top of page
  • ที่มา: parker51.com

พลิกตำนาน Parker 51

ผมเห็นปากกาที่มีรูปทรงเหมือน Parker 51 ครั้งแรก เป็นปากกาจีนยี่ห้อ Hero ครับ ผมรู้สึกถูกใจกับปากการูปทรงนี้มาก จนถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้ และเมื่อได้ใช้งาน ก็ยิ่งประทับใจปากกาแบบ Hooded Nib นี่เข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้งานกลางแจ้ง แล้วต้องเปิดปลอกปากกาทิ้งไว้ค่อนข้างนาน

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผมอยากรู้จัก Parker 51 ให้มากยิ่งขึ้น จึงหาข้อมูลจากเน็ท แล้วนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

Parker 51 Aerometric Pen with Gold Plated Cap

ภาพจาก gilai.com

ข้อมูลเกี่ยวกับ Parker 51 ในอินเทอร์เน็ตมีอยู่เยอะเลย ในเว็บของ Parker เองก็มีประวัติ และรายละเอียดครบถ้วนมากทีเดียว แต่ค่อนข้างจะยาวไปสักหน่อย ผมเลยเลือกแปลบทความจากเว็บ parker51.com มาให้อ่านกันครับ ข้อมูลจากเว็บนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนๆอ่านเข้าใจง่ายดี มี Link แยกเป็นหัวข้อต่างๆมากมาย ตั้งแต่ประวัติ ปากกาเวอร์ชันต่างๆ และอื่นๆอย่างครบครัน บทความนี้ผมแปลมาเฉพาะส่วนที่เป็นประวัติของ Parker 51 นะครับ แต่ก็นำข้อมูลบางส่วนจากเว็บของ Parker มาเสริมด้วย เพื่อให้เนื้อหาสมบูรณ์ขึ้นครับ

“เหมือนกับปากกาที่มาจากต่างพิภพก็ไม่ปาน... ช่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และช่างงดงามซะเหลือเกิน ไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถเทียบเคียงได้ มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ด้วยวิธีใดๆเท่าที่มนุษย์จะรับรู้ได้”

แค่คำเกริ่นนำของผู้เขียน ก็ทำเอาใจละลายไปเลยนะครับ

Parker 51 เป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมที่ประสบความสำเร็จที่สุด และเป็นที่ยอมรับของคนในทั่วโลกอย่างแท้จริง จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัย Illinois Institute of Technology ปากการุ่นนี้ได้รับการโหวตให้เป็นการออกแบบทางอุตสาหกรรม แห่งศตวรรษที่ 20 ที่ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 4

Parker 51 เป็นการปฏิวัติการออกแบบปากกาหมึกซึมอย่างแท้จริง โฆษณาของ Parker 51 ในการเปิดตัวครั้งแรกได้ใช้คำว่า ‘Ten Years Ahead of Its Time’ หรือแปลว่า ล้ำหน้าไปอีก 10 ปี แต่ผมว่าเป็นโฆษณาที่ผิดไปนะครับ เพราะจนถึงวันนี้ Parker 51 ก็มีอายุกว่า 70 ปีเข้าไปแล้ว แต่ก็ยังคงสวยงามเป็นอมตะอยู่เลย ผมว่าสวยกว่าบรรดาปากกาพลาสติก หรือปากกาโลหะรุ่นใหม่ๆหลายๆรุ่นเลยนะครับ Parker น่าจะโฆษณาว่า ‘100 Years Ahead’ มากกว่านะครับ 5555

Parker 51 Demonstration ปากกาสำหรับสาธิตกลไกการทำงาน

ตัวนี้ไม่มีวางจำหน่ายนะครับ แต่มีไว้สำหรับร้านค้า และพนักงานขายเท่านั้น

ยังมีภาพปากกาสาธิตของ Parker 51 อีกหลายเวอร์ชัน ดูได้ที่นี่ครับ

ปากการุ่นนี้เป็นปากกาหมึกซึมที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลก โดยบริษัท Parker ได้ใช้เวลานานถึง 11 ปี ในการพัฒนาปากการุ่นนี้ขึ้นมา และมียอดจำหน่ายสูงถึง 20 ล้านด้าม ในระยะเวลากว่า 30 ปี

ภาพโฆษณาคุณสมบัติของ Parker 51

Parker 51 มีหัวปากกาทำจากทองคำ 14 กระรัต ที่บรรจุอยู่ภายในด้ามจับ (Hood) ซึ่งทำหน้าที่ดักน้ำหมึกที่ไหลออกมามากเกินไป (Overflow) เป็นผลให้ปากการุ่นนี้ไม่มีปัญหาการป้อนน้ำหมึกมากเกินไป หรือปัญหาน้ำหมึกรั่วซึมออกทางหัวปากกา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของปากกาหมึกซึมในสมัยนั้น ทั้งยังช่วยป้องกันหัวปากกาแห้งเมื่อเปิดปลอกปากกาทิ้งไว้นานๆอีกด้วย ช่วยให้ Parker 51 สามารถเริ่มเขียนได้ในทันทีอย่างสบายๆ

​ตัวปากกาของ Parker 51 ได้รับการออกแบบให้เมื่อมองจากด้านข้างจะมีรูปทรงคล้ายเครื่องบินรบ และวัสดุที่ใช้ทำปากกาก็ทำจากอะคลีลิก ที่เรียกว่า ลูไซท์ (Lucite) ซึ่งมีความเสถียร คนทน และเป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ทำส่วนจมูกของเครื่องบินรบด้วย อะคลีลิกชนิดนี้ยังทนต่อความเป็นกรดได้สูง ทำให้สามารถใช้กับน้ำหมึกที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับ Parker 51 โดยเฉพาะได้เป็นอย่างดี

การพัฒนาปากกาหมึกซึม Parker 51 เสร็จสิ้นลงในปี 1939 ซึ่งเป็นปีที่บริษัท Parker Pen ครบรอบ 51 ปี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่น ในช่วงต้นปี 1940 ได้ออกปากการุ่นก่อนเข้าสายการผลิต หรือ Pre-Production เพื่อทดสอบตลาด และออกวางจำหน่ายในเวเนซูเอลา และประเทศอื่นๆในแถบคาริบเบียน ก่อนที่จะวางตลาดทั่วไปในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ Parker ใช้สำหรับทดสอบทางการตลาด ได้แก่ คารากัส และมาราไคโบ ประเทศเวเนซูเอลา บาร์รันควิลา ประเทศโคลอมเบีย พอร์ทออฟสเปน ประเทศไทรนิแดด โทบาโก และคูราเกา ประเทศเนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส

เหตุที่ Parker เลือกประเทศเหล่านั้นสำหรับทดลองตลาดปากกา Parker 51 ก็เพราะว่า เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูง สภาพอากาศมีการแปรปรวนมาก ซึ่งปกติจะไม่พบในสหรัฐอเมริกา โดยปากกาที่นำไปจำหน่ายในตลาดทดลองนี้ใช้ชื่อรุ่นว่า ‘51s’ ซึ่งภายหลังก็มีการนำเอาปากการุ่นทดลองนี้ไปจำหน่ายในอเมริกาด้วยเหมือนกัน โดยจะมีข้อแตกต่างจากปากกาที่ขายในตลาดทดลองเล็กน้อย คือ ปากกาที่ขายในตลาดทดลองจะมีอัญมณีสีฟ้าอยู่บนคลิปด้วย และปากกาที่ขายในตลาดทดลองจะมีแถบแหวนขนาดใหญ่อยู่ที่ตรงกลางตัวปากกา นอกจากนี้ปากกาที่ขายในตลาดทดลองจะใช้หัวปากกาทำจากสแตนเลส แต่ปากกาที่จำหน่ายในอเมริกาจะใช้หัวปากกาทำจากทองคำ 14 กระรัต และสีของตัวปากกาบางสีในรุ่นสำหรับทดลองตลาด ไม่ได้ถูกนำมาผลิตในรุ่น Production เช่น สีแดงแรพเบอรี่ เป็นต้น เล่ากันว่า เหตุที่ไม่ผลิตสีนี้ออกมาจำหน่าย เพราะ Mrs. Parker ไปเห็นเข้า แล้วบอกว่า มันดูเหมือนกันสีของเลือดมากเกินไป แต่ในภายหลัง Parker ก็ได้นำสีแดงแรพเบอรี่มาใช้ในปากกา Parker 61

ราวเดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน ของปี 1949 มีร้านค้าสามแห่งในชิคาโก ฟิลาเดลเฟีย และอิลินอยส์ ได้ทดลองจำหน่าย Parker 51 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง จากนั้นก็ได้มีการเปิดตัวในซานฟรานซิสโก เดนเวอร์ และวิสคอนซิน และวางจำหน่ายทั่วโลกในเดือนมกราคม ปี 1941

ราคาของ Parker 51 ที่วางจำหน่ายในปี 1941 มีดังนี้

  • รุ่น Heirloom ปลอกปากกา และแถบแหวนต่างๆบนตัวปากกาทำจากทอง 14 กระรัต ราคาขายเป็นชุดอยู่ที่ $80.00 เฉพาะปากกา $50.00 เฉพาะดินสอ $30.00

  • รุ่น Heritage ปลอกปากกาทำจากเงิน Sterling แถบแหวนต่างๆบนตัวปากกาทำจากทอง 14 กระรัต ราคาขายเป็นชุดอยู่ที่ $40.00 เฉพาะตัวปากกา $25.00 เฉพาะดินสอ $15.00

  • รุ่น Custom ปลอกปากกาทำจาก Gold Filled (ทองคำแท้รีดเป็นแผ่น แล้วหุ้มปลอกปากกาโลหะอีกที ไม่ใช่ทองชุบนะครับ) ราคาขายเป็นชุดอยู่ที่ $22.50 เฉพาะตัวปากกา $15.00 เฉพาะดินสอ $ 7.50

  • รุ่นที่ปลอกปากกาทำจากเงิน Sterling และมีแถบแหวนทำจาก Gold Trim ราคาขายเป็นชุดอยู่ที่ $17.50 เฉพาะปากกา $12.50 เฉพาะดินสอ $ 5.00

นอกจากนี้ Parker ยังได้พัฒนาน้ำหมึกพิเศษขึ้นมา สำหรับปากกา Parker 51 โดยเฉพาะอีกด้วย โดยเป็นน้ำหมึกที่แห้งเร็ว กันน้ำ โดนแสงอาทิตย์แล้วสีไม่ซีดจาง และยังมีสีสันสดใสอีกด้วย โดยให้ชื่อน้ำหมึกรุ่นนี้ว่า ‘Parker 51’ เหมือนชื่อรุ่นของปากกา หมึกรุ่นนี้มีออกมาจำหน่าย 4 สีด้วยกัน คือ เหลือง น้ำเงิน แดง และเขียว

ข้อมูลเกี่ยวกับ Parker 51 ทั้งจากเว็บของ Parker.com เอง และเว็บ Parker51.com รวมถึงเว็บอื่นๆด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นการจำแนก Parker 51 เวอร์ชันต่างๆ สำหรับนักสะสมปากกาครับ แต่ผมไม่ได้นำมาแปลต่อไป เพราะปากการุ่นนี้มีหลายเวอร์ชันมากๆ และแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ยิบย่อยไปหมด หากใครสนใจจะสะสมปากการุ่นนี้แบบจริงจัง ผมแนะนำให้หาข้อมูลจากทั้งสองเว็บนี้ได้เลยครับ

ในส่วนตัวผม คิดว่าปากการุ่นนี้เป็นหนึ่งในการปฏิวัติของปากกาหมึกซึมอย่างแท้จริง แม้ว่าปากการุ่นใหม่ๆจะมีใครที่ผลิตปากกาแบบ Hooded Nib ออกมาแล้วก็ตาม แต่ในยุค 40 และ 50 ไปจนถึงยุค 60 ต้นๆ ปากกาหมึกซึมแทบทุกยี่ห้อ จะต้องผลิตปากกาแบบ Hooded Nib ตามอย่าง Parker 51 ออกมาอย่างน้อยก็ 1 รุ่นครับ

ตอนนี้ผมก็คงได้แต่ใช้ปากกาแบบ Hooded Nib ของ Hero แล้วก็เขียนไปฝันไป ตามสไตล์ Write Like Dream ว่า กำลังเขียนด้วย Parker 51 แต่ผมก็สัญญากับตัวเองว่า ยังไงซะผมจะต้องครอบครอง Parker 51 ให้จงได้ครับ ไม่ว่าจะเนิ่นนานเพียงไร ฉันก็จะรอ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page