top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[Dip Pen] ปากกาคอแร้ง ตอนที่ 4 ดูแลรักษาอุปกรณ์


หลังจากมีอุปกรณ์ปากกาคอแร้งกันแล้ว ก็มารู้จักวิธีดูแลรักษาอุปกรณ์กันสักหน่อยครับ ซึ่งปากกาคอแร้งก็ไม่ใช่อุปกรณ์ไฮเทคอะไร การดูแลรักษาก็ไม่มีอะไรมากมาย แค่ล้างให้สะอาด แล้วเก็บไว้ในที่แห้งก็เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามยังมีขั้นตอนการดูแลหัวปากกาคอแร้ง ก่อนการเขียนครั้งแรกอยู่นิดหน่อยเหมือนกันนะครับ

ล้างหัวปากกาก่อนเขียนครั้งแรก

หัวปากกาที่ซื้อมาใหม่ๆ ทางโรงงานผู้ผลิตมักจะเคลือบแว็กซ์หรือน้ำมันไว้ เพื่อป้องกันสนิม แว็กซ์พวกนี้จะทำให้น้ำหมึกไม่เกาะหัวปากกา พอจุ่มหมึกเขียน ก็จะเขียนได้แค่นิดๆหน่อยๆน้ำหมึกก็แห้งซะแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องล้างหัวปากกาที่ได้มาใหม่ก่อน เพื่อให้หัวปากกาอุ้มน้ำหมึกได้มากๆครับ

การล้างหัวปากกาก่อนการเขียนครั้งแรกนี่มีหลายตำราเลยครับ บ้างก็บอกให้ใช้ไฟรน ล้างด้วยน้ำยาล้างจานหรือน้ำยาเช็ดกระจก ขัดด้วยยาสีฟัน บางคนก็บอกให้จิ้มในผลมันฝรั่ง ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อล้างคราบขี้ผึ้งที่เคลือบมาบนหัวปากกา ส่วนตัวผมชอบใช้น้ำยาล้างจาน หรือไม่ก็ขัดด้วยยาสีฟันครับ เพราะหาได้ง่ายในบ้าน

การล้างหัวปากกา ให้ผสมน้ำยาล้างจานกับน้ำเปล่าจนไม่เกิดฟอง บางคนก็บอกให้ใช้น้ำยาล้างจาน 1-3 หยด ผสมกับน้ำเปล่า 1 แก้ว แต่สำหรับหัวปากกาคอแร้งนี่ ผมเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องเคร่งครัดเรื่องความเข้มข้นของน้ำยาล้างจานเลยครับ ในการล้างก็ให้ใช้แปรงสีฟันเก่าๆ หรือก้านสำลีขัดหัวปากกาเบาๆสักครู่ โดยเฉพาะด้านในของหัวปากกา ซึ่งเป็นที่กักเก็บน้ำหมึก แล้วก็ล้างน้ำเปล่าจนสะอาด

การล้างด้วยยาสีฟัน ก็ทำเหมือนกันครับ แค่บีบยาสีฟันให้แปรงเก่าๆ แล้วก็ขัดๆๆๆๆๆๆๆ จากนั้นก็นำหัวปากกาไปล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด จากนั้นเช็ดด้วยผ้าแห้งหรือกระดาษทิชชู่จนหัวปากกาแห้งสนิท เท่านี้ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว

ฝรั่งบางคนบอกว่า การหัวปากกาล้างนี้ควรล้างเฉพาะส่วนที่เป็นหัวปากกาเท่านั้น ไม่ต้องล้างบริเวณก้านของหัวปากกา ที่เราใช้เสียบเข้าไปในด้ามนะครับ เพื่อให้ขี้ผึ้งยังคงติดที่ก้าน ช่วยป้องกันสนิม แต่จริงๆแล้วล้างหรือไม่ล้างก็มีผลเท่ากันครับ เพราะเวลาที่เราเสียบหัวปากกาเข้าๆออกๆ ขี้ผึ้งก็จะโดนขัดออกไปอยู่ดี

การใช้ไฟรนนี่ผมไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่ครับ อย่างไรก็ตาม หากใครมีความจำเป็นจะต้องใช้ไฟรนจริงๆ ก็อย่ารนไฟจนหัวปากกาเปลี่ยนสีนะครับ และขณะที่หัวปากกายังร้อนอยู่อย่าจุ่มน้ำทันที เพราะอาจทำให้คุณสมบัติด้านความแข็งของโลหะเปลี่ยนไปได้

การจิ้มในหัวมันฝรั่ง อาจจะไม่เหมาะกับบ้านเรา เพราะมันฝรั่งไม่ใช่ผัก หรือผลไม้ที่มักจะมีอยู่ในครัวบ้านเรานะครับ แต่วิธีนี้ฝรั่งหลายคนบอกว่า ได้ผลดีมากๆ ซึ่งจริงๆก็เป็นเพราะมันฝรั่งมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนนั่นเองครับ การจิ้มลงในมันฝรั่งนี่ ก็ดูสักหน่อยนะครับ หากผลมันฝรั่งแข็งเกินไป หรือจิ้มหัวปากกาไม่ตรง ก็อาจทำให้หัวปากกาเสียหายได้เหมือนกัน

สำหรับการล้างด้วยน้ำยาเช็ดกระจก ก็เหมือนๆกับการใช้น้ำยาล้างจานนั่นแหละครับ เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้ว ก็ควรล้างด้วยน้ำเปล่าอีกที เพื่อไม่ให้คราบของน้ำยาเกาะบนหัวปากกา ซึ่งแม้ว่าบางทีอาจไม่มีผลต่อการเขียน แต่น้ำยาอาจลงไปผสมกับน้ำหมึกได้ครับ

ที่บอกมาข้างต้น เป็นการล้างหัวปากกาที่ได้มาใหม่ๆ ก่อนที่จะใช้เขียนครั้งแรกนะครับ ไม่ต้องทำก่อนเขียนทุกครั้ง

ล้างหัวปากกาก่อนเขียนทุกครั้ง

นักเขียนอักษรวิจิตรที่ซีเรียสของต่างประเทศบางคนแนะนำว่า ก่อนเขียนด้วยปากกาคอแร้งทุกครั้ง ควรล้างหัวปากกาซะก่อนทีนึง โดยแนะนำให้เจือจางน้ำยาเช็ดกระจก ใส่ขวดเล็กๆไว้ ก่อนเขียนก็นำหัวปากกาไปแกว่งในน้ำยาเช็ดกระจกสักทีสองที แล้วเช็ดให้แห้งก่อนนำไปเขียน

การล้างหัวปากกาก่อนเขียนทุกครั้งนี้ ก็เพื่อล้างสิ่งสกปรกที่อาจตกค้างบนหัวปากกาในขณะที่เก็บไว้ รวมถึงล้างคราบน้ำมันจากมือของเราตอนที่หยิบหัวปากกาด้วย การล้างหัวปากกาก่อนเขียนนี้อาจไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก แต่ผมว่าก็ดีเหมือนกัน อย่างน้อยก็ทำให้ฝุ่นบนหัวปากกาไม่ไปปะปน กลายเป็นตะกอนอยู่ในน้ำหมึกและยังช่วยให้หัวปากกาอุ้มน้ำหมึกได้ในปริมาณที่ควรจะเป็นด้วยครับ

ส่วนตัวผมจะล้างหัวปากกาคอแร้งก่อนการเขียนด้วยแอลกอฮอร์สำหรับเช็ดแผลครับ อันนี้ผมก็ได้มาจากนักเล่นปากกาคอแร้งในต่างประเทศนั่นแหละ และผมมาคิดเองว่า แอลกอฮอร์เมื่อแห้งแล้วจะไม่คราบหรือสารตกค้าง ต่างกับน้ำยาเช็ดกระจก ที่อาจมีสารแอมโมเนียตกค้างที่หัวปากกา และไปละลายปะปนในน้ำหมึกได้ ตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าผมจะคิดมากเกินไปรึเปล่านะครับ เพียงแค่เสียดายน้ำหมึกราคาแพงๆน่ะครับ

ล้างหัวปากกาเมื่อเขียนเสร็จ

เมื่อเขียนด้วยปากกาคอแร้งเสร็จแล้วทุกครั้ง จะต้องล้างหัวปากกาด้วยนะครับ การล้างก็ใช้น้ำเปล่านี่แหละ โดยให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเช็ดน้ำหมึกบนหัวปากกาออก แล้วนำหัวปากกาไปแกว่งในแก้วใส่น้ำเปล่า จนน้ำหมึกบนหัวปากกาออกหมด แต่ถ้าใครที่ใช้น้ำหมึกที่ล้างยากๆ ก็อาจจำเป็นต้องถอดหัวปากกาออกมาจากด้าม แล้วใช้แปรงขัดหัวปากกาเบาๆ

พอล้างหัวปากกาสะอาดดีแล้ว ให้ใช้ผ้าแห้งหรือกระดาษทิชชู่ เช็ดหัวปากกาจนแห้ง จากนั้นก็วางผึ่งลมไว้สักพักจนหัวปากกาแห้งสนิทก่อนที่จะนำไปจัดเก็บ

สำหรับด้ามปากกา ก็ควรใช้กระดาษทิชชู่ซับน้ำในบริเวณที่เสียบปากกา หรือ Nib Insert ให้แห้งด้วยนะครับ เพราะเวลาที่เราจุ่มน้ำหมึกก็ดี หรือล้างหัวปากกาก็ดี จะมีน้ำเข้าไปขังในบริเวณนี้ครับ

ข้อห้ามที่สุดของการเก็บหัวปากกาคอแร้ง คือ อย่าเสียบหัวปากกาคาไว้กับด้ามคอแร้งอย่างเด็ดขาด เพราะบริเวณก้านของหัวปากกาที่เสียบอยู่ในด้ามจะเป็นสนิมอย่างรวดเร็วมาก

การจัดเก็บอุปกรณ์คอแร้ง

ส่วนตัวผมจะจัดเก็บหัวปากกา และด้ามปากกาไว้ในกล่องพลาสติกแบบเป็นช่องๆครับ ช่วยให้แยกชนิดของหัวปากกาได้ชัดเจน และยังไม่ต้องกลัวว่าจะไปทำหัวปากกาอันใดอันหนึ่งตกหายที่ไหนด้วย คือ ถ้าจะหาย ก็ให้หายพร้อมกันทั้งกล่องไปเลย 555555

กล่องพลาสติกจะช่วยป้องกันความชื้นในอากาศได้ในระดับหนึ่ง ทำให้หัวปากกาเป็นสนิมยากขึ้น แต่ถ้าจะให้มั่นใจก็ใส่ซิลิกาเจล สำหรับดูดความชื้นเข้าไปด้วยสัก 1 ซอง เท่านี้ก็เก็บหัวปากกาคอแร้งไว้ได้เป็นปีๆ โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นสนิมแล้ว แต่ถ้าใครที่ยังไม่มีกล่องพลาสติกเหมาะๆ จะเก็บหัวปากกาไว้ในถุงพลาสติกแบบซิบล็อค พวกถุงใส่ยานั่นก็ได้นะครับ ถุงพลาสติกแบบนี้ก็ป้องกันความชื้น และฝุ่นได้ดีมากครับ

เอาล่ะ อุปกรณ์สำหรับปากกาคอแร้งก็มีกันแล้ว ดูแลรักษาก็เป็นแล้ว ทีนี้เรามาเริ่มลงมือเขียนกันเหอะครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

ขอบคุณ ร้าน PP Art and Craft ให้การสนับสนุนบทความชุด Dip Pen นี้ ผู้ที่สนใจปากกาคอแร้งก็ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมเว็บของทางร้านดูนะครับ ร้าน PP Art and Craft มีด้ามปากกา และหัวปากกาคอแร้งชั้นนำให้เลือกมากมายเลยครับ

บทความชุด ปากกาคอแร้ง สำหรับผู้เริ่มต้น

ตอนที่ 4 ดูแลรักษาอุปกรณ์

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page