รู้จักกับ Conid Pen
ก็ตามประสาคนบ้าปากกาล่ะครับ ที่พอมีเวลาว่างก็จะนั่งค้นหาข้อมูล อ่านรีวิวเกี่ยวกับปากกาหมึกซึมไปเรื่อยเปื่อยครับ แล้วก็มาสะดุดกับปากกายี่ห้อ ‘Conid’ ครับ ปากกาอะไรหว่า สวยชะมัด แต่ผมไม่เคยได้ยินชื่อยี่ห้อนี้มาก่อนเลยครับ ถามพ่อ ก็ไม่รู้จัก ก็เลยค้นข้อมูลแล้วมาเล่าสู่กันฟังครับ
ข้อมูลของปากกายี่ห้อนี้มีน้อยมากเลยครับ รีวิวปากการุ่นต่างๆยิ่งมีน้อยเข้าไปใหญ่ พอเข้าไปดูที่เว็บของ Conid เอง... โอ้แม่เจ้า จอร์จ กล้วยทอดร้อยถุง... ปากการาคาแพงมากๆๆๆๆเลยล่ะ มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 350 ไปจนถึง 750 ยูโร หรือหมื่นสามหมื่นสี่ ไปจนถึงเกือบๆสามหมื่นบาทเลยครับ ในเว็บก็ไม่มีประวัติของบริษัทด้วย บอกแค่ว่าบริษัทตั้งอยู่ที่เมือง Antwerp ประเทศเบลเยี่ยมครับ ผมเลยต้องไปถามอากู๋ (กูเกิ้ล) พบว่า Conid เป็นยี่ห้อใหม่ครับ ที่เพิ่งเกิดในปี 2008 นี่เอง... จิงดิ ! ปากกายี่ห้อใหม่ แต่กล้าตั้งราคาซะขนาดนี้ แปลว่าต้องมีดีอะไรอยู่บ้างล่ะ ผมก็เลยไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆเว็บ แล้วนำมาเรียบเรียงให้อ่านกันครับ
ผู้ออกแบบ
ปากกา Conid ออกแบบโดย "Fountainbel" Francis Goossens ซึ่งก่อนที่แกจะมาทำปากกาแกเคยทำงานกับบริษัทออกแบบเครื่องจักรให้กับอุตสาหกรรมไม้ โดยแกมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านการออกแบบเครื่องจักร ไฮดรอลิก และเครื่องจักรที่ทำงานด้วยกำลังลม Mr. Francis มีเป้าหมายที่จะออกแบบสิ่งของที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีส่วนประกอบน้อยที่สุด
Mr. Francis หลงไหลในการสะสมมีดเก่าๆ และปากกาหมึกซึมโบราณมาก พอเกษียณเขาก็ใช้เวลากับการฟื้นฟูปากกาโบราณ ซึ่งทำให้เขากลายมาเป็นหมอรักษาปากกา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหลายๆฟอรั่มในชื่อว่า ‘Fountainbel’ และต่อมาเขาเกิดความคิดที่จะสร้างปากกาหมึกซึมที่ ‘ดีกว่า’
ในฐานะที่เป็นหมอรักษาปากกา เขาได้ศึกษาถึงข้อดี และข้อเสียของปากกาหมึกซึมที่มีอยู่ทั้งหมด โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบเติมหมึก ความที่เป็นวิศวกร เขาจึงได้ออกแบบปากกาหมึกซึมสำหรับวิศวกร และทุกคนที่รักการเขียน
ก่อตั้ง Conid Pen
อีกทางหนึ่ง Mr. Marc Groven และ Mr. Werner Helsen ได้ก่อตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ Conid ซึ่งย่อมากจากคำว่า Concept & Ideas ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่หลายอย่าง
กระทั่งในปี 2007 Mr. Francis ได้ติดต่อขอให้บริษัท Conid ช่วยผลิตชิ้นส่วนของระบบเติมหมึกสำหรับปากกาหมึกซึมแบบ Plunger Filler ซึ่งพอดีกับที่ Mr. Groven และ Mr. Helsen ก็ชอบปากกาหมึกซึมเหมือนกัน ทั้งสามก็เลยได้ร่วมกันทดสอบ แก้ไขระบบเติมหมึกที่ Mr. Francis ออกแบบไว้ จนมีความสมบูรณ์มากขึ้น และนี่เองที่เป็นจุดกำเนิดของ Conid Pen
ปากกา Conid ผลิตในประเทศเบลเยี่ยม โดยตัวต้นแบบถูกนำออกแสดงสู่สายตาชาวโลกในงาน “Tilburg pen show” เมื่อเดือนกันยายน ปี 2008 และในปีนั้นเองที่ได้ก่อตั้งบริษัท Conid Pen ขึ้น
เสียงจากผู้ใช้
ผู้ใช้ปากกา Conid ได้กล่าวยกย่องปากกายี่ห้อนี้ในฟอรั่มต่างๆไว้มากมาย ผมจะสรุปให้ฟังเลยแล้วกัน ไม่แปลออกมาทีละคนนะครับ เพราะส่วนใหญ่ก็พูดชมไปในทิศทางเดียวกัน
ผู้ใช้ส่วนใหญ่ยกย่องให้ Conid เป็นการพัฒนาของปากกาหมึกซึมอย่างแท้จริงครับ โดยบอกว่า ปากกาที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด ส่วนใหญ่ก็จะเหมือนๆกัน ต่างกันก็แค่สีสันและรูปทรง แต่ Conid มีจุดเด่นที่ระบบเติมหมึกแบบ Bulk Filler ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีใครเหมือนจริงๆ และตัวปากกายังมีการป้องกันการซึม และการรั่วไหลของน้ำหมึกที่ดีกว่า ทั้งยังจุน้ำหมึกได้จนเกือบเต็มพื้นที่ด้ามได้จริงๆครับ ขนาดที่มีคนบอกว่า ประสิทธิภาพของระบบเติมหมึกแบบ Bulk Filler นี่เรียกได้ว่า ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบที่สุดครับ
อีกจุดที่ปากกายี่ห้อนี้ได้รับคำชมมาก คือ เรื่องการออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ มีความสมดุลดีมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ชิ้นส่วนที่ทำจากไททาเนียม รวมไปถึงการผลิตที่ประณีตมากๆ โดยใช้เครื่องจักรไฮเทคครับ การออกแบบก็ดูดีมีสไตล์ มีหัวปากกาให้เลือกทั้งทำจากไททาเนียม ทองคำ และสแตนเลส การเปลี่ยนหัวปากกาก็ทำได้ง่ายอีกด้วย
จุดเด่นของ Conid
ตรงนี้เป็นข้อมูลที่ผมนำมาจากเว็บของ Conid Pen นะครับ
ในเว็บของปากกา Conid ได้พูดถึงจุดเด่นปากกาของตัวเองไว้ 7 ข้อ คือ
เปลี่ยนหัวปากกาได้ง่าย อันนี้ผมยังไม่เห็นนะครับว่า ปากกาของ Conid เปลี่ยนหัวปากกายังไง ถึงได้บอกว่าเปลี่ยนง่ายกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่จุดที่น่าสนใจ คือ Conid มีบริการ Custom Grinding หรือเจียรหัวปากกาแต่ละด้ามก่อนที่จะส่งให้กับลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าจะเขียนได้ลื่นสุดๆครับ แต่ด้วยราคานี้ก็สมควรแล้วครับที่จะต้องเอาใจใส่ลูกค้ายังงี้
ดีไซน์ตามหลักสรีระศาสตร์ มีความสมดุลยดีมาก ออกแบบมาสำหรับการใช้งานประจำวัน เรื่องนี้ผมอ่าน และดูวิดีโอจากหลายๆรีวิว ต่างก็ชื่นชมปากกาของ Conid ในเรื่องที่สมดุลดีมาก สามารถใช้เขียนหนังสือติดต่อกันนานๆได้โดยไม่เมื่อยล้าครั้บ
ง่ายต่อการเติมหมึก ทำความสะอาด และการถอดประกอบ ปากกาของ Conid จะมีประแจสำหรับถอดประกอบแยกขายด้วยครับ ประแจนี้เองที่ทำให้สามารถถอดประกอบปากกาทุกชิ้นออกได้อย่างง่ายดาย ไม่เสี่ยงต่อความเสียหายด้วยครับ
ไททาเนียม เพื่ออายุการใช้งานที่ยืนยาว ชิ้นส่วนที่เป็นโลหะทั้งหมดของปากกา Conid จะทำด้วยไททาเนียม ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง และเบากว่าสแตนเลส อีกทั้งยังป้องกันการกัดกร่อน และเป็นสนิมได้ดีกว่าด้วยครับ
จุหมึกได้มากกว่า แม้ว่าระบบเติมหมึกแบบ Bulk Filler จะสูบน้ำหมึกเข้าไปเก็บไว้ในด้ามปากกา เหมือนกับ Piston Filler หรือ Vacuum Filler แต่ Bulk Filler สามารถสูบหมึกได้จนเกือบเต็มพื้นที่ของด้ามปากกา ในบางรีวิวบอกว่า สามารถเติมหมึกได้มากถึง 85-90% ของพื้นที่ด้ามปากกา ขณะที่ระบบเติมหมึกแบบอื่นๆ มักจะเติมหมึกได้ราว 70-80% ของพื้นที่ด้ามครับ
ระบบเติมหมึกแบบ Bulk Filler ซึ่งออกแบบโดย Fountainbel ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แข็งแรง และทนทาน ตัวปากกาทั้งด้ามผลิตโดยเครื่องจักรที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ (CNC) ทำให้มีความเที่ยงตรงแม่นยำสูงมาก ในการประกอบก็ไม่มีชิ้นส่วนใดใช้กาวเลย (ตรงนี้ที่ผมประทับใจครับ ระบบซีลกันรั่วซึมของปากกาต้องได้รับการออกแบบมาอย่างเยี่ยมมาก จึงไม่จำเป็นจะต้องใช้กาว หรือจาระบีช่วยป้องกันการรั่วซึมเลยครับ)
ขั้นตอนการผลิต
ในเว็บของ Conid มีวิดีโอการผลิตปากกาให้ชมด้วยครับ
ผมดูวิดีโอแล้วทึ่งมากครับ การผลิตปากกาทำด้วยเครื่องจักร CNC แบบผลิตกันทีละด้าม โดยมีทีมงานคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ทำแบบสายการผลิตออกมายกโหลครับ มิน่าล่ะ ปากกาจึงได้มีราคาแพงขนาดนี้
พ่อของผมชอบสะสมมีดด้วยครับ สำหรับมีดที่ผลิตด้วยเครื่องจักร CNC ในลักษณะเดียวกับปากกา Conid นี่จะถือว่าเป็นงาน Semi-Custom หรือจะเรียกว่าเป็นงาน Custom ก็ได้แล้วนะครับ มีดที่ผลิตในลักษณะนี้ราคาด้ามหนึ่งๆก็ต้องมีสองหมื่นขึ้นไปแทบทั้งนั้น ปากกาหมึกซึมมีส่วนประกอบมากกว่ามีด มีรายละเอียดที่พิถีพิถันในการผลิต และประกอบหลายขั้นตอน การตั้งราคาเท่านี้ก็ถือว่าสมเหตุสมผลนะครับ
ดูจากวิดีโอแล้ว ผมเห็นถึงความละเอียดในการเขียนโปรแกรมควบคุมเครื่อง CNC เลยครับ คือ สั่งงานให้เครื่องจักรบรรจงสร้างจริงๆ ซึ่งจะทำให้ได้ชิ้นงานที่ประณีต และมีความถูกต้องเที่ยงตรงสูงกว่า ทั้งๆที่บางขั้นตอนดูแล้ว แทบจะไม่จำเป็นจะต้องทำงานละเอียดขนาดนั้นก็ยังได้เลยครับ
จุดที่น่าทึ่งอีกจุดหนึ่ง คือ แถบแหวนไททาเนียมบนปลอกปากกา ที่ผลิตจากแท่งไททาเนียมตันๆเลย ไม่ได้ใช้ท่อกลวงมาทำครับ การผลิตคลิปเหน็บกระเป๋านี่ก็อลังการงานสร้างไม่แพ้กันเลยจริงๆ
ขั้นตอนการขัดผิวปากกา โดยขัดด้วยกระดาษทราย และใช้ผ้าปัด นี่ก็เป็นอีกขั้นตอนที่นับได้ว่าเป็นงาน Custom เลยครับ การแกะสลักที่ด้ามปากกา เป็นอีกจุดที่สร้างความประหลาดใจให้ผมที่สุดครับ คือ ใช้การแกะสลักด้วยมือทุกด้ามเลย ไม่ได้ใช้เลเซอร์ครับ ส่วนเรื่องการปรับแต่งเจียรหัวปากกาทุกด้าม ก่อนส่งถึงมือลูกค้านี่ เป็นสิ่งที่ปากกาดีๆราคาแพงทุกยี่ห้อมักจะทำกันอยู่แล้วครับ
เพียงแค่นี้ก็ได้คำตอบแล้วนะครับว่า ทำไมปากกาหมึกซึม Conid จึงมีราคาสูงซะขนาดนั้นครับ
ระบบเติมหมึก
นี่เป็นวิดีโอสาธิตระบบเติมหมึกแบบ Bulk Filler ครับ
ผมขอเขียนอธิบายการทำงานคร่าวๆอีกทีนะครับ ก่อนเติมหมึกเราจะต้องหมุนปุ่มที่อยู่ท้ายด้ามไปทางซ้ายก่อน เพื่อปลดล็อกก้านสูบ แล้วดึงก้านสูบขึ้นจนสุด แล้วก็ต้องหมุนปุ่มไปทางซ้ายอีกที เพื่อล็อกก้านสูบเข้ากับตัวลูกสูบครับ จากนั้นจึงจะสามารถกดให้ลูกสูบลงไปพร้อมกับก้านสูบได้ แล้วค่อยเอาหัวปากกาจุ่มน้ำหมึก ดึงก้านสูบ (พร้อมลูกสูบ) ขึ้น เพื่อดูดหมึกจากขวด เสร็จแล้วก็ต้องหมุนปุ่มที่ท้ายด้ามไปทางขวา เพื่อปลดล็อกลูกสูบออกจากก้านสูบ แล้วกดก้านสูบลง ตอนนี้จะมีหมึกหยดคืนลงในขวดนิดหน่อยนะครับ อย่าเพิ่งยกปากกาออกจากขวดหมึกล่ะ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธีการเติมหมึกครับ
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็ลองนึกถึงหลอดฉีดยาครับ การทำงานของระบบสูบหมึกแบบ Bulk Filler ก็เหมือนกับหลอดฉีดยา ที่สามารถปลอดล็อกตัวลูกสูบออกได้นั่นแหละครับ พอพูดยังงี้แล้วคิดออกเลยนะครับว่า ทำไม่ Bulk Filler จึงสามารถสูบหมึกได้มากกว่าระบบเติมหมึกแบบอื่นๆ
ปากกา Conid รุ่นต่างๆ
ปัจจุบัน Conid ผลิตปากกาหมึกซึมออกจำหน่ายทั้งหมด 5 รุ่น คือ Slimline, Minimalistica, Regular, KingSize และ Giraffe ซึ่งปากกาแต่ละรุ่นจะมีออฟชั่นต่างๆให้เลือกโดยต้องเพิ่มเงินนะครับ คือ หากต้องการให้เจียรหัวเป็นขนาด Extra Fine หรือ Stub จะต้องเพิ่มเงิน 25 ยูโร และหากต้องการจะสั่งซื้อประแจสำหรับถอดประกอบปากกา ก็ต้องเพิ่มเงินอีก 15 ยูโร ครับ
ใครที่สนใจปากกา Conid สามารถสั่งซื้อผ่านทางเว็บไซท์ www.conidpen.com โดยมีค่าส่งมายังเมืองไทย 35 ยูโร ครับ
ผมจะขอเอาข้อมูลจากในเว็บของ Conid มาเล่าถึงแต่ละรุ่นให้ฟังนะครับ
Slimline
เป็นปากกาหมึกซึมรุ่นนี้มีราคาเริ่มต้นที่ 350 ยูโร สำหรับหัวปากกาที่ทำจากสแตนเลส และราคา 387 ยูโร สำหรับหัวปากกาไททาเนียม ปากการุ่นนี้ใช้หัวปากกาขนาดเบอร์ 5 มีหัวปากกาให้เลือก 2 ขนาด คือ Fine และ Broad หากต้องการให้เจียรเป็นขนาดอื่นต้องเพิ่มเงินอีก 25 ยูโร ครับ
เห็นชื่อรุ่นว่า Slimline นี่ จริงๆไม่ใช่เป็นปากกาผอมบางนะครับ ขนาดก็พอๆกับ Pelikan M200 น่ะครับ รุ่นนี้มีให้เลือก 3 แบบ คือ แบบแรก บอดี้และปลอกปากกาสีดำด้าน ทำจากโพลีเมธาลีน ที่เรียกว่า Delrin ซึ่งมีความแข็งแกร่งสูงมากครับ แบบที่สอง ตัวด้ามปากกาทำจากอะครีลิกใส แต่ปลอกปากกาทำจาก Delrin สีดำด้าน และแบบที่สาม ตัวปากกาและปลอกปากกาทำจากอะครีลิกใส สำหรับส่วนประกอบอื่นๆที่เป็นโลหะทั้งหมดทำจากไททาเนียมครับ
Minimalistica
รุ่นนี้เป็นปากกาหมึกซึมที่ราคาถูกที่สุดของ Conid ครับ โดยราคาเริ่มต้นสำหรับรุ่นที่ไม่มีคลิปเหน็บกระเป๋า และหัวปากกาทำจากสแตนเลสจะอยู่ที่ 247 ยูโร สำหรับหัวปากกาแบบไททาเนียมก็บวกเพิ่มอีก 50 ยูโร หัวปากกาทองคำ 18 กระรัต บวกเพิ่ม 130 ยูโร และหัวปากกาทองคำ 18 กระรัต เคลือบผิวด้วยโรเดียม บวกเพิ่มอีก 140 ยูโรครับ ถ้าต้องการรุ่นที่มีคลิป ก็บวกเพิ่มอีก 50 ยูโร
ตัวปากกามีให้เลือก 2 แบบ คือ ตัวปากกา และปลอกปากกาสีดำด้าน ทำจาก Delrin และตัวปากกาทำจากอะครีลิกใส ปลอกปากกาสีดำด้านทำจาก Delrin โดยแต่ละรุ่นก็จะมีให้เลือกว่าจะต้องการแบบที่มีคลิปเหน็บกระเป๋าหรือไม่นะครับ
สำหรับหัวปากกาของ Minimalistica เป็นขนาดเบอร์ 6 ครับ ถ้าเป็นหัวสแตนเลส กับไททาเนียม มีให้เลือก 3 ขนาด คือ Fine, Medium และ Broad ส่วนหัวปากกาที่ทำจากทองคำ และทองคำเคลือบโรเดียม มีให้เลือก 2 ขนาด คือ Fine และ Medium หากต้องการให้เจียรหัวปากกาเป็นขนาด Extra Fine หรือ Stub ต้องเพิ่มเงินอีกต่างหาก 25 ยูโร นะครับ
ชื่อรุ่นว่า Minimalistica นี่ ทำให้ผมคิดไปว่าจะเป็นปากกาขนาดเล็กจิ๋วๆรึเปล่า แต่ไม่ใช่นะครับ โดยรวมแล้วมีขนาดใหญ่กว่ารุ่น Slimline ซะด้วยซ้ำครับ
Regular
รุ่น Regular นี่มีออฟชั่นของตัวปากกาให้เลือกมากถึง 18 แบบเลยครับ แทบเรียกว่า Custom Made ได้เลยล่ะ หากดูจากในเว็บแล้วอาจจะงงได้ว่า แต่ละแบบต่างกันยังไง ผมขอพูดให้ฟังคร่าวๆนะครับ
รูปทรงของตัวปากกา Conid Regular นี่จะมี 3 แบบครับ ถ้าเป็นรุ่นที่ใช้รหัส FT ต่อท้าย จะเป็นดีไซน์แบบ Flat Top คือ ส่วนหัวของปลอกปากกา และส่วนท้ายของด้ามจะตัดตรงครับ ส่วนรุ่น SL ส่วนท้ายและส่วนหัวของปากกาจะเป็นโค้งๆมนๆ และรุ่น SLK ส่วนกลางของตัวปากกาจะป่องออกมานิดหน่อย ทำให้ดูมีทรวงทรงสวยดี
สำหรับวัสดุที่ใช้ทำตัวปากกาและปลอกปากกาก็มีให้เลือกทั้งที่ทำจาก Delrin สีดำด้าน อะครีลิกใส และอีโบไนท์ สีดำมันเป็นเงา แล้วก็ยังมีรุ่นพิเศษที่อุปกรณ์ตกแต่งบนตัวปากกาทำจากไททาเนียมชุบทอง หัวปากกาก็ชุบทอง หรือจะเลือกหัวปากกาทองคำก็ได้ และอีกแบบอุปกรณ์บนตัวปากกาทั้งหมดทำจากไททาเนียมสีดำ หัวปากกาก็สีดำครับ ก็เลยทำให้ปากการุ่นนี้มีออฟชั่นให้เลือกรวมแล้วถึง 18 แบบ เรียกว่า ซื้อมาใช้แล้วโอกาสที่จะซ้ำกับคนอื่นยากเลยครับ
ปากการุ่นนี้มีราคาเริ่มต้นที่ 396 ยูโร สำหรับหัวปากกาทำจากสแตนเลสครับ สำหรับหัวปากกาแบบอื่นๆก็เพิ่มเงินกันไปตามลำดับ
Kingsize
เป็นปากการุ่นที่แพงที่สุดของ Conid ครับ รุ่นนี้เป็นปากกาขนาด Oversize โดยรวมแล้วก็ใหญ่พอๆกับ Montblanc 149 แต่จะอ้วนกว่าอีกนิดหน่อยด้วยซ้ำครับ ปากการุ่นนี้มีแบบต่างๆให้เลือก 4 แบบ แบ่งเป็นรุ่น SL และ FT โดยทั้ง SL และ FT มีให้เลือกแบบที่ตัวปากกาและปลอกปากกาทำจากอีโบไนท์สีดำมันทั้งด้าม และตัวปากกาทำจากอะครีลิกใส ปลอกปากกาอีโบไนท์ครับ ส่วนช่องดูน้ำหมึกของ Conid Kingsize ก็ยังเลือกให้เป็นสีใส สีเหลือง หรือสีเขียวได้อีกด้วยครับ
Conid Kingsize ใช้หัวปากกาขนาดใหญ่ เบอร์ 8 ครับ ปากการุ่นนี้ไม่มีหัวปากกาที่ทำจากสแตนเลสให้เลือก ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 651 ยูโร สำหรับหัวปากกาทำจากไททาเนียม โดยมีหัวปากกาให้เลือก 3 ขนาด คือ Fine, Medium, Broad ส่วนหัวปากกาทองคำ และทองคำเคลือบโรเดียม ก็ต้องเพิ่มเงินกันไปนะครับ
Giraffe
รุ่นยีราฟนี่เป็นปากกาที่ยาวมากๆเลยครับ ความยาวของตัวปากกาไม่รวมปลอกยาวถึง 19 เซนติเมตรกันเลย ปากการุ่นนี้เป็นการนำรุ่น Regular มายืดออกครับ เรียกว่าสูบหมึกครั้งเดียวใช้ได้นานเป็นเดือนเลยล่ะ สัดส่วนอื่นๆจะเท่ากับตัว Regular เลย เว้นแต่ความยาวเท่านั้น โดยมีให้เลือกแค่แบบเดียว คือ ตัวปากกาทำจากอะครีลิกใส และปลอกปากกาทำจาก Delrin สีดำด้าน
ราคาของ Conid Giraffe เริ่มต้นที่ 443 ยูโรครับ
แม้ว่า Conid จะเป็นยี่ห้อใหม่ แต่ชื่อเสียงและประสบการณ์ของ Mr. Fountainbel ก็รับประกันได้เป็นอย่างดีว่า ปากการุ่นนี้จะต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอนครับ ใครที่กำลังทรัพย์ถึง และต้องการปากกาที่เป็น Custom โอกาสที่จะไปซ้ำกับคนอื่นยากเต็มที สำหรับราคานี้ผมถือว่ารับได้เลยล่ะครับ
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝันนะครับ
แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี