top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Wing Sung 698 / F nib


Wing Sung นี่เคยเป็นบริษัทผู้ผลิตปากกาหมึกซึมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศจีนเลยนะครับ โดยจะเป็นรองก็แต่บริษัท Hero เท่านั้น แต่ได้ปิดกิจการลงในราวช่วงปลายทศวรรษที่ 80 หรือต้นทศรรษที่ 90 นี่แหละ และ Hero ก็ได้เทคโอเวอร์กิจการไป

ที่ผ่านมา Hero แทบจะไม่ได้ทำอะไรกับชื่อยี่ห้อ Wing Sung เลย นอกจากเอาปากการุ่นเก่าค้างสต๊อกออกมาจำหน่ายเท่านั้น จนผมนึกไปว่า Hero คงจะทิ้งยี่ห้อ Wing Sung นี่ไปแล้ว จนกระทั่งราวปลายปี 2015 หรือต้นปี 2016 นี่แหละ ผมจึงได้เห็น Wing Sung 659 ซึ่งเป็นปากการุ่นใหม่ของยี่ห้อนี้ในขณะนั้นออกมาวางตลาดอีกครั้งในราคาที่ค่อนข้างแรงทีเดียวเมื่อเทียบกับมาตรฐานปากกาจีนทั่วไป โดย Wing Sung 659 เป็นปากกาที่ทำออกมาคล้ายกับ Pilot 78G อย่างมาก แต่มีจุดเด่นที่ให้หัวปากกามาในชุด 2 ขนาด คือ EF และ F ครับ ผมรีบสั่งซื้อ Wing Sung 659 มาลองเล่นดูตั้งแต่วางตลาดใหม่ๆ โดนไปที่ราคาที่สูงกว่าปัจจุบันค่อนข้างมากทีเดียว ปัจจุบันปากการุ่นนี้มีขายโดยร้าน Penniverse ด้วยนะครับ ในราคาที่ถูกกว่าผมซื้อมาเยอะเลย ไว้ผมจะหาโอกาสทำรีวิว Wing Sung 659 ให้ชมกันอีกทีนะครับ

พอมาปี 2017 นี้ Wing Sung ก็ได้ออกปากกาหมึกซึมรุ่นใหม่มาอีก เป็นรุ่น Wing Sung 698 ที่ผมนำมาทำรีวิวนี้ครับ เรามาดูกันเลยว่าปากการุ่นนี้น่าสนใจอย่างไร

Wing Sung 659 (บน) และ Wing Sung 698 (ล่าง)

ชื่อรุ่นชวนให้จำสับสนซะจริงๆเลยนะครับ

การเกิดใหม่ของ Wing Sung

จากปากการุ่นใหม่ของ Wing Sung ทั้งสองรุ่น คือ 659 และ 698 ทำให้ผมคิดไปว่า Hero ได้ชุบชีวิตให้กับยี่ห้อ Wing Sung อีกครั้ง โดยวางเป้าหมายทางการตลาดไว้ให้เป็นปากการุ่นสูงกว่า Hero ในปัจจุบัน คือ สูงกว่าทั้งด้านการออกแบบ เทคโนโลยีของตัวปากกา และราคาครับ

แต่จะว่าไปแล้วปัจจุบันนี้ก็มีปากกาจีนบางยี่ห้อที่เริ่มทำตลาดปากกาในระดับราคาที่สูงขึ้นนะครับ ผมคิดว่าผู้ผลิตปากกาหมึกซึมของจีนคงจะเริ่มรุกตลาดปากกาหมึกซึมในระดับกลางกันแล้ว ซึ่งหากเป็นยังงั้นจริง ผมก็ว่าดีเหมือนกันครับ เพราะจริงๆแล้วปากกาหมึกซึมที่ผลิตในจีนคุณภาพไม่ใช่ว่าจะแย่ แต่ผู้ผลิตต้องพยายามลดต้นทุน เพื่อให้สามารถขายราคาต่ำได้ หากผู้ผลิตสามารถขยับราคาสูงขึ้นได้ ก็น่าจะสามารถนำวัสดุที่ดีขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นกับปากการุ่นใหม่ๆได้ ทำให้เรามีโอกาสได้เล่นปากกาหมึกซึมระดับมิดเอน หรือไฮเอน ในราคาที่ไม่แรง และ Wing Sung 698 ด้ามนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีรุ่นหนึ่งครับ

Wing Sung 698 เป็นปากกาจีนเพียงไม่กี่รุ่นในปัจจุบันที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ครับ และยังนับได้ว่าเป็นปากกาหมึกซึมที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบนี้ที่มีราคาค่อนข้างต่ำอีกด้วย จึงทำให้ผู้ใช้และนักวิจารณ์ปากกาหมึกซึมในต่างประเทศพากันกล่าวขานถึงปากการุ่นนี้กันมากทีเดียว แต่อันที่จริงก็มีปากกาแบบ Piston Filler ที่ราคาไม่แพงอื่นๆอีกนะครับ โดยเฉพาะปากกาที่ผลิตจากประเทศในแถบคาบสมุทรอินเดีย (อินเดีย ปากีสถาน) แต่ความประณีตในการผลิต และคุณภาพของหัวปากกาก็ยังสู้ปากกาจากจีนไม่ได้ครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

ตัวปากกาของ Wing Sung 698 ทำจากพลาสติกทั้งด้าม มีให้เลือกทั้งแบบ Demonstrator คือเป็นสีใสๆทั้งด้าม แบบที่เป็นสีทึบๆ และแบบที่ตัวปากกาเป็นพลาสติกใส ปลอกปากกาเป็นสีทึบ โดยมีให้เลือกสีดำ สีงาช้าง และสีฟ้าออกเทาๆ ซึ่งก็สวยทุกสีครับ ด้ามที่ผมนำมาทำรีวิวนี้เป็นแบบที่ตัวปากกาเป็นสีใสๆ ปลอกปากกาและส่วนท้ายของด้ามปากกาเป็นสีงาช้าง

Wing Sung 698 เป็นปากกาที่มีขนาดใหญ่ทีเดียวครับ คือ มีขนาดเท่าๆกับ Lamy Safari และ TWSBI Eco รูปลักษณ์ของปากกาคลาสิกดีครับ ดูไม่เชย แต่ก็ไม่ได้หวือหวาอะไร ลักษณะของปากกาเกือบจะเป็นทรงกระบอก ส่วนบนและส่วนล่างของปากกาตัดตรงแบบ Flat Top แต่มีลบมุมนิดหน่อย ดูสวยดี

ปลอกปากกา

ปากการุ่นนี้มีปลอกปากกาแบบเกลียว 3/4 รอบ ปิดปลอกปากกาได้แน่นสนิท เปิดใช้งานได้รวดเร็วดีครับ ภายในปลอกปากกาจะมีปลอกปากกาชั้นใน ช่วยป้องกันหัวปากกาและ Feed แห้ง หากเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้งานนานๆ ผมทดลองเก็บ Wing Sung 698 ของผมในลักษณะปลอกปากกาตั้งขึ้น และไม่ได้หยิบมาใช้งานเลยนานกว่า 1 สัปดาห์ พอหยิบปากกาออกมาเขียน ก็สามารถเขียนได้ทันที ไม่มีปัญหา Hard Start เลยแม้แต่น้อย ตรงนี้ผมชื่นชมมากเลย เพราะผมจะไม่ยอมคบหาสมาคมกับปากกาที่มีอาการ Hard Start อย่างเด็ดขาด กลัวว่าพอจะหยิบออกมาใช้แล้วหน้าแตก เขียนไม่ออกครับ

ปากการุ่นนี้ไม่สามารถนำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามได้นะครับ ซึ่งผมถือว่าเป็นจุดด้อยเล็กน้อย แต่จะว่าไปแล้วก็ยังพอจะเอาปลอกปากกาไปเสียบท้ายด้ามได้หากออกแรงกดสักหน่อย แต่พอเอาปลอกปากกาไปเสียบท้ายด้ามแล้ว อย่าหมุนปลอกปากกาเด็ดขาดนะครับ เพราะปลอกปากกาจะติดแน่นกับ Blind Cap ที่อยู่ตรงท้ายด้ามปากกา พอหมุนปลอกปากกาแล้วมันจะไปบังคับให้ Blind Cap หมุนตามไปด้วย ซึ่งจะกลายเป็นการถอดประกอบปากกาไปครับ

Wing Sung 698 นี่มีให้เลือกทั้งแบบที่ขลิบ (Trim) ด้วยสีเงิน และสีทอง ด้ามของผมเป็นขลิบด้วยสีเงินครับ ที่บริเวณส่วนบนของปลอกปากกาจะลดระดับลงเล็กน้อย และทำเป็นสีเงิน รับกับคลิปเหน็บกระเป๋า ที่ด้านบนจะเป็นลวดลายดูสวยงามดี

บนปลอกปากกาจะมีแถบกลางลำตัวปากกา (Center Band) ขนาดใหญ่ เป็นสีเงิน ด้านหน้าสลักข้อความว่า Wings ส่วนด้านหลังเป็นภาษาจีน และมีชื่อรุ่น 698 เดาว่าน่าจะเป็นชื่อยี่ห้อ Wing Sung นะครับ

คลิปเหน็บกระเป๋า

ตัวคลิปทำจากโลหะสีเงิน คลิปมีความเป็นสปริงดีมาก ไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป บนคลิปจะสลักข้อความว่า Lucky

คำว่า Lucky นี่เท่าที่ผมหาข้อมูลได้พบว่า ก่อนที่ Wing Sung จะปิดกิจการลงในช่วงปลายปี 80 อันเนื่องมาจากผลประกอบการของบริษัทลดลง เพราะผู้คนหันไปนิยมปากกาลูกลื่นแบบใช้หมดแล้วทิ้งกัน บริษัทได้สร้างแบรนด์ Lucky ขึ้นมา เพื่อให้ดูเป็นสากลมากขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จครับ พอ Hero มาเทคโอเวอร์กิจการ ก็เลยใช้ชื่อยี่ห้อทั้ง Wing Sung และ Lucky ควบคู่กันไป แต่ดูเหมือนว่า นักเล่นปากกาหมึกซึมในทั่วโลกจะตอบรับกับชื่อยี่ห้อ Wing Sung มากกว่านะครับ ในขณะเดียวกันผมก็คิดว่า Hero ได้พยายามผลักดันชื่อยี่ห้อ Wings ออกมาอีก อาจจะเพราะเรียกง่ายกว่าชื่อ Wing Sung ที่นักเล่นปากกาบ้างก็อ่านว่า วิง-ซุง บ้างก็เรียก วิง-ซัง ครับ เลยกลายเป็นว่าปากกายี่ห้อนี้เหมือนจะมี 3 ชื่อยี่ห้อ คือ Wing Sung, Lucky และ Wings

ส่วนตัวผมชอบชื่อยี่ห้อ Wings นะครับ ดูทันสมัย เรียกง่าย และเป็นสากลดีด้วย ไม่แน่นัก ปากกา Wing Sung รุ่นหลังๆต่อไป อาจจะเหลือแค่ยี่ห้อ Wings ก็เป็นได้

ด้ามปากกา

Wing Sung 698 ทำจากพลาสติกทั้งด้าม ผมเพิ่งใช้งานปากการุ่นนี้มาราวสามสี่เดือนเท่านั้น จึงยังไม่สามารถบอกถึงความทนทานของพลาสติกที่ใช้ทำตัวปากกาได้มากนัก แต่ผมขออนุมานจากการที่ใช้ปากกาหมึกซึม Wing Sung 659 มานานเกือบปีแล้วนะครับ เพราะ Wing Sung 659 ของผมก็เป็นรุ่นที่ทำจากพลาสติกใสๆเหมือนกัน ผมใช้ Wing Sung 659 เป็นปากกาที่นำไปจดงานที่โรงเรียนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน (เกือบปีแล้วครับ) พบว่าพลาสติกที่ใช้ทำตัวปากกาแข็งแรงทนทานดีมาก ตั้งแต่ใช้งานมายังไม่มีริ้วรอยหนักๆเลย แม้แต่รอยขีดข่วนแบบขนแมวก็มีน้อยมากจนแทบสังเกตไม่เห็น ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่า พลาสติกที่ใช้ทำ Wing Sung 698 ก็น่าจะมีคุณภาพที่ดีใช้ได้เลย เรื่องวัสดุที่ใช้ทำตัวปากกาของ Wing Sung 698 นี่ก็มีฝรั่งชมมาเหมือนกันว่า แข็งแรงทนทานดีครับ

ปากกาด้ามที่ผมนำมาทำรีวิว เป็นด้ามใสๆ ทำให้สามารถมองเห็นกลไกของระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler และเห็นสีสันของน้ำหมึกได้อย่างชัดเจน ตรงกลไกของระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ออกแบบให้มีส่วนที่แยกจากห้องเติมน้ำหมึก โดยทำเป็นเหลี่ยมๆไว้ด้วย ช่วยให้ด้ามปากกาดูสวยขึ้นมาก

ด้ามปากกาของ Wing Sung 698 เกือบจะเป็นทรงกระบอก ที่ท้ายด้ามปากกามีแหวนสีเงินรับกับแถบกลางลำตัวปากกาและคลิป ส่วนท้ายของด้ามปากกาเป็น Blind Cap ซึ่งใช้เป็นปุ่มเติมน้ำหมึก

บริเวณที่จับปากกา

Section Grip ของ Wing Sung 698 ทำจากพลาสติกใสเช่นเดียวกับที่ใช้ทำด้ามปากกา ทำให้สามารถมองเห็น Feed และน้ำหมึกที่ไหลลงสู่หัวปากกาได้อย่างชัดเจน ที่จับปากกาจะเรียวเล็กลงไปทางหัวปากกาเพียงเล็กน้อย ทำให้ Section ของปากการุ่นนี้จัดว่าค่อนข้างอวบ ตัว Section ก็ไม่ลื่นอีกด้วย ส่วนตัวผมชอบปากกาที่มี Section อวบๆ และไม่ลื่นแบบนี้ครับ เพราะทำให้จับเขียนได้ถนัดมือ เขียนนานๆแล้วไม่เมื่อยครับ

ระบบเติมน้ำหมึก

Wing Sung 698 เป็นปากกาจีนเพียงไม่กี่รุ่นที่มีขายในปัจจุบันที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ครับ ระบบเติมน้ำหมึกแบบนี้มีจุดเด่นตรงที่เติมน้ำหมึกได้ในปริมาณมาก และยังมีความแข็งแรงทนทานอีกด้วย แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ถอดปากกาออกทำความสะอาดยุ่งยาก และหากระบบเติมหมึกเสีย ปากกาก็จะเสียไปเลย จะหาซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนก็ยากหรือไม่ก็มีราคาแพงนะครับ แต่ปากกาโบราณอายุกว่าร้อยปีที่ผมมีอยู่ซึ่งใช้ระบบเติมหมึกแบบนี้ ทุกด้ามก็ยังคงใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาอะไรครับ

สำหรับระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler นี้ผมเคยทำรีวิวให้ชมกันไปแล้ว ลองแวะไปดูกันอีกทีนะครับ

Wing Sung 698 นี่จัดว่าเป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมที่มีระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ที่มีราคาถูกที่สุดในตลาดก็ว่าได้ครับ อันที่จริงยังมีปากกาหมึกซึมที่ผลิตในอินเดีย หรือปากีสถานที่ใช้ระบบเติมหมึกแบบนี้และมีราคาถูกกว่าหรือพอๆกัน แต่ผมว่าคุณภาพการผลิตยังสู้ปากกาที่ผลิตในจีนไม่ได้ครับ

การเติมน้ำหมึกของ Wing Sung 698 จะมีขั้นตอนเล็กน้อยนะครับ โดยจะต้องดึง Blind Cap ออกมาก่อน โดยดึงแค่พอหลวมๆนะครับ อย่าดึงให้หลุดออกมาเลย จากนั้นจึงจะสามารถนำปากกาไปเติมน้ำหมึกได้เช่นเดียวกับปากกาที่ใช้ระบบเติมหมึกแบบ Piston Filler อื่นๆ แต่หากหมุนที่ Blind Cap เลยโดยไม่ดึงออกมาให้หลวมๆก่อน จะกลายเป็นการถอดประกอบปากกาไปครับ

พอเติมน้ำหมึกเสร็จแล้ว เวลาที่จะกด Blind Cap ปิดลงกับด้าม ต้องดูให้เข้าล็อกด้วยนะครับ ไม่งั้นจะปิดไม่ลง โดยที่ท้ายของด้ามปากกาจะมีรูปลูกศรอยู่ เวลาจะปิดก็ให้สังเกตตรงบริเวณส่วนที่อยู่เหนือแหวนสีเงินขึ้นไปที่เดิม Blind Cap จะครอบปิดไว้ จะเห็นร่องเล็กๆอยู่ เป็นจุดสำหรับล็อก Blind Cap ให้จัดลูกศรที่ท้ายด้ามให้ตรงกับร่องนี้ จึงจะกดปิด Blind Cap ได้ครับ ตรงนี้แม้จะยุ่งยากนิดหน่อย แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นจุดด้อยของปากกานะครับ เพราะปากการาคาแพงๆหลายรุ่นก็จะมีขั้นตอนต่างๆของตัวเองอยู่บ้างเหมือนกัน

หัวปากกา

ผู้ใช้ปากกาหมึกซึมทุกคนย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า ปากกาหมึกซึมที่ผลิตในประเทศจีนมักจะผลิตหัวปากกาออกมาเพียงขนาดเดียว ไม่มีหลายขนาดให้เลือก แม้แต่ปากกาจีนที่มีราคานับพันบาทก็ยังมีหัวปากกาเพียงขนาดเดียวเลยครับ

แต่ Wing Sung นับเป็นผู้เปิดศักราชใหม่ของปากกาหมึกซึมจีนก็ว่าได้ ที่เริ่มมีหัวปากกาแบบต่างๆให้เลือกใช้ แม้ว่าจะยังไม่หลากหลายเท่ากับปากกาที่ผลิตในญี่ปุ่น หรือฝั่งตะวันตก โดยตั้งแต่ Wing Sung ออกปากการุ่น 659 มาวางตลาด ก็จำหน่ายมาเป็นเซ็ท มีหัวปากกาขนาด F และ EF มาในแพ็คให้เลือกใช้ได้ พอมาถึง Wing Sung 698 นี้ ก็มีหัวปากกาขนาด F และ EF ให้เลือกใช้ได้ตามต้องการ และ Wing Sung 698 ที่ร้าน Penniverse นำเข้ามาจำหน่ายยังมีหัวปากกาแบบ Flex nib ให้เลือกอีกด้วยนะครับ นอกจากนี้ที่ผมอ่านเจอในเว็บบอร์ดของต่างประเทศ ปากการุ่นนี้ยังได้ทำหัวปากกาทองคำ 14 กะรัต ออกมาวางจำหน่ายด้วย เรียกได้เลยว่า เป็นปากกาจีนเพียงรุ่นเดียวที่มีหัวปากกาให้เลือกหลากหลายที่สุดครับ ตรงนี้เองที่ทำให้ผมเห็นถึงความตั้งใจจริงของ Hero ที่จะผลักดันให้ Wing Sung กลายเป็นปากกาหมึกซึมในระดับที่สูงกว่าปากกาจีนทั่วไป และหวังว่าต่อไป Wing Sung จะมีหัวปากกาขนาดอื่นๆ โดยเฉพาะ M และ B รวมถึง Stub ให้เลือกใช้นะครับ

สำหรับ Wing Sung 698 ที่ผมนำมาทำรีวิวนี้เป็นหัวปากกาขนาด Fine ครับ

จุดหนึ่งที่ผมเห็นถึงความพยายามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Wing Sung อย่างชัดเจน ก็ตรงหัวปากกานี่อีกนั่นแหละครับ คือ ผมได้สั่งซื้อ Wing Sung 659 มาตั้งแต่ปากการุ่นนี้ออกวางตลาดใหม่ๆ เป็นปากการุ่นแรกที่ยังไม่มี Center Band หรือแถบกลางลำตัวปากกาเลยครับ Wing Sung 659 ที่ผมได้มา หัวปากกาเขียนแล้วมี Feedback ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหัวขนาด F เขียนแล้วรู้สึกว่าบางมุมกัดกระดาษด้วยซ้ำครับ พอร้าน Penniverse จะส่ง Wing Sung 698 มาให้ทำรีวิว ผมก็เลยเลือกหัวปากกาขนาด F อีก เพราะอยากรู้ว่าจะเป็นยังไง

หัวปากกาของ Wing Sung 698 ทำจากสแตนเลส บนหัวปากกามีชื่อยี่ห้อ Wings และมีคำว่า Super Quality และมีตัวอักษรบอกขนาด F ซึ่งก็หน้าตาเหมือนกับหัวปากกาที่ใช้ใน Wing Sung 659 ครับ แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ หัวปากกาขนาด Fine ของ 698 เขียนลื่นมากจนไม่รู้สึกถึง Feedback เลยแม้แต่น้อย ตรงนี้น่าจะแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Wing Sung ภายใต้การดำเนินการของ Hero นะครับ

หัวปากกาของ Wing Sung ทั้งสองรุ่นนี้ จะรูปร่างหน้าตาคล้ายกับหัวปากกาของ Pilot บางรุ่นนะครับ

ถอดประกอบ

พูดถึงปากกาที่มีระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler แล้ว ก็ต้องพูดถึงการถอดประกอบปากกากันหน่อยครับ เพราะปากกาที่มีระบบเติมน้ำหมึกแบบนี้จะถอดประกอบยุ่งยากกว่าปากกาที่เป็น C/C Filler (ปากกาหมึกซึมที่ใช้กับหมึกหลอดและที่สูบหมึก) อยู่พอสมควร โดยการถอดประกอบปากกาที่เป็น Piston Filler หลักๆก็จะมีอยู่ 2 แบบนะครับ คือ แบบที่สามารถถอดได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไร กับแบบที่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการถอดประกอบ สำหรับ Wing Sung 698 นี้สามารถถอดประกอบได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆทั้งสิ้น แถมยังสามารถถอดด้ามปากกา (Barrel) ออกจาก Section ได้ด้วย ซึ่งปากกาแบบ Piston Filler ส่วนใหญ่จะไม่สามารถถอดด้ามปากกาออกได้นะครับ

การถอดประกอบระบบเติมน้ำหมึกก็ทำได้ง่ายๆ โดยหมุน Blind Cap (ตรงที่ใช้เติมหมึกนั่นแหละครับ) ออก แต่ไม่ต้องดึงฝา Blind Cap ออกมาให้หลวมนะครับ เท่านี้ก็เป็นการถอดชิ้นส่วนของระบบเติมหมึกแล้ว แต่พอหมุน Blind Cap ออกแล้ว จะยังไม่สามารถเอาก้านที่สูบหมึกออกมาได้นะครับ การถอดก้านที่สูบหมึกจะต้องหมุนตรงด้ามปากกาออกจากตัว Section เหมือนกับการถอดด้ามปากกาปกตินั่นแหละครับ ส่วนการถอดหัวปากกาก็ดึงออกมาตรงๆแค่นั้นเอง เท่านี้ก็สามารถล้าง Wing Sung 698 ให้สะอาดได้ทุกซอกทุกมุมแล้ว

ตอนที่ซื้อ Wing Sung 698 ในชุดจะมีที่สูบหมึกแบบ Mini Converter แถมมาให้ด้วย โดยในที่สูบหมึกจะมีของเหลวบรรจุอยู่ และมีฝาปิดอีกที ของเหลวที่อยู่ภายใน Mini Converter คือ Silicone Grease หรือจาระบีซิลิโคน (จาระบีขาว) ชนิดเหลวครับ เมื่อถอดประกอบปากกาแล้ว ก่อนที่จะประกอบคืน ให้ทาจาระบีขาวนี้ตรงบริเวณที่เป็นเกลียว และลูกยางทุกตัว โดยทาบางๆพอนะครับ จาระบีขาวนี้มีคุณสมบัติช่วยถนอมยางต่างๆ และยังช่วยเพิ่มความหนืดให้กับเกลียว ทำให้ประกอบปากกาคืนได้แน่นสนิท ป้องกันน้ำหมึกรั่วซึมได้ครับ

สิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้จาระบีขาว คือ มือที่โดนจาระบีขาวแล้ว ห้ามไปจับหัวปากกาหรือ Feed โดยเด็ดขาดนะครับ เพราะจาระบีขาวจะไปทำให้หัวปากกาและ Feed อุดตัน และคุณสมบัติของจาระบี คือ ไม่ละลายน้ำ และทนความร้อนสูง ดังนั้นหากไปอุดตันที่หัวปากกาหรือ Feed แล้วจะล้างออกยากมาก หรือล้างออกไม่ได้เลยครับ

รีวิวของต่างประเทศบางรีวิว ยกให้การถอดประกอบปากกาโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือของ Wing Sung 698 นี้เป็นจุดเด่น แต่ผมไม่ได้คิดยังงั้นนะครับ ปากกาที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ซึ่งต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการถอดประกอบก็มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องห่วงว่าจะเผลอไปหมุนบิดจนทำให้ปากกาหลวมหลุดออกมาเองได้ง่ายๆครับ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า Wing Sung 698 ถอดประกอบง่ายกว่าปากกาชนิดเดียวกันที่ถอดประกอบโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือครับ ผมจะติดอยู่นิดเดียวกว่า หากสามารถถอดก้านที่สูบหมึกออกมาได้ โดยไม่ต้องถอดด้ามปากกาก็จะดีไม่น้อยเลย เพราะจะทำให้ไม่ต้องถอดชิ้นส่วนออกมาเยอะเกินไป และอีกอย่างที่ผมค่อนข้างเป็นห่วงสำหรับปากการุ่นนี้ หากใครไปเผลอหมุน Blind Cap เล่น จะกลายเป็นการถอดประกอบปากกาออกมาได้ง่ายๆเลยล่ะครับ

การใช้งาน

Wing Sung 698 เป็นปากกาที่มีขนาดใหญ่ โดยมีขนาดพอๆกับ Lamy Safari แต่มี Section ที่อวบกว่า ทำให้จับเขียนได้ถนัดมือดีมากโดยไม่จำเป็นจะต้องเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม ตัวปากกาก็มีน้ำหนักเบา Section ไม่ลื่นด้วย ยิ่งทำให้เขียนนานๆได้โดยไม่เมื่อยล้าเลยครับ แต่ปากการุ่นนี้เอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้ามไม่ได้นะครับ คือ ถ้าจะเสียบจริงๆก็ทำได้แหละ ออกแรงกดเข้าไปหน่อย พอเอาปลอกปากกาไปเสียบท้ายด้าม ก็ยังสมดุลใช้ได้ครับ เพราะปลอกปากกามีน้ำหนักไม่มาก แต่ความที่ปลอกปากกาเสียบเข้าไปได้ไม่ลึก จึงทำให้มีอาการหนักปลายเล็กน้อยอยู่เหมือนกัน

ข้อที่ต้องระวังอีกอย่าง คือ พอเอาปลอกปากกาไปเสียบท้ายด้ามแล้วห้ามหมุนปลอกปากกาเด็ดขาดเลยนะครับ เพราะปลอกปากกาจะติดอยู่กับ Blind Cap พอหมุนปลอกปากกา Blind Cap ก็จะหมุนตามไปด้วย อาจกลายเป็นการถอดประกอบปากกาโดยไม่ตั้งใจได้ และการหมุนปลอกปากกานี่ก็เป็นหนึ่งในความเคยชินของคนใช้ปากกาหมึกซึมซะด้วยสิ คือ พอเสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามแล้ว ผู้ใช้ปากกาหลายคน (รวมถึงผมด้วย) มักจะชอบหมุนให้คลิปเหน็บกระเป๋าตรงกับหัวปากกาน่ะครับ ดังนั้นหากใครเป็นพวก Poster เหมือนอย่างผม (เวลาเขียนชอบเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม) ก็ควรจะเล็งให้คลิปตรงกับหัวปากกาแต่แรกเลย และเวลาถอดปลอกปากกาก็ให้ถอดออกมาตรงๆ อย่าไปหมุนปลอกปากกานะครับ

ปากกาที่มีขนาดใหญ่ อย่าง Lamy Safari, TWSBI ECO และ Wing Sung 698 นี้ อาจสร้างปัญหาในการพกพาให้กับหลายๆคนได้นะครับ คือ ขณะที่ปิดปลอกปากกา ตัวปากกาจะมีความยาวค่อนข้างมาก ทำให้เหน็บกับกระเป๋าเสื้อได้สะดวกครับ ครั้นจะหากระเป๋าใส่ปากกาแบบแยกเฉพาะด้ามก็จะหาลำบากสักหน่อย ไม่สามารถใช้ร่วมกับกระเป๋าที่ออกแบบมาสำหรับใส่ปากกาลูกลื่นได้ แต่ปากกาขนาดนี้ก็มักจะจับเขียนได้สบายมือดีนะครับ

การเขียน

Wing Sung 698 ที่ผมนำมาทำรีวิวนี้ใช้หัวปากกาขนาด Fine (F) ให้ลายเส้นขนาดเล็กตามสไตล์หัวขนาด F ของเอเชียครับ คือ ให้ขนาดลายเส้นประมาณ 0.3 มม. ถ้าเป็นหัวปากกาขนาด EF จะให้ลายเส้นประมาณ 0.2 มม.ครับ ปากการุ่นนี้เขียนได้ลื่นมากนะครับ เส้นเล็ก คมกริบ การป้อนน้ำหมึกสม่ำเสมอดีมาก ตั้งแต่ใช้มาไม่เคยมีเส้นขาดๆหายๆ และไม่มีอาการ Hard Start ให้เห็นเลย ปากการุ่นนี้จะป้อนน้ำหมึกออกไปในทางค่อนข้างแห้งสักหน่อย ซึ่งก็เหมือนๆกับปากกาที่ผลิตในจีนและญี่ปุ่นส่วนใหญ่ครับ ปากกาที่มีลายเส้นขนาดเล็กๆ และเขียนออกไปทางค่อนข้างแห้ง แต่เขียนได้ลื่นมากแบบนี้ใช้จดงานสนุกเลยครับ แถมยังสามารถใช้กับกระดาษเนื้อไม่ดีได้สบายๆ ไม่มีปัญหาน้ำหมึกซึมทะลุด้านหลังด้วย

หัวปากกาขนาด F ของ Wing Sung 698 แข็งค่อนข้างมาก แทบจะไม่มีความยืดหยุ่นเลย คือ ใช้เขียนแบบขึ้นเบาลงหนักไม่ดีเอาซะเลยครับ ตรงนี้ผมขอชี้แจงสักนิด เพราะเคยพบผู้ใช้ปากกาหมึกซึมบางท่านบ่นเรื่องหัวปากกาไม่ Flex หรือไม่ยืดหยุ่น จริงๆแล้วผมชอบหัวปากกาที่มีลักษณะแข็งเหมือนตะปู แต่เขียนได้ลื่นๆแบบนี้นะครับ เพราะเป็นหัวปากกาที่ใช้จดงานเยอะๆ เขียนต่อเนื่องนานๆได้สนุกกว่าหัวปากกาที่ออกไปทางอ่อนๆครับ

แม้ว่าหัวปากกาของ Wing Sung 698 จะมี Sweet Spot แคบไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้แคบมากจนทำให้เขียนยากนะครับ หยิบปากกามาเขียนแบบรีบๆ ก็ยังไม่มีปัญหาต้องคอยหมุนปากกาหาจุดที่เขียนติด

สรุปความ

Wing Sung 698 เป็นปากกาที่มีระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ที่มีราคาถูก แถมยังเขียนดีอีกด้วยครับ หัวปากกาเขียนลื่นดีมาก สามารถใช้เขียนกับกระดาษคุณภาพต่ำได้โดยไม่มีปัญหาน้ำหมึกซึมทะลุด้านหลัง เหมาะสำหรับใช้จดงานจำนวนมากๆครับ ยิ่งใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ซึ่งจุน้ำหมึกได้ในปริมาณมากแล้ว ยิ่งไม่ต้องห่วงเลยว่าเขียนๆไปแล้วหมึกจะหมด

สำหรับจุดด้อย ก็มีเรื่องที่ไม่สามารถเสียบปลอกปากกาไว้ท้ายด้ามได้ และจุดด้อยอีกเรื่องซึ่งก็เป็นจุดเด่นนะครับ คือ ถอดประกอบปากกาง่ายเกินไป จนอาจทำให้เผลอถอดประกอบปากกาโดยไม่ได้ตั้งใจได้ครับ แต่เรื่องนี้หากใช้งานสักพัก พอคุ้นก็ไม่นับว่าเป็นปัญหา

ใครที่ต้องการจะหาประสบการณ์กับปากกาที่มีระบบเติมน้ำหมึกแบบ Piston Filler ในราคาที่ไม่แพง รวมถึงคนที่ต้องการหาปากกาหมึกซึมสำหรับใช้งานหนัก จุหมึกได้มากๆ จดงานได้เป็นวันๆโดยไม่เมื่อยล้า Wing Sung 698 น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝันนะครับ

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page