top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[Dip Pen] ปากกาคอแร้ง ตอนที่ 2 ส่วนต่างๆของหัวและด้ามปากกา


ก่อนที่จะไปกันไกล เรามารู้จักกันก่อนว่า ส่วนต่างๆบนหัวปากกา และด้ามปากกาคอแร้ง มีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง เพื่อที่ต่อไปเวลาเราคุยกันจะได้เข้าใจตรงกันครับ

สำหรับผู้ที่เล่นปากกาหมึกซึม ผมก็อยากให้อ่านบทความนี้ด้วยนะครับ โดยเฉพาะในส่วนของชื่อเรียกส่วนต่างๆบนหัวปากกา เพราะจะมีประโยชน์เวลาที่เรามาคุยกันเรื่องการปรับแต่งหัวปากกาครับ

หัวปากกาคอแร้ง กับหัวปากกาหมึกซึม

หัวปากกาคอแร้ง มีลักษณะคล้ายๆกับหัวปากกาของปากกาหมึกซึมครับ ชื่อเรียกส่วนต่างๆบนหัวปากกาก็เหมือนๆกัน ความแตกต่างของหัวปากกาสองชนิดนี้ก็จะมีที่ตรงส่วนปลายของหัวปากกาครับ คือ หัวของปากกาหมึกซึมจะมีลูกโลหะกลมๆ เชื่อมติดตรงส่วนปลายของหัวปากกา ซึ่งเรียกว่า Tip หรือ Point ที่จะช่วยทำให้ปากกาเขียนได้ลื่นขึ้น ขณะที่หัวปากกาของปากกาคอแร้งจะไม่มีโลหะกลมๆนี้ ปากกาคอแร้งจึงเขียนแล้วกัดกระดาษกว่า แต่ก็ยังมีหัวปากกาหมึกซึมบางชนิดที่ไม่มีโลหะกลมๆนี้เหมือนกันนะครับ

นอกจากนี้หัวปากกาคอแร้งมักจะมีรูอากาศที่ตรงกลางหัวปากกาขนาดใหญ่กว่าหัวปากกาของปากกาหมึกซึมครับ แต่ปัจจุบันนี้ก็มีผู้ที่นิยมนำหัวปากกาหมึกซึมมาใช้เสียบด้ามปากกาคอแร้งเขียนอยู่เหมือนกันครับ

ส่วนต่างๆของหัวปากกาคอแร้ง

สำหรับชื่อเรียกส่วนต่างๆของหัวปากกาคอแร้งนี่ เท่าที่ผมดูจากเว็บต่างๆก็มีบางส่วนที่ใช้ชื่อเรียกแตกต่างกันไปบ้าง ที่ผมนำมาเขียนไว้นี่เป็นชื่อเรียกที่เว็บส่วนใหญ่ใช้กันนะครับ ส่วนชื่อเรียกภาษาไทยนี่สร้างความลำบากใจให้มากทีเดียว เพราะผมหาอภิธานศัพท์สำหรับปากกาไม่เจอครับ ส่วนจะแปลออกมาตรงๆ บางทีก็ฟังแล้วไม่เมคเซ้นท์เท่าไหร่ ผมจึงไม่ได้ตั้งชื่อภาษาไทย เพียงแค่เขียนคำอธิบายไว้ให้พอเข้าใจ

Slit – รอยผ่าบนหัวปากกา เป็นร่องเล็กๆอยู่ที่ส่วนปลายของหัวปากกาไปจนถึงบริเวณกลางหัวปากกา เพื่อให้น้ำหมึกเดินไปถึงปลายหัวปากกาครับ ถ้ารอยผ่านี้กว้างมาก หัวปากกาก็จะป้อนน้ำหมึกมาก ทำให้เขียนแล้วเปียกเกินไป ขนาดของลายเส้นก็จะมีขนาดใหญ่ และเวลาเขียนน้ำหมึกบนหัวปากกาก็จะแห้งเร็ว แต่ถ้ารอยผ่านี้เบียดกันมากไป หัวปากกาก็จะเขียนไม่ค่อยออกได้เหมือนกัน

Tip หรือ Point – ส่วนปลายของหัวปากกา เป็นจุดที่สัมผัสกระดาษ และสร้างลายเส้นแบบต่างๆ ส่วนปลายของหัวปากกานี้จะเป็นลักษณะเด่นของหัวปากกาแต่ละแบบเลยนะครับ หัวปากกาบางอันเจียรตรงส่วนปลายนี้เล็กแหลมมาก ก็จะทำให้หัวปากกานั้นสร้างลายเส้นแบบ Hairline ได้เล็กและคมมาก ขณะที่ส่วนปลายหัวปากกาบางรุ่นก็ทำเป็นวงกลม หรือปลายตัด ซึ่งก็จะให้ลักษณะของลายเส้นที่แตกต่างกันไป

Tine (ไทน์) – อันนี้ผมไม่รู้จะเรียกภาษาไทยว่าอะไรเหมือนกันครับ ถ้าจะแปลว่า ปลายแหลม ก็ดูทะแม่งๆชอบกล แต่มันคือ บริเวณของหัวปากกาที่เรียวเล็กลงไปจนถึงส่วนปลาย ซึ่งจะถูกแบ่งออกด้วย Slit เป็น 2 ซีก เจ้าหัวปากกาทั้งสองซีกนี่แหละครับที่เรียกว่า Tine เวลาที่เราเขียนโดยกดหัวปากกา ไทน์ทั้งสองข้างจะแยกออกจากกัน ทำให้ขนาดของลายเส้นใหญ่ขึ้น สามารถสร้างขนาดลายเส้นที่แตกต่างในขณะเขียนได้สวยงาม อย่างไรก็ตาม หัวปากกาแต่ละอันจะมีความสามารถที่จะกดให้ไทน์แยกออกจากกันนี้ได้มากหรือน้อยต่างกันนะครับ

Shoulder – บ่าของหัวปากกา เป็นจุดที่เริ่มต้นของ Tine ทั้งสองด้านครับ บ่าของหัวปากกาก็จะมี 2 ข้างเหมือนกัน

Body – ส่วนตัวของหัวปากกา เป็นส่วนที่ต่อจากบ่าของหัวปากกา ซึ่งมักจะมี Vent หรือ Breather Hole อยู่ในส่วนนี้

Vent หรือ Breather Hole – รูอากาศ เป็นรูปที่อยู่บริเวณกลางลำตัวของหัวปากกา โดยรูอากาศของหัวปากกาแต่ละรุ่นจะมีรูปทรงและขนาดแตกต่างกัน รูนี้สำหรับปากกาคอแร้งจะทำหน้าที่ต่างกับบนหัวปากกาของปากกาหมึกซึมนะครับ คือ สำหรับหัวปากกาคอแร้ง รูอากาศจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำหมึก และจ่ายน้ำหมึกผ่าน Slit ไปยังส่วนปลายของหัวปากกา แต่สำหรับปากกาหมึกซึมจะทำหน้าที่รับอากาศเข้าไปทาง Air Channel เพื่อเข้าไปผลักดันให้น้ำหมึกไหลสู่หัวปากกาได้สะดวกขึ้น ในหัวปากกาหมึกซึมจะเรียกรูนี้ว่า Breather Hole ไม่เรียก Vent นะครับ

Shank – ก้านของหัวปากกา เป็นส่วนที่ใช้เสียบเข้าไปในด้ามปากกา

ส่วนต่างๆของด้ามปากกา

ด้ามปากกาคอแร้ง ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Nib Holder ครับ แต่ก็มีบางที่ก็เรียกว่า Pen Holder อยู่เหมือนกัน เวลาที่คุยเกี่ยวกับปากกาคอแร้ง ก็มักจะเจอเรียกกันสั้นๆว่า Holder เฉยๆ

ส่วนต่างๆของ Nib Holder ก็ไม่มีอะไรมาก ครับ โดยจะมีเพียง 2 ส่วนหลักๆ คือ Grip หรือ Section เป็นบริเวณที่จับปากกาครับ ส่วนที่ต่อจาก Section ไป บางทีก็เรียกว่า หาง หรือ Tail แต่ส่วนใหญ่ก็รวมเรียกว่า Nib Holder ไปเลย และอีกส่วนหนึ่ง ก็คือ Nib Insert บางที่ก็เรียกว่า Gripper ซึ่งก็คือ ที่สำหรับใส่หัวปากกานั่นเอง

ตอนนี้เราก็รู้จักส่วนต่างๆของปากกาคอแร้งกันแล้ว ตอนต่อไปเราจะมาคุยกันถึงวิธีเลือกซื้อด้ามปากกา และหัวปากกากันนะครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

ขอบคุณ ร้าน PP Art and Craft ให้การสนับสนุนบทความชุด Dip Pen นี้ ผู้ที่สนใจปากกาคอแร้งก็ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมเว็บของทางร้านดูนะครับ ร้าน PP Art and Craft มีด้ามปากกา และหัวปากกาคอแร้งชั้นนำให้เลือกมากมายเลยครับ

บทความชุด ปากกาคอแรง สำหรับผู้เริ่มต้น

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page