top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

รู้จักกับ TWSBI


หลังจากที่ผมลงบทความ ‘แนะนำปากกาหมึกซึม TWSBI Eco’ ไป ก็มีคำถามมากมายจากเพื่อนๆที่โรงเรียน เกี่ยวกับปากกายี่ห้อนี้ เท่าที่จับใจความได้ คือ จะขอตังค์พ่อไปซื้อ แต่พ่อไม่รู้จักยี่ห้อ TWSBI (ทวิสบี) ครับ แถมพอรู้ว่าเป็นปากกาไต้หวัน ยิ่งหวั่นใจเข้าไปใหญ่ 5555 ครั้นจะตอบคำถามที่ละคนก็ไม่ไหว เลยทำบทความนี้ขึ้นมาครับ

ขอบอกก่อนว่านะครับว่า บทความนี้ผมเขียนขึ้นจากความรู้สึกส่วนตัวเป็นหลัก จึงขอให้ใช้วิจารณญาณในการรับชมครับ 5555

นโยบายการตลาดที่กล้าและฉลาด

ที่หลายคนยังไม่รู้จัก TWSBI ก็ไม่แปลกนะครับ เพราะปากกาหมึกซึมยี่ห้อนี้ เพิ่งจะถือกำเนิดมาเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง แต่ผมว่า TWSBI เป็นบริษัทที่มีแผนการตลาดที่กล้า และฉลาดดีครับ

ที่ว่ากล้า คือ กล้าทำปากกาหมึกซึมออกมาขาย โดยประกาศชัดๆกันไปเลยว่า ‘Made in Taiwan’ โดยไม่กลัวข้อครหาที่ว่าเป็น ‘ปากกาจีน’ ซึ่งในความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว ‘ปากกาจีน’ คือ ปากกาคุณภาพต่ำ ไว้วางใจไม่ได้ แถม TWSBI ยังกล้า วางตลาดด้วยปากกาในราคาระดับกลาง (เกิน $50) อีกด้วย โดยไม่สนว่า จะมีคนยอมจ่ายตังค์ $50-70 ซื้อปากกาจีนรึเปล่า มีสินค้าบางประเภทนะครับ ที่ผลิตในจีนหรือประเทศอื่นๆ แต่นำไปประกอบในอเมริกา เพื่อเลี่ยงคำว่า เป็นสินค้าจีนครับ เพราะตามกฎหมายของอเมริกาแล้ว สินค้าที่ประกอบในประเทศ ไม่ว่าจะผลิตจากที่ไหน ก็สามารถใช้คำว่า ‘Made in USA’ ได้ครับ ขณะที่มีสินค้าบางอย่างอีกเหมือนกัน ที่นำเข้ามาแล้วใส่กล่องในอเมริกา แล้วก็ใช้คำว่า ‘Inspected in USA’ อะไรทำนองนี้

ความกล้าอย่างเดียว คงกินไม่ได้แน่ครับ ผมเลยบอกว่า TWSBI ฉลาดในการทำตลาดด้วย เพราะหาก TWSBI เปิดตัวด้วยปากการะดับเริ่มต้นที่มีราคาถูก สมมติว่าเอารุ่น Eco มาเปิดตัวก่อน โดยหวังว่าเป็นปากการาคาถูก จะได้ขายได้เยอะๆ อาจตกม้าตายไปแล้วก็ได้ครับ เพราะตลาดก็คงมองว่า เป็นปากกาจีนราคาถูกๆนั่นเอง และเมื่อจะออกรุ่นราคาแพงมา ตลาดก็จะยังคงทำใจยอมรับยากครับ

ในทางตรงข้าม เมื่อ TWSBI ออกปากการาคาแพงมาสู่ตลาดก่อน และได้การยอมรับในระดับหนึ่งแล้ว พอออกปากการาคาประหยัดมา ก็จะได้รับการต้อนรับจากตลาดอย่างล้นหลาม ทั้งจากคนที่กลัวๆกล้าๆกับปากกายี่ห้อนี้แต่แรก จะได้ลองจับมาเล่น และจากคนที่อยากได้ปากกายี่ห้อนี้แต่แรก แต่งบไม่ถึงครับ (อันหลังนี่ผมเอง 5555)

TWSBI รุ่นต่างๆ (จากบน) TWSBI Vac700,

TWSBI 540 (ปัจจุบันเลิกผลิต เปลี่ยนเป็นรุ่น 580), TWSBI Micarta

(ปัจจุบันเลิกผลิตแล้ว) TWSBI Classic, TWSBI Mini

ภาพจาก Nibsmith.com

มีที่ว่างให้เล่นอีกเยอะ

ดูจากระดับราคาของปากกา TWSBI แล้วรุ่น Vac700 ตั้งไว้ที่ $65 ลงมาก็เป็นรุ่น 580 ขายกันราว $50 ต่อมาก็เป็น Eco ขายที่ราว $30 (65 > 50 > 30...) ผมจะไม่แปลกใจเลย หากต่อไป TWSBI จะออกปากกามาอีกรุ่น สมมติเป็นรุ่น Student ละกัน โดยเป็นปากกาพลาสติกสีสันสดใส หน้าตาน่ารัก แล้วใช้ที่สูบหมึกทั่วไป มาวางขายในราคาราว $15 หรือประมาณ 400-600 บาท เพื่อเก็บตลาดล่างครับ เผลอๆอาจมีรุ่น Limited Edition มาให้เล่นกันอีกด้วย อันนี้รอดูกันต่อไป 5555

TWSBI ยังสามารถเข้าสู่ตลาดบนได้ไม่ยากอีกด้วย แค่เอาตัว Vac700 ไปสวมเสื้อใหม่ ใส่เครื่องประดับเพิ่มเข้าไป คือ ทำบอดี้ของปากกาเป็นอะคริลิก แล้วใส่หัวปากกาทองคำ 14K เข้าไป แค่นี้ก็เอามาวางขายในระดับราคาเกิน $100 ได้ไม่ยากแล้วครับ

สู้ด้วยลักษณะที่โดดเด่น

ตลาดปากกาหมึกซึมในราคาระดับกลาง ($50-100) ที่ TWSBI กระโดดเข้าใส่นี่ ผมมองว่า เป็นตลาดมีการแข่งขันสูงสุด ต้องแข่งกับปากกายี่ห้อดังๆมากมาย อย่าง Parker, Sheaffer, Cross, Lamy, Waterman, Pilot, Sailor และอีกเยอะแยะเลยครับ เรียกว่า เป็นตลาดของผู้ซื้ออย่างแท้จริง คือ มีตัวเลือกมากครับ

แต่ TWSBI ก็ใช้กลยุทธที่ดึงดูดใจมาก คือ เลือกใช้ระบบเติมหมึกที่นิยมใช้กันในปากการาคาแพง แทนการใช้ที่สูบหมึกหรือหมึกหลอดธรรมดาๆ เหมือนกับปากกายี่ห้ออื่นๆในระดับราคาเดียวกันครับ ตรงนี้เองทำให้นักเล่นปากกาหมึกซึมที่มีงบจำกัด (รวมถึงผมด้วย 5555) พากันตีปีกดีใจ ที่จะได้ใช้ปากกาที่มีระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler หรือ Vacuum Filler ในราคาที่รับไหว ขนาดที่มีนักวิจารณ์ปากกาชื่อดังคนหนึ่ง ถึงกับพูดว่า TWSBI เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด สำหรับผู้ที่ต้องการยกระดับของประสบการณ์ในการใช้ปากกาหมึกซึม ในราคาที่เหมาะสม นี่จึงเป็นเหตุให้ TWSBI ได้รับการต้อนรับจากตลาดอย่างรวดเร็วครับ

มาแรงแซงโค้ง

การที่จะวัดว่าปากกาหมึกซึมสักรุ่นประสบความสำเร็จขนาดไหนนี่ ดูยากเหมือนกันนะครับ เพราะว่าไม่รู้จะหาตัวเลขบอกยอดขายจากที่ไหนครับ ผมจึงดูจากฟอรั่มเกี่ยวกับปากกาหมึกซึมชื่อดัง อย่าง Fountain Pen Network ครับ การที่ฟอรั่มนี้เปิดห้องให้กับ TWSBI โดยเฉพาะ ก็น่าจะแปลได้ว่า มีคนพูดถึงปากกายี่ห้อนี้กันมากนะครับ เพราะปากกายี่ห้อดังๆ ที่ผลิตมาก่อน TWSBI หลายสิบปี มีรุ่นให้เลือกมากกว่า มีปากการาคาแพงกว่า อีกหลายยี่ห้อก็ยังไม่มีห้องส่วนตัว ต้องนอนเบียดๆกับคนอื่น 5555

ภาพโรงงานของ TWSBI มีเครื่อง CNC นับสิบๆตัวเลยครับ

ภาพจาก twsbi.com

รู้จักกับ TWSBI กันก่อน

TWSBI ผลิตโดยบริษัท Ta Sin Precision ของไต้หวันครับ บริษัทนี้เก่งในเรื่องงานพลาสติก และโลหะครับ โดยได้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ดังๆของทั่วโลกมาแล้วมากมาย นับตั้งแต่ชิ้นส่วนของเล่นเด็กยี่ห้อ Lego ไปจนถึงเครื่องเขียนชั้นนำของโลก (อันนี้บริษัทไม่ได้บอกว่า ผลิตอะไรให้กับยี่ห้อไหนนะครับ) ต่อมาบริษัทได้ตัดสินใจที่จะผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ซึ่งก็เป็นต้นกำเนิดของปากกาหมึกซึมยี่ห้อ TWSBI ครับ

ชื่อ TWSBI ย่อมาจากคำว่า ‘San Wen Ton’ เอามาเขียนกลับหลังเป็น ‘TWS’ ซึ่งแปลว่า ‘หอเกียรติยศแห่งสามวัฒนธรรม’ หรือ ‘Hall of Three Cultures’ หรือจะแปลว่า ‘หอเกียรติยศแห่งสมบัติอันล้ำค่าสามประการ ของจักรพรรดิ เฉียนหลง’ ก็ได้ครับ ชื่อนี้ยังหมายถึง ที่ระลึกแห่งผลงานชั้นยอดของโลก ด้านการเขียนอักษรวิจิตรของจีน 3 ชิ้นได้อีกด้วย (อันนี้น่าจะเพราะภาษาจีนดิ้นได้นะครับ ผมไม่ได้เรียนภาษาจีน อ่านแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่) ส่วนคำว่า ‘BI’ ที่มาต่อท้าย มีความหมายว่า เครื่องเขียน หรือ Writing Instruments ครับ

จริงๆแล้ว ผมไม่สนว่าชื่อยี่ห้อจะแปลว่าอะไรครับ แต่พอรู้ว่าเคยทำชิ้นส่วนให้ Lego ผมก็วางใจแล้วครับ เพราะ Lego ทุกชิ้นงานเนี๊ยบมาก ในกล่องหนึ่งมีชิ้นส่วนเป็นร้อยเป็นพันชิ้น แต่ไม่เคยมีชิ้นส่วนไหนที่ผิดขนาด ต่อกับชาวบ้านไม่ได้ หรือมีครีบพลาสติกเกินออกมาให้เห็นแม้แต่ชิ้นเดียวครับ ของเล่น Lego ที่ผมมีอยู่ บางชุดอายุเกือบ 20 ปีแล้ว ก็ยังมีคุณภาพดี ไม่มีแห้งกรอบ สีสันก็ยังสดใสอยู่เลยครับ

พอมาดูรูปโรงงานของ Ta Shin Precision เห็นเครื่องจักรแบบ CNC วางเรียงรายหลายสิบเครื่อง ยิ่งทำให้มั่นใจมากขึ้น เสียดายแค่ไม่มีรูปสายการประกอบปากกาให้เห็นว่า การประกอบ และการ QC มีความพิถีพิถันขนาดไหนครับ

จุดเด่นของปากกา TWSBI

เน้นย้ำอีกที นี่เป็นการเขียนจากความรู้สึกของผมล้วนๆครับ อาจจะผิดถูกอย่างไร กรุณาใช้วิจารญาณในการรับชมครับ

TWSBI Vac700 เป็นปากการุ่นแพงสุดของ TWSBI ปากการุ่นนี้ใช้ระบบเติมหมึกแบบสุญญากาศ หรือ Vacuum Filler บางทีก็จะเรียกระบบเติมหมึกแบบนี้ว่า ‘Plunger Filler’ ครับ ที่เติมหมึกแบบนี้จะพบก็เฉพาะในปากการาคาแพงๆ อย่าง Pilot Custom หรือ Sheaffer บางรุ่นครับ

ขณะที่ TWSBI 580 กับ TWSBI Eco ใช้ระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler ที่จะเจอกันในปากการะดับราคาไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท (หากไม่นับปากกาจากอินเดีย หรือที่นำเข้าจากอินเดียไปติดยี่ห้อตัวเองนะครับ) จุดเด่นของระบบเติมหมึกทั้งสองแบบ คือ สามารถจุหมึกได้มากกว่า ที่สำคัญมันคูลครับ สำหรับผมแล้ว ปากกาหมึกซึมที่เป็นแบบใสๆ หรือ Demonstrator จะต้องมีระบบสูบหมึกแบบที่บรรจุหมึกไว้ในด้าม อย่าง Vacuum หรือ Piston Filler นี่แหละครับ ถ้าไม่ใช่ ก็ขอเป็น Eyedropper ไปเลย แต่ถ้าด้ามใสๆ แต่ใช้หมึกหลอด หรือที่สูบหมึกนี่ ไม่ได้เลยครับ

วัดรอยเท้าปากกายี่ห้อดัง

จากเรื่องระบบที่เติมหมึกนี่แหละครับ ที่ทำให้ปากกาหมึกซึมของ TWSBI โดดเด่นจากบรรดาคู่แข่งในตลาดแบบหาตัวเลือกมาเปรียบไม่ได้เลย ถ้าใครต้องการที่จะใช้ปากกาหมึกซึมที่มีระบบเติมหมึก เหมือนกับปากการาคาแพงๆ ก็ต้อง TWSBI เจ้าเดียวครับ

ส่วนตัวที่ผมมองนะครับ ต้องบอกก่อนว่า ปากกาหมึกซึมที่อยู่ในใจผมเสมอมา คือ Pelikan ครับ และก็จะมีก็แต่ TWSBI นี่แหละที่พอจะทดแทนได้บ้างในความรู้สึก Vac700 มีระบบเติมหมึกเหมือน M800 ที่มีราคาสูงกว่าเกิน 10 เท่า ส่วน 580 นี่ สำหรับผมแล้วแทบจะทดแทน Pelikan M205 ที่มีราคาแพงกว่าเกือบ 3 เท่าได้เลยครับ (ที่ใช้คำว่า ‘แทบจะทดแทนได้’ ก็เพราะยังไงใจก็ยังรัก Pelikan ครับ 5555)

หัวปากกาของ TWSBI Vac700 และ TWSBI 580 จะทำมาติดกับ Feed และ Section เป็นชิ้นเดียวกันเลย ไม่สามารถถอดออกจากกันได้ (จริงๆก็ถอดได้นะครับ แต่เสี่ยง Feed พังครับ) ที่ทำมาติดกันแบบนี้ ทำให้สามารถรับประกันได้ว่า หัวปากกาและระบบป้อนหมึกจะทำงานได้อย่างดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เกิดข้อผิดพลาดจากการถอดประกอบของผู้ใช้เองครับ ซึ่งก็มีผู้ผลิตหัวปากกาดังๆในฝั่งตะวันตกบางรายเหมือนกัน ที่ทำชุด Nib Set ที่รวมหัวปากกา Feed และ Section สำหรับปากกายี่ห้อต่างๆออกมาขายครับ

ส่วน TWSBI Eco หัวปากกาจะสามารถถอดออกจาก Section และ Nib ได้ โดยดึงออกตรงๆ ก็เหมือนกับปากกาจีน และปากการาคาไม่สูงหลายๆยี่ห้อครับ Lamy Safari ก็ถอดประกอบด้วยวิธีนี้เหมือนกัน แต่จะต้องดึงหัวปากกาออกก่อน จุดนี้ทำให้การเปลี่ยนหัวปากกาของ Lamy Safari ทำได้ง่ายกว่าครับ

จุดที่ผมไม่ชอบ

มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียกันบ้าง สำหรับ TWSBI Vac700 และ TWSBI 580 ผมไม่ชอบตรงที่หัวปากกาติดมากับ Feed และ Section นี่แหละครับ เพราะรื้อปากกาเล่นไม่ได้ 5555 คือ ถอดออกมาทำความสะอาด Feed ไม่ได้ครับ อีกอย่าง คือ ถ้าจะซื้อหัวปากกาแบบต่างๆมาเปลี่ยนเล่นๆ จะมีราคาแพงมาก อย่างสมมติซื้อปากกามาด้ามเดียว เป็นหัวปากกาขนาด EF เอาไว้จดงาน แล้วไปซื้อเฉพาะหัวปากกาปากตัด Italic 1.5 มม. มาเปลี่ยน เผื่อใช้เขียน Calligraphy เล่นๆ จะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อปากกาสองด้าม ถ้าเป็น Lamy Safari ก็ซื้อแต่หัวปากกา ราคาราว $10 กว่าๆ แต่สำหรับ TWSBI Vac700 กับ 580 ต้องซื้อมาทั้ง Section เลย ราคาจะสูงกว่าถึงราว $25 ครับ

ส่วน Eco เปลี่ยนหัวปากกาง่ายกว่า แต่ขณะนี้ยังมีหัวปากกาขนาดต่างๆให้เลือกน้อยกว่าครับ และหัวปากกาปากตัดของ TWSBI จะทำเป็น Stub ไม่ทำเป็น Italic ครับ คือ ใช้เขียนหนังสือภาษาอังกฤษหวัดๆ หรือใช้เซ็นชื่อสวยครับ แต่อาจจะไม่เหมาะที่จะใช้เขียนอักษรวิจิตรมากนัก แต่หัวปากกาแบบมาตรฐานยังงี้ เราสามารถหาซื้อหัวปากกายี่ห้ออื่นๆมาเปลี่ยนเองได้ไม่ยากครับ

หวังว่า TWSBI จะหันมาสนใจกับหัวปากกา Calligraphy เช่น Flexible Nib หรือ Italic Nib มากขึ้นนะครับ เพราะหัวปากกาแบบนี้จะกินหมึกมาก เหมาะกับปากกาที่เป็น Piston Filler อยู่แล้วครับ

พูดถึง TWSBI Classic สักหน่อย

ที่ผ่านมาผมยังไม่ได้พูดถึง TWSBI Classic เลย ผมว่ารุ่นนี้เป็นปากกาที่ทำออกมา เพื่อเอาใจนักเล่นปากกาอนุรักษณ์นิยม ที่อาจจะไม่ชอบปากกาใสๆ แบบ Demonstrator เพราะมองดูเหมือนของเล่นครับ TWSBI Classic จะมีขนาดเล็ก และผอมกว่า TWSBI 580 ด้ามปากกาทรงแปดเหลี่ยมมุมมน สวยมากครับ รูปทรงปากกามีส่วนโค้งส่วนเว้า ไม่ใช่ตรงๆลงมาแล้วปลายเรียว เป็นปากกาที่เติมหมึกแบบ Piston Filler และมีช่องใสๆให้มองว่าหมึกหมดรึยังด้วยครับ จุดหนึ่งที่ผมยังไม่ถึงกับโดนใจปากการุ่นนี้ คือ ปลอกปากกาไม่สามารถเสียบที่ท้ายด้ามอย่างมั่นคงครับ แม้ว่าปกติเวลาเขียนผมจะไม่ค่อยเอาปลอกปากไปเสียบท้ายด้ามเท่าไหร่นัก แต่มันควรจะออกแบบให้ทำได้นะครับ

อย่างที่บอกไปแล้วหลายรอบครับ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆครับ และผมก็รู้ตัวด้วยว่า ค่อนข้างจะเขียนเข้าข้างยี่ห้อนี้ไปบ้าง ไม่ใช่ว่าผมได้เงินให้เขียนนะครับ แต่เพราะว่า ผมชอบระบบเติมหมึกแบบต่างๆอยู่แล้ว และก็ยังชอบหัวปากกาขนาดเล็กของแบรนด์ทางเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือจีนด้วยครับ รออีกสักพัก ให้ผมได้ปากกา TWSBI Eco มาเป็นของตัวเองก่อน แล้วผมจะทำรีวิวให้อ่านกันอีกที ไม่รู้เหมือนกันว่า ตอนนั้นความเห็นของผมจะเปลี่ยนไปหรือไม่ รอติดตามกันต่อไปนะครับ

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page