top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Faber-Castell Loom / M nib

เท่าที่นึกออก มีปากกาหมึกซึมอยู่เพียง 2 รุ่นที่ผมลังเลอยู่นานว่าจะซื้อดีหรือไม่ คือ Lamy 2000 และ Faber-Castell Loom ด้ามนี้ครับ สำหรับเหตุผลที่ลังเลกับ Lamy 2000 ไว้ค่อยคุยกันทีหลังนะครับ

อย่างที่ผมเคยบอกๆไปแล้วว่า ผมชอบปากกาหมึกซึมที่มีดีไซน์ออกไปในแนววินเทจมากกว่าปากกาที่ดูทันสมัย และดีไซน์ปากกาหมึกซึมของ Faber-Castell ทุกรุ่น ผมดูว่าออกไปในแนวโมเดอร์นมาก จนทำให้กลัวว่าซื้อมาแล้วก็จะไม่ค่อยได้หยิบใช้ แต่จุดที่ทำให้ผมลังเลก็คือ นักรีวิวและนักเล่นปากกาหมึกซึมทุกคน ทั้งที่ผมเคยอ่านเจอหรือได้พูดคุยกัน ต่างก็ชื่นชมกับหัวปากกาของ Faber-Castell มากๆๆๆๆๆ ชื่นชมแบบเวอร์เลยล่ะ ขนาดที่นักรีวิวปากกาชื่อดังบางคนถึงกับเอ่ยปากว่า เป็นหัวปากกาสแตนเลสที่เขียนได้ลื่นที่สุดเท่าที่เขาเคยมีมาเลย ต้องบอกว่า ยากนะครับที่นักวิจารณ์คนไหนจะออกมาพูดคำว่า ดีที่สุด อะไรทำนองนี้ เพราะทุกคนก็ต้องกลัวเจ็บตัวกันมั่งละ

ผมมั่นใจว่า ผมแวะเวียนดูและอ่านรีวิวของ Faber-Castell ทุกรุ่น ทุกรีวิวเท่าที่กูเกิ้ลจะค้นหาได้จนหมด ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายรอบ อย่างที่ไม่เคยดูรีวิวปากการุ่นไหนเยอะเท่านี้มาก่อน เพื่อจะบอกตัวเองว่า ซื้อมาลองใช้สักทีดิ แต่พอเห็นรูปทรงของปากกาแล้ว ยังไงผมก็รักไม่ลงครับ

แล้วจู่ๆวันหนึ่ง ในกลุ่มเฟสบุ๊ค Fountain Pen Australia ที่ผมก็เป็นสมาชิกอยู่ ได้มีคนโพสท์รูปของ Faber-Castell มาอีก แล้วสมาชิกในกลุ่มก็เข้าไปพูดคุยสรรเสริญปากกายี่ห้อนี้กันยาวเหยียด จำได้ว่ามากกว่า 70 โพสท์เลยทีเดียว ผมชอบอ่านความเห็นจากผู้ใช้ปากกามากกว่าดูรีวิวต่างๆอยู่บ้าง แต่จะเลือกดูความเห็นจากผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ และไม่มีอคติกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งนะครับ เพราะผู้ใช้ปากกามักจะให้ความเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา ต่างกับนักรีวิวที่บางทีก็มีเรื่องของสปอนเซอร์ หรือความเกรงใจต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องครับ และความเห็นยาวเหยียดเกี่ยวกับ Faber-Castell ที่โพสท์ในกลุ่ม FPA บอกตรงๆว่า อ่านแล้วเคลิ้มเลย

คืนนั้นผมเลยส่งข้อความไปหาพี่พี นักเล่นปากกาหมึกซึมคนไทย ที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย แล้วแกล้งถามถึงปากกายี่ห้อนี้อีก ผมค่อนข้างจะเชื่อความเห็นของพี่พี เพราะพี่พีมีปากกายี่ห้อ/รุ่นดีๆอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น Montblanc, Visconti, Aurora, Omas, Pelikan เรียกว่าถามถึงปากกาในฝันของผมรุ่นไหน พี่พีล้วนมีแล้วทั้งนั้น ซึ่งการที่เขียนด้วยปากการุ่นสูงๆเป็นประจำ ผมเชื่อว่าทำให้พี่เค้าสามารถรับรู้ถึงประสบการณ์ในการเขียนที่ละเอียดอ่อนได้ครับ ดังนั้นเวลาที่เราถามถึงปากการุ่นไหน ก็จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับการเขียนของปากการะดับไฮเอนที่ใช้อยู่เป็นประจำโดยอัตโนมัติ คือ ไม่ใช่นำไปเปรียบเทียบกับปากกาในระดับราคาเดียวกัน คำตอบของพี่พีวันนั้น ทำให้ผมสั่งซื้อ Faber-Castell Loom เลยทันที

ที่เกริ่นซะยาวนี่ ก็เพื่อบอกให้รู้ว่า ปากกาด้ามนี้ผมไม่ได้ซื้อมาแบบตามแห่ หรือหลงรูปนะครับ มิหนำซ้ำยังมีอคติในรูปทรงอีกด้วย

ปากกาหมึกซึมของ Faber-Castell มีให้เลือกใช้ตั้งแต่ราคาราวไม่ถึงพันบาท ไปจนสามสี่พันบาท แต่ผมสังเกตดูว่าใช้หัวปากกาหน้าตาเหมือนๆกัน ผมเลยเดาว่า น่าจะเป็นหัวปากการุ่นเดียวกันนะครับ จึงตัดสินใจซื้อรุ่นที่ราคาไม่แพงนักมาลองใช้ก่อน ซึ่งปากการุ่นที่ไม่แพงของ Faber-Castell ก็มีรุ่น Writink ที่ตัวปากกาทำจากพลาสติก ABS เหมือนกับ Lamy Safari แถมราคาก็ยังอยู่ในระดับเดียวกันอีกด้วย แต่ปากการุ่นนี้มีรีวิวไม่มากนัก และผมว่าปากกาดูพลาสติกมาก ซึ่งตัวผมก็ไม่ค่อยชอบปากกาที่ Look พลาสติกเท่าไหร่ จากที่เห็นในรูปทำให้ผมคิดว่า Lamy Safari ยังทำสีสวยกว่าอีก ก็เลยขอข้ามรุ่นนี้ไปก่อน สำหรับรุ่นที่แพงขึ้นมาอีกหน่อยก็มีรุ่น Basic และ Loom ที่ราคาเท่าๆกัน ผมตัดสินใจเลือกรุ่น Loom โดยไม่ต้องคิดเลย เพราะไม่ชอบปลอกปากกาที่ทำจากยางของ Basic สำหรับ Faber-Castell Basic นี่ เคยแปลรีวิวของต่างประเทศให้อ่านกันไปแล้วนะครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

ตัวปากกาของ Faber-Castell Loom ทำจากอลูมิเนียม มีลักษณะเป็นทรงกระบอก ปลอกปากกาป่องตรงกลาง ดูเหมือนคนหัวโตชอบกล ถ้าดูจากในรูป ไม่ว่าจะมองซ้าย มองขวา ตีลังกามองยังไง ผมก็ยืนยันว่าไม่สวยครับ แต่พอได้รับปากกาตัวเป็นๆมาแล้ว อืม ใช้ได้แฮะ ไม่ขี้เหร่อย่างที่คิด เรียกว่าควงออกงานได้อย่างไม่อายใคร และรับรองว่า ถ้าเอาไปใช้งานจะต้องมีคนขอดูแน่ๆครับ

ปากกามาในกล่องกระดาษสีขาว บนฝากล่องพิมพ์โลโก้ของ Faber-Castell ด้วยสีเงิน ดูเรียบๆแต่คลาสิกดี ด้านหน้าของกล่องมีลิ้นทำด้วยหนังสำหรับดึงเปิด ตรงนี้ผมให้คะแนนเพิ่มในความละเอียดประณีตเลยครับ ด้านในกล่องก็ไม่มีอะไรโดดเด่นครับ ชั้นนอกของกล่องมีปลอกกระดาษ พิมพ์เป็นรูปสะพานอะไรสักอย่าง (ใครรู้บอกผมหน่อยนะครับ) และโลโก้ พร้อมกับบอกไว้ว่า Since 1761 หรือยี่ห้อนี้มีมานานกว่า 250 ปีแล้ว

ปากการุ่นนี้มีให้เลือกหลายสี โดยด้ามปากกาจะมี 2 แบบ เป็นสีเงินเงาวาว กับสีด้านๆ ส่วนปลอกปากกาก็จะมีหลากสีให้เลือกได้ตามชอบใจ ผมเลือกแบบที่ด้ามสีด้านมา เพราะกลัวว่าด้ามเป็นสีเงาวาวจะติดรอยนิ้วมือง่าย และเลือกปลอกปากกาสีเงิน ดูเรียบๆถูกใจผมมาก แต่ถ้าใครชอบสีสันสดใสก็มีให้เลือกนะครับ

ปลอกปากกา

ปลอกปากกาของ Faber-Castell Loom ทำจากพลาสติก แต่ทำสีได้เหมือนโลหะมาก ปลอกปากกามีลักษณะอ้วนๆ ป่องตรงกลาง ที่ทำให้ตอนที่เห็นแต่รูปแล้วคิดว่า ปลอกปากกาจะต้องหนักมากแน่ๆ และเป็นจุดแรกที่ทำให้ลังเลใจที่ซื้อปากการุ่นนี้ครับ แต่พอได้รับปากกามาจริงๆ ปลอกปากกามีน้ำหนักเบามากเลยล่ะครับ

ที่ด้านข้างของปลอกปากกามีโลโก้ ชื่อยี่ห้อของ Faber-Castell และคำว่า Since 1761 เป็นรอยปั๊มลึกลงไปในปลอกปากกา ส่วนด้านบนของปลอกปากกาเป็นโลหะสีเงินเงาวาว ซึ่งเป็นโลหะชิ้นเดียวกับคลิปของปากกา และมีโลโก้รูปอัศวินโบราณของยุโรปกำลังต่อสู้บนหลังม้าปั้มอยู่

ด้านล่างสุดของปลอกปากกามีแหวนเล็กๆ สีเงินเงาวาว รับกับคลิปเหน็บกระเป๋า ต้องยอมรับเลยว่า เป็นการออกแบบที่ประณีตจริงๆ

ปลอกปากกาของ Loom เป็นแบบ Snap คือ ดึงออก เสียบเข้าได้เลย ไม่ต้องหมุนเกลียว ซึ่งใช้งานได้สะดวก รวดเร็วดี ปลอกปากกาปิดได้แน่น ภายในปลอกปากกามีปลอกปากกาชั้นใน ช่วยป้องกันหัวปากกาแห้งได้ดี ผมทดสอบโดยเก็บปากกาไว้เฉยๆไม่ได้ใช้งานราว 2 สัปดาห์ ก็ไม่พบปัญหา Hard Start แม้แต่น้อยครับ

โดยรวมแล้ว ปลอกปากกาที่อ้วนๆ ดูผิดสัดส่วนชอบกล และทำท่าว่าจะมีน้ำหนักมากนี้ กลับกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้ปากกาดูสวยแปลกตาจริงๆเลยครับ

คลิปเหน็บกระเป๋า

คลิปของ Faber-Castell Loom เป็นสีเงินเงาวาว ตัดกับปลอกปากกาสีเงินด้านๆ ดูเป็นแบบทูโทนสวยมาก ตัวคลิปเป็นโลหะหนา ส่วนปลายของคลิปเชิดขึ้นเล็กน้อย บนตัวคลิปเรียบๆไม่มีลวดลายอะไรเลย อืม ไม่เยอะแบบนี้ผมล่ะรักเลย แถมคลิปยังเป็นสปริงโหลดใช้งานง่ายดีอีกด้วยครับ

ต้องบอกเลยว่า คลิปของปากกาที่เป็นโลหะหนานี่ ตอนดูในรูปผมรู้สึกว่าเทอะทะเกินไปรึเปล่า และจะเพิ่มน้ำหนักให้กับปลอกปากกาไปถึงไหน แต่ต้องยอมรับว่า คลิปที่หนาๆดูเทอะทะนี้ พอมาอยู่บนปลอกปากกาอ้วนๆแล้วเข้ากันดีเลยนะครับ และเน้นครับว่า น้ำหนักโดยรวมของปลอกปากกายังถือได้ว่าเบาด้วยซ้ำครับ

ด้ามปากกา

Faber-Castell Loom มีด้ามปากกาที่เป็นทรงกระบอกตรงๆ ทื่อๆเลยครับ คือ ผมไม่เคยบอกมาแต่แรกแล้วนะครับว่า ปากการุ่นนี้สวย ด้ามตรงๆทื่อๆ มีปลอกปากกาอ้วนๆ คลิปปากกาที่ดูหนาเทอะทะ แต่ต้องบอกว่า ดูรวมๆแล้วมีเสน่ห์เหลือเกินครับ

ด้ามของ Faber-Castell Loom ไม่มีลวดลายอะไรเลย บริเวณส่วนปลายของด้ามปากกาจะมีรอยลึกลงไปเล็กน้อย ตอนแรกผมคิดว่าเอาไว้ใช้สำหรับล็อกปลอกปากกาเวลาเสียบไว้ท้ายด้าม แต่เอาเข้าจริงๆรอยนี้เป็นแค่ดีไซน์ไม่ใช้ด้ามปากกาเรียบเกินไปเท่านั้น ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรครับ

ส่วนท้ายของด้ามปากกาบุ๋มลงไปเล็กน้อย ตรงนี้ผมเดาเองว่า คงมีเจตนาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของด้ามปากกา ไม่ให้บี้แบนง่ายเวลาถูกบีบอัดจากการเก็บไว้ในกระเป๋า

บริเวณที่จับปากกา

Grip Section ของ Loom ทำจากวัสดุชนิดเดียวกับตัวปากกา ตัว Section มีลักษณะเป็นทรงกระบอกตรงไปจนเกือบ 2/3 ของความยาวทั้งหมด แล้วจึงเรียวเล็กลงไปเล็กน้อยเท่านั้น เป็นลักษณะ Section ที่ดูแปลกตา และ เอิ่ม ไม่สวยเอาซะเลยครับ แต่ต้องบอกเลยว่า ที่ Faber-Castell Loom สามารถทำ Section ที่มีลักษณะแตกต่างจากปากกาหมึกซึมรุ่นอื่นๆได้ ก็เพราะปลอกปากกาที่อ้วนนี่เองครับ จึงทำให้สามารถออกแบบ Section ให้มีขนาดเท่ากับด้ามปากกาได้เลย ซึ่ง Section อวบๆแบบนี้แหละครับ ที่จับได้ถนัดมือดีนัก

บนตัว Section ของ Faber-Castell Loom จะมีรอยนูนออกมาเป็นปล้องๆ เพื่อช่วยป้องกันมือลื่นไปโดนหัวปากกา เจ้าข้อปล้องบน Section นี้ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผมลังเลกับปากการุ่นนี้ครับ คือ ผมกลัวไปว่า มันจะทำให้เวลาจับปากกาแล้วนิ้วหัวแม่มือ กับนิ้วโป้งจะลื่นไปชนกัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เวลาเขียนจะต้องบีบปากกาให้แน่น แล้วทำให้เมื่อยมือได้ แต่พอได้ลองจับจริงๆแล้ว ไม่มีปัญหาที่ว่านี้เลยครับ แถม Section อ้วนๆ ยังจับเขียนได้สบายมือดีมากๆอีกด้วยครับ

ระบบเติมหมึก

Faber-Castell Loom ใช้ระบบเติมหมึกแบบ C/C Filler หรือ Cartridge / Converter Filler ก็คือ ใช้ได้ทั้งหมึกหลอดและที่สูบหมึกนั่นเอง (อย่าหาว่าผมพยายามใช้คำแปลกๆ หรือคำหรูๆนะครับ แค่อยากให้น้องๆที่เข้ามาอ่านได้รู้ว่า เวลาฝรั่งเขียนว่า C/C Filler คืออะไรน่ะครับ)

Loom สามารถใช้ได้กับหมึกหลอดมาตรฐานที่มีขายอยู่ทั่วไปครับ และสามารถใช้กับหมึกหลอดแบบยาวของ Waterman หรือ Pelikan ได้ด้วย แต่ปากกายี่ห้อนี้ไม่สามารถใช้กับที่สูบหมึกมาตรฐานได้นะครับ จะต้องใช้กับที่สูบหมึกยี่ห้อของตัวเองเท่านั้น หากใครจะสั่งซื้อปากการุ่นนี้ แนะนำให้สั่งที่สูบหมึกมาด้วยเลยครับ

ที่สูบหมึกของ Faber-Castell เป็นแบบ Piston Converter ที่นิยมใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน ที่สูบหมึกดูแข็งแรงทนทานดีครับ ผมสังเกตที่ส่วนปลายของที่สูบหมึกเห็นว่า ทำเป็นลดระดับลงไปนิดหน่อย ตรงนี้เองแหละครับที่เป็นจุดที่ทำให้ปากกาของ Faber-Castell ใช้กับที่สูบหมึกยี่ห้ออื่นๆไม่ได้ครับ

หัวปากกา

หัวปากกาของ Faber-Castell Loom ทำจากสแตนเลส ปากกายี่ห้อนี้ไม่ใช่แค่ตัวปากกาดูแปลกเท่านั้นนะครับ หัวปากกาก็ยังดูแปลกอีก คือ บนหัวปากกาของ Faber-Castell ไม่มีรูอากาศ (Breather Hole) ครับ บนหัวปากกาทำเป็นรอยบุ๋มๆ เหมือนลูกกอล์ฟ ดูสวยดี และจะมีรูปโลโก้อัศวิน และตัวอักษรบอกขนาดของหัวปากกาปั๊มอยู่ ด้ามของผมเป็นหัวปากกาขนาด Medium ครับ

การที่หัวปากกาไม่มีรูอากาศนี้ จริงๆก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องแปลกหรอกนะครับ แต่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผมหวั่นใจนิดหน่อยเกี่ยวกับหัวปากการุ่นนี้ คือ กลัวว่าจะเขียนออกไปในทางค่อนข้างแห้งเกินไปรึเปล่า แต่ผมเองก็มีประสบการณ์ดีๆจากหัวปากกาที่ไม่มีรูอากาศมาแล้วหลายยี่ห้อ และยิ่งพอได้รับคำยืนยันจากรีวิวต่างๆ ก็เบาใจ เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ผมลังเลเกี่ยวกับปากการุ่นนี้ครับ

การใช้งาน

Faber-Castell Loom เป็นปากกาที่มีน้ำหนักปานกลางนะครับ โดยมีน้ำหนักรวม 32 กรัม เป็นน้ำหนักที่พอๆกับปากกาที่ทำจากสแตนเลส (หนักเท่าๆกับ Lamy Studio) ตรงนี้มีเรื่องที่ทำให้ผมแปลกใจอยู่มาก คือ ปากกาที่ทำจากอลูมิเนียมส่วนใหญ่จะหนักอยู่ราว 20 กว่ากรัมเท่านั้น แต่ทำไม Loom จึงไปหนักพอๆกับปากกาที่ทำจากสแตนเลส ผมโยนความผิดให้กับปลอกปากกาอ้วนๆในทันที แต่พอเอาเข้าจริง ปลอกปากกาของ Loom หนักแค่ 7 กรัมเท่านั้น คือ หนักเท่ากับปลอกปากกาของ Lamy Safari เลย

งั้นน้ำหนักก็มาจากด้ามปากกาล่ะสิ (ผมคิด) หรือว่าด้ามปากกาหนามาก ซึ่งก็จะทำให้หนักปลายอีกเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ครับ น้ำหนักส่วนใหญ่ของปากกามากจากชุด Section ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เวลาจับปากกาเขียนแล้วน้ำหนักทั้งหมดจะพุ่งลงส่วนหัวปากกา ไม่รู้สึกหนักที่ท้ายด้ามเลย ทำให้รู้สึกว่าปากกามีสมดุลดี ไม่มีอาการหนักปลายเลย แม้จะสวมปลอกปากกาไว้ที่ท้ายด้ามก็ตาม

ความยาวของตัวปากกาก็ยาวกำลังเหมาะ เขียนได้สบายมือแม้จะไม่เอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม และเมื่อนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามก็เสียบได้ลึก และแน่นหนาดี

ถึง Faber-Castell Loom จะไม่ใช่ปากกาที่มีน้ำหนักเบามาก แต่ก็ไม่ได้หนักอะไรนะครับ แถมยังมีสมดุลที่ดีเยี่ยม และมี Section ที่อวบจับเขียนได้สบายไม่ต้องเกร็งมืออีกด้วย จึงทำให้สามารถใช้ปากกาด้ามนี้จดงานนานๆได้โดยไม่มีอาการเมื่อยล้าเลยครับ

ประชันความลื่น

ก่อนจะซื้อปากกา ผมก็ลังเลไปทีนึงแล้วว่า จะซื้อดีหรือไม่ พอจะสั่งซื้อก็ยังลังเลอีกว่า จะสั่งซื้อหัวปากกาขนาดไหนดี เพราะไหนๆก็มีคนบอกว่า เขียนได้ลื่นที่สุดแล้ว ก็เลยอยากลองสั่งหัวปากกาขนาด EF มาลองของซะเลย เพราะถ้าแน่จริงก็ต้องทำหัวปากกาเล็กๆให้เขียนลื่นกว่าหัวปากกาของญี่ปุ่นสิ แต่อีกใจก็คิดว่า หรือจะสั่งหัวขนาด M ที่ใครๆว่าดี มาทดสอบประสบการณ์ “ลื่นเวอร์” สักครั้ง

ในที่สุดก็ต้องพึ่งพี่พีอีกล่ะครับ พี่พีบอกมาว่า หัวปากกาขนาด M ของ Faber-Castell ขนาดลายเส้นค่อนข้างเล็กอยู่แล้ว อย่าไปสั่งหัวขนาด F หรือ EF เลย พอมาคิดดู ผมมีหัวปากกาที่เส้นเล็กๆอยู่หลายด้ามแล้วเหมือนกัน ก็เลยตัดสินใจสั่งหัวปากกาขนาด Medium มาพิสูจน์ความลื่นกัน

ในการทดสอบ ผมใช้ผู้ทดสอบ 2 คน คือ ผมกับพ่อ อันที่จริงก็อยากให้มีผู้ร่วมทดสอบมากกว่านี้ แต่บ้านเราอยู่กันแค่สองคน จะทำไงได้ล่ะครับ 5555 วิธีการทดสอบโดยเลือกปากกาหมึกซึมที่เราลงความเห็นว่าเขียนลื่นมากมาอีก 3 รุ่น แต่ต้องเป็นปากกาหมึกซึมที่มีหัวปากกาเป็นโลหะ และมีขนาดลายเส้นใกล้เคียงกับ Loom ด้ามนี้เท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงราคาของปากกา อย่างไรก็ตาม การทดสอบนี้ยังไม่แฟร์ถึงที่สุดนะครับ เพราะเราไม่ได้ล้างปากกาทุกด้ามก่อนการทดสอบ และไม่ได้ใช้น้ำหมึกชนิดเดียวกันด้วย จึงเป็นการทดสอบเล่นๆแค่พอเป็นไอเดียเท่านั้น ผมจะไม่ขอบอกยี่ห้อและรุ่นของปากกาที่นำมาร่วมทดสอบทั้งหมดนะครับ

การทดสอบก็ทำกันง่ายๆ โดยทดสอบเขียนเร็วๆ เขียนบรรจง ลากเส้นแนวต่างๆ เขียนวงกลม อะไรทำนองนี้ (จริงๆแล้วเขียนเยอะกว่าในรูปมากเลยนะครับ) การทดสอบทำแบบ Head to Head แพ้คัดออก โดยให้ Loom เป็นตัวยืนครับ ผมอยากให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในการทดสอบด้วยจังเลย เราลองเขียนกันสนุกมาก เขียนไปเถียงกันไป ทำให้เห็นจุดเด่นของหัวปากกาแต่ละด้ามมากขึ้น หากมีโอกาสอยากจัดมีทติ้ง ให้คนรักปากกาในบ้านเรามาทดสอบปากการ่วมกันเลยล่ะครับ

ผลการทดสอบออกมา ทำให้เราทั้งสองคนต้องยอมรับว่า ถ้าพูดถึงเฉพาะในแง่ของความลื่นแล้ว หัวปากกาสแตนเลสของ Faber-Castell เขียนได้ลื่นมากจริงๆ แต่ก็มีปากกาที่สูสีกันอยู่ แบบต้องเตะลูกโทษกันหลายรอบกว่าจะตัดสินได้อยู่เหมือนกัน ผลการทดสอบจะเห็นได้ชัดเมื่อเขียนบนกระดาษเนื้อไม่ดีครับ หัวปากกาของ Faber-Castell Loom กรีดกรายผ่านกระดาษเนื้อหยาบๆได้อย่างฉลุย ไม่มีอาการเกี่ยงงอนแต่อย่างใดเลย

อย่างไรก็ตาม การทดสอบนี้ถือว่ายังไม่เป็นทางการนะครับ ไว้มีโอกาส จัดผู้ทดสอบมากกว่านี้ ทำความสะอาดปากกาให้เรียบร้อย เปลี่ยนไปใช้น้ำหมึกที่ Flow เทพๆเหมือนกันทุกด้าม แล้วมาทดสอบอีกทีน่าจะสนุกกว่านี้อีกครับ

การเขียน

ขนาดลายเส้นสำหรับหัวปากกาขนาด Medium ของ Faber-Castell Loom ค่อนข้างเล็กจริงๆครับ คือ มีขนาดพอๆกับหัวปากกาขนาด Fine ของ Waterman เลย ผมลองเทียบกับหัวปากกาของญี่ปุ่น น่าจะพอๆกับขนาด Medium Fine ของปากกาจากทางญี่ปุ่นนะครับ (อย่างที่บอกครับว่า ข้อมูลอาจมีผิดพลาดได้บ้าง เพราะไม่ได้ใช้น้ำหมึกชนิดเดียวกัน)

ด้านการเขียน อย่างที่บอกไปแล้วครับว่า ปากกาเขียนได้ลื่นมากๆ จนแทบไม่รู้สึกถึง Feedback เลย ปากกาป้อนหมึกดีมาก เขียนเร็วๆ หรือลากเส้นต่อเนื่องยาวก็ไม่เคยเจอปัญหาเส้นขาดๆหายๆ หัวปากกามีความเปียกในระดับปานกลาง ไม่ใช่หัวปากกาที่เปียกชุ่มนะครับ ตรงนี้ต้องยกนิ้วให้ฝีมือการเจียรหัวปากกาของ Faber-Castell เลย ที่ไม่ได้ใช้น้ำหมึกเป็นตัวหล่อลื่นทำให้เขียนได้ลื่นด้วย พอเห็นว่าลายเส้นขนาด M ของ Loom ไม่ได้ใหญ่มาก และยังเป็นปากกาที่มีความเปียกในระดับปานกลางอีกด้วย ผมจึงนำปากการุ่นนี้ไปทดสอบเขียนบนกระดาษถ่ายเอกสาร 70 แกรม และกระดาษรียูส ซึ่งประทับใจมากครับ ปากกาสามารถเขียนได้อย่างราบลื่น และไม่มีน้ำหมึกซึมทะลุด้านหลังของกระดาษเลยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หัวปากกาของ Faber-Castell Loom ค่อนข้างแข็งนะครับ ทำ Line Variation ไม่ดีนัก บอกตามตรงว่า เรื่องนี้ผมไม่ได้ทดสอบความอ่อนของหัวปากกาเองด้วยซ้ำ แค่ดูจากรีวิวของต่างประเทศแล้วมาบอกกันครับ เพราะหัวปากกาที่เขียนได้ลื่นๆแบบนี้ ป้อนน้ำหมึกกำลังเหมาะแบบนี้ ผมไม่อยากไปกดถ่างหัวปากกาเล่น เพราะอาจจะทำให้บุคลิกการเขียนเปลี่ยนไปได้ครับ

โดยรวม

Faber-Castell Loom เป็นปากการาคาไม่แพงที่เขียนได้ดีเยี่ยมมากๆรุ่นหนึ่งที่ผมเคยใช้มาจริงๆครับ ปากการุ่นนี้หากดูเฉพาะจากรูป บางคนอาจจะมองว่าไม่สวยเท่าไหร่ แต่ตัวจริงสวยกว่าในรูปเยอะเลยครับ การผลิตก็ประณีตดีมาก ปากกาด้ามนี้ถูกวางตัวให้เป็นหนึ่งใน “ม้าใช้” หรือ Workhorse ของผมไปเรียบร้อยแล้วครับ กะว่าเทอมหน้าผมจะใช้ปากกาด้ามนี้แหละลุยจดงานที่โรงเรียน

น่าเสียดายที่ปากการุ่นนี้ไม่มีจำหน่ายในบ้านเราครับ โดยราคาขายในต่างประเทศอยู่ราว 40 USD ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่า Lamy Safari หรือ Pilot Metropolitan อยู่บ้าง แต่ความเห็นส่วนตัวผมก็คิดว่า ปากกาดูมีความแข็งแรงทนทานกว่า และยังเขียนได้ดีมากๆอีกด้วย

ใครที่ชอบปากกาประเภทเขียนลื่นปรู๊ดปร๊าด ไม่ควรพลาดจริงๆครับ อย่างไรก็ตาม ผมยังคงยืนยันว่า ปากกาที่เขียนแล้วมี Feedback อยู่บ้างก็ยังเป็นที่เขียนได้สนุกมากนะครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page