top of page

การปรับแต่งหัวปากกา

  • ที่มา: fountainpennetwork.com
  • 22 ธ.ค. 2558
  • ยาว 2 นาที

บทความนี้ผมแปลมาจากเรื่อง Five Bad Things That Happen With New Pens ในฟอรั่ม fountainpennetwork.com ครับ โดยผู้ที่ตั้งกระทู้ใช้ User name ว่า troglokev ได้รวบรวมปัญหาเกี่ยวกับข้อผิดพลาดของหัวปากกา พร้อมวิธีการแก้ไขไว้อย่างน่าสนใจมากครับ อันที่จริงผมควรจะตั้งชื่อเรื่องว่า ‘5 สิ่งไม่พึงประสงค์ในปากกาหมึกซึมใหม่’ แต่ผมเห็นว่า ปัญหาต่างๆอาจจะเกิดขึ้นกับปากกาที่ใช้งานมานานแล้วก็ได้ จึงใช้ชื่อเรื่องนี้แทนครับ

บทความนี้ก็เหมือนกับเรื่องแปลส่วนใหญ่ของผม ที่ผมจะหาข้อมูลจากที่อื่นมาเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้บทความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นนะครับ (ที่ต้องบอกเพราะว่า หากท่านไปอ่านต้นฉบับแล้ว อาจเห็นว่าบางส่วนผมแปลไม่ตรงกับต้นฉบับครับ)

ปัญหาใหญ่สำหรับการเขียนบทความเกี่ยวกับปากกาหมึกซึมของผม คือ ไม่รู้ว่าจะใช้ชื่อเรียกส่วนประกอบต่างๆของปากกาหมึกซึมในภาษาไทยอย่างไรครับ ผมไม่แน่ใจว่ามีศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับปากกาหมึกซึมไว้บ้างรึเปล่านะครับ แต่ศัพท์ที่ใช้กันมานานแล้วบางคำ (ใช้มานานแล้ว แต่ผมเพิ่งรู้จักครับ 55555) ผมเห็นว่าหากใช้ไปอาจทำให้สับสนมากขึ้น อย่างคำว่า ‘โปร่งหมึก’ ที่ใช้แทน ‘Ink Converter’ ผมว่าใช้คำว่า ‘ที่สูบหมึก’ น่าจะเข้าใจง่ายกว่าครับ เพราะ 'โปร่งหมึก' หากใช้แทนที่สูบหมึกแบบ Sag ก็พอจะเห็นภาพได้ แต่ถ้าเอาไปใช้แทนที่สูบหมึกแบบ Piston อ่านแล้วอาจจะงงกว่าเดิมอีกครับ

บทความเรื่องนี้จะพูดถึงส่วนประกอบของหัวปากกาค่อนข้างเยอะเลย ผมก็จะใช้วิธีอธิบายให้เข้าใจ แล้วเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปเลยนะครับ ซึ่งผมก็ว่าดีเหมือนกันครับ เวลาไปอ่านบทความภาษาอังกฤษ จะเข้าใจง่ายขึ้นครับ

อันที่จริงผมคิดที่จะทำวิดีโอเรื่องการซ่อมแซมหัวปากกาอยู่แล้ว เพราะจะได้เห็นวิธีการซ่อมกันชัดๆหน่อย ไม่ต้องอ่านไปจินตนาการไป แต่ยังติดที่เวลาครับ รออีกสักหน่อยแล้วกันนะครับ

การซ่อมหัวปากกานี่จริงๆแล้วไม่ยากเลยครับ ผมขอแนะนำให้ซื้อปากการาคาไม่แพง พวก 30-40 บาทมาลองทำเล่นกันดูก่อนครับ อย่างตัวผมก็เอา M&G Snoopy, Platinum Preppy และปากกาจีนบางตัว มาลองซ่อมเล่นให้เกิดความมั่นใจก่อนครับ จนเดี๋ยวนี้เวลาที่หัวปากกามีปัญหาขึ้นมาก็จับดัด จับงัดได้อย่างสบายๆเลยครับ

Misaligned tines

Tine บนหัวปากกา ก็คือ ตรงส่วนคอดไปทางปลายของหัวปากกา ที่จะมีร่องแบ่งออกเป็น 2 ซีกน่ะครับ Tine ทั้งสองด้านนี้อันที่จริงจะต้องจัดมาตรงกันเป๊ะๆนะครับ หาก Tine สองข้างไม่ตรงกัน คือ มีข้างใดข้างหนึ่งสูง หรือต่ำกว่า ก็จะทำให้เกิดปัญหากับการเขียนได้ครับได้ การที่ Tine สองข้างไม่ตรงกันนี่ ฝรั่งเค้าเรียกว่า Misaligned tines ครับ

ภาพเขียนประกอบนี่ เป็นภาพขยายของหัวปากกา ที่มองมาจากส่วนปลายของหัวปากกานะครับ

หาก Tine ทั้งสองข้างไม่ตรงกัน หรือ Misaligned tines ปากกาจะเขียนแล้วกัดกระดาษ และลายเส้นอาจขาดหายได้ในการเขียนบางทิศทางครับ

วิธีแก้ไข Misaligned tines ให้ใช้นิ้วมือค่อยๆดัดส่วนปลายของหัวปากกาอย่างระมัดระวัง ให้ทั้งสองด้านเสมอกัน ตรงนี้ผมแนะนำให้ใช้เล็บมือ (นิ้วโป้ง) จะดัดง่ายกว่าครับ

อาการ Misaligned tines นี้ อาจเป็นสาเหตุให้หัวปากกาอยู่ไม่กึ่งกลางของชุดป้อนหมึก (Feed) ได้ด้วย ก็ให้บิดหัวปากกา หรือ Feed (อย่างรอบคอบ) เพื่อจัดให้อยู่กึ่งกลางระหว่างกัน

ภาพจาก repairersbench.blogspot.com

ช่องว่างระหว่าง Tine มีความห่างไม่สม่ำเสมอ

ปัญหานี้เกิดจาก Tine ทั้งสองข้างบีบเข้าหากัน หรือแยกห่างออกจากกันเกินไป ทำให้การไหลของหมึกน้อยเกินไปหรือมากเกินไป ตรงนี้นะครับ หาก Tine บีบชิดติดกันมากเกินไป หมึกจะไหลออกมาน้อยเกิน ทำให้ปากกาเขียนแห้ง จนเส้นขาดๆหายๆ แต่ถ้า Tine แยกจากกันมากเกิน ก็จะทำให้ปล่อยหมึกออกมามากเกิน จนอาจทำให้ปากกาป้อนหมึกไม่ทัน เขียนไปได้สักพักอาจจะเขียนไม่ออกได้อีกเหมือนกันครับ

วิธีแก้ไข หากช่องว่างของหัวปากกาแคบเกินไป ให้แยก Tine ของหัวปากกา โดยใช้แผ่นชริมทองเหลือง หนา 10 ไมครอน (0.01 มม.) สอดเข้าไปในร่องหัวปากกา อันนี้ผมอ่านพบว่า บางคนจะใช้แผ่นชิมหนา 0.02 มม. นะครับ ผมว่า 0.01 มม.จะบางเกินไปด้วยครับ

สำหรับหัวปากกาที่ช่องว่างระหว่าง Tine กว้างเกินไป จะต้องถอดหัวปากกาออกจากตัวปากกา แล้วบีบ Tine ทั้งสองด้านเข้าหากัน ปัญหาช่องว่างระหว่าง Tine กว้างเกินไปนี้ผมยังไม่เคยเจอกับตัวเองครับ ไม่รู้ว่าแก้ไขจริงๆจะยากแค่ไหนนะครับ

การติดตั้ง Feed ไม่ดี

ภาพแสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างหัวปากกากับที่ป้อนหมึก (Feed)

หากเป็นแบบนี้ เวลาเขียนจะแสดงอาการเดี๋ยวเส้นขาด เดี๋ยวน้ำหมึกออกมาเยอะจนท่วมเลยครับ

วิธีแก้ไข คือ ติดตั้ง Feed ซะใหม่ ซึ่งปกติ Feed จะทำจากพลาสติกหรือไม่ก็ยางแข็งๆ และจะยืดหยุ่นได้เมื่อโดนความร้อนอ่อนๆ ให้ใช้นำร้อน เพื่อทำให้ Feed อ่อนตัวลง และจัด Feed เข้ากับหัวปากกาอีกครั้ง

เรื่องการติดตั้ง Feed ไม่ดีนี่ สำหรับปากการาคาถูกๆ ผมก็เจอมาหลายครั้งเหมือนกันครับ ซึ่งนอกจากจะเป็นแบบที่บอกไปแล้ว ก็ยังมีที่จัดหัวปากกา และ Feed ไม่อยู่กึ่งกลางระหว่างกันด้วยครับ หากเป็นแบบนี้แล้วเวลาเขียนหมึกจะขาดๆหายๆครับ

วิธีแก้ไข ก็แค่ถอดหัวปากกา และ Feed ออกมา แล้วใส่เข้าไปใหม่ให้อยู่กึ่งกลางระหว่างกัน ก็เท่านั้นครับ

สิ่งสกปรกจากโรงงาน ติดอยู่ในระบบป้อนหมึก

ปัญหานี้จะทำให้ปากกาเขียนขาดๆหายๆ การป้อนหมึกไม่ดีเอาซะเลย เนื่องจากคราบน้ำมันเข้าไปอยู่ในร่องหมึกของ Feed หรือในช่องว่างของหัวปากกา

ขอให้คิดเสมอว่า สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับปากกาใหม่ทุกด้าม จึงควรทำความสะอาดปากกาก่อนใช้ทุกครั้ง บางครั้งการจุ่มหัวปากกาในน้ำหมึกค้างคืนไว้จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เกี่ยวกับปัญหานี้ ผมได้รับคำแนะนำจากโรงงานผลิตปากกาในประเทศอินเดีย ให้ล้างปากกาด้วยน้ำอุ่นครับ ผมเคยลงเรื่อง ‘วิธีเตรียมปากกาก่อนเติมหมึกครั้งแรก’ ไว้แล้ว ลองตามไปดูกันนะครับ

Baby bottom

รูปภาพแสดงถึงรูปร่างของหัวปากกา ที่ทำให้น้ำหมึกไม่สามารถไหลลงสู่กระดาษได้ดีพอ

หัวปากกาลักษณะในรูปจะเกิดปัญหา ‘Hard Starter’ หรือเวลาหยิบปากกามาเริ่มใช้งาน มักจะเขียนไม่ติด หัวปากกาลักษณะนี้จะคงสามารถเขียนได้ดี แต่จะต้องกดหัวปากกาสักหน่อย ไม่ยังงั้นเส้นอาจจะขาดๆหายๆ

วิธีแก้ไข ให้เจียรหัวปากกาบางส่วนให้มีรูปทรงกลมขึ้น การเจียรหัวปากกาเองนี้ออกจะยากสักหน่อยนะครับ ผู้เขียนบอก ถ้าไม่ชัวร์จริงๆให้ปรึกษามืออาชีพจะดีกว่า ผู้เขียนเจียรหัวปากกาด้วยตะไบเล็บครับ โดยให้ซื้อตะไบเล็บแบบละเอียดที่สุดมาใช้

เรื่องการใช้ตะไบนี่ ผมไม่ชำนาญเกี่ยวกับตะไบเล็บซะด้วย แต่ที่แน่ๆไม่ใช่ตะไบแบบที่ทำจากโลหะนะครับ ต้องเป็นแบบที่คล้ายๆไม้ไอติมน่ะครับ ส่วนเรื่องเบอร์หยาบ ละเอียดนี่ผมไม่รู้จริงๆว่า เบอร์ละเอียดสุดของตะไบเล็บนี่ความละเอียดมากน้อยเท่าไหร่ แต่ผมคงไม่กล้าแน่ๆครับ เวลาเจียรหัวปากกา ผมดูจากเว็บต่างๆจะแนะนำให้ใช้กระดาษทรายละเอียด 20,000 กริดครับ กระดาษทรายแบบนี้ใช้สำหรับขัดวัสดุต่างๆให้เป็นเงา ไม่ได้ใช้สำหรับขัดให้ผิวเรียบนะครับ ผมไม่รู้ว่าบ้านเรามีขายที่ไหนบ้าง แต่ผมสั่งซื้อจากต่างประเทศครับ แต่ถ้าใช้กระดาษทราย 20,000 กริด ขัดหัวปากกาที่เป็นก้นเด็กให้กลมนี่ น่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียวเลยนะครับ บางทีอาจต้องแต่งด้วยกระดาษทรายที่หยาบกว่าก่อน แล้วค่อยแต่งด้วยกระดาษทราย 20,000 กริดอีกที ปกติผมจะใช้กระดาษทรายแต่งเฉพาะหัวปากกาที่เมื่อลากเส้นไปด้านใดด้านหนึ่งแล้วกัดกระดาษกว่าด้านอื่นๆครับ

การเจียรหัวปากกานี่จะต้องเบามือมากๆและจะต้องกลิ้งหัวปากกาในลักษณะทรงกลมด้วยนะครับ ไม่ยังงั้นขัดไปขัดมา หัวปากกาอาจจะกลายเป็นปากกาปากตัดไปได้ครับ

อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการซ่อมหัวปากกา คือ แว่นขยาย 10 หรืออาจถึง 20 เท่าครับ เพราะการแก้ปัญหาผิดจุด อาจทำให้หัวปากกาเสียหายไปเลยก็ได้

ผู้เขียนมาบอกตอนหลังอีกทีว่า ตะไบเล็บที่เขาใช้เจียรหัวปากกาเป็นแบบละเอียดที่สุด จะเป็นสีเทา ซึ่งผู้หญิงจะใช้ขัดเล็บให้เป็นเงางามครับ และการเจียรหัวปากกานี่ขอให้เป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ หลังจากแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝันนะครับ

แล้วพบกันใหม่ครับ....... สวัสดี

Comments


 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page