top of page
  • ที่มา: www.fountainpennetwork.com

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Wing Sung 3008 / Wing Sung 698 / Caliarts Ego

ผมสังเกตว่า ตั้งแต่ช่วงต้นๆปี 2017 บริษัทผู้ผลิตปากกาหมึกซึมของจีน ได้ผลิตปากกาหมึกซึมที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ออกมาจำหน่ายหลายรุ่น ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เรียกได้ว่า ปากกาหมึกซึมที่ผลิตในประเทศจีนทั้งหมดจะใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Cartridge / Converter Filler

สำหรับระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler นี้ ผมเคยทำรีวิวให้เห็นถึงจุดเด่นจุดด้อยไปแล้ว ก็ลองไปชมดูนะครับ แต่เดิมปากกาหมึกซึมที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบนี้มักจะมีเฉพาะในปากกาที่ราคาค่อนข้างสูง ส่วนปากการาคาไม่แพงที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler โดยมากก็จะเป็นปากกาหมึกซึมที่ผลิตจากประเทศในแถบคาบสมุทรอินเดีย ซึ่งคุณภาพ และความประณีตสำหรับบางรุ่นผมก็มองว่าไม่สมราคาเท่าไหร่ครับ จนกระทั่ง TWSBI บรษัทผู้ผลิตปากกาหมึกซึมชั้นนำจากไต้หวัน ได้วางตลาดสินค้าของตนด้วยปากกาหมึกซึมที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler เป็นหลัก ในราคาจำหน่ายที่ไม่แพงนัก และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในทั่วโลก คาดว่าจุดนี้เองที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตปากกาหมึกซึมในประเทศจีนเริ่มหันมาผลิตปากกาหมึกซึมที่มีระบบเติมน้ำหมึกแบบนี้กันบ้าง โดยจะเห็นได้ว่าปากกาจีนที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler แทบทั้งหมดจะเลียนแบบรูปทรง รวมถึงกลไกการประกอบจาก TWSBI ครับ

ส่วนตัวผมชอบปากกาที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler อยู่แล้ว ก็กำลังคิดว่าจะสั่งซื้อปากกาแบบนี้ที่ผลิตในจีนมาลองเล่นดูอยู่เหมือนกัน แต่ช่วงนี้ยังไม่ค่อยมีเวลาว่างเลยไม่ได้สั่งซื้อไปสักทีครับ ก็พอดีไปอ่านเจอรีวิวเปรียบเทียบปากกาแบบ Piston Filler ที่ผลิตในประเทศจีน จากเว็บบอร์ด www.fountainpennetwork.com ซึ่งเห็นว่าน่าสนใจดี ก็เลยหยิบมาแปลให้อ่านกัน

แปลจากเว็บต่างประเทศ

บทความนี้ผมแปลมากจากกระทู้ที่ชื่อว่า Three New Chinese Piston Filler Pens เขียนโดยผู้ใช้ User name: DavidW จากข้อมูลเห็นบอกว่าอาศัยอยู่ที่ New South Wales ประเทศออสเตรเลียครับ (ไม่รู้ว่าจะรู้จักกับพี่พี หาญต้นนาค รึเปล่านะ) Mr. DavidW ลงกระทู้นี้เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี่เอง โดยได้เปรียบเทียบปากกาหมึกซึมที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler 3 รุ่น คือ Wing Sung 3008, Wing Sung 698 และ Caliarts Ego สำหรับ Wing Sung 698 นั้น ผมเคยทำรีวิวให้ชมกันไปแล้วนะครับ ส่วน Wing Sung 3008 นี่เพิ่งออกวางตลาดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมกำลังคิดว่าจะสั่งซื้อไปอยู่เหมือนกัน และ Caliarts Ego นี่จำได้ว่าวางตลอดก่อน Wing Sung 698 อีก ถ้าจำไม่ผิดปากการุ่นนี้ก็อป TWSBI ECO มาเลย โดยตอนนั้นตั้งราคาไว้ราว 5-600 บาท ผมจึงไม่คิดจะสั่งซื้อไป เพราะเพิ่มเงินไปซื้อ TWSBI ECO อีกด้ามดีกว่า

เรามาดูพร้อมกันนะครับว่า Mr. DavidW พูดถึงปากกาทั้งสามรุ่นนี้อย่างไรบ้าง

ภาพโดย Mr. DavidW จากบนลงล่าง Caliarts Ego, Wing Sung 698, Wing Sung 3008

Mr. DavidW บอกว่า ในช่วงปีที่แล้ว เขาพบว่ามีปากกาหมึกซึมที่ผลิตในประเทศจีนจำนวนหนึ่งที่หันมาใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler จากที่เขาเห็นก็มีของ Wing Sung 2 รุ่น คือ 698 และ 3008 และก็มีของยี่ห้อ Caliarts รุ่น Ego ที่เขานำมาทำรีวิวนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีของยี่ห้อ Lanbitou และ PenBBS อีกด้วย

Mr. DavidW มี Wing Sung 3008 อยู่ 2 ด้าม และ 698 กับ Ego อีกอย่างละด้าม เขาเลยคิดที่จะนำปากกาทั้ง 3 ด้ามมาเปรียบเทียบกัน แล้วเขียนเป็นรีวิวนี้ครับ

Wing Sung 3008

ปากการุ่นนี้ เป็นปากกาจีนที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ด้ามแรกที่ Mr. DavidW ซื้อมาครับ และยังเป็นปากกาที่มีราคาถูกที่สุดในบรรดา 3 รุ่นนี้ด้วย ปากการุ่นนี้มีหัวปากการูปทรงคล้ายๆกับหัวปากกาของ Lamy Safari มีขนาดลายเส้นให้เลือก 2 ขนาด คือ F และ EF

ตัวปากกาจุน้ำหมึกได้มากกว่า 1 มล.นิดหน่อย ปลอกปากกาไม่มีปลอกปากกาชั้นใน แต่มีแหวนยาง (O-ring) ที่ตัวปากกาตรงจุดที่ใช้รองรับปลอกปากกา ซึ่ง Mr. DavidW บอกว่า เจ้าแหวนยางตัวนี้ช่วยป้องกันไม่ให้อากาศเข้าไปโดนหัวปากกา ทำให้หัวปากกาไม่แห้งและเกิดอาการ Hard Start ได้อย่างน้อยก็ราว 2-3 วัน

ด้ามปากกามีลักษณะเป็น 16 เหลี่ยม และเรียวเล็กลงทางท้ายด้ามปากกาเล็กน้อย ปลอกปากกาที่ท้ายด้าม (End Cap) ของ Wing Sung 3008 จะไม่ล็อกนะครับ มันจะหลวมๆอยู่ตลอดเวลา แต่ Mr. DavidW ก็ยังไม่เคยเจอปัญหาเรื่องน้ำหมึกรั่วออกมาในระหว่างที่พกปากกาไปทำงานเป็นเวลาสองสามสัปดาห์

ส่วนประกอบของระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler จะมีแหวนสีเงินที่อยู่ส่วนบนสุดของด้ามปากกา เมื่อถอดแหวนนี้ออกจะทำให้สามารถถอดชุดลูกสูบของ Piston Filler ออกมาทำความสะอาด และหล่อลื่นได้โดยง่าย

ปากการุ่นนี้ใช้หัวปากกาที่มีลักษณะเหมือนหัวปากกาของ Lamy Safari ทำให้สามารถเปลี่ยนไปใช้หัวปากกาของ Lamy จริงๆได้ด้วยครับ การถอดหัวปากกาและ Feed ก็ทำได้ง่ายๆ เพราะมีร่องที่ Feed สำหรับให้ใส่หัวปากกาได้สะดวก และที่ตัว Feed ก็จะมีตำแหน่งให้ใส่เข้าไปใน Section ได้อย่างง่ายดายอีกเช่นกัน

นอกเหนือจากเรื่องปลอกปากกาที่ท้ายด้ามที่หลวมแล้ว ปัญหาอื่นของปากการุ่นนี้ ก็คือ หัวน็อต หรือหัวสกรูที่อยู่ในปลอกปากกา ที่ใช้สำหรับยึดชุดคลิปเหน็บกระเป๋าสามารถเกิดสนิมได้ง่าย

โดยรวมแล้ว Wing Sung 3008 เป็นปากกาหมึกซึมที่มีราคาไม่แพง ให้ความรู้สึกในการเขียนที่ดี ทั้งยังเป็นปากกาที่มีความเชื่อถือได้ และทนทานอีกด้วย

ผมดูจากวิดีโอคลิปของผู้ทำรีวิวรายอื่น พบว่าส่วนท้ายด้ามของ Wing Sung 3008 เป็นปุ่มสำหรับเติมน้ำหมึกโดยไม่มี Blind Cap ครอบอยู่ (ตรงปุ่มเติมน้ำหมึกนี้นักเล่นปากกาฝรั่งก็รวมเรียกว่า End Cap หรือ Blind Cap ครับ แต่ผมจะเรียกแยกระหว่างปุ่มเติมน้ำหมึก กับฝาครอบออกจากกัน เพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นน้องๆ เพิ่งเริ่มเล่นปากกาหมึกซึมจะได้ไม่สับสนนะครับ) ที่ปุ่มเติมน้ำหมึกนี้ผู้เขียนบอกว่าจะหลวมๆไม่ล็อก ผมสังเกตว่าน่าจะเกิดจากก้านสูบที่เป็นเกลียวยาวไปหน่อย พอหมุนเติมน้ำหมึกจนตัวลูกสูบขึ้นสุดแล้วก้านสูบไปยันกับปุ่มเติมน้ำหมึก ทำให้ปุ่มเติมน้ำหมึกหมุนลงไปไม่สุดกับตัวด้าม เลยมีอาการหลวมๆอยู่นิดหน่อย เสียดายผมไม่มีปากกา แต่เดาว่าน่าจะแก้ปัญหาได้โดยถอดประกอบเอาก้านสูบมาฝนกับกระดาษทรายให้สั้นลงนิดหน่อย

ความรู้สึกอื่นๆของผมเกี่ยวกับ Wing Sung 3008 เน้นย้ำว่าเป็นเรื่องของความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการดูโหงวเฮ้งล้วนๆ ยังไม่ได้เห็นตัวเป็นๆเลยนะครับ คือ ปากการุ่นนี้จงใจทำออกมาเลียนแบบ TWSBI Diamond 580 ดูจากรีวิวอื่นๆมีเปรียบเทียบขนาดกัน ก็เห็นได้ว่ามีขนาดใกล้เคียงกันมากครับ ส่วนตัวผมเห็นว่าก็เป็นปากกาที่น่าสนใจดี คือ เป็นปากกาหมึกซึมที่ดูสวยงาม มีระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler แถมยังราคาถูกอีกด้วย แต่เมื่ออ่านรีวิวนี้ ผมข้องใจอยู่นิดหน่อยตรงที่ไม่มีปลอกปากกาชั้นในครับ กลัวว่าหากเติมน้ำหมึกแล้วเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้งานนานๆ จะมีอาการ Hard Start หรือไม่ แต่จากการที่ผู้เขียนบอกว่า เคยเก็บปากกาไว้สองสามวันยังไม่มีอาการ Hard Start อย่างน้อยปากการุ่นนี้ก็เหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องใช้ปากกาเขียนเป็นประจำ (ปกติรีวิวของผมจะเติมน้ำหมึกและเก็บปากกาไว้โดยไม่ได้ใช้งานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อตรวจสอบปัญหา Hard Start ครับ)

หัวปากกาของ Wing Sung 3008 ที่มีลักษณะเหมือนหัวปากกาของ Lamy Safari เป็นอีกจุดที่ผมรู้สึกอึดอัดนิดหน่อย แต่อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวนะครับ ผมไม่ค่อยชอบหัวปากกาแบบที่มีร่องให้สไลด์เข้าไปใน Feed ได้ ไม่ว่าจะเป็นหัวปากกาของ Lamy หรือหัวปากกาของยี่ห้ออื่นๆ เช่น Platinum Balance เพราะหัวปากกาแบบนี้เอาไปปรับแต่งอะไรค่อนข้างยากครับ แต่สำหรับคนที่ไม่นิยมดัด ตัด ถ่างหัวปากกาแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร สำหรับแฟน Lamy ที่อาจจะมีหัวปากกา Lamy สำรองอยู่ และไม่ชอบพวกปากกาก็อปปี้ Lamy Safari ก็อาจจะหาปากการุ่นนี้ เอาหัวปากกามาเปลี่ยนไปใช้หัวปากกา Lamy ที่มีอยู่ ก็ไม่เลวนะครับ

อีกจุดที่ผมงงก็คือ เรื่องที่หัวสกรู หรือหัวน็อตที่อยู่ในปลอกปากกา สำหรับใช้ขันติดกับคลิปเหน็บกระเป๋า ที่ผู้ทำรีวิวบอกว่าเป็นสนิมง่าย อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นข้อผิดพลาดอะไรนะครับ เพราะตัวน็อต (หรือสกรู) ที่ใช้ก็ควรจะเป็นสกรูสแตนเลส ไม่น่าจะเกิดสนิมได้ง่าย ผมพยายามดูจากรีวิวอื่นๆก็ยังไม่เห็นมีใครพูดถึงปัญหานี้ แต่ถ้าเกิดเป็นสนิมง่ายจริง ผมคงไม่กล้าเอาปากการุ่นนี้มาใช้แน่ๆ กลัวว่าสนิมจะลุกลามต่อไปถึงคลิป และในกรณีที่เก็บไว้นานๆก็ไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อหัวปากกาด้วยรึเปล่า

ที่บอกมานี่เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ และผมก็ยังดูรีวิวปากการุ่นนี้ไม่มากเลย อีกทั้งการรับข้อมูลจากรีวิวเดียวก็ไม่สามารถจะฟันธงอะไรได้ แต่อย่างน้อยก็ควรระวังไว้ก่อนก็ดีครับ

Caliarts Ego

ปากการุ่นนี้ใช้หัวปากกาที่มีลักษณะคล้ายกับ Pilot 78G แต่ Feed มีลักษณะที่แตกต่างไปบ้างเล็กน้อย Mr. DavidW สั่งซื้อหัวขนาด F ไป แต่ตอนที่ปากกาส่งมาถึงบ้าน เขาได้รับหัวปากกาขนาด EF พร้อม Feed มาเป็นอะไหล่ให้อีก 1 ชุดด้วย

ตัวปากกาของ Caliarts Ego สามารถจุน้ำหมึกได้เกือบ 2 มล. ยิ่งปากการุ่นนี้มีหัวปากกาขนาดเล็กแบบ F หรือ EF ด้วยแล้ว เติมน้ำหมึกครั้งนึงเขียนกันไปจนลืมเลยล่ะครับ ปลอกปากกาของ Ego ไม่มีปลอกปากกาชั้นใน แต่มีแหวนยาง (โอริง) เช่นเดียวกับ Wing Sung 3008

Mr. DavidW บอกว่า ปลอกปากกาของ Caliarts Ego ดูเรียบๆไปสักหน่อย และเขาคิดว่ามันไม่ค่อยจะเข้ากันกับตัวปากกาเท่าไหร่นัก แต่เขาก็บอกอีกว่า ปัจจุบันสามารถหาซื้อ Ego รุ่นที่ปลอกปากกา และ End Cap เป็นสีทึบๆได้ ซึ่งจะดูสวยกว่าแบบที่ปลอกปากกาใสๆ สกรูที่ใช้สำหรับติดคลิปกับปลอกปากกา จะขันติดที่ส่วนบนของปลอกปากกา ทำให้ปลอกปากกามีรู (ตรงนี้ผู้เขียนคงอยากจะบอกว่า โอกาสที่อากาศเข้าไปในปลอก ทำให้หัวปากกาแห้งก็จะลดลงไปด้วยครับ)

บริเวณที่จับปากกา (Section) และด้ามปากกา (Barrel) ติดเป็นชิ้นเดียวกัน โดยไม่มีวงแหวนโลหะใดๆอยู่บน Section เลย ตรงนี้ผู้เขียนบอกว่า เขาไม่ชอบ Section ที่มีวงแหวนโลหะ เพราะเคยเจอปัญหาน้ำหมึกซึมออกมาทางวงแหวนนี้ในปากกา Jinhao 159 (ตรงนี้ผมเดาว่าน่าจะเป็นวงแหวนสีเงินบน Section ที่อยู่ติดกับหัวปากกานะครับ ผมไม่รู้ว่า Jinhao 159 ยึดวงแหวนนี้ติดกับ Section อย่างไร แต่ผมเคยเห็นปากกาจีนรุ่นหนึ่งตัววงแหวนนี้อันที่จริงเป็น Housing สำหรับใส่ชุด Nib และ Feed และทางบริษัทก็ยึดชุดนี้ติดกับ Section ด้วยกาว พอกาวเสื่อมก็อาจทำให้น้ำหมึกรั่วซึมออกมาได้ ทางแก้ก็เพียงติดกาวอิพอกซีเข้าไปใหม่)

ตัวปากกาของ Caliarts Ego ลื่นมาก ตลอดทั้งด้ามปากกาไปจนถึง Section จะมีเพียงเกลียวสำหรับปิดปลอกปากกาเท่านั้นที่ช่วยเบรกสายตา Mr. DavidW บอกว่า ปากการุ่นนี้ดูโดดเด่นน้อยกว่า Wing Sung 3008 มากทีเดียว

End Cap ของ Ego ก็ไม่มีล็อกเหมือนกัน แต่หมุนเกลียว (เติมน้ำหมึก) ได้แน่นหนาดี ไม่มีขยับไปมา รอยต่อระหว่าง End Cap กับด้ามปากกากลมกลืนกันดี จนแทบจะดูเป็นชิ้นเดียวกัน

เมื่อซื้อ Caliarts Ego ในกล่องปากกาจะมีประแจสำหรับใช้ถอดประกอบที่สูบหมึกแบบ Piston Filler แถมมาให้ด้วย ตัวประแจนี้จะคล้ายกับที่แถมมาเมื่อซื้อปากกา TWSBI การถอดประกอบปากกาก็น่าจะทำเหมือนกับ TWSBI นะครับ แต่ผู้เขียนบอกว่า มีนักรีวิวคนอื่นเคยบอกไว้ว่า จุดบนตัวปากกาสำหรับรองรับประแจนี้ค่อนข้างเปราะบาง และเสียหายง่าย เขาจึงยังไม่เคยถอดประกอบปากกาด้ามนี้

Mr. DavidW ได้ทดลองเขียน Caliarts Ego ทั้งด้วยหัวปากกาขนาด EF และ F เขาบอกว่าเขียนดีมากทั้งสองขนาด เขียนได้ลื่นมากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดลายเส้นที่เล็กมากเช่นนั้น ผู้เขียนได้ปรับแต่งหัวปากกาขนาด F เล็กน้อยเพื่อให้มีความเปียก และเขียนได้ลื่นมากขึ้น

สำหรับ Caliarts Ego นี่ ต้องบอกตามตรงว่า ผมเคยเกือบจะสั่งซื้อมาเหมือนกันครับ เพราะเห็นหน้าตาคล้ายกับ TWSBI ECO เลยอยากเอามาดูว่าจะทำได้ดีสักแค่ไหน แต่พอคิดๆแล้ว แม้ว่าราคาจะต่างจาก TWSBI ราวครึ่งหนึ่ง แต่เก็บเงินเพิ่มไปซื้อ TWSBI ECO เลยยังดีกว่า เพราะวัสดุที่ใช้ผลิตก็ดีกว่า หัวปากกาจากเยอรมันก็ดีกว่า งานก็ประณีตสวยกว่า จึงทำให้ผมไม่ได้หันมามองปากการุ่นนี้อีกเลย

จากรีวิวของ Mr. DavidW ที่บอกว่าตัวปากกาค่อนข้างเปราะบาง โดยเฉพาะตรงจุดที่ใช้สำหรับถอดประกอบปากกา ตรงนี้ผมยิ่งขอหลีกไกลเลยครับ เพราะผมเป็นคนที่ชอบถอดประกอบปากกาซะด้วยสิ และถ้าพลาสติกตรงจุดที่รองรับประแจเปราะ พลาสติกบริเวณอื่นก็จะต้องไม่แข็งแรงด้วยแน่ๆครับ แม้ว่าพลาสติกส่วนอื่นจะมีความหนามากกว่า หรือไม่ต้องรองรับแรงมากเท่า แต่หากถูกกดทับก็ยังมีสิทธิ์แตกร้าวได้

Wing Sung 698

Mr. DavidW ออกตัวก่อนเลยว่า เขาเพิ่งจะได้รับปากการุ่นนี้มาแค่สองสามวันก่อนทำรีวิวนี้นะครับ

Wing Sung 698 มีให้เลือกหลายสี ด้ามของ Mr. DavidW เป็นใสๆ ขลิบด้วยสีทอง ซึ่งผู้ทำรีวิวบอกว่า เป็นการนำ Wing Sung 3008 มาปรับปรุงให้ลงตัวยิ่งขึ้น หัวปากกาของ Wing Sung 698 มีลักษณะเหมือนกับหัวปากกาของ Pilot 78G สิ่งที่ Mr. DavidW ชอบเกี่ยวกับปากการุ่นนี้ คือ สามารถที่ถอด Section ออกจากด้ามปากกาได้ ช่วยให้ทำความสะอาดปากกาได้สะดวกยิ่งขึ้น

ผู้ทำรีวิวบอกว่า ปลอกปากกาของ Wing Sung 698 ดูสวยดีครับ เพราะแถบกลางลำตัวปากกา และที่ส่วนบนของปลอกปากกาเป็นโลหะ ทำให้ปลอกดูโดดเด่น ภายในปลอกปากกาของ 698 มีปลอกปากกาชั้นใน และยังมีแหวนยาง (โอริง) ที่ตัวปากกาตรงบริเวณที่รองรับปลอกปากกาด้วย ทำให้ช่วยป้องกันอากาศเข้าไปสัมผัสหัวปากกาได้ดียิ่งขึ้น

ตัวปากกาเป็นทรงกระบอก ภายในมีที่เติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ซึ่งจะมีแหวนสีเงินอยู่ที่ส่วนท้ายของด้ามปากกา ใช้สำหรับถอดประกอบระบบเติมน้ำหมึก ปุ่มเติมน้ำหมึกของ Wing Sung 698 จะมีตัวล็อก ทำให้ End Cap ไม่หลวม ก๊อกๆแก๊กๆ

Wing Sung 698 ของ Mr. DavidW เป็นหัวปากกาขนาด M ซึ่งมีขนาดของลายเส้นเท่ากับหัวปากกาขนาด F ของปากกาหมึกซึมที่ผลิตทางฝั่งตะวันตก ปากการุ่นนี้ยังมีหัวปากกาขนาด F และ EF ให้เลือก ทั้งยังสามารถซื้อหัวปากกาของ Pilot 78G ที่มีหลากหลายขนาดมาใช้แทนได้อีกด้วย

Wing Sung 698 นี่ผมเคยทำรีวิวให้อ่านกันไปแล้วครับ ส่วนที่ในรีวิวนี้ที่ผู้เขียนบอกว่า Wing Sung 698 เป็นการปรับปรุง Wing Sung 3008 ให้ลงตัวยิ่งขึ้นนี่ ผมไม่ค่อยแน่ใจนะครับ เพราะผมจำได้ว่าเห็นเจ้า 698 วางตลาดก่อน 3008 อยู่นานพอสมควรทีเดียว สำหรับรายละเอียดของปากการุ่นนี้หากอ่านจากรีวิวของ Write Like Dream น่าจะได้อะไรมากกว่านี้เยอะครับ

ภาพโดย Mr. DavidW จากบนลงล่าง Caliarts Ego, Wing Sung 698, Wing Sung 3008

หัวปากกา

หัวปากกาของทั้งสามรุ่น คุณภาพยังไม่สามารถเทียบเท่ากับมาตรฐานของปากกาจากญี่ปุ่นหรือยุโรปได้ โดยเมื่อนำไปเทียบกับหัวปากกาของ Pilot 78G และ Lamay Safari อย่างไรก็ตามก็ถือได้ว่ามีคุณภาพที่สมกับราคา

ขนาดของปากกา

ปากกาทั้งสามรุ่นคล้ายกันมาก น้ำหนักที่แสดงเป็นน้ำหนักของปากกาเมื่อยังไม่ได้บรรจุน้ำหมึก เมื่อบรรจุหมึกเต็มแล้วน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นราว 1 กรัม เว้นแต่ Caliarts น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นราว 2 กรัม

สรุป

จากปากกาทั้งสามรุ่นนี้ Caliarts Ego เป็นปากกาที่ Mr. DavidW ชอบมากที่สุด ขณะที่ Wing Sung 3008 เป็นปากกาที่คุ้มค่าที่สุด เนื่องจากมีราคาถูกที่สุดแต่ก็ยังมีความทนทาน เชื่อถือได้ แต่ผู้เขียนยังคงเน้นข้อบกพร่องเรื่องที่หัวสกรูเป็นสนิมได้ง่าย ส่วน Wing Sung 698 ผู้ทำรีวิวไม่ได้ให้ความเห็นอะไรมากนัก อาจเพราะเพิ่งได้ปากกามาไม่นาน แค่บอกว่าเป็นการทำให้ 3008 ลงตัวยิ่งขึ้น

ผมสรุปมั่ง

ก็อย่างคาดครับ ปากกาจีนไม่เคยทำอะไรให้เซอร์ไพร์สเลยสักครั้ง คือ ไม่ใช่ประเภทที่เห็นหรือเขียนแล้ว ว้าวววว อะไรแบบนั้นครับ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังอะไรเช่นกัน

ผมดีใจนะครับที่เห็นปากกาจีนหันมาผลิตปากกาที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบใหม่ๆบ้าง ก็ได้แต่หวังลึกๆว่าอีกไม่นานคงจะได้เห็นปากกาจีนที่มีคุณภาพสูง มาให้เราได้เล่นกันในราคาที่สบายกระเป๋ากับบ้าง

สำหรับปากกาจีนที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ทั้งสามด้ามนี้ ผมได้สรุปคร่าวๆไปท้ายรีวิวของแต่ละรุ่นไปแล้วนะครับ ส่วนตัวผมเห็นว่าก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับน้องๆนักเรียน หรือผู้ที่ต้องการหาปากกามาใช้งานแบบลุยๆ ไม่กลัวหายไม่เกี่ยงพัง อะไรแบบนั้นครับ หรือผู้ที่ต้องการลองหาประสบการณ์กับระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler จะหามาลองเล่นลองรื้อดูก่อนที่จะหาซื้อปากกาแพงๆก็เหมาะมากครับ

แต่ถ้าใครต้องการจะขยับขึ้นจากปากกาจีนอีกนิด ก็ยังมีปากกาที่เป็น Piston Filler ราคาไม่แรงนักให้เลือกใช้อยู่อีกเหมือนกัน อย่าง FPR, Noodlers หรือ TWSBI ซึ่งผมเคยทำรีวิวให้ชมไปบ้างแล้วครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page