ TAC1 ทำจากโลหะค่อนข้างหนา คลิปแข็ง ง้างยากสักหน่อยแต่ก็ยังมีความเป็นสปริงดีครับ ขณะที่คลิปของ TAC2 ทำจากโลหะบางกว่า หากกางคลิปมากๆน่ากลัวว่าคลิปจะง้างได้ ส่วนคลิปของ TAC3 แม้ว่าจะทำจากโลหะที่ไม่หนานักเช่นเดียวกับ TAC2 แต่ด้วยลักษณะการติดคลิปแบบสามเหลี่ยม เลยทำให้คลิปมีความเป็นสปริงดี ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไปครับ

ในแง่การใช้งาน ผมว่าคลิปของรุ่น TAC1 เวิร์คสุดครับ เพราะปากกาแบบนี้มักจะเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง คลิปยาวๆและแข็งของ TAC1 ทำให้ปากกาติดแน่นกับกระเป๋าได้ดีมาก ไม่ต้องกลัวปากกาตกหายเวลาลุกๆนั่งๆครับ

ส่วนคลิปของ TAC3 ก็ติดกับกระเป๋ากางเกงแน่นใช้ได้นะครับ แม้ว่าคลิปจะสั้นไปหน่อย แต่ตัวปากกาก็สั้นกว่ารุ่นอื่นๆ ก็เลยใช้งานได้ดีพอสมควรครับ สำหรับ TAC2 นี่ผมว่าคลิปยังไม่ค่อยดีนัก เพราะปากกาค่อนข้างยาว แต่คลิปสั้น แถมยังอ่อนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพกปากกาไว้ในกระเป๋ากางเกง ก็ควรจะคอยเช็คเป็นระยะๆว่า ปากกาติดแน่นอยู่ดีรึเปล่านะครับ

เปลี่ยนไส้ปากกา

ปากกาแทคติคัลของจีนทั้งสามรุ่นเป็นปากกาลูกลื่น แบบเปลี่ยนไส้ปากกาได้ โดยใช้ไส้ปากกาแบบของปากกา Parker ครับ ซึ่งสามารถหาซื้อไส้ปากกามาเปลี่ยนได้ง่าย มีทั้งไส้ปากกาแบรนด์ดังราคาหลักร้อย ไปจนถึงไส้ปากกาเทียบที่ราคาไม่กี่สิบบาท ส่วนไส้แบบไหนจะเขียนดีกว่ากัน เวลาไปซื้อก็ขอให้ลองเขียนดูก่อนนะครับ เพราะไส้ปากกาลูกลื่นนี่แต่ละล็อตคุณภาพอาจแตกต่างกันไปได้ครับ

การเปลี่ยนไส้ปากกาทำได้โดยหมุนเกลียวที่ตัวปากกาออกครับ จะมีรุ่น TAC3 ที่เวลาจะเปลี่ยนไส้ปากกาต้องถอดปลอกปากกาออกก่อน แล้วหมุนเกลียวตรง Section

สำหรับ TAC1 การเปลี่ยนไส้ปากกาก็หมุนเกลียวที่กลางลำตัวของปากกาเหมือนกันครับ แต่ก็ควรระวังนิดนึง เพราะเกลียวของ TAC1 บนตัวปากกานี่มี 2 จุดครับ ให้หมุนถอดตรงส่วนที่อยู่ใกล้กับหัวปากกานะครับ ถ้าหมุนส่วนที่อยู่ใกล้กับคลิป ตัวคลิปจะขูดด้ามปากกาให้เป็นรอยได้

การพก

เนื่องจากปากกาแทคติคัลจะมีความยาวมากกว่าปากกาทั่วไปค่อนข้างมาก ทำให้ไม่สามารถที่จะพกในกระเป๋าเสื้อเชิ้ตได้นะครับ แต่การพกปากกาแทคติคัลก็มักจะนิยมพกในกระเป๋ากางเกงอยู่แล้ว เพราะหยิบใช้ง่ายกว่า

เนื่องจาก TAC1 มีคลิปที่แข็งและยาวกว่ารุ่นอื่นๆ การพกในกระเป๋ากางเกงจึงไม่ต้องห่วงว่าปากกาจะหลุดจากกระเป๋าตกหายง่ายๆครับ แต่อีก 2 รุ่นที่มีคลิปสั้นและอ่อนกว่า เวลาพกในกระเป๋ากางเกงแล้วลุกๆนั่งๆ ก็ควรคอยเช็คหน่อยนะครับว่าปากกายังติดแน่นอยู่ดีรึเปล่าครับ

ปัญหาของ TAC1 คือ ส่วนบนของปลอกปากกาที่เป็นหัวมงกุฏ เวลาพกปากกาแล้วนั่งบางทีตรงหัวมงกุฏนี่ก็ทิ่มให้เราเจ็บได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เจ็บมากมายอะไรนะครับ ถ้าพกปากการุ่นนี้ในกระเป๋ากางเกงยีนส์ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าพกในกางเกงสแลค ก็น่ากลัวว่าหัวมงกุฏจะไปทำให้กางเกงเสียหายได้เหมือนกันครับ

สำหรับคนที่นิยมใส่กางเกงสแลค หรือยีนส์รัดรูป TAC3 จะพกสะดวกที่สุด เพราะตัวปากกาสั้นและผอม ผิวปากกาก็ยังเรียบกว่าอีกสองรุ่นครับ

ใช้งาน – เขียน

พูดถึงปากกาแล้ว ก็ต้องมาว่ากันที่เรื่องการเขียนสักหน่อยนะครับ

ปากกาทั้งสามรุ่นมีสมดุลดีนะครับ แม้จะเอาปลอกปากกาไปเสียบท้ายด้ามก็ไม่รู้สึกหนักปลาย แต่เนื่องจากตัวปากกามีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะรุ่น TAC1 และ TAC2 ทำให้ปากกาไม่เหมาะสำหรับใช้เขียนงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

เรื่องการเขียนนี่ ดูเหมือนว่า TAC3 จะมีภาษีเหนือกว่าเพื่อนสักหน่อยครับ คือ ปากกามีน้ำหนักเบากว่า ใช้เขียนได้คล่องกว่าครับ แต่ตัว Section ของ TAC3 ออกจะลื่นสักหน่อย แถมยังผอมอีกต่างหากนะครับ ตรงนี้ต้องอยู่ที่ลักษณะการจับปากกาของแต่ละคนด้วยว่าจะเขียนได้ถนัดมากน้อยแค่ไหน

โดยรวมแล้ว ปากกาแทคติคัลทั้งสามรุ่นนี้ไม่เหมาะกับการใช้เขียนงานต่อเนื่องนานๆครับ

ใช้งาน – แทคติคัล

TAC1 เป็นปากกาที่ออกแบบมาสำหรับใช้ป้องกันตัวโดยเฉพาะครับ ปากการุ่นนี้ไม่เหมาะที่นำไปใช้กู้ภัย เพราะไม่มีปลายแหลมสำหรับใช้ทุบกระจกเลย แต่ในแง่ของการป้องกันตัว TAC1 มีปลายด้านปลอกปากกาที่ไม่มีความแหลมคม ใช้สำหรับกระแทกโดยไม่ก่อให้เกิดบาดแผลได้ดี ขณะเดียวกับส่วนปลายอีกด้านที่เป็นหัวมงกุฏก็ใช้สร้างบาดแผลได้ แต่ไม่สามารถใช้แทงจนอาจเป็นเหตุให้ถึงกับชีวิต

ข้อด้อยของ TAC1 สำหรับใช้ต่อสู้ก็อยู่ตรงที่ไม่สามารถวางนิ้วหัวแม่มือที่ส่วนบนของด้ามปากกาได้ เพราะอาจโดนหัวมงกุฏบาดมือเอาครับ แต่ก็ยังสามารถวางนิ้วโป้งบนคลิปเหน็บกระเป๋าได้นะครับ

ความเห็นของผม คิดว่า TAC2 เป็นปากกากลางๆครับ หากใช้ป้องกันตัวก็น่ากลัวว่าหัวสำหรับทุบจะสร้างบาดแผลใหญ่เกินไป ยิ่งไปทุบโดนศีรษะด้วยแล้ว อาจเป็นเรื่องใหญ่เลยนะครับ แถมส่วนปลายที่ใช้ทุบของ TAC2 ก็ใช้ทุบกระจกรถยนต์ได้ไม่ดีเท่าที่ควรด้วย คือ ใช้ทุบกระจกอาคารบ้านเรือนทั่วไปได้ไม่มีปัญหาครับ แต่สำหรับการทุบกระจกรถ ส่วนปลายควรที่จะเล็กแหลมครับ

TAC2 น่าจะเหมาะสำหรับใช้ทุบของแข็งอื่นๆในงานกู้ภัยมากกว่า เช่น ทุบฝาผนัง กำแพง หรือเจาะรูบนสิ่งของที่ต้องการครับ

TAC3 เป็นปากกาที่มีรูปทรงผอมเพรียว และตัวปากกาเนียนเรียบที่สุดในบรรดา 3 รุ่นนี้ ทำให้ตัวปากกาลื่นสักหน่อย คนที่มือใหญ่ๆอาจจะจับไม่ถนัดนัก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับแย่นะครับ เพราะเวลากำตัวปากกา คลิปจะช่วยให้ไม่ลื่นได้ครับ ปากการุ่นนี้เหมาะสำหรับใช้งานกู้ภัยมากที่สุด ส่วนปลายของปากกาที่เป็นโลหะเล็กแหลมยื่นออกมา น่าจะใช้สำหรับทุบกระจกได้ดีกว่ารุ่นอื่นๆ แต่ให้ใช้งานในลักษณะ “สิ่ว” อย่างที่บอกไปแล้วนะครับ

แต่ด้วยหัวสำหรับทุบของ TAC3 ที่มีลักษณะเล็กและแหลม แถมตัวปากกาก็เรียวเป็นลิ่มนี่เอง หากนำไปใช้ป้องกันตัว ผมเกรงว่าจะทำให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์กับฝ่ายตรงข้ามได้มากเกินเหตุ เหมือนกับการแทงด้วยเหล็กแหลมเลยครับ ปากการุ่นนี้หากจะใช้ป้องกันตัวผมแนะนำอย่างยิ่งให้ทุบด้วยด้านปลอกปากกานะครับ

สรุปว่า

ปากกาทั้งสามรุ่นต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไปครับ ส่วนตัวผมเลือกที่จะพก TAC1 เป็น EDC (Everyday Carry) มากกว่า เผื่อมีเหตุจำเป็นก็พอจะช่วยให้เอาตัวรอดหนีจากสถานการณ์คับขันได้ โดยไม่สร้างบาดแผลให้ฝ่ายตรงข้ามมากเกินไป และจะเก็บ TAC3 ไว้ในรถ เผื่อกรณีฉุกเฉินจะได้สามารถใช้สำหรับกู้ภัยที่เกิดขึ้นกับตนเอง หรือผู้อื่นได้ครับ ส่วน TAC2 นี่หลังที่ซื้อมาแล้วผมเพิ่งไปเห็นว่า มีทำขายอีกเวอร์ชันแต่เป็นไขควงแทนที่จะเป็นปากกาครับ แถมหัวไขควงยังเปลี่ยนเป็นแบบต่างๆได้อีกด้วย ซึ่งผมว่าเวิร์คมากสำหรับดีไซน์ของ TAC2 ที่เหมาะจะใช้เป็นเครื่องมือมากกว่าใช้งานป้องกันตัวหรือกู้ภัยครับ

อืมมมมมม แล้วเรื่องนี้จะจบยังไงดีหว่า จะขอให้เขียนได้ราวกับฝัน มันก็ไม่ใช่ จะบอกขอให้ต่อสู้ได้ราวกับฝัน มันก็ยังไงๆนะครับ

งั้นขอจบดื้อๆยังงี้แล้วกันครับ 55555

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page