[รีวิวปากกาหมึกซึม] ผมทำรีวิวปากกาหมึกซึมอย่างไร
- 12 ก.ค. 2558
- ยาว 2 นาที

ขอออกตัวก่อนนะครับ ที่ผมมาทำ blog รีวิวปากกานี่ ไม่ใช่อยากอวดเก่ง ทำตัวเป็นกูรูอะไรนะครับ ผมแค่อยากรวบรวมของรักที่ผมสะสมไว้ให้อยู่ด้วยกัน เผื่อในวันข้างหน้าผมอาจไม่มีเวลานั่งเล่นปากกาแบบนี้อีก ก็จะยังได้เก็บเรื่องราวแห่งความภาคภูมิใจนี้ไว้ครับ
จะว่าไปแล้ว ความรู้เกี่ยวกับปากกาหมึกซึมของผมนับได้ว่าน้อยนิด ก็ได้แต่อาศัยหาข้อมูลจากในอินเทอร์เน็ตนี่แหละครับ อ่านจาก Forum ของฝรั่งมั่ง ดูจาก Youtube มั่ง ภาษาอังกฤษผมก็กระท่อนกระแท่นเต็มที ยังดีที่ได้พ่อช่วยแปลให้ครับ ผมโชคดีครับที่ผมกับพ่อชอบอะไรเหมือนๆกันน่ะครับ
รีวิวของผมไม่ใช่ประเภทแกะกล่อง หรือ Unboxing นะครับ ปากกาที่ผมนำมาเขียนรีวิวทุกด้าม จะถูกนำไปใช้งานอย่างน้อยก็ 1-2 สัปดาห์ คือ ใช้จนหมึกหมด 1-2 หลอด ก่อนที่จะนำมาเขียนรีวิวครับ พอดีอาชีพของผมต้องใช้ปากกาหนักมากอยู่แล้ว (จะมีอาชีพไหนที่จดงานเยอะไปกว่าอาชีพนักเรียน นักศึกษาอีกรึเปล่านะ 5555) ดังนั้นปากกาทุกด้ามจะผ่านการใช้งานหลายๆรูปแบบ ทั้งจดงานแบบหวัดๆ (แลคเชอร์) เขียนบรรจง (ทำรายงาน) วาดภาพในวิชาศิลปะ รวมถึงการจดแบบต่อเนื่องหลายๆหน้ากระดาษ และการเขียนบนกระดาษหลากหลายชนิด ไม่เฉพาะบนกระดาษเนื้อดีราคาแพง แต่ได้ทดสอบเขียนบนกระดาษสมุด บนกระดาษปอนด์สีน้ำตาลๆด้วยครับ
บอกก่อนว่า รีวิวทั้งหมด ผมเขียนขึ้นจากความรู้สึกของผมกับพ่อเกี่ยวกับปากกาด้ามนั้นๆ และเขียนจากปากกาแต่ละด้ามที่ผมมีอยู่เท่านั้น ซึ่งผมอาจจะได้ปากกาที่ดีเวอร์ หรือได้ปากกาโชคร้ายมาก็ ดังนั้นข้อมูลอาจจะแตกต่างจากปากกาที่คนอื่นมีอยู่ก็เป็นได้นะครับ

การทำรีวิว ผมก็เลียนแบบรูปแบบมาจากการรีวิวของ Forum เกี่ยวกับปากกาหมึกซึมชื่อดัง fountainpennetwork.com ครับ โดยเขาจะแบ่งการรีวิวออกเป็น 7 หัวข้อ คือ 1) รูปลักษณ์และการออกแบบ 2) วัสดุและคุณภาพของการผลิต 3) สัดส่วนและน้ำหนัก 4) หัวปากกาและการเขียน 5) ระบบการเติมหมึกและการบำรุงรักษา 6) ราคาและความคุ้มค่า และ 7) สรุป ซึ่งในแต่ละหัวข้อเขาจะให้คะแนนจาก 1-10 เว้นข้อ 7 จะเป็นการหาคะแนนเฉลี่ยจากทั้ง 6 หัวข้อครับ
นอกจากนี้ผมก็ใช้การทดสอบปากกาตามแบบของ Stephen B.R.E Brown ด้วยครับ
ในรีวิวของผมก็เอาของเขามาดัดแปลงอีกทีครับ โดยจะแบ่งเป็นหัวข้อย่อยกว่า เพราะจะได้ไม่ต้องเขียนกันยาวๆ อ่านแล้วน่าเบื่อ แต่จะเน้นเป็นรูปภาพ ประกอบคำบรรยายมากกว่าครับ โดยแยกเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้ครับ

ซื้อมาจากไหน ราคาเท่าไหร่ – ผมว่าข้อมูลนี้สำคัญที่สุดครับ เพราะจะได้รู้ว่าปากกาที่ตัวเองกำลังสนใจอยู่นี่ราคาแพงมั้ย หาซื้อได้จากที่ไหน แต่ในบางกรณีผมจะไม่ได้ลงที่มาของปากกาที่ทำรีวิวอยู่ โดยเฉพาะปากกาที่ผมสั่งจากต่างประเทศ เพราะผมไม่รู้ว่ามีใครนำปากการุ่นนั้นเข้ามาขายในเมืองไทยรึเปล่า ผมไม่ต้องการเป็นคนไปทำลายการค้าของคนอื่นครับ แต่ถ้าใครอยากรู้จริงๆว่าผมได้ปากกาด้ามนั้นมายังไง ราคาเท่าไหร่ ขอให้ติดต่อผมเป็นส่วนตัว ผ่านทาง Facebook page: Write Like Dream หรือที่ Facebook: พิจักษณ์ มายะการ นะครับ
สำหรับปากกาที่มีผู้แทนจำหน่ายในบ้านเราแน่นอน ผมก็จะลงชื่อผู้แทนจำหน่ายให้ แต่ก็ไม่ได้ลงราคาอีกเหมือนกัน เพราะราคาขายอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
อย่างไรก็ตามในส่วนของราคา ผมจะแจ้งเป็นเกณฑ์ไว้เท่านั้น คือ ไม่เกิน 100 บาท 100-500 บาท 500-1,000 บาท 1,000-1,500 บาท อะไรทำนองนี้นะครับ

ลักษณะภายนอก – หัวข้อนี้จะกล่าวถึงเรื่องการออกแบบ วัสดุ และคุณภาพการผลิตไว้ด้วยกันเลย รวมไปถึงลวดลายต่างๆบนปากกาด้วย แต่เป็นจากการมองภายนอกโดยทั่วไปนะครับ ไม่ถึงกับส่องแว่นขยายดู เว้นแต่จะเกิดข้อสงสัยจริงๆ
สำหรับวัสดุที่ใช้ในการผลิตนี่ หากทางผู้ผลิตไม่ได้แจ้งไว้ว่าใช้วัสดุอะไร ผมก็จะเขียนได้แค่คร่าวๆว่าเป็นโลหะ หรือพลาสติกแค่นั้นนะครับ ส่วนจะเป็นโลหะชนิดใด หรือพลาสติกเกรดไหน ผมคงไม่ได้ไปพิสูจน์ เพราะการที่จะพิสูจน์ ผมจะต้องขูดสีออก หรืออาจต้องนำไปป่นเผาไฟ หรือพิสูจน์ด้วยน้ำยาเคมีต่างๆครับ
จากลักษณะโดยรวมภายนอก ก็จะมาว่ากันเป็นจุดๆไปครับ

คลิป (Clip) – คลิปที่เหน็บกระเป๋านี่ ผมว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของปากกาครับ ปากกาให้ออกแบบมาสวยแค่ไหน ถ้าคลิปไม่โดนใจผมก็ไม่ซื้อ และถ้าคลิปอ่อนไป แข็งไป อาจไม่เหมาะกับการพก หรือใช้งานของแต่ละคนน่ะครับ

ปลอกปากกา (Cap) – หลักๆก็ดูว่าปลอกปากกาแน่นหนาดีรึเปล่าน่ะครับ เสียบปลอกปากกาที่ด้ามแล้วสมดุลดีมั้ย เขียนถนัดรึเปล่า ลวดลายบนปลอกปากกามีอะไรบ้าง มีแถบคาดรึเปล่า

บริเวณที่จับปากกา (Section) – ก็ดูว่าจับถนัดมั้ย ลื่นรึเปล่า อ้วนผอมแค่ไหนครับ หรือปากกาบางด้ามตรงรอยต่อระหว่างที่จับปากกากับด้ามอาจคมเกินไป ก็จะคุยกันตรงนี้

สัดส่วนและน้ำหนักของปากกา – ก็ดูว่าปากกาอ้วน ผอม สั้น ยาว หนัก เบา จับเขียนได้ถนัดรึเปล่า เขียนนานๆจะเมื่อยมือมั้ย

ที่สูบหมึก (Filling System) – ก็บอกให้รู้ว่าที่สูบหมึกเป็นแบบไหน ใช้งานได้ดีรึเปล่าครับ

หัวปากกา (Nib) – บอกถึงลักษณะของหัวปากกา ทำจากวัสดุอะไร มีโลโก้หรือตัวอักษรอะไรบนหัวปากกาบ้าง จากนั้นก็จะบอกขนาดเส้น (Nib Stroke) ว่าเส้นเล็ก เส้นใหญ่แค่ไหนครับ

ลองเขียน – เน้นบอกว่าปากกาเขียนลื่นแค่ไหน เขียนบรรจงสวยมั้ย เขียนหวัดเส้นขาดหรือเปล่า
ตรงความลื่นของการเขียน และขนาดเส้นนี่ ผมจะใช้ปากกา Lamy Safari หัวขนาด F เป็นตัวเทียบมาตรฐานนะครับ เพราะ Lamy Safari มีคนนิยมใช้กันเยอะ หาซื้อได้ง่าย ใครที่ไม่มีไปขอลองเขียนที่ห้างสรรพสินค้าก็ยังได้ครับ โดยจะบอกว่า ขนาดเส้นของปากกาเล็กหรือใหญ่กว่าหัว F ของ Lamy เขียนลื่นกว่า หรือลื่นน้อยกว่า Lamy นะครับ

Sweet Spot – จุดหวาน? ฮา คำนี้ผมก็ยังไม่รู้จะเรียกภาษาไทยว่าอะไรดีครับ ขออธิบายจากไม้ปิงปองแล้วกันนะครับ เพราะเป็นกีฬาที่ผมถนัดที่สุด สำหรับไม้ปิงปอง Sweet Spot ก็จะหมายถึงจุดบนไม้ปิงปองที่กระเด้งมากที่สุด หรือบริเวณกลางไม้นั่นแหละครับ ไม้ปิงปองบางรุ่น Sweet Spot จะใหญ่ ทำให้ควบคุมลูกได้ง่ายกว่าครับ สำหรับปากกาหมึกซึม ก็จะหมายถึงจุดที่เวลาจรดปากกากับกระดาษแล้วเขียนได้ดีที่สุดนะครับ ปากกาบางด้ามเอียงนิด เอียงหน่อยก็เขียนไม่ออก แบบนี้ผมจะเรียกว่า Sweet Spot เล็กนะครับ
เรื่อง Sweet Spot นี่ฝรั่งบางคนก็พูดถึง บางคนก็ไม่พูด เพราะ Sweet Spot ของปากกาดีๆโดยทั่วไปก็จะพอๆกันครับ แต่ปากกาที่ผมนำมารีวิวส่วนใหญ่จะเป็นปากการาคาไม่แพงนัก ไปจนถึงราคาปานกลาง เรื่องของ Sweet Spot จะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดครับ ผมจึงเลือกที่จะยกขึ้นมาเป็นอีกหัวข้อ
อย่างไรก็ตาม ปากกาที่มีขนาดเส้นใหญ่ๆ มักจะมี Sweet Spot ที่ใหญ่กว่าปากกาที่มีขนาดเส้นเล็กๆนะครับ ดังนั้นเวลาผมบอกว่า ปากกาที่มีหัวขนาด F ตัวนี้ มีจุด Sweet Spot ที่ใหญ่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใหญ่ไปกว่าปากกาหัวขนาด M หรือ B นะครับ

การปล่อยหมึกลงบนกระดาษ (Wetness) – หัวข้อนี้ผมไม่รู้ว่าจะเรียกเป็นภาษาไทยยังดีอีกเหมือนกันครับ จะเรียก ‘ความเปียก’ หรือ ‘ความแฉะ’ มันก็ฟังดูทะแม่งๆชอบกล ใครที่แปลได้สั้น ง่าย ได้ใจความ กรุณาบอกผมด้วยนะครับ
ปากกาหมึกซึมที่ปล่อยหมึกลงบนกระดาษกำลังดี เมื่อเขียนเสร็จแล้วควรใช้เวลาไม่นานเกินไป หมึกก็จะแห้ง แต่ถ้าปล่อยหมึกมากเขียนเสร็จไปจนถึงปลายบรรทัดแล้ว ต้นบรรทัดหมึกยังไม่แห้งเลย อันนี้ก็จะถือว่า ปากกาด้ามนั้นมีการปล่อยหมึกมากเกินไป หรือ ‘เปียก’ เกินไป (Wet) แต่ปากกาที่ออกไปทางแห้ง (Dry) เมื่อเขียนจบแล้ว หมึกก็จะแห้งเกือบทันที คือ ปล่อยหมึกออกมาค่อนข้างน้อยครับ
ปากกาที่ปล่อยหมึกค่อนข้างมาก มักจะเขียนลื่นกว่า (เว้นอันที่หัวปากกาแย่จริงๆนะครับ) ส่วนปากกาที่ค่อนข้างแห้ง มักจะเขียนเส้นขาดๆ โดยเฉพาะเวลาเขียนเร็วๆครับ ปากกาที่ออกไปทางแห้งเล็กน้อย เหมาะสำหรับการจดบันทึกเร็วๆครับ แต่ถ้าเอาไปใช้วาดรูป เวลาลงสีจะต้องระบายกันนานหน่อยกว่าจะถมสีเต็ม ส่วนปากกาที่ออกไปทางเปียกนิดหน่อย จะเป็นปากกาที่เหมาะกับจดงานทั่วไปครับ โดยทั่วไปแล้ว ปากกาที่มีหัวขนาดใหญ่กว่า ก็จะปล่อยหมึกออกมามากกว่าปากกาที่มีหัวขนาดเล็กนะครับ

ความแตกต่างของขนาดเส้น (Line Variation) – ปากกาหมึกซึมโดยทั่วไป เวลาเขียนกดๆแล้วจะได้เส้นขนาดใหญ่กว่าเขียนเบาๆครับ เป็นเพราะเวลากด หัวปากกาตรงที่มีรอยผ่ากลางจะแยกออกจากกัน และก็จะแยกออกจากตัวป้อนหมึก (Feeder) ด้วย ทำให้น้ำหมึกไหลออกมาได้มากกว่า เลยทำให้เส้นที่เขียนใหญ่กว่าปกติครับ แต่ปากกาบางอันหัวปากกาก็แข็งไป ซึ่งก็ทนดี แต่จะสร้างความแตกต่างของขนาดเส้นไม่ค่อยได้มากนะครับ
สำหรับปากการาคาถูกๆบางยี่ห้อ หัวปากกาจะค่อนข้างบาง หากเขียนกด เพื่อให้ได้ลายเส้นขนาดใหญ่ อาจทำให้หัวปากกาเสียได้เหมือนกันครับ หัวปากกาที่เหมาะสำหรับกดให้ได้ลายเส้นใหญ่ๆ จึงต้องเป็นหัวปากกาที่มีความสปริงตัวดี
เรื่องความแตกต่างของขนาดลายเส้นนี้ ผมคิดว่าจำเป็นกับการเขียนภาษาอังกฤษ มากกว่าภาษาไทยนะครับ เพราะภาษาอังกฤษจะมีขึ้นเบา ลงหนัก แต่ภาษาไทยจะเขียนด้วยน้ำหนักเท่าๆกัน เว้นแต่คนที่ชอบเขียนแบบอักษรวิจิตร หรือ Calligraphy ครับ
นี่เป็นหัวข้อหลักๆที่ผมใช้รีวิวปากกาครับ จะเห็นว่าหัวข้อเยอะกว่าของฝรั่ง ก็เพราะผมต้องการแยกหัวข้อออกตามแต่ละคุณลักษณะเลย แต่ของฝรั่งจะเขียนรวมๆกัน เป็นย่อหน้ายาวๆครับ ผมอยากได้รีวิวแบบข้อความประกอบรูปภาพมากกว่า เน้นรูปและคำบรรยาย ไม่ต้องอ่านกันเยอะๆครับ
รีวิวของผมจะไม่ได้วัดขนาด ชั่งน้ำหนักปากกานะครับ เพราะผมไม่ได้อยากทำเป็นรายงานทางวิชาการ ทั้งหมดจะเขียนจากความรู้สึกล้วนๆ ใช้การเปรียบเทียบกับสิ่งของที่มีอยู่ เช่น อ้วนกว่าปากกลูกลื่นทั่วๆไปนิดหน่อย แทนที่จะบอกว่าอ้วนที่มิลลิเมตรน่ะครับ
ผมไม่ได้ให้คะแนนปากกาที่ผมทำรีวิวนะครับ เพราะผมไม่รู้ว่าให้คะแนนยังไงจึงจะยุติธรรม สมมติปากกาหรู ราคาแพง แต่เขียนแล้วไม่ประทับใจเท่าไหร่ กับปากกาข้างถนน ทำจากวัสดุบ้านๆ รูปร่างน่าเกลียด แต่เขียนชั้นเทพเลย ยังงี้ควรจะให้อันไหนคะแนนสูงกว่ากันครับ เพราะผมเชื่อว่า หัวใจของปากกา ก็คือเขียนดี อย่างอื่นเป็นแค่ส่วนประกอบครับ ปากกาแพงแค่ไหน ถ้าเขียนไม่ได้ สุดท้ายก็เก็บใส่กล่อง ไม่ได้ใช้งานครับ
อีกอย่างที่ผมไม่อยากให้คะแนนปากกา เพราะผมรักปากกาของผมทุกด้ามครับ ถ้าให้ด้ามไหนคะแนนน้อย เดี๋ยวมันจะเสียใจ
Comentários