top of page
  • Jim Mamoulides

'จุดสีขาว' ของ Sheaffer

หนึ่งในเครื่องหมายการค้าที่ผมชอบมากที่สุด ก็คือ 'จุดสีขาว' ของปากกา Sheaffer ครับ ผมว่า มันเป็นโลโก้ที่ออกแบบมาเรียบง่ายที่สุดในสามโลกเลยก็ว่าได้นะครับ แค่จุดสีขาวจุดเดียว แต่กลับเป็นที่รู้จัก และยอมรับของคนทั่วโลกเลย

บทความนี้ผมแปลมากจากเรื่อง The Sheaffer White Dot จากเว็บ penhero.com ของ Mr. Jim Mamoulides ครับ

แม้แต่คนที่มีความรู้เกี่ยวกับปากกาเพียงน้อยนิด ก็ยังต้องคุ้นเคยกับหนึ่งในเครื่องหมายการค้าของปากกาซึ่งเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในโลก 'จุดสีขาว ของเชฟเฟอร์' ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่ผู้ผลิตปากการายอื่นๆพยายามที่จะเลียนแบบความสำเร็จนี้ แม้แต่ Parker ก็ยังเคยพยายามที่จะใช้อัญมณีสีฟ้าติดบนคลิปเหน็บกระเป๋า เพื่อที่จะให้เป็นสัญลักษณ์อีกแบบของ Parker เลยครับ

แล้วเจ้า 'จุดสีขาว' นี่มีความหมาย และมีความเป็นมาอย่างไร ขอบอกเลยครับว่า มันเป็นเรื่องยาว แถมยังมีจุดหักมุมอีกด้วยครับ

โฆษณา 'จุดสีขาว' ของ Sheaffer ในปี 1957

ในปี 1924 ปากกา Sheaffer ประสบความสำเร็จกับสิ่งสำคัญๆ 2 เรื่อง ประการแรก คือ การผลิตปากกา Sheaffer Jade Senior ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งสามารถผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกันได้ เป็นการนำอุตสาหกรรมการผลิตปากกาเข้าสู่ยุคแห่งพลาสติก และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การนำสัญลักษณ์ 'จุดสีขาว' มาใช้ ซึ่งได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลโก้บริษัทตราบจนทุกวันนี้

โฆษณา Sheaffer Jade Senior ในปี 1925 แสดงให้เห็นถึงจุดสีขาวที่ส่วนบนของปลอกปากกา

Sheaffer นำสัญลักษณ์ 'จุดสีขาว' มาใช้เป็นครั้งแรกบนปลอกปากกาพลาสติกรุ่นใหม่ Senior Pen โดยจุดขาวแบบดั้งเดิมจะมีลักษณะเป็นวงกลมสีขาว ที่ถูกเจาะบุ๋มลงไปในเนื้อพลาสติก และตำแหน่งของ 'จุดสีขาว' นี่ก็ยังไม่ได้อยู่บนคลิปเหน็บกระเป๋านะครับ แต่อยู่ที่กึ่งกลางของส่วนบนปลอกปากกา ขณะที่ปากกาแบบ Desk Pen ที่มีจุดขาวรุ่นแรก 'จุดสีขาว' จะอยู่ตรงส่วนปลายของด้ามปากกาครับ ขณะที่ปากการุ่นอื่นๆจุดขาวก็อาจจะไปอยู่ที่ด้านล่างของที่สูบหมึกแบบ Lever Filler หรือไปอยู่บริเวณแถบกลางลำตัวปากกา เป็นต้น

โฆษณา Sheaffer White Dot ในปี 1927 / 1930 / 1930

วัตถุประสงค์แต่แรกของ 'จุดสีขาว' ก็เพื่อแสดงว่า ปากการุ่นนั้นมีรับประกันตลอดชีพครับ โดยโฆษณาในช่วงแรกๆของ Sheaffer ที่เริ่มออกมาในปี 1924 ได้เน้นเรื่องการรับประกันปากกาตลอดชีพ โดยได้ทำเครื่องหมาย 'จุดสีขาว' ไว้เพื่อบอกว่า รับประกันตลอดชีพโดยปราศจากเงื่อนไข โดยในโฆษณาดังกล่าวก็ยังคงมีโลโก้ของ Sheaffer อยู่บนตัวปากกา พร้อมด้วยวงกลมสีๆ ที่มีจุดสีขาวอยู่ตรงกลาง และมีคำว่า "Identify the Lifetime pen by this white dot."

Sheaffer Balance Jade Oversize ที่ผลิตในปี 1929 มี 'จุดสีขาว' อยู่เหนือคลิปเหน็บกระเป๋า

ในปี 1929 เมื่อ Sheaffer ผลิตปากการุ่น Balance ออกวางตลาด ก็ได้เปลี่ยนตำแหน่งของ 'จุดสีขาว' ไปไว้ที่ส่วนบนของปลอกปากกา บริเวณเหนือคลิปเหน็บกระเป๋า ซึ่งโฆษณาปากกา Sheaffer ในช่วงนั้นก็ได้เน้นถึงสัญลักษณ์ 'จุดสีขาว' นี้มากขึ้นด้วย

กระทั่งในปี 1930 บริษัท Sheaffer ก็ได้ทุ่มการโฆษณาให้กับเรื่องของ 'จุดสีขาว' และการรับประกันตลอดชีพในทุกสื่อ และปากกา Sheaffer รุ่นใหม่ๆในขณะนั้น ต่างก็ต้องมี 'จุดสีขาว' อยู่บริเวณเหนือคลิปเหน็บกระเป๋า ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดแล้ว แต่ปัญหาเกี่ยวกับเจ้า 'จุดสีขาว' นี่ยังไม่หมดไปนะครับ

โฆษณาของ Sheaffer ในปี 1942 แสดงให้เห็นถึง 'จุดสีขาว'

บนด้ามปากกาที่ใช้ระบบสูบหมึกแบบ Vacuum Filler

พอมาถึงปี 1937 บริษัท Sheaffer ได้ออกปากการุ่นใหม่ ในชื่อรุ่นว่า Crest ซึ่งมีปลอกปากกาทำจากโลหะ และตัวปากกาทำจากพลาสติก ปากการุ่นนี้จัดว่าเป็นรุ่น Top Line เลยครับ ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องมี 'จุดสีขาว' และการรับประกันตลอดชีพด้วย แต่เรื่องตำแหน่งการวาง 'จุดสีขาว' บนปากการุ่นนี้กลับกลายเป็นปัญหาขึ้นมาครับ เพราะไม่ว่าจะเอา 'จุดสีขาว' นี้ไปไว้ตรงไหน ทางบริษัทก็ไม่พอใจซะที จากภาพโฆษณา และแคตาล็อกเก่าๆของ Sheaffer จะเห็นได้ว่า มีปากกาบางรุ่นที่เอาเจ้า 'จุดสีขาว' นี้ไปไว้บนด้ามปากกา บริเวณที่ใกล้ๆกับ Section ก็มี บางรุ่นก็เอาไปไว้เหนือที่สูบหมึกแบบ Lever Filler

ในปี 1945 Sheaffer Crest ที่ใช้ระบบเติมหมึกแบบ Vacuum Filler

ได้นำ 'จุดสีขาว' ไปไว้ที่ฝาปิดที่เติมหมึก ตรงบริเวณท้ายด้าม

การที่เอา 'จุดสีขาว' ไปไว้ที่ด้ามปากกานี้ ก็ดีอยู่หรอกสำหรับปากกาที่ใช้ระบบสูบหมึกแบบ Lever Filler ที่บรรจุน้ำหมึกในถุง Sac ครับ แต่กลับกลายเป็นปัญหาสำหรับปากกาที่ใช้ระบบสูบหมึกแบบ Vacuum ซึ่งจะบรรจุน้ำหมึกไว้ในด้ามปากกาเลย เพราะการที่เจาะด้ามปากกา เพื่อใส่ 'จุดสีขาว' จะทำให้มีโอกาสที่น้ำหมึกจะรั่วซึมออกมาจากตำแหน่งนั้นได้ ดังนั้น Sheaffer จึงได้ย้าย 'จุดสีขาว' ไปไว้ที่ปลายด้ามปากกาเลย ซึ่งการวาง 'จุดสีขาว' ไว้ที่ตำแหน่งนี้ ก็ยังพบในปากกาที่ใช้ระบบเติมหมึกแบบ Lever Filler บางรุ่นด้วยนะครับ

โฆษณา Sheaffer Vigilant ในปี 1941 แสดงให้เห็นถึง Military Clip โดยมี 'จุดสีขาว' อยู่ด้านใต้

กองทัพสหรัฐ ก็ได้เข้ามามีอิทธิพลในเรื่อง 'จุดสีขาว' ของ Sheaffer นี่ด้วยเหมือนกันนะครับ โดยในปี 1940 กองทัพสหรัฐมีความประสงค์ที่จะได้ปากกาที่ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อเชิ้ต แล้วสามารถปิดฝากระเป๋าเสื้อติดกระดุมได้พอดี เพื่อทำให้สามารถพกปากกาได้อย่างสวยงามในชุดเครื่องแบบ ซึ่งนี่แหละที่เป็นปัญหาอย่างแท้จริงของ Sheaffer เนื่องจากปากกาที่มีลักษณะผอมเพรียวของ Sheaffer คลิปเหน็บกระเป๋าจะติดอยู่ที่ด้านหน้าของปลอกปากกา ซึ่งเป็นผลให้ส่วนหัวของปากกาโผล่พ้นออกมาจากส่วนบนของกระเป๋าเสื้อ ซึ่งทางกองทัพไม่ยอมรับครับ เพราะว่าใช้กับเสื้อเชิ้ตที่มีฝาปิดกระเป๋าไม่ได้ ในขณะที่ผู้ผลิตปากการายอื่นๆ อย่าง Parker มีปากการุ่นที่ออกแบบมาสอดคล้องกับความต้องการนี้ของกองทัพ ปัญหาที่ Sheaffer ต้องเผชิญก็คือ การปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้ผลิตปากกา ไม่เช่นกันก็จะสูญเสียการตลาดที่สำคัญนี้

การแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ Sheaffer ได้เพิ่มปากกาหลายรุ่น เพื่อจับตลาดบุคลากรในกองทัพโดยเฉพาะ ด้วยการออกแบบคลิปใหม่ ที่ติดกับตัวปากกาที่ด้านหลังของปลอก และด้านบนของปลอกปากกา เพื่อทำให้คลิปอยู่ติดกับส่วนบนของปลอกปากกามากที่สุด พอเหน็บปากกาในกระเป๋าเสื้อแล้ว ปลอกปากกาจะไม่โผล่พ้นขอบกระเป๋าเสื้อครับ แต่คลิปเหน็บกระเป๋าแบบใหม่นี้ก็สร้างปัญหาใหม่ให้กับ Sheaffer อีกล่ะ คือ จะเอาเจ้า 'จุดสีขาว' ไปไว้ที่ไหนดี Sheaffer ก็แก้ปัญหาโดยย้ายตำแหน่ง 'จุดสีขาว' ไปไว้ตรงส่วนล่างของปลอกปากกาบริเวณใต้คลิปเหน็บกระเป๋าครับ ซึ่งคลิปเหน็บกระเป๋าในนี้เรียกว่า “Military Clip” ซึ่งในโฆณษาของ Sheaffer ก็เน้นจับตลาดบุคลากรในกองทัพโดยเฉพาะด้วยครับ

โฆษณา Sheaffer ในปี 1943 จะเน้นที่การรับประกันหัวปากกาตลอดชีพ

ในช่วงต้นปี 1940 การรับประกันตลอดชีพโดยไม่จำกัดเงื่อนไขของ Sheaffer ก็ได้จำกัดเป็นสำหรับช่วงอายุของเจ้าของปากกาคนแรกเท่านั้น และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง Sheaffer ก็ได้เปลี่ยนเงื่อนไขการรับประกันเหลือครอบคลุมเพียงหัวปากกาเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนนโยบายในครั้งนี้ในที่สุดก็ทำให้ 'จุดสีขาว' ไม่ได้หมายถึงการรับประกันตลอดชีพอีกต่อไปครับ

โฆษณา Sheaffer ในปี 1940 แสดงให้เห็นถึง 'จุดสีขาว' และการรับประกันตลอดชีพ

ช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 Sheaffer ก็ได้โฆษณา 'จุดสีขาว' นี่ซะใหม่ว่าเป็น “จุดสีขาว แห่งความแตกต่าง” คือ พยายามที่จะลบความหมายของการเป็นเครื่องหมายรับประกันตลอดชีพแต่เดิมออกไปน่ะครับ โดยในปี 1949 Sheaffer ได้ออกปากกาที่ใช้ระบบเติมหมึกแบบ Touchdown และได้นำ 'จุดสีขาว' นี้ไปไว้บนปลอกปากกาที่เป็นโลหะ บริเวณเหนือคลิปเหน็บกระเป๋า โดยปากกาของ Sheaffer ทุกรุ่นที่ผลิตหลังจากปี 1950 จะวาง 'จุดสีขาว' ไว้ที่ตำแหน่งนี้ทั้งหมดครับ

โฆษณาระบบ Snorkel ของ Sheaffer ในปี 1954

Sheaffer ใช้ 'จุดสีขาว' ที่อยู่เหนือคลิปเหน็บกระเป๋านี้กับปากกาทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่ปลอกปากกาทำจากโลหะ หรือพลาสติก ซึ่ง 'จุดสีขาว' ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ทำให้ปากกาดูโดดเด่นมาก

โฆษณา White Dot Snorkel ของ Sheaffer ในปี 1956

โฆษณาของ Sheaffer ในช่วงปี 1950 ได้ผลักดันให้ 'จุดสีขาว' เป็นสัญลักษณ์แห่ง ความหรูหรา และความพึงพอใจ และจะใช้ 'จุดสีขาว' นี้กับปากกา Sheaffer เฉพาะรุ่นท็อปๆเท่านั้น

'จุดสีขาว' บนคลิปของ Sheaffer PFM

เมื่อ Sheaffer ออกปากการุ่น PFM ในปี 1959 ก็ได้เปลี่ยนตำแหน่ง 'จุดสีขาว' นี้ไปอยู่ที่ส่วนบนของคลิปเหน็บกระเป๋าเป็นครั้งแรก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการออกแบบคลิปใหม่ของ Sheaffer ที่มีลักษณะเป็นแถบขนาดใหญ่ ติดอยู่ที่บริเวณส่วนบนของปลอกปากกา โดยปากการุ่น Imperial ที่ออกตามหลัง PFM มา ซึ่งอันที่จริงแล้ว Imperial นี่ก็คือ PFM ที่มีรูปทรงผอมกว่า ก็วาง 'จุดสีขาว' ไว้บนคลิปนี้ด้วยเหมือนกัน

Sheaffer Imperial ที่ออกวางตลาดในปี 1963 มี 'จุดสีขาว' บนคลิปเหน็บกระเป๋า

และมีคำว่า Lifetime แสดงให้เห็นถึงการรับประกันตลอดชีพ เฉพาะปากการุ่นนี้อยู่บนคลิปด้วย

ปากกา Sheaffer ในปัจจุบัน ได้วาง 'จุดสีขาว' ไว้ที่คลิปเหน็บกระเป๋า ไม่ว่าจะเป็นรุ่นท็อปอย่าง Legacy หรือรุ่นราคาไม่แพงอย่าง DeltaGrip

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกันฝันนะครับ

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page