top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Pelikan M100 Stormtrooper (White) / F and M nib


ปากกาหมึกซึมในฝัน หรือ Grail Pen ยี่ห้อแรกในชีวิตของผม ตั้งแต่ยังไม่รู้จักกับโลกของปากกาหมึกซึมอย่างแท้จริงเลย ก็คือ Pelikan ครับ เพราะเห็นภาพถ่ายของ Albert Einstein มักจะมีปากกาอย่างน้อย 1 ด้ามอยู่ในมือ หรือในกระเป๋าเสื้อเสมอ ผมก็สงสัยว่า ซูเปอร์ไอดอลของผมใช้ปากกายี่ห้ออะไร และมารู้ภายหลังว่า ปากกาที่ผมเห็นในรูปนั้น คือ Pelikan M100N นับตั้งแต่วันนั้นผมก็มีความฝันที่อยากจะใช้ปากกาแบบเดียวกับไอสไตน์บ้าง เผื่อจะได้ฉลาดอย่างเขาสักนิดก็ยังดี 5555 แต่ราคาของ Pelikan M100N ทั้งรุ่นโบราณ และรุ่นที่ผลิตในปัจจุบันมีราคาแพง ที่ผมยังเอื้อมไม่ถึงในขณะนี้ ผมจึงยอมถอยหลังนิดหน่อย ไม่ต้องรุ่นเดียวกันแต่ขอยี่ห้อเหมือนกันก็ยังดี 5555

ประวัติ Pelikan Classic Series

Pelikan M100 ที่นำมารีวิวนี้ เป็นคนละรุ่นกับ M100N ที่อัลเบิร์ต ไอสไตน์ใช้นะครับ แถมราคาก็ยังต่างกันค่อนข้างมากอีกด้วย

Pelikan M100 อยู่ในซีรีย์ Classic ซึ่งประกอบด้วยรุ่น M100, M150, M200 และ M250 สำหรับปากกาหมึกซึมในซีรีย์ Classic ของ Pelikan ผมยังขาดอยู่เฉพาะรุ่น M250 ครับ ปากกาในซีรีย์นี้ปัจจุบันคงเหลือผลิตอยู่เพียงรุ่น Pelikan M200 เท่านั้น ส่วน M100, M150 และ M250 เลิกผลิตไปนานแล้วครับ

ปากกาหมึกซึมในซีรีย์ Classic ของ Pelikan นี้ ผลิตออกมาโดยมีเป้าหมายสำหรับผู้ใช้ปากกามือใหม่ที่ต้องการจะก้าวขึ้นมาอีกระดับ ราคาของปากกาซีรีย์นี้จึงไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับปากกาหมึกซึมรุ่นอื่นๆของ Pelikan แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า M100, M150 และ M250 เลิกผลิตไปแล้ว ดังนั้นจึงจะหาซื้อได้เฉพาะในตลาดปากกาโบราณ หรือปากกามือสองนะครับ คงมีแต่ M200 ที่ยังหาซื้อปากกาที่ผลิตออกมาใหม่ได้ สำหรับราคาปากกาโบราณมักจะไม่ค่อยนิ่งครับ หากใครสนใจก็ต้องคอยตามดูไปเรื่อยๆ อาจโชคดีได้ราคาที่ไม่คาดฝันได้เหมือนกัน สำหรับ M150 และ M200 มีผลิตออกมา 2 เวอร์ชันนะครับ คือ รุ่นเก่า กับรุ่นใหม่ ไว้ผมจะคุยให้ฟังอีกทีตอนที่รีวิว M150 และ M200 แล้วกัน ส่วน M250 นี่จะมีราคาสูงกว่าเพื่อนๆในซีรีย์ Classic ด้วยกัน เพราะใช้หัวปากกาที่ทำจากทอง 14 กะรัต

Pelikan M200 (บน) M150 (กลาง) และ M100 (ล่าง)

ความแตกต่างของ Pelikan Classic Series แต่ละรุ่น

ปากกาในซีรีย์ Classic นี้จัดว่าเป็นปากกาขนาดเล็กครับ ความยาวของปากกาแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดย M100 และ M150 จะยาว 122 มม.เท่ากัน ส่วน M200 รุ่นที่ผลิตก่อนปี 1998 จะยาว 127 มม.เท่ากับ M150 แต่ M200 ที่ผลิตหลังจากปี 1997 จะยาว 125 มม.ครับ ส่วนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของด้ามปากกา M100 และ M150 จะมีขนาด 99 มม.เท่ากัน ส่วน M200 และ M250 จะมีขนาด 102 มม.เท่ากัน

จากขนาดของปากกา ทำให้เห็นได้ว่า จริงๆแล้ว M100 และ M150 กับ M200 และ M250 นี่เป็นปากกาที่มีขนาดเท่ากับเป๊ะๆเลยครับ จะแตกต่างกันก็แค่ตัวปากกาของ M100 จะขลิบด้วยสีเงิน ส่วน M150 ขลิบด้วยสีทองเท่านั้นเอง ขณะที่ M250 จะต่างกับ M200 ตรงที่ใช้หัวปากกาที่ทำด้วยทอง 14 กะรัต มิหนำซ้ำชุดหัวปากกาของ Pelikan ในซีรีย์ Classic ทุกรุ่นยังสามารถใช้ร่วมกันได้ และยังใช้ร่วมกับ Pelikan M400 ได้อีกด้วย ตรงนี้ทำให้เข้าใจเลยนะครับว่า ทำไม Pelikan จึงยุบสายการผลิตปากกาในซีรีย์ Classic ให้เหลือแค่ M200 เพียงรุ่นเดียว ก็เพราะว่าขนาดของ M100 และ M150 แตกต่างจาก M200 แค่ 2 มม.เท่านั้น ส่วน M250 ก็มีสัดส่วนและใช้หัวปากกาที่ทำจากทอง 14 กะรัต เหมือนกับ Pelikan M400 Souverän เลย

ปัจจุบัน Pelikan ยังใช้ชื่อรุ่นปากกาที่ขลิบด้วยสีเงินและสีทองต่างกันนะครับ โดยรุ่นที่คลิปด้วยสีเงินจะใช้เลขชื่อรุ่นลงด้ายด้วยเลข 5 แทนเลข 0 ในรุ่นปกติที่ขลิบด้วยสีทอง เช่น Pelikan M800 ก็จะขลิบด้วยสีทอง ในขณะที่ Pelikan M805 จะขลิบด้วยสีเงินครับ

ภาพของ Pelikan M100 และ M150 โดย 4 ด้ามแรก คือ Pelikan M100

(ในภาพยังขาด M100 สีดำ) และอีก 6 ด้าม เป็น Pelikan M150

ขอบคุณภาพจาก www.fountainpennetwork.com

Pelikan M100 White

Pelikan M100 เริ่มผลิตครั้งแรกในปี 1985 โดยมีเพียงสีดำเพียงอย่างเดียวครับ พอมาถึงปี 1987 ก็ได้ออกสีใหม่มาอีก 4 สี คือ แดง น้ำเงิน เขียว และขาว Pelikan M100 ทุกสีจะขลิบด้วยสีเงิน เว้นแต่ M100 White เท่านั้นที่ขลิบด้วยสีดำ แต่หลังจากออกวางตลาดได้เพียงปีเดียว Pelikan ก็เลิกผลิตปากกาที่มีสีแดง น้ำเงิน และเขียว น่าจะเป็นเพราะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรครับ ทำให้แทบจะหา Pelikan M100 ทั้ง 3 สี ในตลาดไม่ได้เลย ส่วนรุ่นที่มีสีขาวยังคงผลิตคู่กับสีดำต่อมาเรื่อยๆถึงปี 1993 ก็หยุดผลิตสีขาว เหลือเพียงสีดำอย่างเดียว และในปี 1997 ก็ยุติสายการผลิตปากการุ่น Pelikan M100 ลงครับ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ Pelikan M100 White มีราคาสูงกว่ารุ่นที่เป็นสีดำ

Pelikan M100 White กลับมาบูมอีกครั้งหลังจากที่ Pelikan เลิกผลิตปากกาสีนี้ไปแล้วถึง 6 ปี โดยในปี 1999 เมื่อภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ภาคแรกออกฉาย และสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของเทคนิคการถ่ายทำ และเครื่องแต่งกายของนักแสดง ซึ่งหนึ่งในเครื่องแต่งกายของนักแสดงที่คนทั่วโลกชื่นชอบกันมาก คือ ชุด Stormtrooper เหล่าทหารของจักรวรรดิ ที่มีเครื่องแต่งกายสีขาวขลิปด้วยสีดำ ดูสวยงามแต่น่าเกรงขาม ผู้คนในวงการปากกาหมึกซึมจึงไปตั้งชื่อเล่นให้กับ Pelikan M100 White ที่มีสีขาวขลิบด้วยสีดำเหมือนกันว่า Pelikan M100 Stormtrooper หรือบางคนเรียก Pelikan Star Wars ก็มีครับ และทุกครั้งที่มีภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ออกมาฉาย ราคาของปากการุ่นนี้ก็จะขยับสูงขึ้นทุกที

ผมมีโอกาสได้เก็บ Pelikan Stormtrooper ไว้ถึง 2 ด้าม เป็นหัวปากกาขนาด Fine และ Medium จึงจะขอทำรีวิวหัวปากกาทั้งสองขนาดพร้อมกันไปเลยนะครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

Pelikan M100 เป็นปากกาที่มีขนาดเล็ก แต่ยังไม่ถึงกับเป็นปากกาขนาด Mini อย่าง Kaweco Sport นะครับ เรียกว่า เล็กกว่าปากกาหมึกซึมขนาดมาตรฐานทั่วไปเล็กน้อย

แม้ว่า Pelikan M100 จะเป็นปากการุ่นประหยัดของ Pelikan แต่ด้านวัสดุที่ใช้ในการผลิต และความประณีตในการผลิตไม่ได้แตกต่างจากปากการุ่นแพงๆของยี่ห้อนี้เลยครับ ตัวปากกาทำจากเรซินมีสีขาวตลอดด้าม ขลิบด้วยสีดำ จุดนี้เองที่ทำให้ Pelikan M100 White ได้ชื่อเล่นว่า Stormtrooper

ปากการุ่นนี้ไม่นับว่าเป็น Limited Edition นะครับ เพราะผลิตออกมานานถึง 6 ปี แต่อาจจะเป็นเพราะการผลิตในสมัยก่อนทำได้คราวละไม่มากอย่างในปัจจุบัน จึงทำให้จำนวนปากกาในตลาดไม่ถึงมีมากมายนัก ปากการุ่นนี้จึงอยู่ในเกณฑ์หาไม่ง่ายนัก ทำให้ราคาของปากกาขยับสูงขึ้นอยู่บ้าง นักเล่นปากกาหมึกซึมบางคนจึงเข้าใจว่าปากการุ่นนี้เป็น Limited Edition

อย่างไรก็ตาม การที่ M100 White คลิปด้วยสีดำ คือ มีคลิปเหน็บกระเป๋าสีดำ แหวนกลางลำตัวปากกาสีดำ ช่องมองน้ำหมึกก็เป็นสีดำ แถมหัวปากกายังมีสีดำอีกด้วย จึงทำให้ปากการุ่นนี้มีจุดเด่นอย่างสุดๆ จนเป็นที่เสาะแสวงหาของนักสะสมปากกาหมึกซึม เพราะเท่าที่ผมเคยเห็นมา ก็มีเพียง M100 White นี้เพียงรุ่นเดียวที่เป็น Pelikan ใน Series M ที่มีหัวปากกาเป็นสีดำครับ

ปลอกปากกา

ปากกาหมึกซึมในซีรีย์ M ของ Pelikan ทุกรุ่นจะมีปลอกปากกาเป็นแบบเกลียวนะครับ โดยปลอกปากกาของ M100 จะเป็นเกลียว 3/4 รอบ ปิดปลอกปากกาได้แน่นสนิทดี แถมยังเปิดใช้งานได้รวดเร็วอีกด้วย

บนสุดของปลอกปากกาสลักเป็นโลโก้รูปนกกระทุง หรือนก Pelican ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดที่น่าสนใจมากครับ เพราะว่า ปากกาหมึกซึมของ Pelikan ที่ผลิตหลังจากปี 1977 จะไม่ใช้วิธีการสลักโลโก้ลงบนปลอกปากกาแล้ว แต่จะใช้วิธีการพิมพ์แทน ขณะที่ M100 White ผลิตในปี 1987 แต่ Pelikan กลับมาใช้การสลักโลโก้บนปลอกปากกาสำหรับรุ่นนี้ ขณะที่ M150 ที่ผลิตในระยะเวลาใกล้เคียงกันที่ผมมีอยู่ ก็ใช้วิธีการพิมพ์โลโก้บนปลอกปากกาครับ สำหรับตัวนกกระทุงบนปลอกปากกา ก็เป็นรูปนก Pelican ที่มีลูกนก 2 ตัว ล้อมรอบด้วยวงกลม ซึ่งเป็นโลโก้ที่ Pelikan ใช้กับปากกาของตนมาตั้งแต่ปี 1938 ด้วย

โลโก้รูปนก Pelican บนปลอกปากการุ่น M150, M100 และ M200 ตามลำดับ

รอยแกะสลักโลโก้รูปนก Pelican บนปลอกปากกา ก็จะเป็นสีขาว ไม่ได้ลงสีใดๆนะครับ ดูแล้วสวยงาม เข้ากับ Theme ขาวดำ มากๆเลย

ส่วนบนของปลอกปากกา Pelikan ที่ผลิตก่อนปี 1997 จะมีลักษณะเป็นแบบหมวก (ซ้าย) สำหรับรุ่นทีผลิตหลังปี 1977 จะเป็นหัวแบบมงกุฏ (ขวา)

ส่วนบนของปลอกปากกาที่อยู่เหนือคลิปเหน็บกระเป๋าขึ้นไป จะมีลักษณะเป็นหมวกตรงๆขึ้นไป แล้วโค้งตรงส่วนปลาย ซึ่งเป็นลักษณะที่ Pelikan ใช้กับปากกาหมึกซึมซีรีย์ Classic ที่ผลิตก่อนปี 1997 ครับ พอหลังปี 1997 เป็นต้นมา ก็จะใช้ส่วนบนของปลอกปากกานี้เป็นลักษณะมงกุฏ (คำเรียกปลอกปากกาแบบหมวก หรือ Derby Cap และปลอกปากกาแบบมงกุฏ หรือ Crown Cap นี่เป็นคำที่นักสะสมปากกาหมึกซึมของ Pelikan ใช้เรียกกันทั่วไปนะครับ)

ส่วนล่างของปลอกปากกาจะมีแถบแหวนขนาดเล็กสีดำเงา รอบๆแถบนี้จะสลักชื่อยี่ห้อ Pelikan และ W. Germany ไว้ ตัวอักษรบนแถบแหวนนี้เล็กมาก จนต้องใช้แว่นขยายส่องดูครับ

นี่เป็นอีกหนึ่งของความสุขในการเล่นปากกาหมึกซึมของผม ที่นอกเหนือจากการเขียนครับ ใช้แว่นขยายนั่งส่องหารายละเอียดบนตัวปากกา ค้นประวัติของปากกาเท่าที่หาได้ แล้วเปรียบเทียบว่าปากกาที่มีอยู่แต่ละรุ่นมีจุดที่น่าสนใจตรงไหนบ้าง ข้อความข้างบนนี้เป็นจุดที่ผมศึกษา หาข้อมูลด้วยตนเองนะครับ ไม่มีเว็บไหนที่เขียนบอกรายละเอียดไว้อย่างนี้ ซึ่งผมก็มั่นใจในความถูกต้องของข้อมูลครับ อย่างไรก็ตามผมยังไม่มีหนังสือที่รวบรวมประวัติของ Pelikan ทุกรุ่น รายละเอียดของข้อมูลต่างๆอาจจะยังคลาดเคลื่อน หรือไม่ครบได้นะครับ

คลิปเหน็บกระเป๋า

ปากกาของ Pelikan จะมีคลิปเหน็บกระเป๋าที่มีเอกลักษณ์เป็นรูปปีกนก Pelican ด้วยชื่อเสียงและความสำเร็จของ Pelikan ทำให้ปากกาหมึกซึมหลายต่อหลายยี่ห้อที่ผลิตในช่วงปี 1950-60 พากันเลียนแบบทั้งรูปทรงของปากกา และลักษณะของคลิป

คลิปเหน็บกระเป๋าของ Pelikan M100 ค่อนข้างแข็ง แต่ก็ไม่ได้แข็งจนเกินไปนะครับ มีความเป็นสปริงดีมาก ส่วนปลายของคลิปเชิดขึ้นเล็กน้อย ช่วยให้เหน็บกระเป๋าได้ง่าย แต่บอกตามตรงว่า ผมไม่ค่อยใช้คลิปของปากการุ่นนี้หรอกครับ เพราะไม่มั่นใจว่า คลิปที่เป็นสีดำจะลอกหลุดยากง่ายแค่ไหน

คลิปของ Pelikan M100 White มีจุดเด่นตรงที่เคลือบด้วยสีดำเงาครับ เท่าที่ผมหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ยังไม่พบว่ามีปากกาของ Pelikan ในซีรีย์ M รุ่นไหนอีกเลย ที่ทำคลิปเป็นสีดำนะครับ จึงทำให้ Pelikan M100 White มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอย่างสุดๆ จนนักสะสมปากกาต่างก็พยายามหามาครอบครองกัน

ด้ามปากกา

ด้ามของ Pelikan M100 มีลักษณะเป็นทรงกระบอก ส่วนปลายของด้ามจะลดระดับลงเล็กน้อย เป็นส่วนของปุ่มสำหรับเติมน้ำหมึก ท้ายด้ามจะตัดเป็นโค้งๆ ดูรับกับส่วนบนของปลอกปากกา

ช่วงต่อระหว่างด้ามปากกากับบริเวณที่จับปากกาจะมีช่องสำหรับมองน้ำหมึก (Ink Window) เป็นสีเทาดำ ขนาดของ Ink Window นี้กำลังเหมาะเลยครับ ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป แม้ว่าช่องมองน้ำหมึกจะเป็นสีเทาดำ แต่ก็มองปริมาณน้ำหมึกที่เหลืออยู่ได้ไม่ยากนะครับ และ Pelikan เองก็ใช้ช่องมองน้ำหมึกสีเทาดำนี้กับปากกาหลายรุ่นหลายสีเลยด้วยครับ

ระบบเติมหมึก Piston Filler

เช่นเดียวกับปากกาหมึกซึมในซีรีย์ M ของ Pelikan ทุกรุ่น Pelikan M100 ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ครับ

พูดถึง Pelikan กับระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler นี่ คงต้องเล่ายาวกันอีกแล้ว อย่าเบื่อกันเสียก่อนล่ะครับ ผู้ที่ติดตามอ่านผมมาแต่ต้น คงพอจะรู้ดีอยู่แล้วว่า ผมชอบออกนอกเรื่องครับ 5555

Pelikan นี่เป็นบริษัทผู้ผลิตปากกาหมึกซึมรายแรกของโลกที่ใช้ระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler แถมยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรระบบเติมหมึกแบบนี้ด้วยนะครับ โดยในปี 1925 บริษัท Pelikan ได้ซื้อสิทธิบัตรระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler ต่อมาจากวิศวกรชาวฮังการี ที่ชื่อ Theodor Kovacs และในปี 1929 บริษัทก็ได้เริ่มผลิตปากกาหมึกซึมที่มีระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler รุ่นแรกของโลกออกจำหน่าย ภายใต้ชื่อรุ่นว่า Pelikan Model 100 หรือ Pelikan M100 นั่นเอง แต่ M100 รุ่นแรกนั่นเป็นคนละตัวกับ M100 ที่กำลังทำรีวิวอยู่นี่นะครับ แต่เป็นเดียวกับที่ไอสไตน์ใช้นั่นแหละ นี่ก็เป็นความภูมิใจเล็กๆที่ผมได้เป็นเจ้าของ Pelikan M100 ที่แม้จะไม่ใช่รุ่นแรกแตกกรุ แต่ก็ยังคงเป็นเชื้อสายของ Pelikan รุ่นแรกที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ครับ

ส่วนตัวของผมชอบปากกาหมึกซึมที่มีระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler นี้มากครับ ผมว่าปากกาที่มีระบบเติมหมึกแบบนี้ดูเท่ดี ตรงที่มี End Cap หรือปุ่มเติมน้ำหมึกที่ท้ายด้าม และก็ยังมักจะมีช่องมองน้ำหมึกอีกด้วย สำหรับจุดเด่นของระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ก็คือ เติมน้ำหมึกได้รวดเร็ว ไม่จำเป็นจะต้องถอดด้ามปากกาออกก่อนเติมน้ำหมึก สามารถจุน้ำหมึกได้เป็นจำนวนมาก เพราะบรรจุน้ำหมึกในด้ามปากกาโดยตรง ทำให้เติมน้ำหมึกครั้งนึงสามารถใช้ปากกาได้นานเลย กลไลของระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler ยังมีขนาดใหญ่ และแข็งแรงทนทาน ปากกาโบราณของผมที่ใช้ระบบเติมหมึกแบบนี้ ซึ่งมีอายุกว่า 50-60 ปีแล้ว ระบบเติมหมึกยังคงทำงานได้ดีอยู่เลย แถมระบบเติมหมึกแบบนี้ยังดูแลรักษาด้วยตนเองได้ง่ายด้วย

ส่วนจุดด้อยของระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler คือ ปากกาที่มีระบบเติมน้ำหมึกแบบนี้มักจะมีราคาแพงกว่าปากกาที่ใช้ที่สูบหมึกธรรมดา นอกจากนี้การถอดประกอบปากกาออกมาทำความสะอาดค่อนข้างยุ่งยากกว่าปากกาทั่วไปพอสมควร บางรุ่นจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการถอดประกอบด้วย และหากระบบเติมหมึกเสียหาย การซ่อมบำรุงอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปากกาที่ใช้ที่สูบหมึกธรรมดา ที่เพียงแค่ซื้อที่สูบหมึกมากเปลี่ยนก็ใช้ได้แล้ว สำหรับผู้ที่ชอบเปลี่ยนสีน้ำหมึกบ่อยๆ ก็อาจจะไม่ชอบปากกาเติมน้ำหมึกได้คราวละมากๆเช่นนี้นะครับ

บริเวณที่จับปากกา

แม้ว่า Pelikan M100 จะเป็นปากกาที่ค่อนข้างเล็ก โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของด้ามปากกาเพียงไม่ถึง 1 ซม. แต่ตัวที่จับปากกาหรือ Grip Section ของ M100 มีขนาดเกือบจะเท่ากับด้ามปากกาเลย แถมยังเรียวเล็กลงไปทางหัวปากกาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เรียกว่า Section เกือบจะเป็นทรงกระบอกเลยครับ ถือได้ว่า Section ของ Pelikan M100 มีขนาดพอๆกับ หรืออวบกว่าปากกาที่มีขนาดมาตรฐานบางรุ่นเลยนะครับ

ตัว Section ของ Pelikan M100 ทำจากเรซิน ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ทำตัวปากกา Section จับได้สบายมือดีมาก ไม่ลื่นเลยแม้แต่น้อย

Section ที่ค่อนข้างอวบ และไม่ลื่นแบบนี้ถือเป็นโหงวเฮ้งที่ดีสำหรับปากกาหมึกซึมเลยครับ ทำให้เขียนได้นานๆโดยไม่เมื่อยมือครับ

หัวปากกา

หัวปากกาของ Pelikan M100 White นี่ก็ถือเป็นจุดเด่นของปากการุ่นนี้ เพราะหัวปากกาเคลือบด้วยสีดำเงา แตกต่างจากปากกาในซีรีย์ Classic รุ่นอื่นๆที่หากหัวปากกาไม่เป็นสีเงิน ก็จะเป็นสีทองครับ

Pelikan M100 มีหัวปากกาที่ทำจากโลหะ หัวปากกาของ Pelikan ในซีรีย์ Classic นี่จะเรียบๆ ไม่มีลวดลายอะไรนะครับ บนหัวปากกามีเพียงคำว่า Pelikan และโลโก้ พร้อมตัวหนังสือบอกขนาดของหัวปากกาอยู่เท่านั้น

เปรียบเทียบหัวปากกาของ Pelikan M150, M100 และ M200 ตามลำดับ

หัวปากกาโลหะของ Pelikan นี่ขึ้นชื่อว่า เป็นหนึ่งในหัวปากกาที่เขียนได้ลื่น และป้อนน้ำหมึกได้ฉ่ำมากที่สุดยี่ห้อหนึ่งเลยนะครับ ผมมี Pelikan M100 White อยู่ 2 ด้าม หัวปากกาขนาด Fine และ Medium ในรีวิวนี้ผมจึงจะเปรียบเทียบหัวปากกาทั้งสองขนาดให้ดูกันเลย และจะเปรียบเทียบกับหัวปากกาขนาด Fine ของ Pelikan M200 ที่ผลิตหลังจากปี 2003 ให้ดูกันด้วยเลยนะครับ

การใช้งาน

แม้ว่า Pelikan M100 จะเป็นปากกาขนาดเล็ก โดยมีความยาวขณะปิดปลอกปากกาเพียง 12 ซม. และขนาดเส้นรอบวงของด้ามปากการาว 1 ซม. แต่ก็จับเขียนได้ถนัดมือมากๆเลยครับ ตรงนี้ผมเองก็กลัวว่าจะเขียนรีวิวด้วยอคติส่วนตัวรึเปล่า คือ อคติในแง่บวกนะครับ เพราะผมชอบปากกายี่ห้อ Pelikan นี่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไปเที่ยวหาดูจากรีวิวปากกาหมึกซึมในซีรีย์ Classic ของฝรั่งหลายรีวิวเลย เพราะปากกาในซีรีย์นี้ทุกรุ่นมีขนาดพอๆกันครับ และทุกรีวิวต่างก็ชื่นชม Pelikan ในซีรีย์นี้ว่า เป็นปากกาขนาดเล็กที่จับเขียนได้ถนัดมือดีมาก

ความยาวของปากกาขณะที่ไม่สวมปลอกปากกาไว้ท้ายด้าม ก็ยังเขียนได้ถนัดดีแม้สำหรับผู้ชายที่มีมือขนาดใหญ่ก็ตาม (ดูได้จากรีวิว Pelikan M400 ของ Mr. Brown ครับ ซึ่ง M400 จะยาวกว่า M100 แค่ 3 มม.เท่านั้น) พอเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม ก็มีสมดุลดีมาก ความยาวของปากกาก็กำลังเหมาะที่จะใช้งานเลยครับ

ความที่ตัวปากกาและปลอกปากกาทำจากเรซิน จึงมีน้ำหนักเบาค่อนข้างมาก แถมความยาวของตัวปากกาก็พอเหมาะ ไม่สั้นจนจับไม่ถนัด หรือยาวเกินไปจนทำให้มีน้ำหนักถ่วงที่ปลายด้ามปากกาขณะเขียน อีกทั้ง Section ก็ยังอวบและไม่ลื่นอีกด้วย อยากบอกว่า นี่เป็นลักษณะของปากกาใช้งานในฝันเลยล่ะครับ เพราะสามารถใช้เขียนได้ทั้งวันอย่างสบายๆ ไม่เมื่อยล้า

แม้ว่าผมจะชอบปากกาหมึกซึมที่มีขนาดใหญ่ หรือ Oversize แต่ขนาดของปากกาหมึกซึม Pelikan ในซีรีย์ Classic นี่ เป็นขนาดที่ผมเลือกมาใช้งานบ่อยที่สุดครับ เพราะตัวปากกาไม่อ้วนเกินไป สามารถใส่ในช่องของกระเป๋าเครื่องเขียนได้ง่าย หากจะเหน็บไว้กับกระเป๋าเสื้อก็ทำได้สบายๆ เพราะตัวปากกาสั้น สามารถเหน็บปากกาได้จนสุดความยาวของคลิป แม้ว่าเสื้อตัวนั้นจะมีกระเป๋าไม่ใหญ่นักก็ตาม แถมปากกายังมีน้ำหนักเบา เวลาเหน็บกับกระเป๋าเสื้อแล้วยังไม่ถ่วงกระเป๋าอีกด้วย

ปากกาในซีรีย์ Classic ของ Pelikan นี่ จึงเหมาะที่เป็น Workhorse อย่างแท้จริงนะครับ เสียแต่ว่ามันเป็น “ม้าพันธุ์ดี” ราคาค่อนข้างสูงไปสักหน่อย

การเขียน

อย่างที่บอกไปแล้วครับว่า ในการทดสอบเขียน ผมจะทดสอบหัวปากกาขนาด Fine และ Medium ของ Pelikan M100 เปรียบเทียบกัน และจากนั้นจะเอาหัวปากกาขนาด Fine ของ M100 ที่ผลิตในระหว่างปี 1987-1993 ไปเปรียบเทียบกับหัวปากกาขนาดเดียวกันของ M200 ที่ผลิตหลังจากปี 2003 ให้ดูกันด้วย ซึ่งตอนแรกผมก็ลังเลว่าจะใส่น้ำหมึกคนละสี เพื่อพอถ่ายรูปแล้วจะได้รู้เลยว่า ลายเส้นไหนเป็นของรุ่นอะไร แต่สุดท้ายก็มาคิดว่า เติมน้ำหมึกแบบเดียวกันให้หมดเลยดีกว่า จะได้ตัดตัวแปรเรื่องน้ำหมึกออก แล้ววัดกันตรงๆไปเลยว่า หัวปากการุ่นไหนมีบุคลิกอย่างไรครับ

ในการทดสอบนี้ ผมเลือกใช้น้ำหมึกสีฟ้า Bondi Blue ของ Robert Oster Signature จากประเทศออสเตรเลีย กระดาษที่ใช้ทดสอบเป็นของ Rhodia Pad Ice ครับ

หัวปากกาขนาด Fine และ Medium ของ Pelikan M100 ที่ผลิตในระหว่างปี 1987-1993 เขียนได้ลื่นดีทั้งคู่แทบไม่แตกต่างกันเลยครับ คือ ไม่ได้แปลว่า หัวปากกาขนาด M จะเขียนลื่นกว่าขนาด F ในระหว่างเขียนจะรู้สึกถึง Feedback ได้พอสมควร ไม่ใช่ลื่นปรู๊ดปร๊าด แต่ Feedback ก็ยังน้อยกว่าที่พบจากปากกาที่ผลิตในญี่ปุ่นบางรุ่นนะครับ ขนาดลายเส้นของหัวปากกา Pelikan ที่ผลิตก่อนปี 1993 ทั้งสองรุ่นก็ยังไม่ได้ใหญ่โตผิดปกตินะครับ คือ มีขนาดพอๆกับหัวปากกาที่ผลิตจากทางฝั่งตะวันตกยี่ห้ออื่นๆ

การป้อนน้ำหมึกของปากกาทั้งสองด้ามน่าประทับใจมาก ป้อนน้ำหมึกได้สม่ำเสมอดีมาก ไม่มีอาการเส้นขาดๆหายๆเลยแม้แต่น้อย ความเปียกของปากกาทั้งสองด้าม อยู่ในระดับปานกลางนะครับ ไม่ถึงกับเป็นปากกาที่เปียกมาก หัวปากกาทั้งสองขนาดมีความยืดหยุ่นดี สามารถทำ Line Variation ได้สวยงามครับ

พอมาเปรียบเทียบหัวปากกาขนาด F กับ Pelikan M200 ที่ผลิตหลังจากปี 2003 พบว่า หัวปากการุ่นใหม่เขียนได้ลื่นกว่ามากๆเลยครับ เรียกว่า มี Feedback น้อยมากๆ จนต้องตั้งใจสังเกตกันเลย ขนาดลายเส้นของหัวปากกาขนาด F รุ่นใหม่ จะใหญ่กว่าขนาด F ของรุ่นเก่า จนน่าจะพอๆกับหัวปากกาขนาด M รุ่นเก่า หรือเป็น FM เลยครับ ด้านความเปียก หัวปากการุ่นใหม่ก็จะป้อนน้ำหมึกได้ฉ่ำกว่า และเปียกกว่ามากด้วย

สรุป

อย่าถามผมเรื่องข้อดี-ข้อเสียของ Pelikan M100 White เลยครับ เพราะจะได้รับคำตอบที่ไม่เป็นกลางเอาซะเลย 5555 สำหรับผมแล้วข้อดีของปากการุ่นนี้ คือ ดีทุกอย่าง ส่วนข้อเสีย คือ ไม่มีสักอย่างครับ 5555

นี่ผมไม่ได้พูดเล่นนะครับ ผมมองหาจุดด้อยของปากการุ่นนี้ไม่เจอเลยจริงๆ หัวปากกาเขียนได้ลื่นดีมาก แม้จะมี Feedback เล็กน้อย แต่ก็เป็นลักษณะของหัวปากกาที่เขียนได้สนุกที่สุดครับ การป้อนน้ำหมึกสม่ำเสมอดีมาก ป้อนน้ำหมึกได้ฉ่ำ ปากกาไม่เคยมีอาการ Hard Start ให้เห็นเลย แม้ว่าจะเก็บปากกาไว้โดยไม่ได้ใช้งานนานเป็นเดือน ด้านการผลิตก็สวยงามประณีต การทำงานของระบบสูบหมึกลื่นไหลดี แม้จะเป็นปากกาที่มีอายุอยู่ในระหว่าง 24-30 ปีแล้วก็ตาม

ปัญหาอย่างเดียวเกี่ยวกับ Pelikan M100 White นี่ก็คือ ราคาค่อนข้างแพงสักหน่อย แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติของปากกาโบราณสำหรับการสะสมนะครับ ราคาของ Pelikan M100 White ในปัจจุบันนี้พอๆกับ หรือแพงกว่า Pelikan M200 ใหม่ๆด้วยซ้ำ ใครที่ชอบรุ่นไหนผมว่าเลือกได้เลยครับ รับประกันไม่ผิดหวังแน่ๆ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page