top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[Dip Pen] พ่อเล่าความหลัง “สงครามน้ำหมึก”


พ่อของผมเล่าให้ฟังว่า ตอนที่พ่อเรียนชั้นประถม พอขึ้น ป.5 (สมัยนั้นมีถึง ป.7) ทางโรงเรียนจะกำหนดให้นักเรียนใช้ปากกาได้เป็นครั้งแรก แต่ปากกาด้ามแรกที่เด็กนักเรียนประถมรุ่นพ่อจะได้ใช้กัน เป็นปากกาแบบจุ่มน้ำหมึก หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ปากกาคอแร้ง” ครับ จนขึ้น ป.6 โรงเรียนจึงจะอนุญาตให้ใช้ “ปากกาหมึกซึม” และพออยู่ ป.7 จึงจะได้ใช้ "ปากกาหมึกแห้ง" หรือ "ปากกาลูกลื่น" กัน

การใช้ “ปากกาคอแร้ง” เป็นเรื่องที่โกลาหลพอสมควรสำหรับเด็กๆในสมัยนั้นครับ บนโต๊ะนักเรียนทุกโต๊ะจะมีขวดหมึกอยู่อย่างน้อยคนละหนึ่งขวด บางคนก็จะมีหมึก 2 ขวด สีน้ำเงิน และสีแดง แล้วก็ต้องมีแก้วน้ำอีก 1 ใบ สำหรับใส่น้ำเปล่า เพื่อล้างหัวปากกา พอจะเขียนด้วยหมึกสีแดง ก็ต้องล้างหมึกน้ำเงินออกก่อน จึงจะไปจุ่มหมึกแดงเขียนได้ แล้วค่อยล้างหมึกแดงออก ไปจุ่มหมึกน้ำเงินเขียนอีกที เวลาเขียนก็จะต้องมี “กระดาษซับ” คอยซับน้ำหมึกให้แห้ง เพื่อป้องกันมือไปปัดโดนข้อความที่เขียนไว้เลอะเทอะ

ความโกลาหลที่ว่าไว้ก็คือ เด็กๆจะชอบวิ่งเล่นกันในห้องเรียนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และมักจะเกิดอุบัติเหตุวิ่งไปชนโต๊ะเพื่อนที่กำลังเขียนหนังสืออยู่ ทำให้น้ำหมึกหก หรือบ่อยครั้งที่เพื่อนที่นั่งโต๊ะข้างหน้าหันมาเพื่อจะสอบถามอะไร แล้วบังเอิญไปปัดโดนน้ำหมึกบนโต๊ะ เรียกได้ว่า มีเรื่องให้เลอะเทอะกันแทบไม่เว้นวันเลยครับ

เด็กผู้ชายซนๆ ก็จะมีเกม “สงครามน้ำหมึก” หรือ “สาดสีใส่กัน" ซึ่งก็เป็นความหมายตรงๆเลยครับ ไม่ใช่แบบกระทบกระเทียบเปรียบเปรยอะไร โดยจะเอา “ปากกาคอแร้ง” จุ่มน้ำหมึก แล้วสลัดใส่เพื่อน บางทีก็แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งใช้หมึกน้ำเงิน อีกฝ่ายใช้หมึกแดง ใครโดนเพื่อนสลัดหมึกใส่ก็ต้องออกจากการแข่งขัน เหมือนกับเล่นเพ้นท์บอลเลยครับ 5555

ปากกาคอแร้งยังใช้เล่นเกม "ปาเป้า" ได้ด้วย โดยเด็กๆจะใช้ “ชอล์ค” เขียนเป้าวงกลมบน “กระดานดำ” แล้วก็ใช้ “ปากกาคอแร้ง” แทนลูกดอกครับ

พ่อเล่าถึงประสบการณ์การเขียนด้วย “ปากกาคอแร้ง” ว่า หัวปากกาที่ใช้จะมีอยู่ 2 แบบ หัวปากกาที่สั้นกว่า ใช้สำหรับเขียนภาษาไทย และหัวปากกาที่เรียวยาว ใช้สำหรับเขียนภาษาอังกฤษ ซึ่งตอนนั้นพ่อก็ไม่รู้ว่า ทำไมต้องมีหัวปากกา 2 ชนิดด้วย ทั้งๆที่หัวปากกาแบบไหนก็เขียนได้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ก่อนจะใช้เขียนครั้งแรก ก็จะต้อง “เผาหัว” ก่อน โดยใช้ไม้ขีดไฟจุดรนที่หัวปากกา เพื่อที่จะทำให้หัวปากกาอุ้มน้ำหมึกได้มากขึ้น ตอนที่ยังเด็กนั้นพ่อไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมพอ “เผาหัว” แล้วปากกาจึงอุ้มน้ำหมึกได้ดีกว่าเดิม

ตอนแรกที่ได้ใช้ปากกา พ่อบอกว่า รู้สึกตื่นเต้นมากครับ แต่พอลงมือเขียนจริงๆ มันยากกว่าที่คิดไว้เยอะ “ปากกาคอแร้ง” เขียนยากมาก หากวางหัวปากกาผิดมุมไปหน่อย ก็จะกัดกระดาษ โดยเฉพาะหัวปากกาที่ใช้สำหรับเขียนภาษาอังกฤษนั้น หากจับปากกาไม่ถูกต้อง ปากกาจะจิกกระดาษเอาเสียมากๆ แต่พอใช้ไปนานเข้านักเรียนเริ่มมีความคุ้นเคยกับ “ปากกาคอแร้ง” มากขึ้น ก็จะเขียนได้คล่อง และรู้สึกกัดกระดาษน้อยลงครับ

ตอนนั้นพ่อไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมจะต้องให้เด็กเล็กใช้อะไรที่ยุ่งยากขนาดนี้ ส่วนเด็กที่โตกว่ากลับได้ใช้ “ปากกาหมึกซึม” และ “ปากกาหมึกแห้ง” ที่ใช้งานสะดวกกว่า ครูก็บอกแค่ว่า “ปากกาคอแร้ง” จะทำให้ลายมือสวยขึ้น ซึ่งพ่อก็เห็นว่า มีแต่จะเลอะเทอะมากขึ้นต่างหาก

พ่อเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังตั้งแต่ผมเรียนอยู่ชั้น ป.5 ตอนที่ผมได้รับอนุญาตให้ใช้ปากกาที่โรงเรียนเป็นครั้งแรก โรงเรียนประถมของผมอนุญาตให้เด็กๆใช้ “ปากกาลูกลื่น” ตั้งแต่ชั้น ป.5 เลย ไม่ต้องใช้ “ปากกาหมึกซึม” ก่อน ซึ่งผมมารู้ทีหลังว่า ปัจจุบันก็ยังมีบางโรงเรียนที่กำหนดให้เด็กๆในชั้น ป.5 ต้องใช้ “ปากกาหมึกซึม” พอขึ้น ป.6 จึงจะอนุญาตให้ใช้ “ปากกาลูกลื่น” ได้ อย่างไรก็ตาม ในตอนแรก เรื่อง “ปากกาคอแร้ง” ในวัยเรียนของพ่อ ก็เป็นแค่เรื่องเล่าสนุกๆสำหรับผมเท่านั้น สนุกที่ได้รับฟังความซนในวัยเด็กของพ่อ แต่ก็ไม่ได้นึกสนใจอย่างจริงจัง

ความสนใจเกี่ยวกับปากกาของผม ก็เริ่มต้นตอนที่ผมเรียนอยู่ ป.5 นี่แหละครับ โดยพ่อได้ซื้อ “ปากกาหรู” ด้ามแรกให้ผม เป็นปากกาโรลเลอร์บอลของ Pentel รุ่น Tradio ซึ่งผมก็ยังคงเก็บรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้ (อันที่จริงดินสอกดด้ามแรกที่ผมใช้ตอนประถม 1 ก็ยังคงเก็บรักษาไว้อยู่เลยครับ 55555) สำหรับเรื่องราวที่ทำให้ผมรักปากกาและเครื่องเขียนยาวกว่านี้อีกมาก แต่มันจะนอกเรื่อง “ปากกาคอแร้ง” ที่เรากำลังคุยกันอยู่นี่ ผมจึงยังไม่ขอกล่าวถึงนะครับ

พอผมขึ้นชั้น ม.1 จึงได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ "ปากกาหมึกซึม" ด้ามแรก คือ Sheaffer 240 ที่ปู่ให้เป็นของขวัญเรียนดี ซึ่งตอนนั้นผมกำลังสนใจเรื่องการพัฒนาลายมือของตัวเองพอดีด้วย เพราะอายที่มีลายมือเขียนเหมือนเด็กประถม ก็เลยนึกถึงเรื่องที่พ่อเล่าให้ฟังว่า “ปากกาหมึกซึม” จะช่วยพัฒนาลายมือเขียนได้ดีกว่า “ปากกาลูกลื่น”

เรื่องนี้ผมเคยแปลเป็นบทความเรื่อง “ปากกาหมึกซึม ช่วยพัฒนาลายมือเขียนได้อย่างไร” ลงไว้ในบล็อกนี้นานแล้ว ลองตามไปอ่านกันนะครับ

จากจุดนั้นเองที่ทำให้ผมสนใจ “ปากกาหมึกซึม” มากขึ้น ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา และเก็บสะสมปากกาหมึกซึมมาจนวันนี้ครับ แน่นอนว่า หนึ่งในความสนใจของผมก็รวมถึง “ปากกาคอแร้ง” ด้วย ซึ่งหลังจากที่ผมได้มีโอกาสใช้ “ปากกาคอแร้ง” ได้ไม่นานก็ต้องยอมรับเลยว่า ผมหลงรักเครื่องเขียนโบราณชนิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

“ปากกาคอแร้ง” จะบังคับให้เราต้องจับปากกาในลักษณะที่ถูกต้อง หากจับปากกาไม่ถูกจะเขียนแล้วกัดกระดาษมากครับ ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลายมือเขียนสวยขึ้น ผู้ที่ใช้ “ปากกาคอแร้ง” ยังต้องมีสมาธิกับการเขียนเป็นอย่างมากอีกด้วย ต้องคอยสังเกตว่าหัวปากกาเริ่มแห้งรึยัง เวลาจุ่มน้ำหมึกก็ต้องคอยระวังไม่ให้น้ำหมึกค้างที่หัวปากกามากเกินไป ตลอดเวลาที่ใช้งาน “ปากคอแร้ง” จะต้องใส่ใจแทบทุกขั้นตอน ไม่เช่นนั้นก็จะเลอะเทอะได้ การใช้ “ปากกาคอแร้ง” จึงไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาลายมือเขียนเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยฝึกสมาธิได้ด้วยนะครับ

ที่ผมนำเรื่องนี้ขึ้นมาคุย ก็เพราะผมคิดว่าจะเริ่มคอลัมน์เกี่ยวกับ “ปากกาคอแร้ง” ในบล็อก Write Like Dream นี้ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการจะพัฒนาลายมือเขียน และการหัดเขียนอักษรวิจิตรครับ ก็อยากจะเชิญชวนพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ใช้ “ปากกาคอแร้ง” มาร่วมกันแชร์ประสบการณ์ และผลงานเขียน ในเฟสบุ๊คเพจของ WLD ด้วยนะครับ

ขอทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page