top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Duke 209


Duke 209 มุมต่างๆ

ปากกาหมึกซึมยี่ห้อ Duke ผลิตที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน จากข้อมูลในเว็บไซต์บอกว่า บริษัทปากกายี่ห้อ Duke ของเยอรมัน ไปเทคโอเวอร์กิจการผู้ผลิตปากกาในเซี่ยงไฮ้ ยี่ห้อนี้เลยเป็นปากกาลูกครึ่งจีน-เยอรมันครับ ราคาของปากการุ่นนี้จะอยู่ในเกณฑ์ 100 ไม่เกิน 500 บาทครับ

มีหลายสีให้เลือก

มีให้เลือกหลายสี

Duke 209 ที่ผมสั่งมาเป็นสีดำด้านครับ แต่ที่จริงแล้วมีสีเงิน (สีโลหะ) สีน้ำเงิน และรุ่น Elegant ด้ามสีดำ ปลอกสีโลหะให้เลือกด้วยนะครับ แต่ที่ผมเลือกสีดำด้าน ก็เพราะว่า ราคาถูกที่สุดครับ 5555

Calligraphy Set มีหัวปากกามาให้ 2 แบบ

หัวปากกาเท่าที่ผมเห็นมีให้เลือก 2 แบบครับ หัวปากกาขนาดกลาง (M – Medium) กับหัวปากกาแบบ Fude ซึ่งในเว็บจะระบุไว้ว่าเป็น Calligraphy Pen ครับ และยังมีที่ขายเป็นชุด มีหัวปากกาให้ทั้งสองแบบ ผมเลือกซื้อหัวปากกาปกติขนาดกลางมาครับ เพราะจะเอาไปใช้เขียนหนังสือที่โรงเรียน

Duke 209

ลักษณะภายนอก

Duke 209 ทำจากโลหะทั้งด้ามครับ งานประณีต สวยมากครับ ปลอกปากกา (Cap) และด้ามปากกา (Barrel) เป็นสีดำด้าน ส่วนหัวและท้ายของปากกาตัดตรง เจียรขอบมนเล็กน้อย ด้านบนและล่างไม่มีลวดลายอะไรครับ

Duke 209

ปลอกปากกา (Cap)

ปลอกปากกาของ Duke 209 เป็นแบบดึงออกได้เลย ไม่ต้องหมุนเกลียวครับ ปลอกปากกาติดแน่นดี ไม่ต้องกลัวปลอกหลุด เอาปลอกปากกาไปเสียบไว้ที่ปลายด้ามได้แน่นดี ไม่หลุดง่ายๆ

ที่ปลอกปากกามีแถบสีทอง ด้านหน้าปั๊มยี่ห้อ ‘DUKE’ ด้านหลังปั๊มรุ่น ‘209’

คลิปเหน็บกระเป๋า (Clip)

บนปลอกปากกามีคลิปเหน็บกระเป๋าสีทอง ออกแบบมาโค้งมน สวยดี ด้ามที่ผมได้มา คลิปแข็งมากๆ จนเสียบกระเป๋าเสื้อไม่ลงเลยครับ

Duke 209

ที่จับปากกา (Section)

เปิดปลอกปากกาออก ส่วนที่จับปากกา (Grip Section) เป็นโลหะสีเงินวาว สวยมาก จับถือได้สบายมือดี พ่อบอกว่า ที่จับปากกาออกจะลื่นไปหน่อยครับ แถมยังค่อนข้างผอมอีกด้วย ถ้าใช้เขียนนานๆน่าจะเมื่อยได้เหมือนกัน แต่ผมใช้จดงานที่โรงเรียนทั้งวันก็ไม่มีปัญหานะครับ ส่วนพ่อยังไม่เคยลองใช้ปากกานานๆขนาดนั้นครับ เลยไม่รู้ว่าถ้าพ่อใช้งานนานๆแล้วจะเมื่อยจริงรึเปล่า

ความยาว และน้ำหนักของปากกา

ขนาดปากกาเป็นไซส์มาตรฐาน ก็ขนาดพอๆกับปากกาลูกลื่นทั่วไปน่ะครับ

ความยาวของปากกากำลังเหมาะ แม้สำหรับคนที่มือใหญ่ๆ สามารถเขียนโดยไม่ต้องเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ปลายด้ามได้สบายๆ พอเสียบปลอกปากกากับปลายด้ามแล้วจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้ทำให้เสียสมดุลย์ หรือหนักเกินไปครับ

Duke 209

ที่สูบหมึก (Filling System)

ที่สูบหมึกที่ให้มากับ Duke 209 เป็นแบบ Piston Converter ครับ หรือแบบที่หมุนส่วนปลายของที่สูบหมึก เพื่อเติมหมึกเข้าหลอด เป็นที่สูบหมึกแบบ International Standard สามารถหาซื้อมาเปลี่ยนได้ง่ายครับ และก็น่าจะแปลว่า สามารถใช้กับหมึกหลอดมาตรฐานได้ด้วย (แต่ผมยังไม่ได้ลองนะครับ)

หัวปากกา (Nib)

หัวปากกาของ Duke 209 เป็นสีทูโทน เงินกับทอง ที่หัวปากกาปั๊มโลโก้รูปมงกุฏ และมีคำว่า ’22 KGP’ บอกให้รู้ว่า ส่วนที่เป็นทองนี่ เป็นการเคลือบทอง 22 กระรัตครับ ส่วนที่ป้อนหมึก (Feed) ไม่ได้บอกว่าทำจากอะไร แต่ก็เดาว่าทำจากพลาสติก แปลว่าจะใช้ความร้อนปรับแต่ง Feed และ Nib ไม่ได้นะครับ

ขนาดลายเส้นของ Duke เป็นขนาดกลาง (M) ครับ เทียบขนาดเส้นดู ผมสังเกตว่าขนาดเส้นจะเล็กกว่าหัวปากกาขนาด M ของ Sheaffer แต่ก็ยังใหญ่กว่าหัวขนาด F ของ Lamy นิดหน่อยครับ เห็นฝรั่งบางคนเรียกว่าหัวขนาด F/M น่ะครับ

ลองเขียน

Duke 209 ที่ผมได้มา เขียนลื่นมาก เรียกได้ว่า ‘ลื่นเกิ้น’ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะ ผมลองเทียบกับ Lamy Safari หัวปากกาขนาด F แล้ว บอกได้เลยว่า ลื่นกว่า Lamy ซะอีก จนนักวิจารณ์ฝรั่งคนนึงบอกว่าปากการุ่นนี้เขียนได้ Extreme Smooth ครับ

ความที่ Duke 209 เขียนได้ลื่นมาก การเขียนบรรจงจึงต้องใช้การควบคุมมือมากสักหน่อยครับ ไม่งั้นจะกลายเป็นเขียนหวัดโดยไม่รู้ตัว ส่วนการเขียนหวัดไม่มีปัญหาครับ ลื่นไหลมาก ไม่ต้องห่วงว่าเส้นจะขาดเลย

Up side down writing

Sweet Spot

Duck 209 เป็นปากกาที่มี Sweet Spot ค่อนข้างกว้างครับ จับปากกาเอียงนิด เอียงหน่อย ก็ยังเขียนได้ลื่นไม่มีปัญหา หรือจะเขียนในลักษณะกลับหัวปากกา ที่ฝรั่งเรียกว่า Reverse Writing หรือ Upside Down Writing เพื่อให้ได้เส้นขนาดเล็กมากก็ทำได้อย่างไม่ติดขัดครับ

การปล่อยหมึกลงบนกระดาษ (Wetness)

การป้อนหมึกไหลลื่น (Ink flow) ดีมาก นับตั้งแต่ใช้ปากกาด้ามนี้มา ยังไม่เคยเขียนเส้นขาดเลยครับ การปล่อยหมึกลงบนกระดาษ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Wetness ของ Duke 209 ออกไปในทางเปียกนิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับปล่อยหมึกออกมามากเกิน จนเขียนจบแล้วหมึกยังไม่แห้งครับ

จุดที่ผมชอบมากๆของปากกาด้ามนี้ คือ ปากกาจะเขียนออกได้ดีในการหยิบใช้ทุกครั้ง แม้ว่าจะเก็บปากกาไว้หลายวัน แล้วค่อยหยิบมาใช้ก็จะเขียนได้เลย ไม่ต้องเขย่าปากกาก่อนครับ

ความแตกต่างของขนาดเส้น (Line Variation)

ผมว่าเรื่องความแตกต่างของขนาดเส้นนี่ จะจำเป็นกับการเขียนภาษาอังกฤษ มากกว่าภาษาไทยนะครับ เพราะภาษาอังกฤษจะมีขึ้นเบา ลงหนัก แต่ภาษาไทยจะเขียนด้วยน้ำหนักเท่าๆกัน เว้นแต่คนที่ชอบเขียนแบบอักษรวิจิตร หรือ Calligraphy ครับ

โดยทั่วไปแล้ว ผมไม่ค่อยจะคาดหวังเรื่อง Line Variation จากปากการาคาถูกๆสักเท่าไหร่ สำหรับ Duke 209 นี่ Line Variation ไม่ดีเอาซะเลยครับ ขนาดเส้นเขียนเบา และกดหนัก ต่างกันไม่มาก แถมพอเขียนกดแล้ว ปากกาก็จะปล่อยหมึกออกมามาก จนทำให้ลากเส้นเบาต่อไม่ได้ครับ

สรุป

Duke 209 เป็นปากาที่ทำจากโลหะทั้งด้าม งานผลิตอยู่ในเกณฑ์ประณีตดี การออกแบบดูสวยงาม ทันสมัย ทำผิวปากกาได้เนียน เขียนได้ลื่นมากๆ เส้นไม่ขาด เหมาะสำหรับใช้จดบันทึกเร็วๆ หรือจะใช้เขียนหนังสือทั้งวันก็ได้ครับ แต่ผมว่าอาจจะไม่เหมาะสำหรับใช้คัดลายมือ หรือเขียนตัวอักษรวิจิตรนะครับ

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page