top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

เรื่องของหัวปากกา (Nib)


ถ้าจะถามผมว่า อะไรที่เป็นเสน่ห์สุดๆของปากกาหมึกซึม ผมก็ว่า หัวปากกา หรือ Nib นี่แหละครับ ปากกาหมึกซึมมีหัวปากกาให้เลือกหลายแบบ หลายขนาด ตั้งแต่เส้นเล็กสุดๆ ไปจนถึงเส้นขนาดใหญ่ แล้วยังมีหัวปากกาปากตัด หัวปากกาแบบพิเศษอื่นๆให้เลือกใช้อีกมากมายครับ

หลงเสน่ห์ปากกาหมึกซึม

เจ้าหัวปากกาที่หลากหลายนี่แหละ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมต้องมีปากกาหมึกซึมหลายด้ามครับ ตอนแรกที่เริ่มเล่นปากกาหมึกซึม ก็แค่อยากหาปากกาให้พอสำหรับหมึกสีต่างๆ เพื่อใช้จดงาน หรือทำการบ้านครับ ตอนนั้นก็สนุกแล้วครับ หาปากกาสำหรับหมึกดำ น้ำเงิน แดง ม่วง เขียว ส้ม แค่นี้ก็ปาเข้าไป 6 ด้ามแล้ว พอมีปากกามากขึ้น ก็เริ่มสังเกตว่า หัวปากกาแต่ละด้ามไม่เหมือนกัน ขนาดเส้นเล็ก เส้นใหญ่ต่างกัน ก็ลองเล่นดูว่า เส้นขนาดไหนใช้จดงานสวย เส้นแบบไหนใช้จดแลคเชอร์เร็วๆดี แล้วบังเอิญผมไปได้ปากกาหมึกซึมปากตัดราคาถูกๆมาชุดนึง มีหัวให้เปลี่ยน 4 หัว ยิ่งสนุกกับการเขียนเข้าไปใหญ่ และทำให้อยากเรียนรู้เกี่ยวกับหัวปากกามากขึ้นด้วยครับ

วัสดุที่ใช้ทำหัวปากกา

หัวปากกาหมึกซึม แทบทั้งหมดทำจากโลหะครับ ที่ใช้คำว่า ‘แทบทั้งหมด’ ก็เพราะว่า มีปากกาเฉพาะแบบที่หัวปากกาทำจากแก้ว และที่เป็นปากกาหมึกซึมหัวพู่กันอยู่เหมือนกันครับ ส่วนโลหะที่ใช้ทำหัวปากกาที่ยอดนิยมที่สุด ก็คือ สแตนเลส ซึ่งมีความทนทานสูง กันสนิมได้ดี และก็ราคาไม่แพงครับ

สำหรับปากกาหมึกซึมราคาแพง ก็จะนิยมใช้หัวปากกาที่ทำจากทองคำ โดยปากกาที่หัวทำจากทองคำ ก็จะมีเกรดต่างกันตั้งแต่ทองคำ 21K, 18K, 14K ตัว K นี่ย่อมาจาก Karat หรือกะรัตครับ ทอง 24K ก็คือ ทองคำแท้ ที่มีส่วนผสมของทองคำ 99.99% (ทองรูปพรรณในบ้านเราส่วนใหญ่จะเป็นทองคำ 96.5% คือ ไม่ถึง 24K นะครับ) ส่วนทอง 18K จะส่วนผสมของทองคำที่ 75% ครับ ดังนั้นปากกาหมึกซึมที่มีหัวปากกาทำจากทองคำ 21K นี่ คือ ใช้วัสดุที่เกือบจะใกล้เคียงกับทองรูปพรรณในบ้านเราเลยนะครับ (สูตรคำนวณว่าทองคำกี่เค มีทองกี่เปอร์เซ็นต์ ให้เอา จำนวนเคหาร 24 คูณ 100 เช่น 21K ก็ให้เอา 21/24x100 = 87.5 % ครับ)

นอกจากหัวปากกาที่ทำจากทองเคแล้ว ยังมีที่ระบุว่า 18KGP อีกด้วยครับ ซึ่งก็หมายถึง 18 Karat Gold Plate หรือเคลือบทองคำ 18 กะรัต ก็คือ ทองชุบนั่นเองครับ การชุบนี่จะมีความหนาในระดับไมครอนเท่านั้นนะครับ เขียนลงบนกระดาษ หรือเช็ดถูไปเรื่อยๆ ทองที่ชุบไว้ก็ลอกหลุดได้ครับ

นอกจากทองคำแล้ว ยังมีหัวปากกาที่ทำจากอิเรเดียม (Iradium) ซึ่งเป็นโลหะในตระกูลเดียวกับแพลตินัม มีคุณสมบัติที่แข็งมาก แต่ก็เปราะครับ จึงมักจะไม่ได้ใช้อิเรเดียมทำหัวปากกาทั้งอัน จะใช้ทำส่วนปลายของหัวปากกา (Tip) เท่านัน เพื่อให้มีความแข็งแรง เหมาะสำหรับคนที่เขียนกดๆครับ

ส่วนต่างๆของหัวปากกา

ตรงนี้ผมจะยังขอไม่พูดถึงมากนะครับ ไว้ตอนที่คุยกันเรื่องการปรับแต่งหัวปากกาค่อยมาว่ากันแบบละเอียดดีกว่า เอาเป็นแค่ว่าดูรูป และให้รู้จักชื่อส่วนต่างๆของหัวปากกาก่อนแล้วกันครับ

ขนาดของหัวปากกา

เวลาที่พูดถึง Nib Sizes นี่ โดยมากจะหมายถึงขนาดเส้นที่เขียนจากหัวปากกานั้นๆ แต่ในที่นี้ผมหมายถึงขนาดของตัวหัวปากกาเองนะครับ คือ หัวปากกาหมึกซึมนี่มีหลายขนาดครับ ปากกาหมึกซึมบางรุ่นก็มีหัวปากกาขนาดใหญ่ บางรุ่นก็เป็นขนาดเล็ก บางรุ่นก็เป็นหัวปากกาลักษณะเฉพาะของตัวเอง แต่หัวปากกาที่เป็นขนาดมาตรฐาน ที่นิยมใช้กันมากจะเป็นหัวปากกาขนาดเบอร์ 6 หรือ Nib #6 ครับ หัวปากกาเบอร์ 6 นี่ จะสามารถหาซื้อหัวปากกามาเปลี่ยนได้ง่ายครับ แต่เวลาซื้อปากกาหมึกซึม ก็แทบไม่เคยเจอว่าใครบอกไว้เลยว่า ปากการุ่นนี้ใช้หัวปากกาเบอร์อะไรนะครับ เราชอบปากการุ่นไหน เขาให้หัวปากกาแบบไหนมาก็ต้องยอมรับล่ะครับ

แต่สำหรับผมแล้ว ผมชอบซื้อปากการาคาไม่แพงของจีนครับ ปากกาหมึกซึมราคาร้อยกว่าบาทของจีนจะทำจากวัสดุที่ดีนะครับ ดูสวย เขียนได้ถนัดมือด้วยครับ ผมมักจะดูว่าปากการุ่นไหนที่ดูสวยๆ งานประณีต และใช้หัวปากกาที่ดูแล้วขนาดใหญ่หน่อย ก็พอจะเดาได้ว่าใช้หัวปากกาเบอร์ 6 ครับ จากนั้นก็จะเอามาเปลี่ยนไปใช้หัวปากกาแบบที่ต้องการครับ เป็นว่าได้ปากกาที่สวย และเขียนดีถูกใจในราคาไม่แพงครับ สำหรับร้านที่สามารถสั่งซื้อหัวปากกาได้ ก็มี Fountain Pen Revolution จาประเทศอินเดีย ร้านนี้มีหัวปากกาเบอร์ 5 และ 5.5 ขายด้วยนะครับ และ Goulet Pens ในอเมริกาครับ จริงๆร้านอื่นก็มีนะครับ แต่ผมยังไม่เคยลองสั่งมาครับ

เส้นใหญ่ เส้นเล็ก

ไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยว หรือประเภท รู้มั้ยพ่อเราคือใคร นะครับ หัวปากกาหมึกซึมแบบที่ใช้งานกันตามปกติจะมีขนาดลายเส้นให้เลือก ตั้งแต่เส้นขนาดเล็กพิเศษ (Extra Fine – EF) เส้นขนาดเล็ก (Fine – F) เส้นขนาดกลาง (Medium – M) และเส้นขนาดใหญ่ (Broad – B) แล้วก็มีเส้นขนาดใหญ่พิเศษ (BB หรือ 2B) และ 3B ให้เลือกด้วย ขนาดของลายเส้นนี่ บางทีฝรั่งก็เรียกกันว่า Nib Grade ครับ

ส่วนเส้นขนาดเล็กจะเล็กแค่ไหน ขนาดใหญ่จะใหญ่แค่ไหนนี่ ไม่มีมาตรฐานนะครับ ขนาดกลางของยี่ห้อหนึ่งอาจจะเส้นเล็ก หรือใหญ่กว่าอีกยี่ห้อหนึ่งได้ แต่โดยรวมแล้วจะแบ่งออกเป็นปากกาจากฝั่งเอเชีย และฝั่งยุโรปครับ คือ ขนาดของหัวปากกาของที่ผลิตในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน จะมีขนาดเล็กกว่าหัวปากกาที่ผลิตจากทางยุโรป และอเมริกาประมาณ 1 ขนาดครับ อย่างหัวปากกาขนาดกลาง (M) ของเอเชีย จะมีขนาดเส้นพอๆกับขนาดเล็ก (F) ของทางยุโรปครับ ในเว็บฝรั่งมักจะเรียกแทนขนาดเส้นของหัวปากกาทางเอเชียว่า Eastern Fine (E. Fine) หรือ Japanese Fine (J. Fine) และเรียนแทนขนาดเส้นของหัวปากกาทางยุโรปว่า European Fine (Eur. Fine) หรือ Western Fine (W. Fine) ครับ

การจะเลือกใช้หัวปากกาที่เส้นใหญ่ขนาดไหนนี่ นอกจากจะขึ้นอยู่กับความชอบแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับลายมือของแต่ละคนด้วยนะครับ ถ้าคนที่ชอบเขียนหนังสือตัวโตๆ หากเขียนด้วยหัวปากกาขนาดเล็ก จะอ่านยาก ดูไม่สวยครับ ขณะเดียวกันหากคนที่เขียนหนังสือตัวเล็กๆ ไปใช้ปากกาเส้นใหญ่ๆ ตัวหนังสือจะทึบตันอ่านยากเหมือนกัน

ส่วนตัวผม ผมชอบใช้ปากกาหัวขนาดกลางของเอเชีย หรือเทียบเท่ากับขนาดเล็กของตะวันตก สำหรับจดงานทั่วไปครับ เพราะหัวปากกาขนาดนี้มักจะเขียนได้ลื่นดี และเส้นก็ไม่เล็กจนอ่านยาก หรือใหญ่จนตัวเขียนทึบตันครับ

แต่ถ้าสำหรับจดงานเร็วๆ อย่างพวกเขียนโน๊ตสั้นๆลงสมุดบันทึก ผมกลับชอบใช้หัวปากกาขนาดเล็ก (F) ของทางเอเชีย หรือขนาดเล็กพิเศษ (EF) ของทางยุโรปครับ เพราะเขียนตัวเล็กๆแล้วอ่านง่ายกว่า แล้วปากกาที่มีลายเส้นขนาดเล็กจะปล่อยน้ำหมึกออกมาน้อยกว่า ทำให้เมื่อเขียนเสร็จแล้วหมึกบนกระดาษแทบจะแห้งทันที ปิดสมุดบันทึกได้เลย ไม่ต้องกลัวเลอะเทอะครับ ปากกาส่วนใหญ่ของผมจึงมักจะเป็นหัวขนาดเล็กและกลางของทางเอเชีย หรือหัวขนาดเล็กของทางยุโรปครับ ส่วนปากกาหัวขนาดกลางของยุโรป ผมจะใช้สำหรับเขียนหัวข้อ หรือทำล้อมกรอบข้อความสำคัญครับ ผมยังไม่มีปากกาหัวขนาดใหญ่ (Broad) เลยสักด้ามครับ แต่ไปซื้อพวกปากกาหัวพิเศษ สำหรับเขียนอักษรวิจิตร (Calligraphy) ไว้แทนครับ

โดยมากแล้วปากกาหมึกซึมที่มีหัวปากกาขนาดเล็ก จะเขียนลื่นสู้หัวปากกาขนาดใหญ่ไม่ได้นะครับ คือ หัวปากกาจะกัดกระดาษหน่อยๆครับ แต่ผมกลับพบกว่า หัวปากกาขนาด F และ EF ของทางจีนและญี่ปุ่น เขียนได้ลื่นกว่าหัวปากกาขนาด EF ของทางตะวันตกครับ เวลาซื้อปากกายี่ห้อทางยุโรป ผมเลยมักจะไม่ค่อยเลือกขนาด EF ครับ แต่จะไปซื้อขนาด F หรือ EF ของทางจีน และญี่ปุ่นมาใช้แทน

รูปทรงของหัวปากกา

รูปทรงของหัวปากกานี่ไม่ใช่ว่า หัวปากกาจะมีรูปร่างโค้งเว้า หรือเป็นเหลี่ยมแต่อย่างใดนะครับ แต่หมายถึงตรงส่วนปลายของหัวปากกา หรือบริเวณที่เราใช้เขียนลงบนกระดาษน่ะครับ รูปทรงของส่วนปลายหัวปากกานี้จะเป็นตัวกำหนดลักษณะเส้นที่เราเขียนครับ

รูปทรงของหัวปากกาหลักๆจะมีอยู่ 3 แบบ คือ แบบปลายกลม (Round Nib) ปลายทู่ (Stub) และปลายตัด (Italic) นอกจากนี้ยังมีหัวปากกาลักษณะพิเศษอื่นๆ เช่น หัวปากกาแบบลูกลื่น (Ball Point) แบบปลายเอียง (Oblique) และหัวปากกาสำหรับการเขียนอักษรวิจิตร (Calligraphy) เช่น หัวปากกาแบบ Fude หัวปากกาแบบ Flex และหัวปากกาพู่กัน เป็นต้น สำหรับหัวปากกาสำหรับเขียนอักษรวิจิตรนี่ ผมจะขอยังไม่พูดถึงในบทความนี้นะครับ แต่จะขอยกไปพูดในบทความเฉพาะของหัวปากกาแต่ละแบบเลย ไม่งั้นบทความจะยาวเกินไปครับ

หัวปากกาแบบปลายกลม (Round Nib)

หัวปากกาแบบปลายกลม เป็นหัวของปากกาหมึกซึมแบบมาตรฐานที่นิยมใช้กันทั่วไปครับ ส่วนปลายของหัวปากกาแบบนี้จะถูกเจียรให้โค้งมน แล้วขัดจนมันแว่บ หัวปากกาแบบนี้จะเขียนลื่นที่สุด ง่ายที่สุด มี Sweet Spot กว้าง หัวปากกาไม่ตรงเป๊ะก็ยังเขียนออกได้ไม่งอแง ความที่หัวปากกามีลักษณะโค้งมน จึงทำการเขียนไม่ว่าจะแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียง มีขนาดลายเส้นเท่าๆกันทั้งหมด ไม่เกิดความแตกต่างของขนาดเส้นจากทิศทางของการเขียนครับ

หัวปากกาแบบปลายทู่ (Stub Nib)

หัวปากกาแบบ Stub นี่ บางทีก็เรียกกันว่า Stub Italic ครับ เป็นหัวปากกาที่มีลักษณะปลายแบน คล้ายๆปากเป็ด ที่ด้านใต้ของปลายปากกา ตรงบริเวณที่จรดลงบนกระดาษ จะมีลักษณะโค้งมน ช่วยให้เขียนได้ลื่นกว่าหัวปากกาแบบ Italic หัวปากกาแบบนี้เวลาที่เขียนในทิศทางที่ต่างกัน ขนาดของลายเส้นก็จะเปลี่ยนตามไปด้วยนะครับ หัวปากกาแบบ Stub มักจะมีเส้นใหญ่ เท่าที่ผมเคยเห็นเล็กที่สุดก็ 0.8 มม. ครับ แต่โดยมากจะมีขนาดราว 1 หรือ 1.1 มม. จึงไม่ค่อยเหมาะกับใช้จดงานทั่วไป แต่ถ้าเขียนโน๊ตตัวใหญ่ๆ แปะที่โต๊ะทำงาน หรือเขียนสั่งงาน ก็เหมาะมากครับ อ่านง่าย เห็นชัดดี

หัวปากกาแบบนี้ใช้เขียนภาษาอังกฤษสวยนะครับ เพราะตัวเขียนของภาษาอังกฤษจะมีขึ้นเบาลงหนัก เส้นหนาเส้นบาง แต่สำหรับตัวอักษรไทยแล้ว สำหรับลายมือของบางคนอาจจะอ่านยากไปบ้าง แต่ก็ทำให้ดูแปลกตา สวยดีเหมือนกัน

หัวปากกาแบบ Stub นี่ไม่เหมาะสำหรับการนำไปเขียนอักษรวิจิตร (Calligraphy) นะครับ เพราะตอนที่เขียนเส้นเล็กจะยังไม่คมเท่ากับหัวปากกาแบบ Italic ครับ แต่หากเอาไปใช้เซ็นชื่อ หรือเขียนหวัดก็จะสวยมากครับ เพราะขนาดเส้นมีหนาบาง ทำให้ลายเซ็นมีน้ำหนักครับ ผมเคยรู้จักกับผู้บริหารท่านหนึ่ง ที่กำหนดกับทางธนาคารไว้เลยว่า ลายเซ็นของท่านจะต้องมีลักษณะเส้นหนาเส้นบาง และใช้สีหมึกตามที่กำหนดไว้ครับ (แต่ท่านนั้นใช้ปากกาที่มีหัวแบบ Oblique นะครับ)

หัวปากกาแบบปลายตัด (Italic Nib)

เป็นหัวปากกาที่มีลักษณะแบบปากเป็ดครับ แต่ที่ด้านใต้ของหัวปากกาจะไม่มีลักษณะโค้งมนแล้วครับ หัวปากกาแบบนี้จะสร้างความแตกต่างของลายเส้น เมื่อเขียนในทิศทางต่างๆได้ดีที่สุด แต่ถ้าจับปากกาไม่ถูกมุมก็จะเขียนยาก และไม่สวยนะครับ ปากกาแบบนี้เหมาะสำหรับใช้เขียนอักษรวิจิตร (Calligraphy) ครับ เอามาเขียนงานทั่วไปจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ ยิ่งถ้าใช้เขียนภาษาไทยด้วยแล้ว ต้องฝึกเขียนกันเลยทีเดียว เพราะตัวอักษระไทยมีทั้งลากขึ้น ลากลง แนวตั้ง แนวนอน แนวเฉียงครบเลย แถมตัวอักษรยังมีลายละเอียดมากกว่าด้วย อย่าง ก.ไก่ ก็มีปากยื่น ษ.ฤาษี ก็มีไส้ใน เป็นต้น แต่ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่จะลากขึ้นแนวเฉียง ลากลงแนวตรงเป็นหลักครับ ทำให้เขียนอักษรวิจิตรง่ายกว่าภาษาไทย

หนึ่งในงานอดิเรกยามว่างของผม คือ การหัดเขียน Calligraphy ด้วยหัวปากกาแบบปลายตัด หรือหัวปากกาแบบ Flex นะครับ (รวมถึง Nude Nib ด้วย) เขียนแล้วสนุกลืมเวลาไปเลย แถมยังเป็นการฝึกสมาธิที่ดีอีกด้วยครับ พอได้หัดเขียนด้วยหัวปากกาแบบนี้แล้ว ทำให้รู้เลยว่า ทำไมพระนิกายเซ็นจึงใช้การเขียนหลักธรรมด้วยพู่กันจีน เป็นการฝึกสมาธิครับ

หัวปากกาแบบปลายเอียง (Oblique Nib)

หัวปากกาแบบเอียงนี่ก็หน้าตาคล้ายกับปากกาปากตัดครับ แต่ว่าตรงปลายปากกาจะตัดเอียงไปด้านซ้าย หรือด้านขวา หัวปากกาแบบนี้จะออกแบบมาเฉพาะสำหรับคนที่ถนัดเขียนด้วยมือซ้าย หรือมือขวาครับ ช่วยให้การเขียนอักษรวิจิตรทำได้บรรจงมากขึ้น แต่การจับปากกาก็ต้องพิถีพิถันขึ้นด้วยเหมือนกันนะครับ (ผมยังไม่มีปากกาที่มีหัวแบบนี้เลย จึงอธิบายอะไรได้ไม่มากนะครับ)

หากจะลงรายละเอียดกันจริงๆแล้ว ลักษณะของหัวปากกายังมีแบบปลีกย่อยอีกเยอะเหมือนกัน ถ้ามีโอกาสผมจะมาพูดถึงอีกทีนะครับ

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page