top of page
  • ที่มา: wellappointeddesk.com

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Pilot Custom 74

ยี่ห้อ Pilot นี่เป็นยี่ห้อที่คุ้นเคยสำหรับคนไทยมานานแล้ว เพราะนอกจากจะมีปากกาหมึกซึมเข้ามาขายตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ยังมีปากกาลูกลื่น ปากกาหมึกเจล ปากกาลบได้ เข้ามาขายในบ้านเราอีกเพียบเลย จนทำให้หลายๆคนอาจลืมไปว่า Pilot เป็นบริษัทผู้ผลิตปากกาหมึกซึมชั้นนำของโลกรายหนึ่งเหมือนกัน

Pilot Custom 74 น่าจะเป็นปากกาหมึกซึมที่มีราคาต่ำสุดในซีรีย์ Namiki นะครับ โดยมีราคาที่พอจะหาซื้อได้ที่ราวสามสี่พันบาทขึ้นไป ซึ่งจัดว่าเป็นราคาที่ไม่แพงเลย สำหรับปากกาหมึกซึมที่ใช้หัวปากกาทำจากทองคำ 14 กระรัตครับ (ราคาขายของ Pilot Custom 74 Demonstrator ในอเมริกาอยู่ที่ 160 USD หรือเกือบหกพันบาทเลยครับ)

ขอคุยเกี่ยวกับปากกาในซีรีย์ Namiki กันหน่อยนะครับ Namiki เป็นซีรีย์ไฮเอนของ Pilot ครับ โดย Pilot จะเน้นผลิตปากการาคาไม่สูงนัก สำหรับนักเรียนนักศึกษามากกว่า โดยเฉพาะพวกปากกาหมึกเจลลบได้ครับ สำหรับปากกาหมึกซึมก็มีรุ่นที่น่าสนใจอยู่เหมือนกันไว้จะนำมารีวิวให้อ่านกันต่อไปนะครับ ส่วน Pilot Namiki นี่เป็นปากกาไฮเอน ที่มีราคาสูงขึ้นไป ตั้งแต่สี่ห้าพันบาท ไปจนถึงสองสามหมื่นบาทครับ

ชื่อ Namiki นี่มาจากนามสกุลของ นายเรียวสุเกะ นามิกิ (Ryosuke Namiki) ผู้ก่อตั้งบริษัท Pilot ครับ โดยนายเรียวสุเกะนี่เดิมทีแกเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แล้วจู่ๆแกก็ลาออกมาผลิตหัวปากกาที่ทำจากทองคำออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 1916 จากนั้นก็เลยร่วมกับเพื่อน คือ นายวาซาโอะ มาดะ ตั้งเป็นบริษัท Namiki Manufacturing Company เพื่อผลิตเครื่องเขียนอย่างครบวงจร ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ก็ได้ขยายสาขาไปทั่วโลก และเปลี่ยนชื่อมาเป็น Pilot Corporation ในปัจจุบันครับ

Namiki นี่ยังผลิตปากกาหมึกซึมออกมาจำหน่ายในชื่อยี่ห้อ Namiki เองเลยด้วย โดยไม่มีชื่อ Pilot มาเกี่ยวข้อง แต่ยังคงใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ที่สูบหมึก และหมึกหลอดร่วมกับ Pilot อยู่ครับ โดยปากกาของ Namiki จะเป็นปากกาที่มีราคาสูงมาก เรือนหมื่นขึ้นไป ยิ่งถ้าแต่งสี ทำผิวแบบ Maki-e ตามสไตล์ญี่ปุ่นโบราณแล้ว ราคาจะสูงขึ้นไปถึงห้าหกหมื่นบาททีเดียว และถ้าเป็นรุ่น Limited Edition บางด้าม นักเล่นปากกาประมูลกันที่หลักล้านเลยล่ะครับ

ไหนๆก็นอกเรื่องมาไกลแล้ว นอกเรื่องกันต่อไปดีกว่า 5555 การแต่งผิวปากกาแบบ Maki-e นี่ เป็นงานศิลปะของญี่ปุ่นโบราณครับ จะสามารถพบเห็นได้จากพวกพาชนะโบราณของญี่ปุ่น ปลอกดาบซามูไรของเจ้านายชั้นสูง ที่ลงลวดลายมีสีสันสวยงามน่ะครับ การทำผิวแบบ Maki-e จะเป็นการลงสีด้วยพู่กันญี่ปุ่น ประดับด้วยผงเงิน และทอง จากนั้นเคลือบทับด้วยแลคเกอร์ ขัดจนเงาวาวเหมือนกระจกครับ ราคาของงานศิลปะ Maki-e นอกจากจะขึ้นอยู่กับความสวยงาม ยากง่าย ของลวดลายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของศิลปินที่เขียนงานด้วยครับ

ปากกาที่แต่งผิวด้วยศิลปะแบบ Maki-e นี่ ไม่ได้มีเฉพาะ Namiki นะครับ Sailor และ Platinum ซึ่งเป็นปากกาของญี่ปุ่นก็มีเหมือนกัน แม้แต่ปากกาของทางยุโรป อย่าง Dunhill ก็มีรุ่น Maki-e Limited Edition (ผลิตโดย Pilot) หรือ Pelikan ก็มีเหมือนกันครับ

หากคุยเรื่องปากกาญี่ปุ่นนี่ ผมนอกเรื่องได้ยาวเลยล่ะ 5555 กลับมาที่ Pilot Custom 74 กันต่อดีกว่าครับ

บทความนี้ผมแปลมาจากเรื่อง Review: Pilot Custom 74 Fountain Pen (F Nib) ของ Ms. Ana Reinert จากเว็บ wellappointeddesk.com ครับ Ms. Reinert เธอเป็นนักออกแบบการ์ดอวยพร ของบริษัทผลิตการ์ดอวยพรชั้นนำของโลกครับ ที่ผมเลือกแปลบทความนี้ เพราะปากกาที่ Ms. Reinert นำมาทำรีวิวเป็นหัวปากกาขนาดเล็ก (Fine) ซึ่งหัวปากกาขนาดเล็กของญี่ปุ่นนี่ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่า เส้นเล็ก และคมมาก แถมยังเขียนลื่นมากอีกด้วยครับ แต่จริงๆแล้ว หัวปากกาของ Pilot Namiki ยังมีแบบที่น่าสนใจกว่า คือ FS หรือ Fine Soft ซึ่งเป็นหัวปากกาที่มีลายเส้นขนาดเล็ก และหัวปากกาจะอ่อนกว่าปกติ หมายถึงมีสปริงน่ะครับ ทำให้สามารถเขียนแบบ Semi Flex ได้ด้วย ไว้ผมจะหาบทความมาแปลให้อ่านกันอีกทีครับ

Pilot Custom 74 เป็นปากกาที่ทำจากพลาสติกทั้งด้าม มีน้ำหนักเบาเพียง 24 กรัม เมื่อเติมหมึกแล้วเท่านั้น ปากกามีความยาวจากหัวปากกาถึงปลายด้าม 5 นิ้ว ซึ่งใช้งานโดยไม่เสียบปลอกปากกาไว้ที่ท้ายด้ามได้อย่างสบายๆ และเมื่อเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามแล้ว จะยาว 6.5 นิ้ว Ms. Reinert บอกว่า สำหรับเธอแล้วรู้สึกว่าเทอะทะไปสักหน่อย

ตรงนี้ผมงงนิดหน่อยว่า ทำไมปากกาที่ยาว 5 นิ้ว พอสวมปลอกปากกาที่ท้ายด้ามแล้วจึงยาวมากถึง 6.5 นิ้ว ทั้งๆที่โดยปกติแล้วปากกาที่ทำจากพลาสติกปลอกปากกาจะเสียบเข้าไปที่ท้ายด้ามได้ลึกนะครับ พอไปดูรูปชัดๆอีกทีจึงถึงบางอ้อ ปลอกปากกาของ Pilot Custom 74 นี่ยาวกว่าปกตินั่นเองครับ แต่จริงๆแล้วผมว่า ปากกาพลาสติกทั้งด้าม พอเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามแล้วยาว 6.5 นิ้วนี่ ก็ยังไม่น่าจะถึงกับเรียกว่าเทอะทะเกินไปนะครับ เป็นความยาวที่เท่าๆกับ Noodler’s Ahab เลยครับ ซึ่งผมก็ยังเขียนได้สบายๆ

ตัวปากกาของ Pilot Custom 74 ไม่อ้วนนัก ผู้ทำรีวิวบอกว่าขนาดพอๆกับ หรืออ้วนกว่าพวกปากกาเมจิกมาร์กเกอร์นิดหน่อย ซึ่งถือได้สบายมือดีครับ

ตัวปากการู้สึกว่าแข็งแรงทนทานดี แต่ Ms. Reinert บอกว่า แปลกใจที่ปากกาใสๆ แบบ Demonstrator ของ Pilot รุ่นนี้ ทำไมจึงไม่ดูเป็นปากกาที่มีราคาแพงอย่างของเจ้าอื่นๆ ขนาดที่สามีของเธอนึกว่าเป็นปากกาด้ามละ $20 เลยครับ Ms. Reinert ยังมีปากการุ่นเดียวกันนี้ ที่เป็นด้ามใสๆ แต่สีน้ำเงินด้วย เธอบอกว่าดูดีกว่าแบบใสๆนี่ครับ

ผมยังไม่มีปากการุ่นนี้นะครับ แต่พอบอกว่าปากกาดูแตกต่างจากปากกาใสๆรุ่นอื่น ผมก็รู้สึกชอบขึ้นมาเลยครับ เลยไปค้นข้อมูลดู พบว่าตัวปากกาของ Pilot Custom 74 ทำจากเรซินจริงๆด้วยครับ สีของเรซินจะออกขุ่นๆกว่าปากกาพลาสติกทั่วไป เหมือนอย่างสีของ Kaweco Sport หรือ Noodler’s Ahab ครับ ส่วนตัวผมว่าดูสวยคลาสิกกว่าพวกปากกาพลาสติกใสๆเหมือนของเล่น ที่สำคัญปากกาพวกนี่มักจะมีกลิ่นเรซินติดมาด้วย ผมว่าเป็นสเน่ห์ดีครับ

ผู้ทำรีวิวเติมปากกาด้วยน้ำหมึก Kaweco Paradise Blue โดยใช้ที่สูบหมึกแบบ Con-70 ของ Pilot ที่ให้มากับตัวปากกาด้วย ซึ่งเป็นที่สูบหมึกที่แปลกกว่าที่สูบหมึกปกติ เพราะมีระบบการทำงานที่อยู่กึ่งกลางระหว่างระบบเติมหมึกแบบ Vacuum และแบบ Push-Button

พูดถึงเจ้าที่สูบหมึกแบบ Con-70 กันสักหน่อยดีกว่า อย่างที่บอกไปแล้วครับว่า Con-70 เป็นที่สูบหมึกลูกผสมระหว่างระบบ Vacuum และ Button Filler คือ มีแกนโลหะ และตัวลูกยางสำหรับเปิด-ปิดให้น้ำหมึกเข้าและออกในหลอดที่สูบหมึกเหมือนกับระบบ Vacuum แต่การทำงานแทนที่จะดึงแกนโลหะขึ้นมาสูงๆแล้วกดลง กลับเปลี่ยนใช้การกดปุ่มเหมือนกับระบบเติมหมึกแบบ Button Filler แทนครับ เวลาสูบหมึกเราจะต้องกดแล้วปล่อยปุ่มที่อยู่ท้ายที่สูบหมึกสี่ห้าครั้งครับ เวลากดก็ให้กดปล่อยเร็วๆเลยนะครับ หากค่อยๆกด ค่อยปล่อย แรงดันอากาศจะไม่พอให้น้ำหมึกผลักลูกยาง ทำให้หมึกไม่ไหลเข้าครับ

ที่สูบหมึกแบบ Con-70 จะสูงใหญ่กว่าที่สูบหมึกปกติค่อนข้างมาก และมีรูปร่างป่องตรงกลาง จึงใช้ได้กับเฉพาะปากกาที่มีขนาดใหญ่ของ Pilot เท่านั้น และเพราะความที่ป่องตรงกลางนี่เอง จึงทำให้ไม่สามารถใช้ระบบเติมหมึกแบบ Piston กับ Con-70 ได้ครับ ข้อดีของ Con-70 คือ สามารถจุน้ำหมึกได้มากกว่าพวก Piston Converter ครับ คือ จุน้ำหมึกได้มากถึง 1 มิลลิลิตรเลยครับ

กลับมาที่ระบบเติมหมึกแบบ Button Filler หน่อย ระบบเติมหมึกแบบนี้โบราณแล้วนะครับ โดย Button Filler จะยังเก็บหมึกไว้ในถุง Sag พอกดปุ่มเติมหมึกที่ท้ายด้าม ก็จะมีแกนสปริงไปบีบถุง Sag คล้ายกับการเติมหมึกแบบ Aerometrix ครับ

ไม่รู้ว่าอ่านบทความของผมแล้วเบื่อรึเปล่านะครับ เพราะผมชอบนอกเรื่องอยู่เรื่อย 5555 กลับมาต่อที่ Custom 74 อีกทีครับ

Ms. Reinert บอกว่า หัวปากกาของ Pilot Custom 74 ดูสวยงามมาก ในบทความนี้ไม่ค่อยจะได้กล่าวถึงลักษณะของหัวปากกาเท่าไหร่นัก ผมเพิ่มเติมให้เองอีกละกัน 5555

หัวปากกาของ Pilot Custom 74 จะมีสลักคำว่า 14K-585 บอกให้รู้ว่าหัวปากกาทำจากทองคำ 14 กระรัต คือ ใช้ทองคำแท้ทำหัวปากกาเลยนะครับ ไม่ใช่พวกชุบทอง ส่วนตัวเลข 585 นั้นใช้สำหรับบอกความบริสุทธิ์ของทองคำครับ โดยให้ทองคำบริสุทธิ์มีค่าเท่ากับ 1,000 ดังนั้นทอง 14 กระรัต ที่ใช้ทำหัวปากกานี้ ก็มีค่าเท่ากับทองคำ 58.5% นั่นเองครับ ส่วนที่หัวปากกาทำจากทองคำ แต่ไหงจึงเป็นสีเงิน ก็เพราะว่า Pilot เอาไปชุบโรเดียมอีกที เพื่อความสวยงาม และเพิ่มความทนทานครับ

ปกติ Ms. Reinert มีประสบการณ์จากการใช้ Pelikan 205 กับหัวปากกาที่ทำจากทองคำของ Pelikan ผมเข้าใจว่าซื้อหัวปากกาของ Pelikan 400 มาเปลี่ยนนะครับ เพราะหัวปากกาของ Pelikan 205 ทำจากสแตนเลส ซึ่งตอนแรกเธอก็วิตกว่า คุณภาพของหัวปากกาทองคำของ Pilot Custom 74 จะสู้หัวปากกาของ Pelikan ที่เขียนลื่นมากๆได้หรือไม่ แต่เธอก็บอกว่า ต้องพบกับความประหลาดใจอย่างมาก

Ms. Reinert ทดสอบเขียนบนกระดาษ Rhodia เธอบอกว่า Pilot Custom 74 เขียนได้ลื่นมากๆ ตรงนี้ฝรั่งมีสำนวนว่า เขียนลื่นเหมือนเนยครับ นึกถึงตอนที่เนยอ่อนตัว แล้วเอามีดปาดเนยไปปาดหน้าน่ะครับ ยังไงยังงั้นเลย สีของน้ำหมึก Kaweco Paradise Blue ไล่เฉดสีสวยงามมาก แม้ว่าหัวปากกาจะเป็นขนาดเล็กก็ตาม หัวปากกาของ Pilot Custom 74 ยังมีความเป็นสปริงนิดหน่อยด้วย ทำให้เวลากดหัวปากกากับเนื้อกระดาษแล้ว ปากกาจะปล่อยหมึกออกมามากขึ้น ช่วยสร้างเส้นขึ้นเบาลงหนักได้ดี ผู้ทำรีวิวบอก เธอเข้าใจเลยว่า ทำไมปากการุ่นนี้จึงได้รับความนิยมกันนัก

หลังจากลองเขียนเจ้า Pilot Custom 74 แล้ว Ms. Reinert ก็หลงรักปากการุ่นนี้ทันที เธอนำไปใช้งานที่ออฟฟิศเป็นสัปดาห์ โดยเขียนลงบนกระดาษหลากหลายชนิด ลายเส้นขนาดเล็กเขียนบนกระดาษราคาถูกๆได้ดูสะอาดตาอย่างยอดเยี่ยม

Ms. Reinert ยกให้ Pilot Custom 74 เป็นปากกาเหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เริ่มจะใช้ปากกาหมึกซึมที่มีหัวปากกาทำจากทองคำ 14 กระรัต ทั้งยังเป็นปากกาที่ดูสวย ทันสมัยอีกด้วยครับ

หากผู้อ่านสังเกต จะพบว่า ผมพยายามที่จะหารีวิวจากต่างประเทศที่หลากหลายมาแปลให้อ่านกันนะครับ ไม่ใช่เลือกแปลจากผู้ทำรีวิวรายใดรายหนึ่ง เพราะผู้ทำรีวิวแต่ละคนจะมีสไตล์การรีวิวแตกต่างกัน และเน้นจุดเด่นของปากกาที่ต่างกันไปครับ แต่โดยส่วนตัว ผมชอบรีวิวที่เขียนจากความรู้สึกของผู้ใช้มากกว่าที่จะให้ข้อมูลทางเทคนิคนะครับ

สำหรับ Pilot Custom 74 นี้ อยู่ใน ‘รายการสิ่งของต้องประสงค์’ ในปี 2016 ของผมครับ (ก็ Wish List นั่นแหละครับ แปลหรูมั้ยล่ะ 5555) แต่ระหว่างหยอดกระปุกรอ คงต้องพยายามอดใจ ไม่เหลียวมองปากกาอื่นๆสักระยะ อยากรู้จังว่า มีปากกาอะไรอยู่ใน ‘รายการสิ่งของต้องประสงค์’ สำหรับปี 2016 ของคุณกันบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร...

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝันนะครับ

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page