top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[Dip Pen] ปากกาคอแร้ง ตอนที่ 3 เลือกอุปกรณ์สำหรับปากกาคอแร้ง

จริงๆแล้วผมไม่ชอบนำเสนอบทความเกี่ยวกับการเลือกอุปกรณ์ต่างๆสักเท่าไหร่เลยครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของทัศนะ ค่านิยม หรือความถนัดของแต่ละคน ซึ่งมักจะมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่เสมอ และผมก็ไม่ชอบความขัดแย้งด้วย 5555

เอาเป็นว่า บทความนี้เป็นทัศนะส่วนตัวของผม ที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้ผู้ต้องการเริ่มต้นกับปากกาคอแร้งใช้เป็นแนวทางในการเลือกหาอุปกรณ์แล้วกันนะครับ จะได้ไม่ต้องลองผิดลองถูกให้เสียเงินไปมากอย่างผม 5555 และแน่นอนว่า ความเห็นของผมอาจแตกต่างจากผู้รู้ท่านอื่นก็ได้

สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับปากกาคอแร้ง หากเห็นว่าบทความนี้มีข้อผิดพลาด หรือควรเพิ่มเติมอย่างไร กรุณาให้คำแนะนำด้วยนะครับ

การเริ่มต้นกับปากกาคอแร้งนี่ ถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มากเท่าไรนะครับ ตกแล้วไม่ถึงสองร้อยบาทก็หาด้ามปากกาดีๆ และหัวปากกาชั้นนำ พร้อมกับน้ำหมึกถูกๆอีกสักหนึ่งขวด มาหัดเขียนได้แล้วครับ

อุปกรณ์ในการเขียนด้วยปากกาคอแร้งหลักๆ ก็มีแค่ 3 อย่าง คือ

  • ด้ามปากกา (Nib Holder)

  • หัวปากกา (Nib)

  • น้ำหมึก (Ink)

Straight Nib Holder และ Oblique Nib Holder

ขอบคุณภาพจาก www.gourmetpens.com

ชนิดของด้ามปากกาคอแร้ง

ด้ามปากคอแร้ง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Nib Holder นี่ มีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ ด้ามแบบตรง (Straight Nip Holder) และด้ามแบบเอียง (Oblique Nib Holder)

ด้ามปากกาคอแร้งแบบตรง เหมาะสำหรับใช้เขียนงานทั่วไป รวมถึงใช้วาดภาพครับ ส่วนด้ามแบบเอียงจะเหมาะสำหรับเขียนอักษรวิจิตร หรือ Calligraphy โดยเฉพาะการเขียนด้วยหัวปากกาแบบ Flex เพราะสามารถช่วยให้กำหนดองศาของหัวปากกาที่สัมผัสกระดาษได้ดีกว่า โดยไม่ต้องบิดข้อมือเวลาเขียนครับ ผมจะพูดถึงรายละเอียดของด้ามปากกาคอแร้งแบบเอียงในบทความอื่นนะครับ สำหรับผู้เริ่มต้น ผมแนะนำให้หาด้ามแบบตรงมาใช้ก่อน เพราะการจับปากกาจะมีลักษณะเหมือนกับการเขียนด้วยปากกาทั่วไป ซึ่งผู้เขียนถนัดดีอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักมือได้ง่ายกว่าครับ

ส่วนประกอบของด้ามปากกาคอแร้ง

ด้ามปากกาคอแร้งจะประกอบด้วย ตัวด้ามปากกา (Nib Holder) บริเวณที่จับ (Grip Section) และที่ใส่หัวปากกา (Gripper หรือ Nib Insert)

ด้ามปากกาคอแร้งโบราณ ทำจากเงินสเตอริง แกะสลักลวดลายสวยงาม

ขอบคุณภาพจาก iGavel Auctions

ตัวด้ามปากกาคอแร้ง (Nib Holder) ทำจากวัสดุหลายหลายชนิด มีหลายสี หลายลวดลายให้เลือก ในขนาดที่แตกต่างกัน ซึ่งราคาของด้ามปากกาก็จะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ผลิตนี่แหละครับ วัสดุหลักๆที่นิยมใช้ทำด้ามปากกาคอแร้งก็คือ พลาสติก กับไม้ ส่วนด้ามคอแร้งหรูๆ ราคาแพงๆ ก็มีทำจากอะครีลิก อีโบไนท์ ที่หรูจัดทำจากเงินก็มีนะครับ ส่วนลวดลายบนด้ามปากกาก็มีทั้งที่เป็นสีพื้นๆ หรือเป็นลายไม้ มีกลึงหรือแกะสลักให้เป็นลวดลายต่างๆ ใครจะเลือกแบบไหนก็สุดแล้วแต่งบประมาณครับ

สำหรับผู้เริ่มต้น ด้ามคอแร้งที่ทำจากพลาสติก หรือไม้จะมีราคาไม่สูงนัก แต่ก็สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีนะครับ

ด้ามปากกาคอแร้งมีให้เลือกมากมายหลายแบบ แตกต่างกันไปทั้งวัสดุที่ใช้ผลิต ความอวบและความยาวของด้ามปากกา นอกจากนี้ก็ยังมีบริเวณที่จับปากกาหลายแบบให้เลือกอีกด้วย

บริเวณที่จับปากกา (Grip Section) ก็คือ ส่วนของด้ามปากกาตรงที่ใช้จับเขียนนั่นแหละครับ บริเวณที่จับปากกานี้ก็จะมีการออกแบบที่แตกต่างกันไปอยู่บ้างเหมือนกัน ด้ามปากกาบางอันจะมีที่จับเป็นทรงกระบอกธรรมดาๆนี่แหละ บางด้ามก็จะคอดเพื่อรับกับนิ้วมือ บางแบบก็มีการเหลาเป็นทรงสามเหลี่ยม เพื่อให้จับปากกาได้ถนัดยิ่งขึ้น บ้างก็มียางหุ้มเพื่อกันลื่น ใครชอบแบบไหนก็ตามแต่ถนัดเลยครับ

ที่ใส่หัวปากกา (Gripper หรือ Nib Insert) มีแบบที่ทำจากโลหะ และพลาสติกครับ โดยมากแล้วด้ามปากกาที่ทำจากพลาสติก ที่ใส่หัวปากกาก็จะเป็นพลาสติกด้วย ส่วนด้ามปากกาที่ทำด้วยไม้ หรือวัสดุอื่นก็มักจะใช้ที่ใส่หัวปากกาแบบที่ทำจากโลหะ แต่ก็มีอยู่เหมือนกันที่ด้ามปากกาไม้ ใช้ที่ใส่หัวปากกาที่ทำด้วยพลาสติก

ที่ใส่หัวปากกาแบบทำจากโลหะ จะทนทานกว่าแบบที่ทำจากพลาสติก หากใช้ไปนานๆแล้วเกิดหลวมขึ้นมา ก็สามารถปรับแต่งให้แน่นขึ้นได้ไม่ยาก

ส่วนที่ใส่หัวปากกาแบบที่ทำจากพลาสติกก็ยังมีอีก 2 แบบ คือ แบบที่มีร่องสำหรับใส่หัวปากกาที่มีฐานขนาดเล็ก และฐานขนาดใหญ่แยกจากกัน ซึ่งจะมีร่องสำหรับใส่หัวปากกา 2 ชั้น ส่วนอีกแบบจะใส่ได้เฉพาะหัวปากกาขนาดเล็ก หรือใหญ่เท่านั้น เวลาซื้อก็ต้องเลือกว่าต้องการใช้กับหัวปากกาขนาดไหน แต่อันที่จริงแล้วแบบที่ใส่หัวปากกาที่มีฐานใหญ่ ก็จะสามารถใส่หัวปากกาที่มีฐานเล็กได้ด้วย แต่จะใส่หัวปากกาแบบฐานทรงกระบอก (Maru) ไม่ได้ครับ ที่ใส่หัวปากกาแบบที่ทำจากพลาสติกนี้มีข้อเสีย คือ หากใช้ไปนานๆ ถอดใส่หัวปากกาเข้าๆออกๆบ่อยเข้า พลาสติกจะสึกและหลวมได้ครับ

เลือกด้ามปากกาคอแร้ง

หากมีโอกาสไปเดินเลือกซื้อด้ามปากกาคอแร้งด้วยด้วยตนเอง ผมแนะนำให้ทดลองจับดูก่อน หลักๆคือ ควรเลือกด้ามที่มีน้ำหนักเบา ไม่ผอมหรืออ้วนจนจับไม่ถนัด และจะต้องไม่ลื่นครับ ส่วนจะชอบ Grip Section เป็นแบบเป็นทรงกระบอก จะมียางหุ้มหรือไม่ หรือจะเป็น Grip สามเหลี่ยมรับกับนิ้วมือ อันนั้นก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ส่วนที่ใส่หัวปากกา เลือกแบบที่เป็นโลหะก็จะใช้งานได้นานกว่านะครับ

แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสเดินเลือกด้วยตนเองต้องอาศัยการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ก็ไม่ต้องกังวลนะครับ ด้ามคอแร้งที่ขายอยู่ตามร้านเครื่องเขียนใหญ่ๆจะมีคุณภาพที่ดีมากอยู่แล้วครับ เว้นแต่พวกที่ขายเป็นชุดๆพร้อมหัวปากกา อันนั้นต้องเลือกสักหน่อย เพราะบางชุดก็ให้ด้ามที่ไม่ค่อยได้มาตรฐานเท่าไหร่มาด้วย

หัวปากกาคอแร้งมีให้เลือกมากมายจริงๆ นี่เป็นแค่บางส่วนเท่านั้นนะครับ

จริงๆยังมีให้เลือกมากแบบกว่านี้อีกเยอะเลยครับ

ขอบคุณภาพจาก www.cornelissen.com

เลือกหัวปากกาคอแร้ง

หัวปากกาคอแร้งนี่มีให้เลือกหลายแบบเลยครับ ผมว่าปากกาคอแร้งนี่เป็นเครื่องเขียนที่มีหัวปากกาแบบต่างๆให้เลือกมากที่สุด แบบที่เครื่องเขียนชนิดอื่นๆไม่มีทางที่จะหัวปากกาให้เลือกได้มากขนาดนี้เลยนะครับ

หัวปากกาแต่ละแบบก็จะมีบุคลิกในการเขียนที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงให้ลักษณะลายเส้นที่แตกต่างกันไปด้วยครับ อย่าง หัวปากกาที่มีลักษณะแบนๆเหมือนปากเป็ด ที่เรียกกันว่า ปากกาปากตัด ก็จะให้ขนาดของลายเส้นในแนวตั้งและแนวเฉียงที่มีความกว้างแตกต่างกัน ทำให้เกิดลายเส้นในลักษณะริบบิ้นครับ ส่วนหัวปากกาที่มีปากกลมๆใหญ่ๆ ก็จะให้ลายเส้นขนาดใหญ่ ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบของลายเส้นเป็นส่วนโค้งของวงกลม คล้ายๆกับที่เขียนด้วยปากกามาร์คเกอร์หัวใหญ่ๆนั่นเอง หัวปากกาบางแบบจะมีความยืดหยุ่น (Flexible) ดีมาก พอเขียนกดๆหัวปากกากับกระดาษ ส่วนปลายของหัวปากกาก็จะแยกออกจากกัน ทำให้เกิดลายเส้นขนาดใหญ่ ใช้เขียนตัวอักษรแบบขึ้นเบาลงหนักได้สวยงาม

การเลือกหัวปากกาสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นกับปากกาคอแร้ง อย่างแรกผมอยากให้ดูขนาดของหัวปากกาครับ ปกติแล้วหัวปากกาคอแร้งจะมี 2 ขนาด ใหญ่กับเล็ก หัวปากกาที่มีขนาดเล็ก มักจะให้ลายเส้นที่เล็กและคมมาก เหมาะสำหรับเขียนหนังสือตัวเล็กๆ งานเขียนที่ประณีต หรือวาดภาพลายเส้นครับ แต่เวลาเขียนบางทีก็จะรู้สึกว่ากัดกระดาษมาก และยังอุ้มน้ำหมึกได้ไม่มากนะครับ

นอกจากหัวปากกาที่มีขนาดเล็กแล้ว ยังมีหัวปากกาเฉพาะอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าหัวปากกาแบบ “มารุ” (Maru) ซึ่งจะมีฐานสำหรับเสียบกับตัวปากกาเป็นท่อกลมๆครับ หัวปากกาแบบนี้จะใช้กับด้ามปากกาเฉพาะ หรือด้ามปากกาที่มีที่เสียบหัวปากกาขนาดเล็ก อันที่จริงหัวปากกาแบบมารุนี่เขียนได้สนุก และอุ้มน้ำหมึกดีมากด้วยนะครับ แต่อาจจะใช้กับด้ามปากกาทุกแบบไม่ได้

สำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นกับปากกาคอแร้ง ผมแนะนำให้หาหัวปากกาแบบที่มีขนาดใหญ่มาใช้ก่อนนะครับ แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วครับว่า หัวปากกาคอแร้งนี่มีให้เลือกหลายแบบมากๆ แต่ถ้าดูจากโหงวเฮ้งแล้วจะสังเกตได้ว่า หัวปากกาจะมีแบบที่มีลักษณะเรียวๆยาวๆ กับแบบป้อมๆมู่ทู่ สำหรับผู้เริ่มต้น ผมอยากแนะนำให้เริ่มจากหัวปากกาที่มีลักษณะป้อมๆมู่ทู่ ที่มีรูปทรงคล้ายห้าเหลี่ยมนี่ก่อนครับ เพราะหัวปากกาลักษณะเรียวยาวมักจะเขียนยากกว่า และกัดกระดาษกว่าครับ

ผมขอยกตัวอย่างหัวปากกาคอแร้งที่ส่วนตัวผมเห็นว่าเขียนง่าย ไม่กัดกระดาษ และอุ้มน้ำหมึกได้ดีสักสองรุ่นนะครับ คือ Brause Blue Pumpkin และ Brause Pfannen Feeder ครับ หัวปากกาทั้งสองรุ่นมีความยืดหยุนดีด้วย เหมาะทั้งสำหรับผู้เริ่มต้น ไปจนถึงนักเขียนอักษรวิจิตรระดับมืออาชีพเลยล่ะครับ ส่วนหัวปากกาแต่ละรุ่นมีดีตรงไหน ไว้ผมจะมาทำรีวิวให้ชมกันทีละรุ่นอีกทีละกันนะครับ

ขอบคุณภาพจาก www.jetpens.com

น้ำหมึกสำหรับปากกาคอแร้ง

จุดเด่นสุดๆอีกอย่างหนึ่งของปากกาคอแร้ง คือ ใช้น้ำหมึกได้หลากหลายชนิดครับ จึงทำให้มีตัวเลือกสำหรับน้ำหมึกมากมายมหาศาลเลย ทั้งหมึกฝรั่ง หมึกจีน หมึกอินเดีย หมึกญี่ปุ่น ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันไปทั้งกันน้ำ สะท้อนแสง มีประกายเพชร ประกายทอง เรียกว่า มีหมึกให้เลือกใช้อย่างเพลิดเพลินเลยล่ะครับ

สำหรับผู้เริ่มต้น อาจจะยังไม่จำเป็นจะต้องลงทุนกับน้ำหมึกราคาแพงๆนะครับ หาซื้อน้ำหมึกสำหรับปากกาหมึกซึมขวดละ 20-30 บาทมาหัดเขียนให้คล่องก่อน พอเริ่มควบคุมปากกาอยู่ สามารถใช้คุณสมบัติต่างๆของหัวปากกาได้ดีขึ้นแล้ว จากนั้นค่อยหาน้ำหมึกที่แฟนตาซีทั้งหลายมาลองเล่นดีกว่าครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

ขอบคุณ ร้าน PP Art and Craft ให้การสนับสนุนบทความชุด Dip Pen นี้ ผู้ที่สนใจปากกาคอแร้งก็ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมเว็บของทางร้านดูนะครับ ร้าน PP Art and Craft มีด้ามปากกา และหัวปากกาคอแร้งชั้นนำให้เลือกมากมายเลยครับ

บทความชุด ปากกาคอแรง สำหรับผู้เริ่มต้น

ตอนที่ 3 เลือกอุปกรณ์สำหรับปากกาคอแร้ง

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page