top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Platinum 3776 Century Bourgogne / Soft Fine nib

นักเล่นปากกาหมึกซึมหลายต่อหลายคนที่เริ่มเส้นทางสู่โลกแห่งปากกาหมึกซึมของตนมาจาก Platinum Preppy ซึ่งเป็นปากกาหมึกซึมที่ราคาถูกที่สุดของ Platinum โดยที่บางคนอาจจะยังไม่รู้เลยว่า ยี่ห้อ Platinum นี่เป็นหนึ่งใน Big-3 ของผู้ผลิตปากกาหมึกซึมชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น

ปากกาหมึกซึมของ Platinum มีให้เลือกใช้ตั้งแต่ราคาหลักร้อย อย่าง Platinum Preppy และ Platinum Plaisir ขยับขึ้นไปพันกว่าบาท เป็น Platinum Cool/Balance เรื่อยขึ้นไปจนถึงปากการาคาหลักหมื่น หรือเรือนแสนเลยก็มีครับ สำหรับ Platinum 3776 นี้จัดเป็นปากกาในระดับ Mid End ไปจนถึง Medium-High End ของ Platinum ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ใช้ปากกาหมึกซึมทั่วโลก

ผมมั่นใจเลยว่า หากคุณไปตั้งคำถามในฟอรั่มเกี่ยวกับปากกาหมึกซึม ไม่ว่าจะในฟอรั่มใดก็ตามว่า ต้องการจะหาปากกาหมึกซึมที่มีหัวปากกาเป็นทองคำในระดับราคาที่รับไหวสักด้าม รับรองว่า ชื่อของ Platinum 3776 จะต้องโผล่ขึ้นมา ให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกของคุณอย่างแน่นอน

รีวิวนี้เป็นอีกหนึ่งรีวิวที่ค่อนข้างยาวของผมนะครับ เพราะ Platinum 3776 Century มีรายละเอียดที่น่าสนใจมาก จนหากทำเป็นวิดีโอก็จะไม่สามารถพูดถึงรายละเอียดต่างๆได้หมด ไม่ยังงั้นวิดีโอจะยาวจนน่าเบื่อได้ครับ อย่างไรก็ตามผมยังคิดว่าจะทำวิดีโอรีวิวให้ชมกันอีกที เพื่อให้ดูการเขียนของปากการุ่นนี้ ตอนนี้ก็ทนอ่านรีวิวยาวๆกันไปก่อนนะครับ ผมรับรองว่า รีวิวนี้ให้รายละเอียดต่างๆที่อ่านแล้วคุณจะรักปากการุ่นนี้อย่างแน่นอน

ประวัติของ Platinum 3776

ปากกาในซีรีย์ 3776 ของ Platinum ได้รับการออกแบบโดย Mr. Haruo Umeda ผู้เชี่ยวชาญด้านปากกาหมึกซึม ที่เรารู้จักกันอย่างดีภายใต้สมญานาม “Mr. Fountain Pen” โดยทำงานร่วมกับทีมออกแบบของ Platinum Pen Company มีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตปากกาที่มีความเรียบง่าย แต่เป็นปากกาในอุดมคติของผู้ใช้ปากกาหมึกซึมอย่างแท้จริง

Platinum 3776 ออกวางตลาดครั้งแรกในปี 1987 และสามารถทำยอดจำหน่ายได้สูงถึง 150,000 ด้ามภายในเวลาเพียง 6 เดือนหลังจากออกวางจำหน่าย และยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ชื่อรุ่น 3776 ได้มาจากความสูง (มีหน่วยเป็นเมตร) ของภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งเป็นภูเขาที่สวยที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

แม้ว่า Platinum 3776 จะมียอดจำหน่ายที่สูงมาก แต่บริษัท Platinum ก็ยังคงพัฒนาคุณภาพของปากการุ่นนี้มาโดยตลอด โดยบริษัทได้ใช้เวลากว่า 5 ปี ผลิตหัวปากกา และ Feed แบบต่างๆจำนวนมากขึ้นมาเป็นตัวอย่าง และได้ทดลองเขียนโดยบริษัท Nakaya มากถึง 40,000 ข้อมูลการเขียน เพื่อปรับปรุงหัวปากกาและ Feed ของ Platinum 3776 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (บริษัท Nakaya เป็นบริษัทในเครือของ Platinum เป็นผู้ผลิตปากกาหมึกซึมระดับไฮเอนที่มีราคาแพงมากครับ)

จากปี 2009 ถึงปี 2011 บริษัท Platinum ยังได้ปรับปรุงเครื่องจักรที่ใช้ผลิตปากกาหมึกซึมทั้งหมดของโรงงาน และได้ทำแม่พิมพ์สำหรับผลิตชิ้นส่วนปากกาทุกชิ้นขึ้นใหม่ เพื่อผลิตปากกาในซีรีย์ Motosu และ Century ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า ปากกาในซีรีย์ Motosu และ Century เป็นปากกาที่ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด ที่ผลิตด้วยแม่พิมพ์ใหม่ และเครื่องจักรรุ่นล่าสุด

บริษัท Platinum บอกว่า ได้ออกแบบ 3776 Century ให้เป็นปากกาในฝันของนักเล่นปากกาหมึกซึมอย่างแท้จริง โดยมีดีไซน์ร่วมสมัยที่โดดเด่น การจับเขียนมีสมดุลดี เขียนได้ลื่น ป้อนหมึกได้สม่ำเสมอ และจะต้องเป็นปากกาที่ไม่เปียกมาจนเกินไป น้ำหมึกที่เขียนจะต้องแห้งได้เร็ว ซึ่งเป็นความต้องการของนักเล่นปากกาหมึกซึมส่วนใหญ่ ทำให้ Platinum กลับไปศึกษาถึงกลไกและชิ้นส่วนทั้งหมดของปากกาอีกครั้ง แล้วออกแบบชิ้นส่วนของปากกาใหม่ทั้งหมด

Platinum 3776 Century

ตัวปากกาของ Platinum 3776 Century ผลิตจากเรซินมีให้เลือกหลายสี เป็นปากกาที่มีลักษณะโปร่งแสง ไม่ใช่โปร่งใสแบบมองทะลุปรุโปร่งนะครับ ตัวปากกาจะสีค่อนข้างทึบแต่ยังสามารถมองเห็นกลไกภายในของปากกาได้ ปากกาที่มีลักษณะโปร่งแสงจะมีให้เลือก 3 สี คือ Diamond Black (เทาดำ), Bourgogne (ไวน์แดง) และ Chartres Blue (น้ำเงินเข้ม) นอกจากนี้ยังมีปากกาสีโปรงใสให้เลือกอีก 2 สี คือ Nice (ใสๆ) และ Nice Lilas (ชมพู) Platinum 3776 Century ที่เป็นสี Diamond Black จะเป็นขลิบสีเงิน ส่วน Bourgogne จะขลิบสีทอง ขณะที่ Chartres Blue มีให้เลือกทั้งขลิบสีเงินและสีทอง ส่วน Nice ทั้งสองรุ่น จะขลิบด้วยสี Rose Gold ซึ่งขอบอกเลยว่า สวยทุกสีจริงๆครับ ถ้ามีตังค์ผมยังอยากจะเก็บให้ครบทุกสีเลยด้วยซ้ำ

ปากกาที่ผมนำมารีวิวนี้เป็นสี Bourgogne อ่านว่า บู-กอญ หรือ บู-กอน-นิ (เวลาอ่านภาษาฝรั่งเศสต้องทำเสียงขึ้นจมูกหน่อยๆด้วยนะครับ 5555) ซึ่งก็คือ มณฑลเบอร์กันดี นั่นเอง (บู-กอน-นิ / เบอ-กัน-ดิ) มณฑลนี้เป็นหนึ่งในสองมณฑลผู้ผลิตไวน์ชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศสครับ อีกมณฑล ก็คือ Bordeaux (อ่านว่า บอ-โด)

สำหรับสี Bourgogne ที่นำมาทำรีวิวนี้ ทาง Platinum บอกว่า ได้ใช้ความพยายามอยู่นานในการที่จะคิดค้นวิธีทำสีของปากกาให้ดูมีความลึก จนได้สีสันคล้ายกับไวน์แดงเช่นนี้ ตัวปากกาขลิบด้วยสีทอง ซึ่ง Platinum บอกอีกว่า ได้ลงทุนติดตั้งเครื่องจักรรุ่นใหม่ พร้อมด้วยเทคโนโลยีการชุบทองแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้สีทองสวยสดงดงาม และทนทานกว่าเดิมด้วย

Platinum 3776 Century เป็นปากการูปทรงซิการ์ สวยคลาสิก ตัวปากกาเป็นสีไวน์แดงเข้ม มีลักษณะโปร่งแสง เหมือนมองผ่านแก้วที่ใส่ไวน์แดงน่ะครับ ส่วนตัวผมเห็นว่า สีแบบนี้ดูแล้วมีระดับกว่าพวกปากกาใสๆแบบ Demonstrator เยอะเลย ปากการุ่นนี้มีขนาดใหญ่ พอๆกับ Lamy Safari เลยครับ เรียกว่าเป็นขนาดกำลังเหมาะมือ เขียนได้ถนัดเลย ตัวปากกาจะขลิบ (Trim) ด้วยสีทองที่คลิปเหน็บกระเป๋า แถบกลางลำตัวปากกา และบริเวณส่วนท้ายของด้ามปากกา ขลิปสีทองนี่เข้ากันกับสีของไวน์แดงมากๆเลยครับ

ปลอกปากกา

จุดเด่นสุดๆของปากกาหมึกซึม Platinum ทุกรุ่นอยู่ที่ปลอกปากกาครับ ไม่ใช่ปลอกปากกาที่เราเห็นสวยๆกันนี่นะครับ แต่ Platinum ให้ความสำคัญกับปลอกปากกาชั้นในของปากกาหมึกซึมทุกรุ่น แม้แต่ Platinum Preppy ที่ราคาไม่ถึงร้อยบาทก็ตาม

ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Slip & Seal ที่บรรจุอยู่ภายในปลอกปากกาของ Platinum จะสามารถช่วยป้องกันน้ำหมึกบนหัวปากกาและ Feed แห้ง แม้ว่าจะเก็บปากกาไว้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้ใช้งานก็ตาม ทำให้พอหยิบปากกาขึ้นมาเขียนครั้งใด ปากกาก็จะป้อนหมึกได้อย่างดีทุกครั้ง Platinum บอกว่า การออกแบบปลอกปากกาชนิดที่เป็นเกลียว ให้มีลักษณะที่ผนึกแน่นจนอากาศเข้าไม่ได้นี่เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่หากปลอกปากกาไม่ติดแน่นสนิทจริงๆจะทำให้น้ำหมึกที่หัวปากการะเหยออก จนหัวปากกาและ Feed แห้ง ซึ่งปากกาหมึกซึมทั่วไปจะไม่สามารถใช้งานได้หลังจากเก็บปากกาไว้เฉยๆนาน 3 ถึง 6 เดือน และการที่น้ำหมึกแห้งนี้อาจเป็นผลให้ปากกาเสียหาย จนถึงกับต้องเปลี่ยนหัวปากกาใหม่ได้เลย

แต่ด้วยการทำงานอย่างจริงจัง ทำให้ Platinum สามารถออกแบบระบบ Slip & Seal ที่ใช้กับปากกาหมึกซึมแบบมีปลอกปากกาเป็นแบบเกลียวได้สำเร็จ ซึ่งหากดูผลการทดลองของ Platinum แล้ว จะพบกว่า น้ำหมึกที่หัวปากกา และ Feed ของปากกาหมึกซึมอื่นๆ จะแห้งสนิทภายในเวลา 6 เดือน ขณะที่ Platinum 3776 Century น้ำหมึกที่หัวปากกาและ Feed จะแห้งไปเพียง 50% ในระยะเวลานานถึง 24 เดือน

ปลอกปากกาของ Platinum 3776 Century เป็นแบบเกลียว 1 รอบครึ่ง ใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว หากสังเกตผ่านปลอกปากกาโปร่งแสงของ Platinum 3776 Century จะเห็นว่า ที่ภายในของปลอกปากกาตรงส่วนบนสุดจะมีสปริง สำหรับดันปลอกปากกาชั้นในให้ติดแนบสนิทกับตัว Section เวลาที่ปิดปลอกปากกา ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าไปยังหัวปากกาได้ ผมยังพบว่า จุดหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้สำหรับสปริงของระบบ Slip & Seal นี้ คือ เวลาหมุนเกลียวปิดปลอกปากกาจุดสุด สปริงนี้จะดันทำให้ไม่สามารถหมุนปลอกปากกาต่อไปได้อีก ต่างกับปลอกปากกาแบบเกลียวอื่นๆ ที่หมุนสุดแน่นแล้ว แต่หากออกแรงเพิ่มก็ยังจะสามารถฝืนหมุนปลอกปากกาต่อไปได้อีก ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุให้ปลอกปากกาแตกได้ครับ

ผมประทับใจในปลอกปากกาของ Platinum ทุกรุ่นจริงๆ ไม่เฉพาะแต่ 3776 ครับ ปากกาหมึกซึมของ Platinum ที่ผมมีอยู่ 4 รุ่น ผมจะเติมหมึกค้างตลอดเวลาโดยไม่ลังเลเลยครับ และเมื่อต้องการจะใช้งานเมื่อไหร่ หยิบออกมาก็เขียนได้ทันที ไม่มีงอแงเลยสักรุ่น ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมไม่เคยคิดมากเลยที่จะหาซื้อปากกายี่ห้อนี้มาเพิ่มอีกสักด้าม

คลิปเหน็บกระเป๋า และแถบกลางลำตัวปากกา

คลิปเหน็บกระเป๋าของ Platinum จะได้รับการออกแบบให้เข้ากับดีไซน์ของตัวปากกาแต่ละรุ่นนะครับ คือ ปากกาแต่ละรุ่นจะมีคลิปเหน็บกระเป๋าที่ไม่เหมือนกัน ตรงนี้ผมรู้สึกว่า ทำให้ปากกาขาดเอกลักษณ์ไปหน่อย เวลาที่เหน็บปากกาในกระเป๋าเสื้อแล้วเห็นแต่คลิป อาจจะบอกไม่ได้ว่ากำลังพกปากกายี่ห้ออะไรอยู่ ต่างกับปากกาบางยี่ห้อ อย่าง Montblanc, Pelikan, Waterman, Parker, Sheaffer ที่เห็นแค่คลิปก็บอกได้ทันทีว่า ปากกาที่พกเป็นยี่ห้ออะไร

เรื่องคลิปเหน็บกระเป๋าที่มีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละรุ่นนี้ ก็ไม่ได้เป็นเฉพาะ Platinum เท่านั้น แต่ปากกาหมึกซึมของญี่ปุ่นทุกยี่ห้อก็มักจะใช้คลิปเหน็บกระเป๋าที่ออกแบบให้รับกับปากกาแต่ละรุ่น รวมถึงปากกายี่ห้อดังๆอีกหลายยี่ห้อ ทั้งจากอิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส ก็เป็นแบบนี้เหมือนกันครับ

คลิปเหน็บกระเป๋าของ Platinum 3776 Century มีลักษณะเรียบๆ ไม่หวือหวา ตัวคลิปจะเรียบๆ คอดตรงกลางเล็กน้อย มีรอยลึกเป็นเส้นรอบๆตัวคลิป ดูแล้วคลาสิกดีครับ คลิปของปากกาออกไปในทางแข็งนิดๆ แต่ไม่แข็งมาก แข็งแรงทนทานดี มีความเป็นสปริงดีมาก สามารถเหน็บกระเป๋าเสื้อได้แน่นครับ แต่ถ้าจะไปเหน็บกับผ้าหนาๆ อย่างกระเป๋ากางเกงยีนส์ ก็ต้องใช้ความพยายามกันสักหน่อย

แถบกลางลำตัวปากกาของ Platinum 3776 Century สี Bourgogne ที่นำมาทำรีวิวนี้ ก็เป็นสีทองเช่นเดียวกับคลิปเหน็บกระเป๋า แถบกลางลำตัวมีขนาดค่อนข้างใหญ่ บนแถบกลางลำตัวปากกา จะสลักคำว่า #3776 Platinum และ Made in Japan ไว้โดยรอบ แถบกลางลำตัวนี้เข้ากับดีไซน์ของปากกามากๆ ดูไม่เทอะทะ แต่หรูหราดีครับ

อย่างที่บอกไปแล้วแต่ต้นว่า Platinum ได้นำเทคโนโลยีการชุบทองแบบใหม่มาใช้กับ 3776 Century ด้วย นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมยอมรับจริงๆ เพราะแม้ว่าจะเก็บปากกาไว้นาน ชิ้นส่วนตรงที่ชุบทองก็ยังคงสดใสไม่หมอง หรือเปลี่ยนสีเลยครับ

ด้ามปากกา

ด้ามปากกาของ Platinum 3776 Century ทำจากเรซิน โปร่งแสง ลักษณะของด้ามก็เหมือนๆกับปากกาทรงซิการ์อื่นๆ ที่ด้ามปากกาตรงบริเวณที่ติดกับ Section จะอวบที่สุด แล้วค่อยๆเรียวเล็กลงไปทางท้ายด้าม ตรงบริเวณท้ายด้ามจะมีแถบแหวนสีทองขนาดเล็กเป็น Blind Cap ตรงนี้เป็นแค่ดีไซน์ทำให้ปากกาสวยๆเท่านั้น ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรครับ

ความที่มีแหวนโลหะอยู่ที่ท้ายด้ามนี่เอง เลยมีผู้ใช้ปากกาหมึกซึมบางคนบ่นว่า ทำให้ไม่สามารถนำด้ามปากกาไปเติมน้ำหมึก เพื่อทำเป็น Eyedropper Conversion ได้ ตรงนี้ผมเห็นว่า ปากกาแต่ละด้าม ผู้ผลิตก็ออกแบบมาดีอยู่แล้วนะครับ ถ้าใครชอบ Eyedropper ก็หาซื้อปากกาที่เป็น Eyedropper โดยเฉพาะมาใช้น่าจะดีกว่า หรือใครที่ชอบปากกาที่จุหมึกได้มากๆ ก็หาซื้อระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler หรือ Vacuum Filler มาใช้ น่าจะดีกว่าเอาปากกาที่เป็น Cartridge / Converter Filler มาดัดแปลงให้เป็น Eyedropper ครับ

(เรื่องเกี่ยวกับระบบเติมน้ำหมึกของปากกาหมึกซึม ผมเคยทำเป็นบทความไว้แล้ว ใครที่สนใจก็ลองไปอ่านดูนะครับ)

บริเวณที่จับปากกา (Section)

Section ของ Platinum 3776 Century ใช้วัสดุชนิดเดียวกับที่ทำตัวปากกา แม้ว่า Section จะโปร่งแสง แต่ความที่สีของปากกาค่อนข้างทึบ จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นหัวปากกาและ Feed รวมถึงสีของน้ำหมึกที่อยู่ใน Section ได้นะครับ

ลักษณะของ Section จะเรียวเล็กลงไปทางหัวปากกาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนปลายของ Section ที่ติดกับหัวปากกาบานออกเล็กน้อย ป้องกันมือลื่นไถลไปโดนหัวปากกา 3776 Century ยังมี Section ที่จัดว่าอวบมาก โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ 10.5 มม.เลย

Section ที่ทำจากเรซินไม่ลื่น แถมอวบแบบนี้ เป็นโหวงเฮ้งที่ดีเลยนะครับ เพราะทำให้จับเขียนได้สบายมากๆ เขียนนานๆแล้วไม่เมื่อยมือครับ

ระบบเติมหมึก

Platinum 3776 Century ใช้ระบบเติมหมึกแบบ C/C Filler (Cartridge / Converter Filler) หรือสามารถใข้ได้ทั้งหมึกหลอดและที่สูบหมึก อย่างไรก็ตามปากกาของ Platinum ทุกรุ่นจะสามารถใช้ได้เฉพาะกับหมึกหลอด หรือที่สูบหมึกของ Platinum เองเท่านั้น จะใช้ร่วมกับยี่ห้ออื่นไม่ได้นะครับ ปัญหาอยู่ที่ว่า หมึกหลอดของ Platinum มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหมึกหลอดมาตรฐานที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่หมึกหลอดของ Platinum ใช้น้ำหมึกคุณภาพสวย สีสันสดใส แถมยังมีให้เลือกหลายสีอีกด้วย และหมึกหลอดเองยังจุน้ำหมึกได้ในปริมาณที่มากกว่าหมึกหลอดมาตรฐานทั่วไปด้วยนะครับ (หมึกหลอดของ Platinum จุน้ำหมึกได้ 1.2 cc. ขณะที่หมึกหลอดมาตรฐานทั่วไปจุน้ำหมึกได้แค่ราว 0.4-0.5 cc. เท่านั้น) พอคิดบวกลบแล้วจึงกลายเป็นว่า หมึกหลอดของ Platinum ก็ไม่ได้มีราคาสูงไปกว่าหมึกหลอดมาตรฐานเท่าใดนัก

ส่วนที่สูบหมึกของ Platinum มีให้เลือก 2 แบบครับ คือ Mini Converter ที่ใช้การเติมน้ำหมึกแบบก้านสไลด์ กับที่สูบหมึกแบบ Piston Converter แม้ว่า Mini Converter จะมีราคาถูกกว่ามาก แต่ผมแนะนำว่า ควรหาที่สูบหมึกแบบ Piston Converter มาใช้กับ 3776 Century จะดีกว่า เพราะตัวปากกาโปร่งใส มองเห็นที่สูบหมึกภายใน ดูแล้วจะสวยกว่าใช้ที่สูบหมึกแบบ Mini และที่สูบหมึกแบบ Piston Converter ของ Platinum ยังจุน้ำหมึกได้ในปริมาณมากอีกด้วยครับ

ที่สูบหมึกแบบ Piston Converter ของ Platinum ยังได้รับคำชมจากนักเล่นปากกาหมึกซึมในทั่วโลกว่า เป็นที่สูบหมึกซึ่งมีความแข็งแรงทนทานมาก คือ มีแกนกลางที่เป็นเกลียวขนาดใหญ่ และเกลียวลึก คมชัด ไม่ปีนเกลียวหรือเกลียวหวานได้ง่ายๆครับ การถอดประกอบที่สูบหมึกเพื่อทำความสะอาด หรือดูแลรักษาก็ทำได้ง่าย เพียงหมุนเกลียวส่วนที่เป็นโลหะออกจากตัวที่สูบหมึกเท่านั้น แต่ตอนที่หมุนเกลียวให้ระวังจะทำแหวนยางตกหายด้วยนะครับ

หัวปากกา

จุดหนึ่งที่ทำให้ผมชอบปากกาหมึกซึมที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นมากๆ คือ มีหัวปากกาให้เลือกใช้หลายแบบ เรียกว่า มีหัวปากกาแบบต่างๆให้เลือกมากกว่าปากกาที่ผลิตจากทางยุโรปซะอีกครับ Platinum 3776 Century ก็เช่นกัน

ปากการุ่นนี้มีหัวปากกาให้เลือกใช้ถึง 8 แบบ คือ UEF (Ultra extra fine), EF (Extra Fine), SF (Soft Fine), F (Fine), M (Medium), B (Broad), C (Double broad) และ Music Nib ซึ่งขนาดลายเส้นของหัวปากกาหมึกซึม Platinum จะได้ขึ้นชื่อในเรื่องเส้นที่เล็กและคมมากครับ โดยขนาดลายเส้นของหัวปากกาขนาดต่างๆจะเท่ากับ UEF – 0.1 มม., EF – 0.2 มม., F – 0.3 มม., M – 0.4 มม., B – 0.8 มม., C – 1.0 มม. และ Music 1.1 มม. หากจะเปรียบเทียบกับหัวปากกาหมึกซึมที่ผลิตในฝั่งยุโรป หัวปากกาของ Platinum จะมีขนาดลายเส้นเล็กกว่าหัวปากกาเบอร์เดียวกันอยู่ 0.1 มม. เว้นหัวปากกาขนาด B และ C (BB) จะมีขนาดเท่าๆกับปากกาที่ผลิตจากฝั่งยุโรป

สำหรับ Platinum 3776 Century Bourgogne ที่ผมนำมาทำรีวิวนี้ เป็นหัวปากกาแบบ SF หรือ Soft Fine Nib ซึ่งจะมีขนาดลายเส้นเท่ากับหัวปากกาขนาด Fine คือ 0.3 มม. แต่หัวปากกาจะอ่อนกว่า มีความเป็นสปริงดีกว่า หรือพอจะเรียกว่าเป็นหัวปากกาแบบ Semi-Flex Nib ก็ได้ ซึ่งหัวปากกาแบบนี้จะสามารถกดหัวปากกาขณะเขียน เพื่อให้ลายเส้นมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ จึงทำให้เขียนตัวหนังสือภาษาอังกฤษแบบขึ้นเบาลงหนักได้สวยกว่าครับ

หัวปากกาของ Platinum 3776 Century Bourgogne ทำจากทองคำ 14 กะรัต หัวปากกาเป็นสีทอง บนหัวปากกาจะมีสลักข้อความว่า #3776 แล้วก็มีโลโก้ตัว P ของ Platinum จากนั้นก็จะเป็นข้อความว่า 14K บอกให้รู้ว่าหัวปากกาของรุ่นนี้ทำจากทองคำ 14 กะรัต และเป็นตัวอักษรบอกขนาดลายเส้นของหัวปากกา ซึ่งด้ามนี้เป็นหัวขนาด SF แล้วก็จะเป็นตัวเลข 585 ซึ่งเป็นอัตราส่วนของทองคำ 14K ที่มีเนื้อทองคำแท้ผสมอยู่ 58.5% นั่นเอง และที่ด้านขวาของหัวปากกาจะมีข้อความว่า Japan อยู่

ส่วนตัวผมเห็นว่า หัวปากกา Platinum 3776 ยังออกแบบไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ อย่างหัวปากกาของ Sailor 1911 หรือ Pilot Custom ยังออกแบบมาสวยกว่าเลย ยิ่งเทียบกับหัวปากกาของ Montblanc ที่ใช้ตัวเลขบนหัวปากกาเหมือนกัน ยิ่งออกแบบมาสวยกว่าหัวปากกาของ 3776 Century มากเลยครับ

การใช้งาน

Platinum 3776 Century เป็นปากกาที่มีขนาดใหญ่ คือ มีขนาดเมื่อปิดปลอกปากกาเท่าๆกับ Lamy Safari ทั้งในด้านความยาว และความอ้วนเลยครับ แต่อันที่จริงแล้วตัวปากกาของ Platinum 3776 Century จะสั้นกว่า Lamy Safari นะครับ แต่มีปลอกปากกาที่ยาวพอๆกัน เพราะในปลอกปากกาของ 3776 Century จะมีกลไก Slip & Seal อยู่ภายในด้วย แม้ว่าตัวปากกาของ 3776 Century จะสั้นกว่า Lamy Safari แต่ก็ยังถือว่าเป็นความยาวของปากกาที่มาตรฐาน สามารถจับเขียนโดยไม่เสียบปลอกปากกาไว้ท้ายด้ามได้ถนัดดี แม้สำหรับคนที่มีมือค่อนข้างใหญ่ก็ตาม พอนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม ก็เสียบเข้าไปได้ลึก ความยาวเมื่อเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามจึงสั้นกว่า Lamy Safari ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้สมดุลของปากกาเมื่อเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามแล้วดีมากๆ ไม่มีอาการหนักปลายแม้แต่น้อยครับ

ตัวปากกาที่ทำจากเรซิน ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักเบาอยู่แล้ว พอได้รับการออกแบบ Section ดีๆอย่างนี้ และยังมีสมดุลที่ดีอีกต่างหาก ปากกาด้ามนี้จึงสามารถใช้เขียนงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้อย่างสบายๆ โดยไม่รู้สึกเมื่อยล้าเลยครับ

การเขียน

หัวปากกาทองคำ 14 กะรัต แบบ Soft Fine หรือ SF ของ Platinum 3776 Century ที่นำมาทำรีวิวนี้ มีขนาดลายเส้นประมาณ 0.3 มม. เท่าๆกับหัวปากกาขนาด Fine แต่หัวปากกาจะมีความเป็นสปริงดีกว่าหัวแบบ Fine ปกติ

ในการทดสอบครั้งนี้ ผมใช้น้ำหมึก Diamine Autumn Oak และกระดาษถนอมสายตา Rhodia Premium Notepad ครับ

หัวปากการุ่นนี้เขียนได้ลื่นดีมากๆเลยครับ แต่ก็จะรู้สึกถึง Feedback นิดหน่อยนะครับ แต่หัวปากกาจะค่อนข้างอ่อนแบบรู้สึกได้เลย นักเล่นปากกาหมึกซึมบางคนที่มือค่อนข้างหนัก จะไม่ค่อยชอบหัวปากกาแบบ Soft nib เท่าไหร่นัก เพราะเขียนแล้วบางทีจะรู้สึกยวบๆ แต่สำหรับหัวปากกา SF ของ Platinum นี่ผมยังไม่รู้สึกขนาดนั้นนะครับ หัวปากกายังแข็งกว่า Soft nib หรือ Semi Flex nib ของยีห้ออื่น แต่ก็ยังรู้สึกได้ว่าหัวปากกาอ่อนกว่าปากกาหมึกซึมปกติที่หัวปากกาทำจากทอง 14K หรือแม้แต่ 18K ก็ตาม

การป้อนหมึกของ Platinum 3776 Century สม่ำเสมอดีมาก แม้ลายเส้นจะมีขนาดเล็ก แต่ไม่ว่าจะเขียนเร็วๆ หรือลากยาวต่อเนื่อง ก็ไม่เคยเจอปัญหาลายเส้นขาดหายเลยครับ ปากการุ่นนี้ป้อนน้ำหมึกออกไปในทางค่อนข้างแห้ง แต่ก็ไม่ถึงกับแห้งมากนะครับ ปากกาเส้นเล็กๆ การป้อนน้ำหมึกค่อนข้างแห้งแบบนี้ ทำให้สามารถนำหัวปากกา SF ของ Platinum 3776 Century ไปเขียนบนกระดาษเนื้อไม่ดีได้สบายๆ โดยไม่มีปัญหาน้ำหมึกซึมทะลุด้านหลังเลยครับ

มาดูที่การเขียนแบบ Flex กันดีกว่า เพราะถือได้ว่าเป็นไฮไลท์ของหัวปากกาที่นำมาทำรีวิวนี้นะครับ แต่ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า Soft nib นี่ไม่ใช่ Flex nib นะครับ ดังนั้นจะคาดหวังว่าจะกดหัวปากกาหนักๆ ให้ได้เส้นหนาๆ หรือเขียน Flex ต่อเนื่องได้นานๆ อย่างพวก Flex nib แท้ๆไม่ได้นะครับ ปากกาแบบ Semi-Flex นี่เอาไว้ใช้เขียนอักษรวิจิตรที่มีขนาดตัวอักษรไม่ใหญ่นัก เช่น เขียนชื่อตอนจ่าหน้าซองจดหมาย หรือเขียนหัวเรื่องในรายงาน อะไรอย่างงี้ก็พอไหวครับ แต่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับใช้เขียนอักษรตัวใหญ่ๆ แบบทำการ์ดอวยพร หรือเขียนติดฝาผนังห้องนะครับ

การเขียนแบบ Flex ด้วยหัวปากกา SF ของ Platinum 3776 Century ทำได้ดี โดยเฉพาะกับตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ไม่เกิน 1 บรรทัด แต่หากเขียนตัวอักษรวิจิตรที่ใหญ่กว่านั้นอาจเจอปัญหาเส้นขาดเป็นรางรถไฟ หรือไม่ก็ปากกาป้อนหมึกไม่ทัน จนเขียนไม่ออกได้ครับ ในการเขียนแบบ Flex แนะนำเลยว่า ให้เขียนช้าๆหน่อยนะครับ ปากกาจะได้ป้อนน้ำหมึกได้ทันครับ

สรุป

สำหรับ Platinum 3776 Century นี่ เป็นปากกาหมึกซึมเพียงไม่กี่รุ่นที่แม้ว่าผมมีแล้ว แต่ก็ยังอยากจะได้ด้ามใหม่มาไว้ใช้งานอีก ทั้งนี้ก็เพราะระบบ Slip & Seal ที่อยู่ในปลอกปากกานั่นเองครับ ทำให้มั่นใจได้ว่าแม้เราจะเติมน้ำหมึกทิ้งไว้ในปากกานานสักแค่ไหน น้ำหมึกก็จะยังไม่แห้งจนทำให้หัวปากกาพังครับ ด้วยเหตุนี้ผมจึงชอบที่จะเติมน้ำหมึกสีสวยๆ แปลกตา ที่ไม่ค่อยจะได้ใช้งานบ่อยนัก ใน Platinum 3776 Century ครับ

ด้านการเขียนของปากการุ่นนี้ ผมขอไม่บอกด้วยตัวเองดีกว่า แต่อยากให้ทุกท่านหาโอกาสไปลองเขียนที่ร้าน The Pips Café ด้วยตนเองครับ ที่ร้านนี้มี Platinum 3776 Century Writing Station ซึ่งมี Platinum 3776 Century พร้อมหัวปากกาทุกขนาดให้ลองเขียนกันเลย ผมไปนั่งเล่นมาแล้วคลั่งเลยครับ ถึงขนาดฝันว่า อยากสั่งซื้อ Station ที่ว่านี้มาไว้ที่บ้านตัวเองสักชุดเลยล่ะครับ 55555

อย่างไรก็ตาม สำหรับหัวปากกาแบบ Soft nib นี่ ผมขอเตือนไว้ก่อนเลยนะครับว่า อย่าไปคาดหวังว่าจะสามารถใช้เขียนอักษรวิจิตรได้เหมือนกับหัวปากกาแบบ Flex nib ถ้าคิดแบบนั้น รับประกันผิดหวังแน่ๆครับ ถ้าใครที่อยากได้ปากกา Flex nib ควรซื้อ Flex nib ไปสักด้ามเลยดีกว่า ราคาไม่ถึงพันบาทเท่านั้น ใช้เขียนอักษรวิจิตรได้ดีกว่า และไม่ต้องเอาหัวปากกาทองคำ 14 กะรัตมากดให้หัวปากกาถ่างเล่น เสี่ยงกับหัวปากกาเสียหายอีกต่างหากครับ

หัวปากกาแบบ Soft nib ของ Platinum นี่จริงๆแล้วเค้าออกแบบมาสำหรับเขียนอักษรภาษาญี่ปุ่น ให้สามารถเขียนลายเส้นแบบตวัดได้ครับ ซึ่งอักษรญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นเส้นสั้นๆเท่านั้น ไม่ได้เขียนต่อเนื่องกันยาวๆเหมือนภาษาอังกฤษ ส่วนตัวผมเห็นว่า สำหรับการเขียนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษโดยทั่วไปแล้ว หัวปากกาแบบ Soft nib นี้ออกจะเกินความจำเป็นไปสักหน่อยครับ ผมคิดว่าเลือกซื้อหัวปากกาแบบ Fine หรือ Medium ธรรมดาๆนี่จะใช้งานได้สะดวกกว่า และยังจะเขียนได้ลื่นกว่าหัวปากกาแบบ SF ด้วยนะครับ

Platinum 3776 Century มีจำหน่ายในเมืองไทยเราแล้วนะครับ โดยร้าน The Pips Café ตั้งที่ชั้น 1 อาคารธนิยะพลาซ่า ถนนสีลม ฝั่งสถานีรถไฟฟ้า BTS นะครับ ผู้ที่สนใจจะไปดูที่ร้านด้วยตนเอง หรือจะติดต่อผ่านเฟสบุ๊คเพจของ The Pips Café ก็ได้ครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page