top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

บอกความในใจ ผ่านลายมือเขียนกันเถอะ (National Handwriting Day)


หลายเดือนก่อน ผมมีเวลาว่าง ก็เลยเอาไดอารีที่เขียนไว้ตั้งแต่ตอนอยู่ ป.3 มาเปิดอ่านเล่นครับ อ่านไปก็ขำไปกับถ้อยคำที่ใช้ตอนเด็กๆ พอมาดูพัฒนาการลายมือเขียนของตัวเองยิ่งขำเข้าไปใหญ่ ตอนเด็กๆผมขี้เกียจเรียนครับ ลายมือแย่มาก เขียนตัวโต โย้ไปเย้มา แต่ก็ดูน่ารักดีนะครับ ปัจจุบันผมเขียนงานส่งครู แล้วครูมักจะไม่เชื่อว่าผมเขียนเอง คิดว่าให้พ่อเขียนให้ครับ เพราะลายมือผมเหมือนคนแก่ (ผู้ใหญ่) 5555

ระหว่างนั่งอ่านไดอารีเก่าๆ ก็มีโอกาสคุยกับพ่อเรื่องลายมือเขียนนี่แหละครับ พ่อก็เลยไปหยิบ ‘สมุดเฟรนชิพ’ ตั้งแต่สมัยพ่อเรียนจบชั้นมัธยมมาให้ดู อ่านแล้วสนุก ตลกมากเลยครับ ในสมุดนั้นเพื่อนๆพ่อหลายคน เขียนถึงวีรกรรมต่างๆสมัยที่พ่อยังเป็นนักเรียน ไม่น่าเชื่อเลยว่า พ่อเราจะสร้างวีรกรรมต่างๆไว้เยอะเหมือนกัน พ่อยังหยิบการ์ดอวยพรปีใหม่ การ์ดวันเกิดที่เพื่อนในสมัยนั้นส่งมาให้ดูด้วย ผมชอบดูลายมือเขียนของลุงๆ อาๆ เพื่อนพ่อครับ แต่ละคนมีลายมือเขียนที่สวยงาม สนุกสนานแตกต่างกันไป พอได้อ่านคำอวยพร ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่ รู้สึกซาบซึ้งดี ยังมีจดหมายที่พ่อเคยเขียนตอบโต้กับสาวๆในสมัยวัยรุ่นด้วยนะครับ ผมชอบคำลงท้ายจดหมายว่า ‘รักและคิดถึง’ มากครับ คำสั้นๆ แต่รู้สึกลึกซึ้งกินใจมากเลยนะครับ

อ่านไปแล้วก็อิจฉาคนรุ่นพ่อครับ สำหรับรุ่นผม ‘สมุดเฟรนชิพ’ ไม่มีความสำคัญอีกต่อไปแล้วครับ ความรู้สึกต่างๆที่มีต่อเพื่อน ก็ลงใน ‘เฟสบุ๊ค’ ทุกวันอยู่แล้ว ช่องทางการติดต่อกับเพื่อนก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะทุกคนก็มี ‘ไลน์’ คุยกันได้ง่ายๆ สิ่งที่น่าเสียดาย คือ ถ้อยคำใน ‘เฟสบุ๊ค’ เป็นคำฉาบฉวย ไม่เหมือนความรู้สึกดีๆ ที่กลั่นจากใจมาเขียนลง ‘สมุดเฟรนชิพ’ ในวันที่เพื่อนกำลังจะจากกัน และไม่รู้ว่าจะได้พบกันอีกเมื่อไหร่ครับ

คำอวยพรต่างๆ ที่เขียนด้วยลายมือตัวเอง ผมว่าดูแล้วกินใจดีนะครับ สมัยนี้ไม่ต้องคิดคำอวยพรเองแล้ว แค่ค้นหาในกูเกิ้ล ก็อปปี้มาแปะลงหน้า ‘เฟสบุ๊ค’ คลิกส่ง เท่านี้เป็นจบ คนได้รับบางทีก็ยังไม่อ่านเลยด้วยซ้ำ แค่กด ‘ไลค์’ ก็เป็นอันรู้กัน

ยิ่งจดหมายนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ‘เด๋วนี้’ เราตอบโต้กันด้วยคำสั้นๆ เร็วๆ ต่างจากถ้อยคำที่ใช้ในจดหมาย ที่อ่านแล้วรู้สึกเลยครับว่า กลั่นกรองมาจากใจจริงๆครับ คำว่า ‘รักและคิดถึงเสมอ’ กลายเป็นคำที่เด็กรุ่นผมไม่รู้จักเสียแล้ว อย่างมากก็กันบอกว่า ‘รักเทอนะ’ หรือ 'คิดถุงจุงเบย' ความหมายอาจจะเหมือนกัน แต่ความรู้สึกต่างกันลิบลับเลยนะครับ

ที่น่าเสียดายที่สุด คือ พอเราเปลี่ยนโทรศัพท์ หรือเปลี่ยนแอคเคาท์เฟสบุ๊ค ความทรงจำทุกอย่างก็จะถูกลบไปอย่างถาวรครับ

น้านนนนน ออกแนวดราม่าไปซะได้ 5555 กลับมาเข้าเรื่องของเราดีกว่า

วันที่ผมคุยกับพ่อเรื่องลายมือเขียนนี่แหละครับ พ่อได้บอกผมว่า มีวัน ‘ลายมือเขียนสากล’ หรือ ‘National Handwriting Day’ ด้วย ผมตื่นเต้นมาก และตั้งใจว่าจะต้องเขียนเรื่องนี้ลงในบล็อก ‘Write Like Dream’ ให้จงได้ แม้เชื่อว่าผู้อ่านหลายๆท่านจะรู้จักวันนี้ดีอยู่แล้ว แต่ผมอยากให้คนรุ่นเด็กๆได้รู้จักบ้าง และตระหนักถึงความสำคัญของลายมือเขียนกันให้มากกว่านี้ครับ

ศิลปะการคัดลายมือที่เริ่มจะเลือนหายไปนั้น เป็นเพียงไม่กี่หนทางที่เราจะสามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคนได้ การเขียนด้วยลายมือนั้นมีความรู้สึกอันสุนทรีย์บางอย่างแฝงอยู่ในขณะที่เราจับเครื่องเขียนต่างๆ ตลอดจนความรู้สึกขณะที่เครื่องเขียนกรีดกรายผ่านแผ่นกระดาษ เป็นเสมือนกับความคิดที่หลั่งไหลผ่านปลายนิ้วพรั่งพรมลงเป็นคำพูด

วันลายมือเขียนสากล หรือ National Handwriting Day นี้ กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 23 มกราคม ของทุกปี โดยสมาคมผู้ผลิตเครื่องเขียน (WIMA) เพื่อกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงความรู้สึกที่รังสรรค์ผ่านการจดบันทึก บทกวี จดหมาย หรือบทความต่างๆ

การเขียนด้วยลายมือ ทำให้เราเป็นเสมือนศิลปิน และมีความเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ หรือการสื่อสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ที่มีรูปแบบตัวอักษร (Font) ที่เหมือนๆกัน ไม่ว่าคุณจะใช้คอมพิวเตอร์เครื่องไหน หรือใช้โปรแกรมอะไร ซึ่งรูปแบบตัวอักษรในคอมพิวเตอร์นั้น ไร้ซึ่งสัมผัสของความมนุษย์ แต่ลายมือเขียนสามารถที่จะเพิ่มความใกล้ชิดเข้าไปในจดหมาย และเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับบุคลิกภาพของผู้เขียนได้

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เอกสารต่างๆที่เขียนทั้งในเรื่องราวของความรัก สงคราม การสร้างสันติภาพ ล้วนถูกบันทึกด้วยลายมือเขียนทั้งสิ้น

“แม้ว่าคอมพิวเตอร์ และอีเมล์จะมีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ก็จะไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถมาแทนที่ความจริงใจ และความเป็นตัวตน ที่แสดงผ่านลายมือเขียนได้” Mr David H Baker ประธานบริหารของ WIMA กล่าว

วัตถุประสงค์ของ วันลายมือเขียนสากล หรือ National Handwriting Day ก็เพื่อทำให้สาธารณชนตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของลายมือเขียน โดยให้ทุกคนร่วมกันแสดงพลังแห่งการเขียนร่วมกัน

วันลายมือเขียนสากล (National Handwriting Day) กำหนดให้มีขึ้นในทุกวันที่ 23 มกราคม ของทุกปี เนื่องจากวันดังกล่าวตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ John Hancock ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่เซ็นชื่อในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา

‘ลายมือไม่ดี ต้องขอโทษที เพราะความรู้ต่ำ’

เพลงลูกทุ่งเก่าๆ ที่เมื่อก่อนฟังแล้วผมได้แต่รู้สึกขำ มาถึงวันนี้ พอได้ยินเพลงนี้แล้วรู้สึกสะท้อนใจอย่างบอกไม่ถูกครับ สาวโรงงานทอผ้าทุกคนก็คงจะสื่อสารผ่าน ‘ไลน์’ และ ‘เฟสบุ๊ค’ กันหมดแล้ว ยังมีใครที่เขียนจดหมายด้วยลายมือของตนเองอีกบ้างนะ

ต่อไปคำที่บอกว่า เห็นแค่ลายมือเขียนก็รู้เลยว่าเป็นของใคร คงจะไม่มีอีกแล้วนะครับ เพราะทุกคนต่างก็สื่อสารกันด้วยคอมพิวเตอร์กันหมด ตัวตนที่แท้จริงของเราค่อยๆจางหายไปในยุคโลกาภิวัฒน์นี่เอง

ผมจึงอยากเชิญชวนทุกท่าน ‘บอกความในใจ ผ่านลายมือเขียน’ ในช่วงสัปดาห์ของวันลายมือเขียนสากลด้วยกันนะครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page