top of page
  • ที่มา: nibs.com

เรื่องของ Iridium Point


ผู้ใช้ปากกาหมึกซึมทุกคนคงจะคุ้นเคยกับคำว่า Iridium Point เป็นอย่างดีนะครับ เพราะมักจะเห็นสลักอยู่บนหัวปากกาหลายๆยี่ห้อ แล้วอะไรคือ Iridium Point และปากกาเหล่านั้นใช้หัวปากกาที่ทำจาก Iridium จริงหรือ เรามาหาคำตอบนี้จากบทความเรื่อง How can we talk about iridium? จากบล็อกปากกาปากกาหมึกซึมชื่อดังของสหรัฐอเมริกา nibs.com ไปด้วยกันครับ

nibs.com เป็นบล็อกที่ให้ความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับปากกาหมึกซึม ก่อตั้งโดย John Mottishaw เจ้าของร้าน Classic Fountain Pens นั่นเองครับ ต้องบอกก่อนเลยนะครับว่า John Mottishaw นี่เป็นหนึ่งใน Nibmeister หรือ Nib Master ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ ถึงขนาดที่นักเล่นปากกาหมึกซึมทุกคน ต่างก็ต้องการที่จะได้เป็นเจ้าของปากกาหมึกซึมอย่างน้อยสักหนึ่งด้าม ที่ Customize หัวปากกาโดย John Mottishaw ครับ และบทความเรื่องของ Iridium Point นี้ ก็เขียนขึ้นโดย John Mottishaw นี่เอง

ก่อนอื่นผมขอขยายความคำว่า Point กันสักหน่อยก่อนนะครับ Point หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Tip คือส่วนปลายสุดของหัวปากกา ที่หากมองดีๆก็จะเห็นว่าเป็นตุ่มกลมๆติดอยู่ตรงปลายหัวปากกานั่นแหละครับ คำว่า Iridium Point จึงเป็นคำที่ใช้อ้างว่า หัวปากกาอันนั้นมีส่วนปลายทำจาก Iridium ซึ่งเป็นธาตุในตระกูลเดียวกับ Platinum ที่มีความแข็งมาก แต่ก็เปราะ

Mr. Mottishaw เล่าว่า เขาเคยนั่งปรึกษากับ Mr. Kurt Montgomery ซึ่งเป็นช่างเทคนิคของ Classic Fountain Pens เกี่ยวกับเรื่องส่วนปลายของหัวปากกาที่ทำจากอิริเดียมนี้ ซึ่งเขาบอกว่า เขาไม่เคยพบเลยว่า ยังคงมีโรงงานผลิตหัวปากกาหมึกซึมที่ไหนในโลกนี้ ที่ใช้อิริเดียมทำหัวปากกาอยู่อีก และอันที่จริงแล้ว ไม่มีใครใช้อิริเดียมทำหัวปากกามานานเป็นทศวรรษแล้วด้วยซ้ำ

ขณะที่ Mr. Mottishaw กำลังสลัดให้หลุดจากความคิดในเรื่องหัวปากกาที่ทำจากอิริเดียมนี้ ก็มีปัญหาใหม่ผุดขึ้นมาในหัวของเขาอีกว่า แล้วเราจะเรียกเจ้าวัสดุที่ใช้ทำส่วนหัวของปากกาหมึกซึมนี่ว่าอะไรดีล่ะ เพราะการที่มีชื่อเรียก ย่อมเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะพูดถึงสิ่งๆนั้น และคำว่า Iridium นี้ ดั้งเดิมมาจากภาษากรีก มีความหมายว่า “สายรุ้ง” จึงนับว่าเป็นชื่อเรียกที่ดูแล้วลึกลับ น่าสนใจดี นอกจากนี้ Iridium ยังเป็นชื่อของธาตุลำดับที่ 77 ในตารางธาตุอีกด้วย ซึ่งก็เหมือนกับธาตุออกซิเจน และธาตุเหล็ก ที่หลายๆคนก็ใช้คำว่า “ออกซิเจน” แทนความหมายของคำว่า “อากาศ” (ออกไปสูดออกซิเจนแป๊บ) และก็ยังพูดรวมๆถึงโลหะผสมอีกหลายๆชนิดว่า “เหล็ก” ซึ่งเรื่องของชื่อเรียกที่ว่ามานี้ ดูเหมือนจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องทางวิชาการอย่างใด แต่ผู้คนในโลกตะวันตกจำนวนมากพากันคิดไปในทางวิชาการ และพยายามจะหาความจริงกับเรื่องของ Iridium Point นี้

ขอขั้นเวลาแป๊บครับ บอกตามตรงว่า บทความนี้เป็นบทความที่แปลค่อนข้างยากเลยสำหรับผม เพราะ Mr. Mottishaw เขียนด้วยถ้อยคำสละสลวย และเป็นวิชาการมาก แต่ก็ให้ความหมายใจความได้อย่างลึกซึ้งจริงๆนะครับ ที่ Mr. Mottishaw พูดถึงคนที่พากันสงสัยในคำว่า Iridium Point นี่ อันที่จริงแล้ว น่าจะเป็นนักเล่นปากกาหมึกซึมทั่วโลกเลยนะครับ ไม่ใช่เฉพาะนักเล่นปากกาหมึกซึมทางซีกโลกตะวันตกครับ และผมก็ชอบที่ Mr. Mottishaw พูดถึง การใช้ชื่อเรียกแบบ “เหมารวม” นี่มากๆเลย คือ แทนจะต้องมาชี้แจงว่า หัวปากกาของฉันทำจากสแตนเลสผสม หรือทำจากโน่นนี่นั่น ก็บอกรวมๆไปเลยว่า เจ้าตุ่มกลมๆที่แปะอยู่ตรงปลายหัวปากกานั่นแหละคือ Iridium Point โดยเธอไม่ต้องไปสนใจหรอกว่า จริงๆแล้วมันทำมาจากอะไร ก็คงจะเหมือนกับที่เราเรียก รถเหล็ก หรือกล่องเหล็ก ทั้งๆที่จริงแล้วอาจจะทำจากอัลลอยด์ ทองเหลือง ดีบุก หรือจะอะไรก็ช่างนะครับ

ภาพขยาย 120 เท่าของ ลักษณะแบบพื้นผิวของหินภูเขาไฟ จากหัวปากกา Sheaffer ที่หักแล้ว ซึ่งผลิตในราวปี 1918 อันอาจจะเป็นผลมาจากการสึกกร่อน หัวปากกานี้ไม่ได้เขียนได้ลื่นเหมือนกับหัวปากกาที่ผลิตในปัจจุบัน

Iridium มีจุดหลอมเหลวที่ 2,410 องศาเซลเซียส เป็นหนึ่งในโลหะหลายๆชนิดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับแพลตินั่ม ที่มีคุณสมบัติแข็งมากๆ และทนการกัดกร่อนได้ดี วัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติเหมือนๆกันนี้ ได้แก่ Osmium, Ruthenium, Rhenium และ Rhodium แต่เพราะว่า Iridium ค่อนข้างจะหายาก และมีราคาแพงมาก หัวปากกาส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงไม่ได้ผลิตจากอิริเดียมอีกต่อไป

หัวปากกาหมึกซึมที่เราพบได้บ่อยๆว่า ผลิตจากส่วนผสมของอิริเดียม คือ ปากกา Parker 51 ที่ผลิตขึ้นในปี 1952 โดยมีส่วนผสมของ Iridium เพียงร้อยละ 2.6 Mr. Mottishaw ได้สุ่มสำรวจปากกาหมึกซึมที่ผลิตในปี 1956 และไม่พบว่ามีหัวปากกาใดเลยที่มีส่วนผสมของ Iridium แต่กลับผลิตจาก Ruthenium 100% ขณะที่หัวปากกาที่ผลิตในปี 1957 ผลิตจาก Ruthenium 56% ผสมกับ Rhodium 44% ไม่มีหัวปากกาใดๆจากการสุ่มสำรวจที่มีส่วนผสมของ Iridium เลย ทั้งนี้ Mr. Mottishaw บอกว่า เขาได้สุ่มสำรวจปากการุ่นปัจจุบันทั้งของ Montblanc, Parker, Sheaffer และแม้แต่ปากการาคาแพงๆทั้งหลาย รวมไปถึงปากกาที่ผลิตจากประเทศอินเดีย ที่ยังคงนิยมปั๊มคำว่า Iridium Point อยู่บนหัวปากกา โดยการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ไม่พบว่า มีหัวปากกาใดเลยที่มีส่วนผสมของ Iridium เช่นกัน

Mr. Mottishaw เพียงแค่บอกได้ว่า คำว่า Iridium Point ได้พัฒนาตัวเองไปในลักษณะเดียวกับคำว่า “ซีรอกซ์” ที่กลายมาเป็นคำแทนเครื่องถ่ายเอกสาร หรือคำว่า “ฟรีซ” ที่กลายมามีความหมายแทน การเก็บอาหารไว้ในที่เย็นจัด นั่นเอง

Mr. Mottishaw ไม่เชื่อว่าจะมีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างผู้ผลิตปากกาหมึกซึม ที่จะแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับการที่ใช้คำว่า Iridium Point กันทั่วไป แต่อาจเป็นเพราะยังไม่สามารถหาคำใดมาใช้แทน Iridium Point ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหากผู้ขายปากกาหมึกซึมส่วนใหญ่พากันพูดว่า ปากกาที่ตนขายใช้หัวปากกาคุณภาพสูงที่ทำจาก Iridium แล้วใครล่ะที่อยากจะไปบอกว่า อันที่จริงแล้วมันไม่ได้มีอิริเดียมผสมอยู่เลยแม้แต่น้อย

แต่การที่ค่อยๆเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ผลิตหัวปากกาอย่างเงียบๆ ไปเป็น Ruthenium, Tungsten และ Rhenium (ตัวอย่างเช่น กรณีของ Montblanc) นี่เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้รวมถึงคุณสมบัติออกมาอย่างเปิดเผย ราวกับว่าวัสดุนั้นมาจากนอกโลก และทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปในที่สุด ซึ่งเรื่องแบบนี้บรรดานักโฆษณาจะต้องไม่ชอบแน่ๆ และคงต้องพากันขุดคุ้ยว่า วัสดุชนิดใหม่นี้ดีกว่า หรือเลวกว่าหัวปากกาที่ทำจาก Iridium ที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 10 ถึง 20 ?

ภายหลังการตรวจสอบตัวอย่างของหัวปากการุ่นใหม่ที่ไม่ได้ทำจาก Iridium เป็นจำนวนมาก ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และบางส่วนก็ได้รับการตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน Mr. Mottishaw มั่นใจว่า โลหะผสมชนิดใหม่ มีความเสถียรกว่าอย่างแน่นอน และอาจจะมีคุณภาพโดยรวมสูงกว่าแบบเดิมที่มีผิวขรุขระ (ดูได้จากภาพถ่ายผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของหัวปากกา Sheaffer ข้างบน) แน่นอนว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยอมรับได้อย่างเห็นได้ชัดจากหัวปากการุ่นโบราณที่ทำจาก Iridium โดยเป็นหัวปากกาที่เขียนได้ดี แต่ก็ไม่ถึงขนาดดีเลิศอะไร และอาจจะมีที่มีข้อบกพร่องอยู่บ้างเหมือนกัน

โรงงานผู้ผลิตหัวปากกาที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี ได้ค่อยๆเอา Iridium ออกจากสายการผลิตอย่างช้าๆ ในปัจจุบันดูเหมือนว่า จะไม่มีใครใช้ Iridium ผลิตหัวปากกาอีกแล้ว สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่คงเป็นเพียงแค่ชื่อเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ทำส่วนปลายของหัวปากกา Sheaffer, Parker และ Montblanc รุ่นปัจจุบัน แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะยังคงใช้วิธีการทำงานที่เหมือนเดิม แต่ก็มีข้อแตกต่างไปบ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับวัสดุที่พวกเขาใช้ในปัจจุบัน และสารประกอบหลายๆชนิดที่ใช้ทำส่วนปลายของหัวปากกา ซึ่ง Mr. Mottishaw บอกว่า บริษัทต่างๆยังคงอยู่ในระหว่างความพยายามที่จะค้นหาวัสดุที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด

สำหรับตัว Mr. Mottishaw เขาบอกว่า ไม่สามารถจะบอกอะไรเกี่ยวกับการนำ Iridium มาใช้ในปากการุ่นใหม่ๆได้ และเขายังคนค้นหาชื่อเรียกอื่นที่น่าจะเหมาะสม เพื่อใช้แทนคำว่า “Tipped with Iridium” ไม่ได้เช่นกัน

ภาพของหัวปากกาในปัจจุบันที่ยังคงปั๊มคำว่า Iridium ที่มักจะพบบ่อยๆในปากกาหมึกซึมราคาถูกๆ ซึ่ง Mr. Mottishaw เชื่อว่าหัวปากกาจริงๆแล้วหัวปากกาพวกนั้นทำขึ้นจากวัสดุที่หาได้ง่าย ซึ่งหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนความคิดของเขาก็คือ การวิเคราะห์ส่วนประกอบของหัวปากกา และพบว่าทำขึ้นจากสแตนเลส 440 โดยไม่มี Iridium ผสมอยู่เลย ไม่มีแม้กระทั่งการเคลือบ Iridium บนผิวของวัสดุนั้น

ตกใจมั้ยล่ะครับ ที่รู้ว่าใช้สแตนเลส 440 ทำส่วนปลายของหัวปากการาคาไม่แพง เพราะสแตนเลส 440 นี่นับเป็นสแตนเลสเกรดทั่วๆไปเลยนะครับ เรียกว่าดีกว่าสแตนเลสที่ใช้ทำช้อนขึ้นมาหน่อยเดียวเอง และในแง่ของความแข็ง สแตนเลส 440 ถือได้ว่า เป็นสแตนเลสที่ค่อนข้างอ่อนเสียด้วยซ้ำครับ

ผมได้อ่านบทความหลายๆบทความที่พูดถึงเรื่อง Iridium Point นี้ แต่ดูเหมือนว่า บทความของ Mr. John Mottishaw นี่จะไขได้ทุกข้อข้องใจเลยนะครับ หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ผมไม่เคยสนใจอีกเลยว่า ส่วนปลายของหัวปากกาที่ใช้อยู่ทำจากวัสดุอะไร เพียงแต่เชื่อว่า บริษัทผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง ก็คงจะเลือกวัสดุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปากกาของตนอยู่แล้ว ส่วนปากการาคาไม่แพง ก็คงจะต้องใช้วัสดุที่เหมาะสมกับราคาครับ คือ What You Pay is What You Get นั่นเอง ไม่รู้เหมือนกันว่าผมจะคิดถูกรึเปล่า

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page