top of page
  • ฐณิพัชร์ มายะการ

[รีวิวปากกาหมึกซึม] Pilot Prera / M nib


Pilot Prera นี่เป็นปากกาหมึกซึมที่ผมชอบพกติดตัวไปไหนมาไหนด้วยมากที่สุดด้ามหนึ่งเลยครับ ปากการุ่นนี้ยังเป็นปากกาที่ผมอยากได้มาก มาตั้งแต่เริ่มเล่นปากกาหมึกซึมใหม่ๆแล้วด้วย

เหตุที่ผมชอบปากการุ่นนี้แต่แรก ก็เพราะรูปทรงและขนาดที่ใกล้เคียงกับ Pelikan M200/M400 ซึ่ง Pelikan นี่เป็นปากกาหมึกซึมในฝันของผมอยู่แล้ว ก็เลยทำให้หลงรักเจ้า Pilot Prera นี่อย่างไม่ยากเย็น แต่ตอนนั้นผมก็ยังติดๆอยู่นิดนึงกับราคาของปากการุ่นนี้ครับ เพราะราคาขายของ Pilot Prera จัดว่าค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน คือ ราคาสูงกว่า Lamy Safari ซะอีกครับ ซึ่งในราคาระดับนี้ต้องถือว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากทีเดียว เพราะมีปากกาดีๆจากทุกยี่ห้อให้เลือกได้ตามใจชอบเลย ไม่ว่าจะเป็น Lamy Safari, Kaweco Sport, TWSBI ECO, Sheaffer 100, Parker Urban และอื่นๆอีกเพียบครับ ส่วนตัวผมมองว่า ปากกาหมึกซึมรุ่นไหนที่ยืนหยัดอยู่ในตลาดระดับราคาพันบาท (บวก/ลบ) นี่ได้ต้องเก่งมากทีเดียว คือ ต้องมีจุดเด่นที่แข็งแรงมากเลยล่ะครับ ทำให้ผมไปหารีวิวของ Pilot Prera ในต่างประเทศมาดู เรียกได้ว่า ดูหมดเท่าที่จะกูเกิ้ลจะค้นหาได้เลยล่ะครับ

รีวิวในต่างประเทศแทบทั้งหมดจะชื่นชมปากการุ่นนี้มากๆ ผู้วิจารณ์หลายคนถึงกับยกให้ Pilot Prera ติดอันดับปากกาหมึกซึมยอดเยี่ยมในระดับราคาของตนอีกด้วย

แม้ว่าผมจะชอบ Pilot Prera มากขนาดไหนก็ตาม แต่ผมกลับยังไม่มีโอกาสได้ครอบครองปากการุ่นนี้สักที เพราะตอนนั้นไม่มีขายในบ้านเรา จะสั่งซื้อมาก็เสียค่าส่งแพง จนกระทั่งร้าน Penniverse ได้นำปากการุ่นนี้เข้ามาจำหน่าย และส่งมาให้ผมทำรีวิวนี่แหละครับ

ก็ต้องขอขอบพระคุณร้าน Penniverse ไว้ ณ ที่นี้ด้วยเลยนะครับ เอาเป็นว่า หากใครสนใจ Pilot Prera ก็สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสั่งซื้อได้ที่เฟสบุ๊คของร้าน Penniverse นะครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

Pilot Prera เป็นปากกาที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด คือ มีขนาดพอๆกับ Pelikan M200 และ TWSBI Diamond Mini ซี่งเป็นขนาดที่พกพาง่าย เขียนได้สนุกมือครับ ส่วนตัวผมยังไม่จัดให้ปากกาขนาดนี้เป็นปากกาไซส์มินินะครับ แต่จัดให้เป็นปากกาขนาดเล็ก

พูดถึงตรงนี้ ขออธิบายการจัดขนาดปากกาหมึกซึมของผมสักนิดแล้วกันครับ ผมใช้ขนาดของปากกายี่ห้อ Pelikan เป็นมาตรฐานในการจัดขนาดครับ โดยปากกาที่มีขนาดเท่าๆกับ M1000 เป็นปากกาขนาด Oversize หรือ XL ส่วน M800 เป็นปากกาขนาดใหญ่ หรือ L ขณะที่ M600 ผมจัดให้เป็นปากกาไซส์มาตรฐาน หรือขนาด M และ M400/M200 เป็นปากกาขนาดเล็ก หรือไซส์ S ครับ สำหรับปากกาที่เล็กกว่า M400 อย่างพวก Kaweco Sport อย่างนี้ผมจึงจะเรียกว่าไซส์มินิ

ปากกาขนาดเล็กอย่าง Pilot Prera นี่มักจะเป็นปากกาที่เขียนสนุก พกพาสะดวกครับ เพราะปากกาจะมีขนาดของ Section เท่าๆกับปากกาไซส์มาตรฐาน ซึ่งจับได้ถนัดมือ แต่มีน้ำหนักเบากว่า และการที่มีขนาดสั้นกว่าปากกาทั่วไปเล็กน้อย ก็ทำให้สามารถพกในกระเป๋าเสื้อได้อย่างสบายๆ แม้จะเป็นเสื้อตัวเล็กๆก็ตาม

เปรียบเทียบ Pilot Prera กับปากกาหมึกซึมที่มีขนาดเล็กอื่นๆ

(จากบน) Kaweco Sport, TWSBI Diamond Mini, Pilot Prera, Pelikan M200

Pilot Prera เป็นปากกาขนาดเล็กกระทัดรัด โดยความยาวรวมเมื่อปิดปลอกปากกาจะสั้นกว่าปากกาทั่วๆไปราวครึ่งนิ้ว รูปทรงของปากกาเป็นแบบ Flat Top หัวตัดท้ายตัด ดูทันสมัยดีครับ ปากการุ่นนี้มีให้เลือกทั้งแบบตัวปากกาใสๆ หรือ Demonstrator และตัวปากกาสีทึบ ซึ่งก็มีให้เลือกหลายสีอีก แต่ละสีสวยๆทั้งนั้นเลยครับ ด้ามที่ผมนำมาทำรีวิวนี้เป็นสีงาช้าง ขลิบ (Trim) ด้วยสีเงิน สวยมากๆครับ

ลักษณะของปากกาจะคล้ายกับ Pelikan M200/M400 แต่สั้นกว่าเล็กน้อย ทำให้มีผู้ใช้ปากกาหมึกซึมในต่างประเทศหลายคนนำ Pilot Prera ไปเปรียบเทียบกับ Pelikan M200 ซึ่งใช้หัวปากกาที่ไม่ใช่ทองคำผสมเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ผมขอไม่ทำรีวิวในเชิงเปรียบเทียบแบบนั้นแล้วกันนะครับ

ตัวปากกาของ Pilot Prera ทำจากเรซิน ซึ่งก็เป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ผลิตปากกาในตระกูล Custom ที่มีราคาสูงของ Pilot ครับ นอกจากนี้ปากการาคาแพงๆอีกหลายยี่ห้อก็นิยมผลิตตัวปากกาจากเรซินเหมือนกัน ซึ่งปากกาที่ผลิตจากเรซินจะมีความแข็งแรง ทนต่อรอยขีดข่วนได้ดี และยังมีน้ำหนักเบาด้วยครับ

ปลอกปากกา

ปลอกปากกาของ Pilot Prera เป็นแบบ Snap คือ เสียบเข้าดึงออกได้เลยไม่ต้องหมุนเกลียว ปลอกปากกาติดแน่นด้วยความฝืด ไม่มีคลิกเวลาเสียบปลอกปากกานะครับ

ที่ด้านหน้าของปลอกปากามีชื่อรุ่น Prera ส่วนด้านหลังมีคำว่า Pilot Japan ข้อความนี้ใช้วิธีพิมพ์ลงบนปลอกปากกานะครับ ไม่ได้ปั๊มลงบนเนื้อเรซิน คาดว่า (เดา) ใช้ไปนานๆอาจจะลอกหลุดได้ แต่ผมก็ยังไม่เคยเห็นผู้ใช้ปากกาในต่างประเทศพูดเรื่องข้อความบนปลอกปากกาของ Prera ลอกหลุดนะครับ

ที่ปลอกปากกามีขลิบ (Trim) ด้วยสีเงิน ตรงแถบกลางลำตัวปากกาที่มีขนาดเล็ก เหมาะกับขนาดของปากกาดี แต่ตรงที่ผมเห็นว่าสวยเลย คือ บริเวณส่วนบนของปลอกปากกา ที่มีแถบแหวนเล็กๆอีกวงหนึ่ง และส่วนบนสุดของปลอกปากกาก็เป็นสีเงินเรียบๆ ตรงนี้ช่วยให้ปากกาดูโดดเด่นขึ้นมากเลยครับ

คลิปเหน็บกระเป๋า

คลิปของ Pilot Prera ทำจากโลหะ เป็นสีเงิน คลิปติดกับตัวปากกาที่ส่วนบนสุดของปลอกปากกาเลย ตรงนี้ผมชอบมากครับ เพราะเวลาพกปากกาในกระเป๋าเสื้อแล้วปากกาจะจมหายไปในกระเป๋าเลย ไม่มีหัวปากกาโผล่ออกมาจากกระเป๋าให้เกะกะ เหมาะมากๆสำหรับผู้ที่ใช้เสื้อแบบที่กระเป๋ามีฝาครอบ อย่างพวกข้าราชการ ทหาร ตำรวจครับ ยิ่งปากกามีขนาดเล็กยังงี้ เก็บปากกาให้จมในกระเป๋าเสื้อได้มิดชิดเลยล่ะ ลักษณะคลิปแบบนี้ผมบวกคะแนนให้ Prera ไปเลย เพราะหาปากกาที่มีคลิปเหน็บกระเป๋าในลักษณะนี้ได้ไม่มากนัก

ที่ด้านหน้าของคลิปจะเรียบๆ ไม่มีลวดลายหรือข้อความใดๆเลย รสนิยมส่วนตัว ผมชอบคลิปเหน็บกระเป๋าที่มีลักษณะเรียบๆแบบนี้ครับ หากมองจากด้านข้าง คลิปจะมีลักษณะโค้งๆ เพื่อช่วยเพิ่มความเป็นสปริง คลิปของ Pilot Prera ไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป ใช้งานได้ดีมาก

ด้ามปากกา

ด้ามของ Pilot Prera จะเรียวลงไปทางท้ายด้ามเล็กน้อย ท้ายด้ามปากกาตัดตรง ก่อนถึงท้ายด้ามจะมีแถบสีเงินเล็กๆ ทำให้ดูเหมือนกับว่าปากกามี Blind Cap สวยดีครับ แถบสีเงินนี้จะรัดอยู่บนปากกาเฉพาะภายนอกเท่านั้น ไม่ได้ทะลุเข้าไปถึงด้านในของปลอกปากกานะครับ และปลอกปากกาของ Pilot Prera ก็ป้องกันอากาศเข้าได้ด้วย (คือ ไม่มีรูครับ) อันนี้รวมถึงรุ่นที่เป็นพลาสติกใสๆ หรือ Demonstrator ด้วย เหตุนี้เองจึงมีนักเล่นปากกาหมึกซึมในต่างประเทศหลายคน จึงนิยมนำ Pilot Prera ไปทำเป็นปากกาที่ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ Eyedropper Conversion หรือเติมน้ำหมึกลงไปในด้ามปากกาโดยตรงครับ

บริเวณที่จับปากกา

Section Grip หรือที่จับปากกาของ Pilot Prera มีลักษณะเรียวเล็กไปทางหัวปากกาเล็กน้อย บริเวณที่ติดกับหัวปากกามีแถบแหวนสีเงินเล็กๆ ช่วยป้องกันมือลื่นไถลไปโดนหัวปากาได้ดี ส่วนบนของ Section ตรงที่ติดกับเกลียวด้ามปากกาก็จะมีแถบแหวนสีเงินเล็กๆอีกแถบ ดูรับกันสวยดีครับ แถบแหวนตรงนี้ใช้สำหรับเวลาที่ปิดปลอกปากกาแล้วจะช่วยกันไม่ให้สามารถดันปลอกปากกาเข้าไปลึกเกิน จนอาจทำให้ปลอกปากกาแตกได้ และยังช่วยทำให้มีเสียงคลิกเบาๆเวลาปิดปลอกปากกาด้วย แต่ไม่มีส่วนช่วยล็อกปลอกปากกานะครับ

บริเวณที่จับปากกาของ Pilot Prera มีขนาดพอๆกับปากกาไซส์มาตรฐานทั่วไป ไม่ได้เล็กหรือผอมกว่าปกตินะครับ ทำให้สามารถจับได้ถนัดมือมากๆ และ Section ก็ไม่ลื่นด้วย แถมปากกามีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ปากกาแบบนี้แหละครับที่เขียนได้เป็นวันๆโดยไม่มีอาการเมื่อยล้าครับ

ระบบเติมน้ำหมึก

ปากการุ่นนี้ใช้ระบบเติมน้ำหมึกแบบ C/C Filler (Cartridge / Converter Filler) คือ ใช้ได้ทั้งกับหมึกหลอด และที่สูบหมึก โดยตอนที่ซื้อมาจะมีเพียงหมึกหลอดแถมมาให้หลอดเดียว ไม่ได้ให้ที่สูบหมึกมาด้วยนะครับ หากใครต้องการใช้ที่สูบหมึกต้องซื้อเองต่างหาก

สำหรับหมึกหลอด หรือที่สูบหมึกนี่ก็ใช้กับยี่ห้ออื่นไม่ได้ ต้องใช้เฉพาะของ Pilot เองเท่านั้น ซึ่งทางร้าน Penniverse ก็มีทั้งหมึกหลอดและที่สูบหมึกของ Pilot จำหน่ายด้วยครับ

Pilot Prera สามารถใช้ได้กับที่สูบหมึกของ Pilot รุ่น CON-10, CON-20, CON-40 และ CON-50 แต่ไม่สามารถใช้กับ CON-70 ได้นะครับ ด้ามของผมใช้กับที่สูบหมึกรุ่น CON-40 แต่ขอบอกเลยว่า หากใครจะซื้อที่สูบหมึกสำหรับ Pilot ผมแนะนำจริงๆว่า ซื้อ CON-50 ไปเลยดีกว่า เพราะ CON-40 จุน้ำหมึกได้น้อยมากเกินไปครับ นอกจากนี้ทางร้าน Penniverse ยังมีที่สูบหมึกของ Wing Sung ที่ใช้กับปากกาหมึกซึมของ Pilot ได้ แต่มีราคาถูกกว่าไว้จำหน่ายด้วย

หัวปากกา

Pilot Prera ใช้หัวปากกาที่ทำจากสแตนเลส ขนาดเบอร์ 5 ซึ่งก็เหมาะสมกับขนาดของปากกาดี หัวปากกาของรุ่นนี้มีลักษณะเหมือนกับที่ใช้ใน Pilot 78G, Pilot Penmanship และ Pilot Metropolitan ซึ่งเป็นปากการุ่นราคาประหยัดของ Pilot ตรงนี้ทำให้มีผู้ใช้ปากกาบางคนออกมาบ่นว่า จะไปซื้อ Prera ทำไม ในเมื่อก็ใช้หัวปากกาเหมือนกับรุ่นอื่นที่มีราคาถูกกว่ากันเกินครึ่ง

เรื่องนี้ผมเองก็เคยสงสัยนะครับ แต่ก็ได้ข้อมูลจากเว็บ pentorium.com บอกมาว่า มันเป็นเรื่องแปลกที่ว่า แม้คุณจะมีปากกาหมึกซึมยี่ห้อเดียวกันสองด้าม ซึ่งใช้หัวปากกาที่ดูเหมือนๆกัน ขนาดก็เท่ากัน แต่กลับให้ความรู้สึกในการเขียนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ก็เพราะว่าหัวปากกาทั้งสองไม่แน่ว่าจะผลิตจากประเทศเดียวกันหรือไม่ นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ทำหัวปากกา วัสดุที่ใช้ทำ Feed และปัจจัยอื่นๆสามารถส่งผลให้ลักษณะการเขียนของหัวปากกาทั้งสองแตกต่างกันไปได้

พอผมมีประสบการณ์กับปากกาหมึกซึมได้สักพัก ก็พบว่า ที่เว็บ Pentorium บอกมานั้นจริงแท้เลยครับ ปากกาหมึกซึมเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนกว่าที่คิดไว้มาก แค่ใช้น้ำหมึกต่างกัน ที่สูบหมึกไม่เหมือนกัน ก็ทำให้ความรู้สึกในการเขียนแตกต่างกันได้แล้ว

แม้ว่า หัวปากกาที่ใช้กับ Pilot Prera จะหน้าตาเหมือนๆกับหัวปากกาที่ใช้ใน Pilot 78G, Pilot Penmanship, Pilot Metropolitan และอีกหลายๆรุ่นก็ตาม แต่ราคาของ Prera ที่สูงกว่ายังขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการผลิต รวมถึงความประณีตของชิ้นงานด้วยครับ

บนหัวปากกาของ Pilot Prera จะมีคำว่า Pilot Super Quality Japan และมีตัวอักษรบอกขนาดของหัวปากกา ปากการุ่นนี้มีหัวปากกาให้เลือกใช้หลายขนาดเลยครับ ตั้งแต่ EF, F, M, B และ Stub 1.1 แต่ในบ้านเราจะมีขายเฉพาะหัวปากกาขนาด F และ M นะครับ ซึ่งก็เหมาะสมกับการใช้งานทั่วไปดีแล้ว ปากกาที่ผมนำมาทำรีวิวเป็นหัวปากกาขนาด Medium (M) ครับ

การใช้งาน

ปากกาที่มีขนาดเล็กอย่าง Pilot Prera, TWSBI Diamond Mini, Pelikan M200 นี่ เป็นปากกาที่ไม่เพียงแต่จับเขียนได้ถนัดมือดี แต่ยังพกสะดวกอีกด้วย จึงเหมาะมากที่จะเลือกไว้สำหรับเป็นปากกาใช้งาน หรือ “ม้าใช้” อย่างแท้จริง

ในแง่การใช้งาน Pilot Prera เป็นปากกาที่จับเขียนได้ถนัดมือดีมาก ด้วยมี Section ที่มีขนาดเท่าๆกับปากกาไซส์มาตรฐานอื่นๆ แถม Section ที่ทำจากเรซินชนิดเดียวกับที่ใช้ทำตัวปากกาก็ไม่ลื่นอีกด้วยครับ ตัวปากกาค่อนข้างสั้นไปสักหน่อยหากไม่นำปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม แต่สำหรับผมที่มีมือค่อนข้างใหญ่ ก็พอจะเขียนโดยไม่ต้องนำปลอกปากกาไปเสียบท้ายด้ามนะครับ หากคนที่มือเล็กๆเขียนได้อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน แต่ถ้าเป็นมือใหญ่มากจริงๆก็น่าจะเขียนโดยไม่เสียบปลอกปากกาที่ท้ายด้ามไม่ถนัด แต่อย่างน้อยหากมีจำเป็นจะต้องเปิดปลอกปากกามาจดอะไรเร็วๆ ก็ใช้ได้สบาย ไม่มีปัญหาครับ

เมื่อเอาปลอกปากกาไปเสียบที่ท้ายด้าม ก็เสียบได้แน่นหนาดี ปลอกปากกาเสียบเข้าไปที่ท้ายด้ามได้ลึกทีเดียวครับ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องเสียสมดุล หรือหนักส่วนปลายเลย

การเขียน

อย่างที่บอกไปแล้วว่า Pilot ใช้หัวปากกาแบบเดียวกับที่ใช้ใน Prera กับปากกาหลายรุ่น รวมถึง Pilot Metropolitan ที่ผมประทับใจมากๆด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ผมจะชื่นชอบการเขียนของ Prera

สำหรับ Pilot Metropolitan นี่ผมเคยทำวิดีโอรีวิวไว้แล้ว ลองตามไปชมกันนะครับ

Pilot Prera ที่ผมนำมาทำรีวิวนี้เป็นหัวปากกาขนาด Medium (M) ให้ลายเส้นประมาณ 0.5 มม. ซึ่งผมคิดว่าเป็นขนาดลายเส้นที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยเป็นอย่างดี หัวปากกาหมึกซึมที่ผลิตในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน หรืออินเดีย มักจะมีขนาดลายเส้นของหัวปากกาเล็กกว่าปากกาหมึกซึมที่ผลิตในยุโรปหรืออเมริกา 1 เบอร์นะครับ คือ หัวปากกาที่ผลิตในเอเชียขนาด M จะมีขนาดลายเส้นพอๆกับหัวปากกาขนาด F ที่ผลิตในยุโรปครับ แต่อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อด้วย

หัวปากกาของ Pilot Prera เขียนได้ลื่นมาก แต่ขณะเขียนจะรับรู้ถึงความรู้สึกที่หัวปากกาลากผ่านเนื้อกระดาษ เรียกได้ว่า เขียนแล้วมี Feedback นิดหน่อยน่ะครับ แต่ต้องเน้นเลยนะครับว่า ปากกาเขียนได้ลื่นมากๆ แทบจะไม่รู้สึกถึง Feedback เลย จะว่าไปก็คล้ายๆกับการเขียนด้วยดินสอน่ะครับ ซึ่งส่วนตัวแล้วผมชอบนะ หัวปากกาแบบนี้เขียนได้สนุก และควบคุมลายมือง่าย แถม Feedback ก็ไม่ได้สร้างความรำคาญในขณะเขียนด้วยครับ

การป้อนน้ำหมึกของ Pilot Prera ทำได้สม่ำเสมอดีมาก เขียนเร็วๆหรือลากยาวต่อเนื่องก็ไม่มีปัญหาเส้นขาดๆหายๆ ปากการุ่นนี้จะเขียนออกไปในทางค่อนข้างแห้งสักหน่อยนะครับ ในความเห็นของผมคิดว่าดีครับ เพราะปากกาที่ป้อนน้ำหมึกได้สม่ำเสมอ เส้นไม่ขาด แต่ก็ไม่เปียกมากจนเกินไป ทำให้สามารถใช้เขียนบนกระดาษเนื้อไม่ดีได้สบายๆ โดยน้ำหมึกไม่ซึมทะลุด้านหลัง

หัวปากกาสแตนเลสของ Pilot Prera ค่อนข้างแข็ง แทบจะไม่ยืดหยุ่น (Flex) เอาเสียเลย จึงใช้เขียนแบบขึ้นเบาลงหนักได้ไม่ดีนัก แต่หัวปากกาแข็งๆ เส้นเล็กเขียนคมแบบนี้แหละครับ ที่ใช้จดงานเยอะๆได้สนุกครับ ด้าน Sweet Spot จะค่อนข้างแคบอยู่สักหน่อยนะครับ แต่ก็ไม่ใช่ประเภทจับปากกาผิดมุมไปนิดก็เขียนไม่ออก แต่หัวปากกาจะมีมุมที่เขียนได้ลื่นมากสุดๆอยู่จุดหนึ่งครับ หากขยับปากกาได้มุมแล้วจะเขียนลื่นจนไม่รู้สึกถึง Feedback กันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามเรื่อง Sweet Spot ของ Pilot Prera นี้ ก็ยังไม่ได้สร้างความรำคาญในการจับปากกาขึ้นมาเขียนนะครับ ไม่ต้องกังวลเลย

สรุปล่ะครับ

แม้ว่าผมจะเป็นคนที่ชอบปากกาหมึกซึมที่ใหญ่ๆ อวบๆ พวกโอเวอร์ไซส์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปากกาหมึกซึมที่มีขนาดเล็ก แต่ไม่ถึงกับไซส์มินิ อย่าง Pelikan M200, TWSBI Diamond Mini และ Pilot Prera นี่ขนาดที่ผมชอบพกติดตัวบ่อยที่สุดครับ เพราะสามารถเหน็บในกระเป๋าเสื้อเชิ้ตได้สบายๆ หรือจะเหน็บที่คอของเสื้อยืด ปากกาก็ไม่ยาวเกินไปจนรู้สึกเกะกะรำคาญ

ส่วนตัวผมเห็นว่า Pilot Prera นี่ก้าวข้ามคำถามที่ว่า “ดีหรือไม่” ไปแล้วครับ แต่สิ่งที่เป็นคำถามสำหรับผู้ใช้ปากกาหมึกซึมในทั่วโลก มักจะเป็นว่า “คุ้มหรือไม่” มากกว่า เพราะปากการุ่นนี้มีราคาขายในบ้านเราอยู่ที่ราวพันบาทต้นๆ แพงกว่า Lamy Safari และ TWSBI Eco ซะอีก ตรงนี้ต้องบอกก่อนนะครับว่า ราคาของ Pilot Prera ในทั่วโลกก็สูงกว่า Lamy Safari และ TWSBI Eco อยู่แล้ว ไม่ใช่บ้านเราขายแพงนะครับ

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผมในเรื่องของ “ความคุ้ม” นี้ ผมเห็นว่า Pilot Prera เป็นปากกาที่พกได้สะดวก จึงทำให้สามารถหยิบติดตัวไปไหนมาไหนได้เป็นประจำ ต่างจากปากกาที่มีขนาดใหญ่ที่จะพกทีก็ต้องใส่ในกระเป๋าถือ จึงทำให้ผมสามารถใช้ Pilot Prera ได้บ่อยกว่าปากการุ่นอื่นๆ เรียกว่าเป็นหนึ่งใน EDC (Everyday Carry) ของผมเลยก็ว่าได้ครับ การที่ได้หยิบใช้บ่อยๆนี่เอง ทำให้ผมรู้สึกว่านี่คือปากกาที่คุ้มต่อการลงทุนครับ ในขณะที่ปากกาบางรุ่นผมเติมหมึกเขียนไม่กี่ครั้ง แล้วก็ล้างเก็บไม่เคยเติมหมึกอีกเลย แบบนี้สิครับ สำหรับผมเรียกว่า ซื้อมาแล้วไม่คุ้ม

Pilot Prera ยังผลิตจากเรซิน ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่นิยมใช้ทำปากการาคาแพงๆ ซึ่งเรซินมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนต่อรอยขีดข่วน และมีน้ำหนักเบาด้วย ยิ่งทำให้ปากการุ่นนี้เหมาะมากๆที่ใช้จะพกติดตัวอยู่เสมอครับ ปากการุ่นนี้ยังมีผู้ใช้ปากกาหมึกซึมในต่างประเทศหลายราย ที่นำไปรีวิวเปรียบเทียบกับ Pelikan M200 ที่มีราคาแพงกว่าราว 3 เท่าด้วยครับ

สำหรับปากกาไซส์เล็ก คุณภาพสูงแบบนี้ ที่ราคาไม่แพงนักอย่างนี้ ในตลาดก็มีตัวเลือกค่อนข้างน้อยด้วย ใครที่มองหาปากกาหมึกซึมที่เขียนสนุก พกพาสะดวก หยิบใช้งานได้รวดเร็ว ผมว่าไม่น่าพลาด Pilot Prera นี้นะครับ

ของคุณ ร้าน Penniverse ส่งปากการุ่นนี้มาให้ทำรีวิวครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนได้ราวกับฝัน

แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

 Write like dream: 

 

blog ที่รวบรวมบทความ และรีวิว เกี่ยวกับปากกาหมึกซึม สำหรับผู้ที่รักการเขียนทุกท่าน

 

ท่านสามารถติดตามการอัพเดทข้อมูลของ WLD ได้ทางโดยกด Like ที่ Facebook Page ของ Write Like Dream (คลิก)

 RECENT POSTS: 
 คลิกเพื่อค้นหาข้อมูล 
bottom of page